หลังจากที่ประชาชนกลุ่มใหญ่เดินทางมาแจ้งความที่ สน.พญาไท เนื่องจากถูก กปปส. ปิดหน่วยเลือกตั้ง จนไม่สามารถจัดเลือกตั้งได้ เมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2557 พวกเขาได้จัดเลือกตั้งจำลองเพื่อประท้วงการปิดหน่วยเลือกตั้งด้วย (ที่มา: แฟ้มภาพ/ประชาไท)

บลูมเบิร์กเปิด 6 ข้อกังขา-ทำไมไทยจึงไม่จัดเลือกตั้งเสียที

Posted: 29 Mar 2017 08:22 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

บลูมเบิร์กนำเสนอข้อกังขาของต่างชาติ 6 ข้อ ว่าเหตุใดรัฐประหารประเทศไทยรอบนี้จึงกินเวลายาวนานนักและไม่มีการจัดเลือกตั้งใหม่เสียที และเมื่อหลังเลือกตั้งแล้วภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่รัฐบาลพลเรือนจะถูกอำนาจรัฐราชการกดทับต่อไปหรือไม่ แล้วเศรษฐกิจไทยมีอนาคตหรือไม่เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน

29 มี.ค. 2560 สื่อบลูมเบิร์กมีบทวิเคราะห์การเมืองเกี่ยวกับประเทศไทยจากคำถามว่าเหตุใดประเทศไทยถึงไม่มีการเลือกตั้งครั้งใหม่เสียที โดยบลูมเบิร์กต้งข้อสังเกตว่าหลังจากปี 2475 ไทยก็มีการรัฐประหารตลอดและดูเหมือนจะยังไม่จบลงง่ายๆ ยิ่งในการรัฐประหารครั้งล่าสุดตั้งแต่ปี 2557 กำหนดการการเลือกตั้งครั้งถัดไปก็ดูเหมือนจะถูกเลื่อนไปเรื่อยๆ ทำให้เกิดคำถาม 6 คำถามที่กลายเป็นข้อกังขาดังนี้


1) ไทยจะได้เลือกตั้งเมื่อใด?

ในตอนนี้ไทยยังไม่มีกำหนดการเลือกตั้งที่แน่นอน หลังจากที่มีผู้ลงประชามติเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ในเดือน ส.ค. ปีที่แล้ว พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เคยให้คำมั่นว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งช่วงปลายปี 2560 นี้ แต่ความล่าช้าในการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ทำให้เกิดข้อกังขา ทำให้มีการประเมินว่าอาจจะเลื่อนไปอีกเป็นปี 2561 ซึ่งโฆษกของเผด็จการทหารไทยแง้มว่าอาจจะเป้นเดือน ก.ย. 2561


2) มีอะไรที่เหนี่ยวรั้งไม่ให้เกิดการเลือกตั้งหรือไม่?

บลูมเบิร์กระบุว่าไม่มี โดยหลังจากการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เมื่อเดือน ต.ค. 2559 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ ขึ้นทรงราชย์เป็นพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ทรงรับสั่งแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ใช้เวลาหลายเดือน ทางสภานิติบัญญัติเองก็ออกกฎหมายข้อกำหนดเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมืองต่างๆ

บลูมเบิร์กก็ระบุด้วยว่าทั้งหมดนี้ไม่มีอะไรที่หยุดยั้งไม่ให้กระบวนการกำหนดวันเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไป เทียบกับการรัฐประหารในปี 2549 แล้วรัฐบาลทหารใช้เวลาร่างรัฐธรรมนูญใหม่และจัดการเลือกตั้งภายในช่วงเวลา 16 เดือน เท่านั้น


3) รัฐธรรมนูญใหม่มีความแตกต่างอย่างไรบ้าง?

บลูมเบิร์กกล่าวถึงมาตรา 279 ของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เขียนโดยคณะกรรมการร่างที่เผด็จการทหารคัดเลือก มาตราดังกล่าวอนุญาตให้มีนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ทำให้ ส.ว. เป็นภาคส่วนที่มาจากการแต่งตั้งทั้งหมด และให้อำนาจพิเศษเพิ่มแก่ศาล อีกทั้งยังมีการวางแนวทางนโยบายโดยละเอียดให้รัฐบาลในอนาคตต้องทำตามแผนการพัฒนา 20 ปีของรัฐบาลทหาร ฝ่ายสนับสนุนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่บอกว่ามันจะแก้ไขปัญหาเรื่องการติดสินบนและส่งเสริมเสถียรภาพ ขณะที่ฝ่ายวิจารณ์รัฐธรรมนูญฉบับใหม่แย้งว่ามันเปิดโอกาสให้คนถูกบีบเค้นโดยการปกครองของอำนาจทหารที่ฝังราก


4) ทำไมกองทัพจึงยึดอำนาจในปี 2557?

บลูมเบิร์กตอบเรื่องนี้ว่ามันเป็นผลรวมกลายสิบปีจากความพยายามของชนชั้นนำรอยัลลิสต์ไทยที่พยายามสกัดอิทธิพลของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร และครอบครัว ซึ่งเหล่าพันธมิตรของทักษิณต่างก็ชนะการเลือกตั้งมาแล้ว 5 ครั้งในอดีต ฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์กับทักษิณพยายามมาเป็นเวลาหลายปีที่จะทำให้ทักษิณเสื่อมความนิยมจากกลุ่มคนที่ยากจนกว่าและมีประชากรมากกว่าในทางตอนเหนือ ผู้ที่เลือกทักษิณชื่นชมนโยบายส่งเสริมราคาพืชผลการผลิตและให้สวัสดิการราคาถูก โดยที่ประเทศไทยยังคงมีความแตกต่างกันอยู่ทางชนชั้นและภูมิภาค


5) แล้วการเคลื่อนไหวทางการเมืองฝ่ายทักษิณจะกลับมามีพลังอีกไหม?

ถึงแม้ว่าทักษิณจะไม่ได้ย่างเท้าเข้ามาในประเทศไทยนานเกือบสิบปีแล้ว แต่ความนิยมของเขาก็ยังคงอยู่ กลุ่มคนเสื้อแดงยังคงสนับสนุนเขาโดยเฉพาะคนในพื้นที่ชนบท แม้ว่ากองทัพจะพยายามลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นก็ตาม เผด็จการทหารยังใช้อำนาจต่อทักษิณและน้องสาวของเขา อดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้ถูกสั่งปรับคดีจำนำข้าวหลายล้านบาท

เมื่อไม่นานมานี้รัฐบาลทหารขุดคดีเก่าเกือบสิบปีเกี่ยวกับภาษีทักษิณขึ้นมาเล่นอีกครั้งและกล่าวหาว่ามีกลุ่มคนที่สนับสนุนทักษิณพยายามลอบสังหาร พล.อ. ประยุทธ์ สรุปคือถึงแม้วาจะมีการจัดการเลือกตั้งแล้วกลุ่มพันธมิตรของทักษิณชนะรัฐธรรมนูญก็เปิดทางให้มีการแต่งตั้งกลุ่มอำมาตย์ ทหาร และผู้พิพากษา มีอำนาจมากพอจะสกัดกั้นการเคลื่อนไหวที่พวกเขาไม่ชอบจากนักการเมืองทีมาจากการเลือกตั้ง


6) ความวุ่นวายทางการเมืองนี้ส่งผลต่อเศรษฐกิจหรือไม่?

ในช่วงสิบปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยโตเฉลี่ยร้อยละ 3.3 ต่อปี ซึ่งถือว่าว่าเติบโตน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกันซึ่งมีเศรษฐกิจเติบโตเร็วที่สุดในเอเชีย และถึงแม้ว่าราคาสินค้าจะตกต่ำลง แต่การเติบโตด้านการส่งออกก็ยังลดลง และความต้องการในตลาดโลกลดลงจะมีส่วนในการทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว แต่บริษัทต่างๆ ก็เริ่มมองหาที่อื่นๆ ในภูมิภาคเพื่อลงทุน

ในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนาปี 2557 และ 2558 ระบุว่าการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติในประเทศไทยลดน้อยถอยลงเมื่อเทียบกับอินโดนีเซียและมาเลเซีย ทางธนาคารโลกก็เปิดเผยเมื่อวันที่ 13 มี.ค. ที่ผ่านมาว่าไทยจะสามารถฟื้นฟูการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อีกครั้งผ่านการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน เพิ่มการแข่งขันผ่านข้อตกลงการค้าเสรี และการลงทุนกับกลุ่มคนชั้นล่างร้อยละ 40 มากขึ้นเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต



เรียบเรียงจาก

Thailand's Road to Election Keeps Getting Longer: QuickTake Q&A, Bloomberg, 27-03-2017

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.