อันเดรียอาส ฮาร์ตมาน ผู้กำกับ “My Buddha is Punk” ผู้ติดตามความคิดของวัยรุ่นสุดพังก์ในเมียนมาต่อการเมืองประเทศบ้านเกิด

Posted: 27 Mar 2017 09:04 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)


“My Buddha is Punk” คือ สารคดีที่พาเราไปสำรวจชีวิตมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งที่มีความหลงใหลในบางสิ่งบางอย่าง ลองคิดดูว่า จริงๆพระพุทธเจ้าเองก็มีความพังก์ ที่ออกนอกกรอบจากขนบธรรมเนียมเดิมๆ เพื่อจะหาวิธีดับทุกข์ใหม่ๆเช่นกัน

เมื่อวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา “My Buddha is Punk” (2015) กำกับโดยอันเดรียอาส ฮาร์ตมาน (Andreas Hartmann) ผู้กำกับชาวเยอรมัน ที่ได้นำภาพยนตร์เรื่องนี้เข้ามาฉายในเทศกาลภาพยนตร์ “Bangkok Underground Film Festival” ปี 2017 แน่นอนว่านี่เป็นหนึ่งในภาพยนตร์สารคดีที่ได้รับความสนใจล้นหลามจากผู้ชมที่มาร่วมงาน ทั้งเสียงปรบมือหลังสารคดีจบลง และแม้กระทั่งช่วง Q & A ที่มีคำถามสาดกันเข้ามา เหตุผลสำคัญอาจเนื่องมาจากความแปลกใหม่ในการพูดถึงวัฒนธรรมพังก์ในเมียนมา การสะท้อนความคิดของวัยรุ่นชาวพม่าต่อกรณีความรุนแรงในรัฐยะไข่ และความปรารถนาไขว่คว้าสันติสุขในดินแดนบ้านเกิด

“My Buddha is Punk” เป็นสารคดีความยาว 68 นาที บอกเล่าเรื่องราวชีวิตวัยรุ่นชาวพม่าสุดพังก์นามว่า “จ่อว์ จ่อว์” (Kyaw Kyaw) นักร้องนำวง “The Rebel Riot” ผู้มีความฝันอยากจะเห็นเพลงพังก์ได้รับความนิยมในเมียนมา แม้ว่าตอนนี้เมียนมาจะเริ่มกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย แต่ในสายตาของ จ่อว์ จ่อว์ ประเทศบ้านเกิดของเขายังไม่ได้เปลี่ยนไปนัก และยังเต็มไปด้วยปัญหามากมายที่ยังไม่รับการแก้ไข แทนที่จะนั่งรอให้อะไรหลายๆอย่างดีขึ้นเอง จ่อว์ จ่อว์ และผองเพื่อนวง The Rebel Riot เลือกที่จะใช้เพลงพังก์ เรียกร้อง และกระตุ้นในชาวพม่าตระหนักถึงปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน และวิจารณ์ปัญหาสังคมต่างๆ รวมถึงการส่งต่อแนวคิดนี้ไปสู่คนรุ่นหลัง

อันเดรียอาส ฮาร์ตมาน (Andreas Hartmann) ผู้กำกับ My Buddha is Punk ชาวเยอรมัน

ก่อนที่จะได้มาทำ My Buddha is Punk ช่วงสมัยเรียนมหาวิทยาลัยภาพยนตร์ บาเบิลส์แบร์ก คอนราด โวล์ฟ (University Film Babelsberg Konrad Wolf) ประเทศเยอรมนี ฮาร์ตมานได้มีโอกาสทำผลงานภาพยนตร์สารคดีขนาดยาวเรื่องแรกถ่ายทำในประเทศเวียดนาม ชื่อ “Day of Rain” (2010) ซึ่งในภายหลังสารคดีเรื่องนี้ได้จุดประกายให้ฮาร์ตมาน สนใจที่จะทำสารคดีเกี่ยวกับประเด็นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และทำสารคดีขนาดยาวเรื่องที่สอง คือ “My Buddha is Punk”

“ผมสนใจสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศเมียนมา ตอนที่เมียนมาเริ่มกระบวนการเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลเผด็จการทหารไปสู่ประชาธิปไตย ขณะเดียวกัน ผมก็สนใจในตัวคนรุ่นใหม่ในประเทศเมียนมาเช่นกัน โดยปกติ งานของผมจะสนใจคนรุ่นใหม่เป็นหลัก และสารคดีจะใช้เวลาส่วนใหญ่ติดตามคนรุ่นใหม่เหล่านี้ในช่วงเวลาที่สำคัญสำหรับพวกเค้าในการควานหาอัตลักษณ์ และตัวตนทางสังคม พวกเขามีความรู้สึกเกี่ยวข้อง และมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อประเทศของเขาอย่างไรบ้าง ทั้งในช่วงก่อน และหลังกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย”

ด้วยความสนใจดังกล่าว ผู้กำกับแดนอินทรีเหล็กจึงเริ่มหาข้อมูลจากบทความในหนังสือพิมพ์จนมาเจอข้อมูลเกี่ยวกับพังก์ในเมียนมา เรื่องนี้ยิ่งกระตุ้นความสนใจของฮาร์ตมานให้อยากทำสารคดีมากขึ้น และเริ่มค้นคว้าข้อมูลในอินเทอร์เน็ต และโซเชียลเน็ตเวิร์กอย่างเฟซบุ๊ก จนในที่สุดเขาก็ได้มาเจอ และเป็นเพื่อนกับ “จ่อว์ จ่อว์” ซึ่งจ่อว์ จ่อว์ ก็ได้ชวนฮาร์ตมานมาที่เมียนมา และเป็นการพบกันครั้งแรกของทั้งคู่ การเจอกันครั้งนี้ทำให้ฮาร์ตมาน ตัดสินใจว่าจะติดตามชีวิตของ จ่อว์ จ่อว์ ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง แทนที่จะเลือกนำเสนอเรื่องราวดนตรีพังก์ในเมียนมาทั้งหมดแทน

ฮาร์ตมาน ถ่ายทำสารคดีเรื่องนี้ใช้เวลารวมทั้งหมดประมาณ 3 ปีด้วยกัน โดยเริ่มถ่ายทำตั้งแต่ช่วงฤดูหนาวปี 2012 เป็นช่วงเวลาสั้นๆ ประมาณ 2 เดือน เพราะเดิมทีผู้กำกับชาวเยอรมันไม่ได้ทำเรื่องขออนุญาตเข้ามาถ่ายทำสารคดีในเมียนมา และใช้เพียงแค่วีซ่านักท่องเที่ยว ซึ่งอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้มีเวลาถ่ายทำเพียงช่วงสั้นๆ เท่านั้น และหลังจากถ่ายทำ ก็กลับมาทำในส่วนโพสต์โปรดักชัน ตัดต่อ และแปลภาษาจนถึงปี 2015


สารคดีดำเนินเรื่องโดยใช้ฟุตเทจภาพจากการติดตามชีวิตของจ่อว์ จ่อว์ เป็นหลัก ยกเว้นช่วงแรกที่เป็นฟุตเทจจากวิดีโอ เพราะเป็นภาพในอดีตก่อนปี 2012 และน่าสนใจว่า เราจะไม่เห็นการสื่อสารระหว่างตัวเอกและผู้กำกับ ตรงนี้ทำให้คนดูเป็นเสมือนคนที่ติดตามชีวิตของคนหนึ่งๆเท่านั้น และปล่อยให้บทสนทนา และการกระทำของตัวเอกเป็นสิ่งที่แสดงตัวตนของเค้า

My Buddha is Punk เลือกนำเสนอเรื่องราวของนักร้องสายพังก์ตั้งแต่ได้เข้าไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ “Saffron Revolution” ในปี 2007 เพื่อต่อต้านเผด็จการทหาร (ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวก็เป็นจุดเริ่มต้นของวง The Rebel Riot เช่นกัน), การใช้ชีวิตประจำวัน การไปนั่งสมาธิที่วัด ขณะที่หนึ่งในจุดที่น่าสนใจในสารคดี คือ การเลือกทิ้งช่วงเวลา และเน้นใช้ฉากการซ้อมดนตรี ฉากพูดคุย หรือถกเถียงระหว่างเพื่อนในกลุ่มของเขา และการพูดคุยกับคนรุ่นใหม่ที่สนใจในพังก์ สิ่งเหล่านี้ทำให้เรามองเห็นทัศนะความคิดของจ่อว์ จ่อว์ ที่พยายามใช้เพลงพังก์เป็นกระบอกเสียงทางความคิดในการต่อต้านการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮีนจา การแสวงหาสันติสุข และทำให้คนพม่าอีกหลายคนตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว นอกจากนี้ ฉากการพูดคุยระหว่างจ่อว์ จ่อว์ กับคนอื่นๆ ยังพาเราไปสำรวจความคิดของวัยรุ่นพม่าต่อการเมืองในประเทศ รวมถึงปัญหาความขัดแย้งทางศาสนา และการชาวโรฮีนจา


“ผมคิดว่า เป็นเพราะพวกเขาเติบโตในบรรยากาศของเผด็จการทหาร ซึ่งดนตรี และความเป็นพังก์ให้ความหมาย และความรู้สึกตรงข้ามกับความเป็นเผด็จการ คือ ความมีอิสรเสรี ไม่มีผู้นำ ไม่มีคำสั่ง ซึ่งพวกเขาอาจจะมองว่าเป็นขั้วตรงข้ามต่อความเป็นเผด็จการ”

“วง The Rebel Riot ค่อนข้างจะมีชีวิตที่ยุ่งวุ่นวาย และขณะเดียวกัน ก็เต็มไปด้วยความกระตือรือร้น ปกติ พวกเขาจะตื่นเช้าตรู่ และเริ่มทำงานเกี่ยวกับเพลงพังก์ ดีไซน์เครื่องแต่งตัวพังก์ เพื่อเอาไปขายในร้านของพวกเขา แต่ปัจจุบัน ร้านปิดไปแล้วเรียบร้อย เพราะว่ารัฐบาลได้สั่งห้ามไม่ให้มีการขายของข้างถนน คือ ทั้งวันของพวกเขามันก็มีแต่เรื่องพังก์ และมันไม่ได้เกี่ยวกับการออกไปเที่ยวเตร่ เสพย์ยา หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” ซึ่งแตกต่างจากทัศนคติของใครหลายคนที่มีต่อพังก์ โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับพังก์ในยุโรป “ทุกวันนี้มันเหมือนกับว่าคุณสามารถจะเป็นพังก์ได้ ถ้าคุณไม่อยากหางานทำ หรือทำงานอะไรเลย และคุณอยากจะเป็นพังก์ เพื่อไม่ต้องทำอะไรนั่นแหละ”


“พวกเขาค่อนข้างที่จะเป็นนักกิจกรรมเพื่อสังคม และอะไรหลายๆอย่างเลย เช่น โครงการ “Foods Not Bombs” ซึ่งพวกเขาจะจัดเตรียมอาหารให้คนที่ไม่มีที่อยู่ในอาศัยบนท้องถนนในนครย่างกุ้ง ยกตัวอย่างเช่น ในคืนของวันจันทร์ พวกเขาขอรับเงินบริจาค และนำเงินส่วนดังกล่าวไปทำอาหารให้คนที่ไม่มีที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ พวกเขายังใช้เวลาไปกับการประท้วง และกิจกรรมในทุกๆวัน”


ขณะที่ในสารคดี มุมมองทางศาสนาของจ่อว์ จ่อว์ ที่แสดงออกมานั้นก็ดูน่าสนใจไม่แพ้กัน ทั้งในเรื่องการเปิดใจรับความแตกต่างทางด้านศาสนา รวมถึงไม่เห็นด้วยอย่างชัดเจนต่อการใช้ความรุนแรงในพื้นที่รัฐยะไข่ ซึ่งเป็นความคิดที่ต่างจากกลุ่มชาวพุทธชาตินิยมสุดโต่งหลายคนทีเดียว และในความคิดของฮาร์ตมาน มุมมองทางด้านศาสนาพุทธของพ่อหนุ่มสุดพังก์ก็ดูจะแตกต่างจากชาวพม่าบางคนเหมือนกัน


“ทั้ง จ่อว์ จ่อว์ และซาร์นี (มือกลองวง The Rebel Riot) เคยบอกผมว่า พวกเขาไม่ได้มองศาสนาพุทธในฐานะศาสนา ทั้งสองคนมีมุมมองทางด้านศาสนาพุทธในแนวทางของเค้าเอง พวกเขาไม่เชื่อ และไม่ทำตามคำสั่ง มันคืออิสระที่จะคิดด้วยตัวของพวกเขาเอง”

ฉะนั้น บางครั้งการนับถือศาสนาจึงไม่ใช่การทำตามไปซะทุกอย่าง เราควรที่จะได้คิดด้วยตัวเองว่าสิ่งไหนถูก หรือผิด

ช่วงก่อนหน้าที่ผู้กำกับเมืองเบียร์จะได้มีโอกาสมาฉายที่ไทย เขาได้นำภาพยนตร์สารคดีไปฉายตามงานเทศกาลภาพยนตร์ที่ต่างๆเช่นกัน ซึ่งก็ได้รับความสนใจมากมาย แต่น่าเสียดายที่ “My Buddha is Punk” ยังไม่มีโอกาสได้ฉายในประเทศเมียนมา “อาจจะเป็นปีนี้ หรือปีหน้า มันน่าจะเป็นไปได้ที่จะได้ฉายในเมียนมา แต่แน่นอนว่าบางทีมันอาจจะยาก เพราะชาวพม่าบางคนอ่อนไหวกับชื่อสารคดีเรื่องนี้มาก พวกเราจะพยายามคิดหาวิธีทางที่จะทำให้เรื่องนี้ฉายในพม่าให้ได้ ซึ่งเราอยากจะลอง”

อนึ่ง ความหมายของชื่อเรื่อง My Buddha is Punk คือ การสื่อถึงความเป็นมนุษย์คนหนึ่ง หรือทุกคนก็คือพุทธองค์ ที่มีความหลงใหล และความสนใจบางอย่างเช่นเดียวกัน มันก็คือตัวตนของจ่อว์ จ่อว์ ที่หลงใหลในวัฒนธรรม และเพลงพังก์ “พวกเขามักจะล้อผมว่า วันหนึ่งพวกเขาจะทำสารคดีเกี่ยวกับตัวผมโดยใช้ชื่อเรื่องว่า My Buddha is Camera เพราะว่าผมมักจะใช้เวลาเพ่งสมาธิ และความสนใจกับการถ่ายทำสารคดี และกล้องถ่ายวิดีโอ มันก็สะท้อนถึงความหลงใหลของตัวผม สำหรับพวกเขา ชีวิตก็คือพังก์ และคือ “My Buddha is Punk” และแน่นอนสำหรับผม มันก็สะท้อนถึงความหลงใหลของตัวผมต่อการทำภาพยนตร์ และมันก็คือความเชื่อของผม


"ทุกๆคนสามารถมีความหลงใหล ความสนใจในชีวิตที่แตกต่างกัน และนั่นก็ไม่ได้หมายความว่าใครจะดี หรือเลวกว่ากัน ทุกอย่างมีคุณค่าเท่าเทียมกันหมด แต่มันสำคัญที่คุณต้องมีบางอย่างที่พิเศษสำหรับอัตลักษณ์ของตัวคุณเองที่คุณสามารถเชื่อมโยงกับตัวคุณได้”


My Buddha is Punk จึงเปรียบเสมือนสารคดีที่ติดตามเรื่องราวชีวิตของ “จ่อว์ จ่อว์” ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่มีความหลงใหลในสิ่งที่เรียกว่า “พังก์” สุดท้าย พังก์ในความหมายของนักร้องหนุ่มสุดพังก์คนนี้จึงไม่ได้เป็นแค่ดนตรี หรือวัฒนธรรมเพียงอย่างเดียว แต่พังก์ในสารคดีกลับเปรียบเสมือนเครื่องมือที่ขัดเกลาตัวตนของจ่อว์ จ่อว์ ทั้งมุมมองทางโลก บุคลิก นิสัย และตัวตน สุดท้ายก็กลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่จ่อว์ จ่อว์ ใช้เพื่อแก้ไขความไม่ถูกต้อง ไขว่คว้าหาความสงบสุข

หมายเหตุ: ปัจจุบัน ฮาร์ตมานก็เพิ่งมีผลงานภาพยนตร์สารคดีขนาดยาวเรื่องใหม่เป็นเรื่องที่สามชื่อ “A Free Man” (2017) ซึ่งเป็นเรื่องการติดตามคนไร้บ้านชาวญี่ปุ่นคนหนึ่ง ที่ในช่วงวัยเด็กมีความฝันที่อยากจะเป็นนักดนตรีคลาสสิก แต่ในภายหลังตัดสินใจทิ้งการเรียนในมหาวิทยาลัย และหนีออกจากบ้าน เพื่อมาเป็นคนไร้บ้านอยู่ใต้สะพานในมหานครโตเกียว ทั้งนี้ สารคดีมีการตัดต่อเป็นฉบับสารคดีขนาดสั้นเพื่อฉายในรายการโทรทัศน์ของเยอรมนี ซึ่งได้ออกอากาศไปแล้ว แต่ฉบับยาวยังต้องมาลุ้นกันว่าจะทันได้ฉายปีนี้หรือไม่

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.