องค์การแรงงานระหว่างประเทศจวกไทยใช้แรงงานทาสทำประมง

Posted: 30 Mar 2017 11:51 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ของสหประชาชาติ ออกรายงานวิจารณ์ไทยอย่างหนักกรณียังมีเรือประมงใช้แรงงานทาส มีเหตุสังหารคนงาน ทำร้ายร่างกาย ใช้แรงงานวันละ 20 ชั่วโมง และไม่มีค่าจ้าง ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้นไทยถูกนานาชาติวิจารณ์มานานและเสี่ยงต่อการถูกคว่ำบาตรการส่งออกอาหารทะเล



ที่มาของภาพประกอบ: รายงานหน้าแรกของ ILO เผยแพร่เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2560

องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ซึ่งเป็นองค์กรแรงงานของสหประชาชาติออกรายงานเมื่อวันที่ 28 มี.ค. ซึ่งระบุว่าประเทศไทยยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาการสังหาร การค้ามนุษย์ และบังคับใช้แรงงานทาสที่เป็นแรงงานข้ามชาติในอุตสาหกรรมการประมงในไทยได้ แม้ว่าจะมีการออกกฎหมายใหม่จากรัฐบาลก็ตาม (อ่านรายงานที่นี่)

เดอะการ์เดียนระบุว่าน้อยครั้งที่จะมีการตัดสินในเชิงวิพากษ์วิจารณ์จากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ซึ่งเป็นองค์กรแรงงานของยูเอ็น โดย ILO เรียกร้องให้รัฐบาลไทยแก้ไขปัญหาการกดขี่แรงงานประมงในน่านน้ำไทยมาก่อนแล้วหลังจากที่สหภาพแรงงานนานาชาติเคยร้องเรียนในเรื่องนี้อย่างเป็นทางการเมืองปีที่แล้ว ซึ่งมีหลักฐานแสดงให้เห็นว่าคนงานข้ามชาติถูกใช้แรงงาน 20 ชั่วโมงต่อวัน ถูกทำร้ายร่างกายและไม่มีค่าจ้างที่จ่ายเป็นเงิน

หลักฐานดังกล่าวมาจากสหพันธ์แรงงานขนส่งระหว่างประเทศ (ITF) และสมาพันธ์สหภาพแรงงานนานาชาติ (ITUC) ส่งให้ ILO โดยที่ ITF ทำการเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ลูกจ้างทั้งชาวไทยและผู้อพยพตั้งแต่ในปี 2558

นักกิจกรรมแสดงการตอบรับเป็นอย่างดีที่ ILO ออกมาเรียกร้องในเรื่องนี้ เนื่องจากมีหลักฐานเพิ่มเติมว่าทางการไทยมความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหานี้น้อยมากแม้ว่าจะมีการกดดันจากสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา

จากหลักฐานเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน ระบุว่ามีคนงานถูกจับขังและให้ทำงานจับสัตว์น้ำอย่างผิดกฎหมายในน่านน้ำอินโดนีเซียแม้ว่าจะต้องเงินค่านายหน้าเพื่อเข้าทำงานจำนวนมาก มีลูกจ้างรายหนึ่งถูกไต้ก๋งเรือทุบตีและถูกล่ามคอไว้กับเรือหลังจากที่เขาพยายามหลบหนี มีคนงานจำนวนหนึ่งบอกว่าเขาเห็นเพื่อนคนงานถูกไต้ก๋งฆ่าตาย มีคนงานชาวกัมพูชารายหนึ่งถูกยิงเสียชีวิต มีชาวประมงไทย 4 ราย ถูกสังหารด้วยการโยนลงทะเล นอกจากนี้คนงานยังบอกว่าพวกเขาถูกผูกมัดด้วยการเป็นแรงงานขัดหนี้ ทำให้พวกเขาต้องทำงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง ต้องทนเห็นไต้ก๋งเรือทารุณทางกายกับลูกเรือคนอื่น แล้วยังต้องทำงาน 20 ชั่วโมงต่อวันโดยที่ได้รับอาหารจำกัด

เรื่องราวคล้ายกันนี้ยังเคยถูกนำเสนอในเดอะการ์เดียนมาแล้วตั้งแต่ปี 2557 นอกจากนี้รายงานของรัฐบาลไทยเองยังมีการพูดถึงการกดขี่แรงงานบนเรือไทยที่ซายา เดอ มัลฮา ที่มีคนงานประมงจำนวนมากถูกใช้แรงงานในแบบที่ผิดกฎหมายแรงงานและกฎหมายผู้อพยพ กรีนพีซเคยรายงานถึงเรื่องนี้ว่าคนเหล่านี้ถูกซื้อตัวจากการค้ามนุษย์และถูกบังคับให้ใช้แรงงานโดยได้พักแค่ 4 ชั่วโมงต่อวัน มีลูกเรือบางคนบอกว่าพวกเขาต้องอยู่กับท้องทะเลมาตลอด 5 ปี ติดต่อกัน

แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นผู้ที่ส่งออกอาหารทะเลรายใหญ่มีมูลค่ากว่า 6,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือเป็นอันดับ 4 ของโลกแต่ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน การละเมิดสิทธิแรงงาน และการประมงอย่างผิดกฎหมาย ไทยถูกลดระดับจากสหรัฐฯ ในเรื่องการค้ามนุษย์และถูกสหภาพยุโรปให้ใบเหลืองในปี 2558 เพื่อเตือนให้ไทยแก้ไขปัญหานี้มิเช่นนั้นอียูจะงดนำเข้าจากไทย

แม้ว่ารัฐบาลไทยจะพยายามปฏิรูปและออกกฎหมายใหม่เพื่อแก้ไขเรื่องนี้แต่ ILO ก็เน้นย้ำว่าพวกเขายังแก้ปัญหาได้ไม่ดีพอ มีช่องโหว่เรื่องกรอบกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย ในแง่ของการกำกับดูแลนายหน้าจัดหาแรงงาน การดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ทุจริต และการตรวจสอบเรืออย่างมีประสิทธิภาพ

สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงลอนดอนแถลงว่าทางการไทยให้ความร่วมมือกับการสืบสวนสอบสวนของ ILO เป็นอย่างดีและ ILO ก็เล็งเห็นความพยายามของไทยในการแก้ไขปัญหาการบังคับใช้แรงงานในอุตสาหกรรมประมง ทางการไทยบอกว่าการทำงานของพวกเขามีความก้าวหน้าขึ้นแล้วในเรื่องที่ ILO หลังจากมีการร้องเรียน

อย่างไรก็ตาม จอห์นนี ฮานเซน ประธานฝ่ายประมงของ ITF เปิดเผยว่าถึงแม้ทางการไทยจะมีความคืบหน้าแต่ก็ยังอีกไกลถึงจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงได้ ทางด้านตีฟ เทรนต์ จากมูลนิธิเพื่อความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมกล่าวว่ารัฐบาลไทยดำเนินเรื่องการบังคับใช้แรงงานอย่างไม่ปะติดปะต่อ มีแค่การบังคับใช้กฎหมายลงโทษจำคุกคนค้ามนุษย์ที่ท่าเรือที่ อ.กันตัง จ.ตรัง แต่ก็ยังคงมีการทำธุรกิจเถื่อนใช้แรงงานทาสอยู่เนื่องจากการทุจริต

อานดี้ ฮอลล์ นักสิทธิมนุษยชนที่ออกจากประเทศไทยหลังถูกฟ้องร้องดำเนินคดีก่อนหน้านี้กล่าวว่าในไทยไม่เพียงแค่มีกรณี การใช้แรงงานทาสในเรือประมงเท่านั้น แต่ในฟาร์มไก่ สวนยาง โรงงานส่งออกเนื้อไก่กับอาหารทะเลขนาดใหญ่ โรงงานส่งออกเครื่องมือการแพทย์อย่างถุงมือยาง หรือในโรงงานส่งออกพืชผลไม้ ก็ยังมีกรณีเช่นนี้



เรียบเรียงจาก

Thailand accused of failing to stamp out murder and slavery in fishing industry, The Guardian, 30-03-2017

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.