ความหวาดระแวง แก้ด้วย “สานเสวนา”: พื้นที่กลาง ถ่วงดุลอำนาจ สร้างความกล้าหาญ

Posted: 28 Mar 2017 08:58 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)


เมื่อราวกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ และองค์กรภาคี ร่วมกับสำนักสันติวิธีฯ สถาบันพระปกเกล้า ร่วมจัดงานเปิดตัวหนังสือ “หลัง รอย ยิ้ม” เพื่อบอกเล่าเรื่องราวที่พลิกฟื้นตัวตนและชุมชนชายแดนใต้ จัดที่ TK Park

ช่วงหนึ่งในงานมีวิทยากรร่วมถ่ายทอดประสบการณ์เกี่ยวกับ “การจัดการสานเสวนาในระดับชุมชน” ที่มีผลในทางปฏิบัติจริงมาแล้วใน 3 พื้นที่ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เริ่มจากการเป็นผู้เข้าร่วมกระบวนการสานเสวนาจนนำไปสู่การเป็นนักกระบวนกร เป็นคนกลาง เพียงเพื่อให้กลุ่มคนทั้งสองฝั่งที่มีความหวาดระแวงต่อกันกลับมาพูดคุยและเข้าใจกันและกัน

กฎหมายความมั่นคง 3 ฉบับ ทำชาวบ้านระแวง – สานเสวนาฟื้นความไว้วางใจ

นารี เจริญผลพิริยะ นักสันติวิธี และผู้พัฒนากระบวนการ ‘สานเสวนาระดับชุมชน’ เปิดเผยว่า ในพื้นที่จะใช้กฎหมาย 3 ฉบับ คือ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (พ.ร.บ.ความมั่นคง) และพ.ร.บ.อัยการศึก ซึ่งกฎหมายเหล่านี้เปิดช่องให้คนในพื้นที่สามารถถูกจับตลอดเวลา

ตัวอย่างเช่น เมื่อเกิดเหตุการณ์ครั้งหนึ่ง ชาวบ้านที่เป็นมุสลิมก็จะถูกปิดล้อมทั้งหมู่บ้าน จับไป 30-40 คน เพื่อแยกปลาออกจากน้ำ วิธีการแบบนี้ในแง่ความรู้สึกมันถูกตัดสินไปแล้ว มันจึงดึงความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการห่างออกไป ซึ่งในสถานการณ์อย่างนี้จำเป็นต้องมีคนกลาง เพราะต่างฝ่ายต่างระแวงกัน

สานเสวนาจึงเข้าไปช่วย เราพยายามให้ชาวบ้านทำความรู้จักเครื่องมือนี้ว่าหน้าตาและวิธีการเป็นอย่างไร โดยเราสร้างสถานการณ์จำลองให้แสดงตามบทบาทต่างๆ เช่น เป็นชาวบ้าน เป็นเจ้าหน้าที่ และเป็นคนกลาง เพื่อให้พวกเขารู้สึกไว้วางใจเมื่อได้เปิดอกคุยกัน

เจ้าหน้าที่อาจเกิดความผิดพลาดบ้าง สานเสวนาอุดช่องว่าง สอดคล้องนโยบายการเมืองนำการทหาร

ชวลิต เรียนแจ้ง อดีต ผอ.สำนักการบังคับใช้กฎหมายและสิทธิมนุษยชน กอ.รมน.ภาค 4 เปิดเผยว่า เพราะความหวาดระแวงทำให้ต้องคุยกัน เพื่อให้เข้าใจถึงเหตุผลความจำเป็นที่เจ้าหน้าได้ปฏิบัติ เราต้องค่อยๆ ปรับความคิด ไม่อย่างนั้นจะไม่มีวันรู้ว่าเจ้าหน้าที่คิดอย่างไร

เหตุการณ์ในพื้นที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทำให้เจ้าหน้าที่ต้องรวบรัดใช้กฎหมายความมั่นคงทั้ง 3 ฉบับ โดยไม่ผ่านกระบวนการขอหมายจากศาล ซึ่งอาจจะมีส่วนเป็นเงื่อนไขที่เกิดจากความผิดพลาดตามวิจารณญาณของผู้ใช้บ้าง

อย่างไรก็ตามหลังจากได้สานเสวนากัน วิธีคิดของเจ้าหน้าที่ก็ดีขึ้น เพราะการพูดคุยกันอย่างไรก็ต้องดีขึ้น มันคือการปรับตัวเข้าหากัน สามารถไกล่เกลี่ยความไม่เข้าใจระหว่างกันได้ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการเมืองนำการทหารที่นำมาใช้ในพื้นที่ แต่การพูดคุยคงไม่ได้ผลในระยะเวลาอันสั้น

ความสูญเสีย ทำให้เกิดความหวาดระแวง – สานเสวนา ทำให้เกิดความเข้าใจ

โซรยา จามจุรี เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ และนักวิชาการ มอ.ปัตตานี เปิดเผยว่า เราเลือก 3 หมู่บ้านในจังหวัดชายแดนใต้ คือ บ้านยุโป จ.ยะลา บ้านพ่อมิง จ.ปัตตานี และบ้านกูจิงลือปะ จ.นราธิวาส เพราะเป็นพื้นที่ที่มีการสูญเสียจำนวนมากส่งผลให้เกิดความหวาดระแวงสูงขึ้นตามไปด้วย

ทำให้เราต้องจัดกิจกรรมสานเสวนาให้คนที่ต้องอยู่ด้วยกันแต่มีความคิดและวัฒนธรรมที่ต่างกันมาร่วมแลกเปลี่ยนและรับฟังกัน เพื่อลดความหวาดระแวงและสร้างความเข้าใจกันมากขึ้น

ส่วนประเด็นที่เลือกผู้หญิงมาร่วมกิจกรรมคงเป็นเพราะผู้หญิงคือผู้ได้รับผลกระทบมากกว่ากลุ่มเป้าหมายอื่น รวมทั้งผู้หญิงมีพลังอำนาจในตัวที่สามารถพัฒนาศักยภาพ และเรียนรู้จากกิจกรรมสู่การเป็นวิทยากรกระบวนการจัดสานเสวนาในชุมชนของตนเองได้

จุดที่สร้างความหวาดระแวงไม่ใช่ศาสนา – สานเสวนาทำให้มองเห็น “เรา” มากขึ้น

ละออ พรหมจินดา ตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรง (คนไทยพุทธ) กล่าวว่า ความจริงเราไม่ได้มีปัญหาระหว่างกัน เราอยู่ด้วยความรัก แบ่งปันกันและกันมานาน เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เกี่ยวกับศาสนาตามที่คนนอกพื้นที่เข้าใจ แต่ไม่รู้ว่ามีจุดอะไรที่ทำให้เราหวาดระแวงระหว่างกันและกัน แต่หลังจากไปร่วมกิจกรรมสานเสวนาทำให้เราได้พูดในมุมของพลังจากกลุ่มเล็กๆ ให้คนกลุ่มใหญ่ได้รับรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในชุมชนของเราได้

ผู้นำศาสนาต้องกล้าอธิบาย - สานเสวนาทำให้มั่นใจนำพาชุมชนคุยกับรัฐ

ยาการียา สะแปอิง ตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรง (คนมลายูมุสลิม) กล่าวว่า หลังได้ร่วมสานเสวนาทำให้เกิดความมั่นใจที่จะนำชุมชนไปร่วมพูดคุยกับเจ้าหน้าที่รัฐมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ได้ฟังความคิดของเจ้าหน้าที่ด้วย

ในฐานะที่เราเป็นผู้นำศาสนา อะไรที่เกี่ยวกับศาสนาเราก็ต้องกล้าอธิบายให้เจ้าหน้าที่เข้าใจ มันคือการแลกเปลี่ยนระหว่างกันเพื่อนำไปปรับปรุงและปฏิบัติต่อกันในครั้งต่อไปให้ดีกว่าเดิม

สานเสวนาทำให้เกิดความกล้า


คอลีเยาะ มะลี ตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบจากคดีความมั่นคง กล่าวว่า หลังได้ร่วมกิจกรรมสานเสวนาทำให้ตนกล้าพูด กล้าต่อรอง กล้าแสดงออก กล้าตัดสินใจ และกล้าเป็นกระบอกเสียงให้ชุมชน

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.