จุฬาฯ กับขบวนการนักศึกษา

Posted: 29 Mar 2017 10:20 PM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

เมื่อมีเกิดการยึดอำนาจโดยคณะทหารที่นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2501 อันเป็นการรัฐประหารที่นำประเทศไทยไปสู่ยุคมืดแห่งเผด็จการ มีการจับกุมคุมขังปัญญาชน และนักการเมืองฝ่ายค้านจำนวนมาก ควบคู่กับการใช้นโยบายพัฒนาเศรษฐกิจ ส่งเสริการลงทุน และประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ที่เร่งขยายการลงทุนเพื่อพัฒนาภาคการผลิตทุนนิยมเสรี เผด็จการได้เข้าควบคุมมหาวิทยาลัย โดยจอมพลสฤษดิ์รับตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยด้วยตนเอง และต่อมาเมื่อจอมพลสฤษดิ์ถึงแก่กรรม จอมพลถนอม กิตติขจร ก็รับตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัย ส่วน พล.อ.ประภาส จารุเสถียร รับตำแหน่งอธิการบดี

จุฬาลงกรณ์ภายใต้ยุคเผด็จการ จะเต็มไปด้วยกิจกรรมแบบไร้สาระ ประเภทงานรับน้องรับพี่อันยืดเยื้อ ที่น่าสังเกตคือ ระบบโซตัสได้พัฒนาอย่างเข้มข้นและรุนแรงมากขึ้น โดยเน้นที่การรับน้องใหม่แบบอำนาจนิยม คือ การกำหนดงานรับน้องที่รุ่นพี่ สามารถกระทำการทรมานหรือสั่งการอย่างอื่นต่อรุ่นน้องอย่างไม่มีเหตุผล บังคับน้องใหม่ให้เข้าห้องซ้อมเชียร์ ขาดไม่ได้เด็ดขาด การบังคับการแต่งกายของนิสิตปี 1 วิธีการที่สำคัญของรุ่นพี่ ก็คือ การว๊ากŽ โดยใช้เสียงดัง กระโชกโฮกฮาก ตระโกนใส่เพื่อข่มน้องใหม่

การที่งานแข่งกีฬาและการซ้อมเชียร์เป็นงานใจกลาง นำมาสู่การปลูกฝังความยึดมั่นในคณะนิยมอย่างไร้เหตุผล จนขยายเป็นการวิวาทกันระหว่างนิสิตต่างคณะภายในมหาวิทยาลัยอยู่เสมอ ที่เกิดเหตุการณ์ระดับรุนแรง เช่น การปะทะกันระหว่างนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์กับนิสิตคณะรัฐศาสตร์ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2504 นำมาสู่ความตึงเครียดภายในมหาวิทยาลัย และครั้งใหญ่อีกครั้งวันที่ 10 กันยายน พ.ศ.2509 นิสิตคณะวิศวกรรมกับยกพวกตีกับนิสิตคณะวิทยาศาสตร์ ทำให้ตำรวจต้องนำกำลังไปตรึงมหาวิทยาลัย และต้องปิดมหาวิทยาลัย 3 วัน

อย่างไรก็ตาม ภายใต้บรรยากาศยุคมืด กิจกรรมนิสิตมีมีเนื้อหาสาระบางลักษณะก็พัฒนาขึ้น เช่น การก่อตั้งชุมนุมพุทธศาสนาและประเพณี เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ.2503 เป็นจุดเริ่มต้นของกิจกรรมด้านศาสนาในมหาวิทยาลัยที่ดำเนินการโดยนิสิตเอง นอกจากนี้ก็คือกิจการด้านงานค่ายอาสาพัฒนาชนบท โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรก ที่บุกเบิกงานค่ายอาสาสมัครในฐานะที่เป็นกิจกรรมเสริมหลักสูตรของสโมสรนิสิต ตั้งแต่ พ.ศ.2502 กิจกรรมค่ายลักษณะเช่นนี้ กลายเป็นแบบที่ทำให้มหาวิทยาลัยอื่นๆ ดำเนินต่อมา

จนถึงวันที่ 10 กันยายน พ.ศ.2513 ก็เกิดการเคลื่อนไหวใหญ่ของนิสิตจุฬาฯ โดย ประสาร มฤคพิทักษ์ นายกสโมสร ได้นำนิสิตหลายพันคนเดินขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้สอบสวนผู้บริหารมหาวิทยาลัยในกรณีทุจริตในเรื่องที่ดินและสิ่งปลูกสร้างศูนย์การค้าและโรงแรมของมหาวิทยาลัย ที่บริเวณสยามสแควร์และปทุมวัน ในที่สุด จอมพลถนอม กิตติขจร นายกสภามหาวิทยาลัย ต้องยอมตั้งคณะกรรมการสอบสวน ซึ่งนำมาสู่การลงโทษทางวินัยแก่ผู้บริหารมหาวิทยาลัย 3 คนที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต ซึ่งเป็นการนำชัยชนะขั้นต้นมาสู่ขบวนการนักศึกษาที่กำลังก่อรูปขึ้น

ใน พ.ศ.2514 กลุ่มนิสิตฝ่ายก้าวหน้าในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ก่อตั้ง “กลุ่มฟื้นฟูโซตัสใหม่” เพื่อต่อต้านระบบรับน้องแบบไร้เหตุผลที่ดำเนินอยู่ และกลับไปสู่ความหมายที่เป็นจริงของโซตัส ซึ่งเป็นคำย่อภาษาอังกฤษของ น้ำใจ ระเบียบ ประเพณี สามัคคี อาวุโส การเคลื่อนไหวครั้งนี้ได้สร้างผลสะเทือนอย่างมาก กลุ่มนิสิตรุ่นพี่และอาจารย์ที่ต้องการรักษาระบบรับน้องแบบเดิมได้รวมกำลังกันต่อต้าน กลายเป็นกระแสอภิปรายกันในสังคม

วันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2514 จอมพลถนอม กิตติขจร ก่อการรัฐประหารฟื้นฟูเผด็จการ ก่อให้เกิดความไม่พอใจอย่างมากในหมู่นักศึกษาปัญญาชน กระแสที่จะเริ่มนำมาสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม คือ การที่ ธีรยุทธ บุญมี นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับเลือกให้ตำแหน่งเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2515 และกรรมการศูนย์นิสิตชุดนี้ ได้เปิดการรณรงค์ชาตินิยมทางเศรษฐกิจ โดยการต่อต้านสินค้าญี่ปุ่นเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2515 กระแสนี้ได้รับการตอบรับจากประชาชนอย่างมาก ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ขบวนการนักศึกษาเริ่มที่จะกลายเป็นแกนกลางของขบวนการมวลชน

กระแสการเคลื่อนไหวทางการเมืองของฝ่ายนิสิตนักศึกษา นำมาสู่เหตุการณ์ทางการเมืองสำคัญ คือ กรณี 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ซึ่งเริ่มจาก ธีรยุทธ บุญมี ผลักดันให้มีการตั้ง "กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ" แต่ถูกรัฐบาลทหารจับกุม 13 คน แล้วนำมาสู่การประท้วงใหญ่ของประชาชนขนาดใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย นิสิตจุฬาฯหลายคน ได้เข้าไปมีส่วนนำการเคลื่อนไหว เช่น ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ธเนศร์ เจริญเมือง วิรัติ ศักดิ์จิระภาพงษ์ และ จีระนันท์ พิตรปรีชา เป็นต้น ในที่สุด ฝ่ายเผด็จการทหารก็ถูกโค่นล้มลง และประเทศกลับฟื้นคืนสู่ระบอบประชาธิปไตย ในกรณีนี้ มีนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือ สมเด็จ วิรุฬพล นิสิตปี 1 คณะเศรษฐศาสตร์ เสียชีวิตโดยการยิงของฝ่ายทหาร ซึ่งกลายเป็นประจักษ์พยานหนึ่งในความเหี้ยมโหดของฝ่ายเผด็จการ

ยุคหลัง 14 ตุลาคม เป็นสมัยที่ขบวนการนักศึกษาได้เข้ามามีบทบาททางการเมืองอย่างมาก และยังเป็นสมัยที่เกิดกระแสการเคลื่อนไหวทางการเมืองของมวลชนระดับล่าง อันได้แก่ กรรมกรและชาวนาอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน นักศึกษากลายเป็นพลังสำคัญในการวิพากษ์สังคม และนำเสนอการเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบก้าวหน้า กระแสทางการเมืองในฝ่ายนักศึกษาได้มีแนวโน้มในทางสังคมนิยมมากยิ่งขึ้น และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ เช่น การเกิดประชาธิปไตยและการบริหารตนเองในมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ ก็คือกระแสโจมตีและกวาดล้างการรับน้องแบบป่าเถื่อนจนล่มสลาย โดยเฉพาะที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบบโซตัสเปิดฉากลงทุกคณะ กรณีนี้นำมาสู่กิจกรรมนักศึกษาแบบใหม่ที่ก้าวหน้าที่ยืนอยู่บนหลักเหตุผล และไปสู่ประชาชนระดับล่าง กิจกรรมทางการเมืองและสังคม ได้เข้ามาเป็นกิจกรรมหลักของนิสิตแทนเรื่องการเชียร์ และการแข่งกีฬา และนำมาสู่การยุติคณะนิยมและการวิวาทระหว่างคณะในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

กระแสประชาธิปไตยได้ส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนกระบวนการภายในของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือการปรับระบบการปกครองนิสิตมาเป็นองค์การบริหารสโมสรนิสิต และมีการตั้งสภานิสิตทำหน้าที่ตรวจสอบและพิจารณางบประมาณ ซึ่งเป็นการจำลองแบบตามระบบรัฐสภา สภานิสิตที่มีการเลือกตั้งโดยตรงของนิสิตเริ่มต้นครั้งแรกเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.2517 มีการตั้งพรรคการเมืองของนิสิต ขึ้นมาแข่งขันเช่นเดียวกับพรรคการเมืองภายนอก คือ โดยเฉพาะกลุ่มนิสิตที่ก้าวหน้าได้ตั้งพรรคชื่อ พรรคจุฬาประชาชน ลงสมัครรับเลือกตั้ง และมีบทบาทอย่างมากในสภานิสิต ต่อมา พรรคจุฬาประชาชนก็ชนะการเลือกตั้งเข้าบริหารจุฬาฯในเดือนมกราคม พ.ศ.2519 โดยมี อเนก เหล่าธรรมทัศน์ นิสิตคณะแพทยศาสตร์รับตำแหน่งนายกสโมสร

ใน พ.ศ.2519 กระแสความขัดแย้งทางการเมืองภายนอกเริ่มรุนแรงมากขึ้น เพราะพลังฝ่ายอนุรักษ์นิยมหรือกลุ่มฝ่ายขวา ได้จัดตั้งกันขึ้นเพื่อต่อต้านขบวนการนักศึกษาและนำมาสู่การเผชิญหน้า และในที่สุด ก็นำมาสู่ความรุนแรงและการกวาดล้างขบวนการนักศึกษาในเวลาเช้วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 พร้อมทั้งการก่อรัฐประหารฟื้นอำนาจเผด็จการในเวลาเย็นวันนั้น ในการปราบปรามครั้งนี้ วิชิตชัย อมรกุล นิสิตปีที่ 2 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เสียชีวิตในการปราบปรามด้วย

สรุปว่า แม้ว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะถูกพิจารณาว่าเป็นมหาวิทยาลัยศักดินา แต่ในยุคสมัยแห่งขบวนการนักศึกษา นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวอย่างแข็งขันด้วย ซึ่งบทบาทในด้านนี้ของนิสิตจุฬาฯ ไม่ได้เป็นที่กล่าวถึงกันมากนัก ในที่นี้จึงเก็บมาเล่าให้ฟังเพื่อให้เห็นภาพอีกด้านหนึ่งด้วย




เผยแพร่ครั้งแรกใน: โลกวันนี้วันสุข ฉบับ 609 วันที่ 25 มีนาคม 2560

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.