พรรษาสิริ กุหลาบ: ความคิดเห็นไม่ควรถูกปิดกั้น-ไม่ว่าทัศนคติทางการเมืองเป็นแบบใด

Posted: 30 Mar 2017 06:00 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)


ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงเหตุการณ์ กสทช. มีมติระงับการออกอากาศช่องวอยซ์ทีวีด้วยอำนาจของกฎหมายและคำสั่ง คสช. ฉบับต่างๆ (อ่านรายละเอียดได้ที่ ดาบ โซ่ แส้ กุญแจมือ: เปิดเครื่องมือเชือด Voice TV) น่าตั้งคำถามว่าในยุคนี้ หากสื่อไร้เสรีภาพ ประชาชนจะยังมีเสรีภาพอยู่อีกหรือ?

ประชาไทพูดคุยกับ พรรษาสิริ กุหลาบ อาจารย์ประจำภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อวิเคราะห์ถึงภาพรวมของสถานการณ์ ร่วมกันตั้งคำถามถึงบทบาทขององค์กรสื่อและภาคประชาชน ต่อเสรีภาพและการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น
ไม่เฉพาะกับสื่อแต่ยังกระทบต่อการแสดงความเห็นในพื้นที่สาธารณะ

พรรษาสิริ อ้างถึง สุภิญญา กลางณรงค์ โพสต์ลงเฟซบุ๊คถึงกรณีนี้ว่า การระงับใบอนุญาตออกอากาศของวอยซ์ทีวีครั้งนี้ทำให้เกิด chilling effect (“ผลอันน่ากลัว” - หมายเหตุ: แปลโดยประชาไท) ต่อวงการสื่อ ที่ทำให้สื่อไม่สามารถตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐได้ (อ่านโพสต์ของสุภิญญาได้ที่นี่)

เธอให้ความเห็นว่า ส่วนตัวมองว่านี่ไม่ใช่เป็นเพียง chilling effect ต่อนักวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน แต่ยังเป็น chilling effect ในพื้นที่สาธารณะด้วย เพราะเท่าที่ประเมินคร่าวๆ ผู้ที่แสดงความเห็นคัดค้าน คำสั่งของ กสทช. เท่าที่สังเกตการณ์จากการแสดงความเห็นบนโลกออนไลน์ ถ้าไม่เป็นองค์กรวิชาชีพสื่อ องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน และองค์กรสิทธิผู้บริโภค ก็จะเป็นประชาชนที่น่าจะติดตามรายการเหล่านี้และมีแนวคิดสอดคล้องกับจุดยืนของผู้ดำเนินรายการ จึงมองว่านี่เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพทางความเห็นและเสรีภาพสื่อ

แต่ในภาพรวม สังคมหรือสื่อบางสำนักก็ไม่ได้ตั้งคำถามว่านี่เป็นการละเมิดเสรีภาพทางความเห็นหรือเสรีภาพสื่อหรือไม่ เพียงแต่รายงานว่าเป็นการผิดกฎเกณฑ์ที่ กสทช. และคสช. ตั้งไว้ แต่ไม่ได้มองว่ากฎเกณฑ์เหล่านั้นหรือกระบวนการพิจารณาและกำกับดูแลมีความชอบธรรมมากน้อยเพียงใด
เสรีภาพสื่อไม่ควรเกี่ยวข้องกับเรื่องทัศนคติทางการเมือง

พรรษาสิริมองว่า อาจเป็นไปได้ที่มีสื่อและประชาชนเห็นว่า การระงับใบอนุญาตวอยซ์ทีวีชั่วคราวเป็นการละเมิดเสรีภาพ แต่ก็ไม่สามารถแสดงความเห็นคัดค้านอย่างเต็มที่ เหตุที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะวอยซ์ทีวีมีกลุ่มทุนตระกูลชินวัตรเป็นเจ้าของ และรายการที่เป็นต้นเหตุก็มีผู้ดำเนินรายการที่มักแสดงจุดยืนที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารและคสช.มาตลอด การที่แสดงจุดยืนสนับสนุนวอยซ์ทีวีและคัดค้าน กสทช. ในครั้งนี้ ก็อาจทำให้ถูกมองว่าเป็น “เสื้อแดง” หรือผู้ที่ขัดขวางเส้นทางการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ได้ ทั้งๆ ที่กรณีนี้เป็นเรื่องของสิทธิเสรีภาพ ไม่ใช่เรื่องการเมืองโดยตรง ถ้าเป็นสื่ออื่นๆ ปฏิกิริยาการคัดค้านเรียกร้องอาจแตกต่างไป

ปฏิกิริยาของสังคมแบบนี้ นำมาสู่คำถามที่ว่า เสรีภาพสื่อ = เสรีภาพประชาชน อย่างที่องค์กรวิชาชีพสื่อมักหยิบยกมาใช้จริงหรือ? ประชาชนทั่วไปใส่ใจหรือไม่กับการจอดำของสถานีหนึ่ง คนกลุ่มไหนที่รู้สึกเดือดร้อน คนกลุ่มไหนที่ไม่แยแสหรือสะใจ ถ้าคนทั่วไปไม่แคร์ ก็ไม่มีความจำเป็นที่ กสทช. และคสช. ต้องใส่ใจว่าทำเรื่องนี้ไปแล้วสังคมจะเดือดร้อน
วิเคราะห์ Voice TV กับการนำเสนอวิพากษ์วิจารณ์รัฐ

พรรษาสิริเสนอด้วยว่า เมื่อย้อนดูประวัติการ “จัดการ” กับ วอยซ์ทีวีในแต่ละครั้ง พบว่าเป็นข้อหาเดิมๆ เป็นรายการหรือผู้ดำเนินรายการคนเดิมๆ และเป็นรายการเชิงวิเคราะห์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้ดำเนินรายการหรือผู้วิเคราะห์ ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งจะเน้นข้อเท็จจริงชุดใดชุดหนึ่งเป็นพิเศษ หากเห็นว่าข้อเท็จจริงชุดนี้ไม่ได้รับการนำเสนออย่างกว้างขวางหรือให้น้ำหนักเท่าที่ควรในสื่ออื่นๆ และนำเสนอจุดยืนของตนเอง

สิ่งที่น่าสังเกตคือ หากใช้มาตรฐานในการกำกับดูแลเนื้อหาที่ระบุว่า รายการหรือผู้ดำเนินรายการเหล่านี้นำเสนอข้อมูลชุดเดียว ไม่ให้พื้นที่กับข้อมูลอื่นๆ หรือมีการแสดงความเห็นแทรกในข้อมูลที่นำเสนอซึ่งไม่แปลกสำหรับการเป็นรายการเชิงวิเคราะห์ แต่ทำไมมาตรฐานเดียวกันนี้ไม่ไปใช้กับรายการข่าวหรือเล่าข่าว ซึ่งโดยลักษณะรายการต้องนำเสนอข้อเท็จจริงโดยไม่ใส่ความเห็น แต่ก็ยังพบรายการเล่าข่าวจำนวนมากที่ผู้ดำเนินรายการใส่ความเห็นส่วนตัวลงไปหรือนำเสนอหรือย้ำข้อมูลฝั่งใดฝั่งหนึ่งมากกว่า เช่นช่วงนี้ในกรณีการยิงเยาวชนนักกิจกรรมชาวลาหู่ แต่รายการเหล่านี้กลับไม่ถูกพิจารณา นั่นเป็นเพราะรายการเหล่านี้นำเสนอความเห็นที่ไม่ตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์รัฐหรือไม่
องค์กรสื่อและสังคมควรเป็นผู้คานอำนาจกับรัฐและกสทช.

พรรษาสิริชี้ว่า กรณีนี้สะท้อนปัญหาความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ในการกำกับดูแลสื่อ เพราะสิ่งที่เกิดกับวอยซ์ทีวีครั้งนี้ไม่ใช่เป็นครั้งแรก และทุกๆ ครั้งก็มีการเรียกร้องและวิพากษ์วิจารณ์คำสั่งของ กสทช. ในทิศทางเดียวกัน แต่ก็ยังเกิดขึ้น เช่น รายงานระบุว่า คณะอนุกรรมการกำกับเนื้อหาและผังรายการเสนอให้ระงับ 3 วัน แต่ กสท. เพิ่มเป็น 7 วัน ทำอย่างนี้ ใครจะเป็นคนคานอำนาจตรวจสอบ หรืออุทธรณ์กสทช.ได้ หรือคณะอนุฯ พิสูจน์อย่างไรที่บอกว่า ข้อมูลไม่รอบด้าน ส่วนตัวจึงตั้งคำถามกับบทบาทขององค์กรสื่อ องค์กรวิชาชีพสื่อ และสังคม ที่หากยึดในหลักการเสรีภาพในการแสดงความเห็นและเสรีภาพสื่อ ก็ควรจะร่วมกันปกป้องวอยซ์ทีวี และเรียกร้องให้ กสทช. หรือคสช. ทบทวน เพราะสิ่งที่เกิดกับวอยซ์ทีวี อาจเกิดกับตัวเองก็ได้ถ้าเขาใช้อำนาจอย่างนี้ แต่ในทางปฏิบัติก็เข้าใจได้ว่าเหตุที่องค์กรเหล่านี้ก็ทำไม่ได้ อาจมาจากเหตุผลทางการเมืองและเศรษฐกิจ จะไปขัดใจฐานผู้ชมหรือผู้อ่านของตัวเองที่อยู่การเมืองคนละขั้วไม่ได้ ก็ต้อง self-censor ตัวเองต่อไป
สื่อควรกล้านำเสนอประเด็นสิทธิและเสรีภาพต่อไป

สิ่งที่ควรทำถ้าไม่แสดงจุดยืนเรื่องเสรีภาพสื่อและการแสดงความเห็น ก็ควรตามประเด็นที่วอยซ์ทีวี รายงาน เพราะบางเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเสื้อสีไหน ก็ควรจะต้องให้ความสนใจ เช่น เรื่องของชัยภูมิ ป่าแส หรือวีระ สมความคิด เพราะเกี่ยวข้องกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชนโดยตรง ถ้ามองเผินๆ ก็จะไม่เกี่ยวกับการเมืองเสื้อสีอย่างชัดเจน ยกเว้นจะมีแหล่งข่าวที่ลากเข้ามาให้เกี่ยวข้อง

สื่อต่างๆ ไม่จำเป็นต้องมองจากมุมเดียวกันหรือสนับสนุนสิ่งที่วอยซ์ทีวีรายงาน จะลองมองต่างหรือตรวจสอบก็ได้ เพื่อให้ประเด็นยังคงอยู่ ไม่ถูกเบี่ยงประเด็น ถ้าจะให้หายข้องใจ ควรตรวจสอบว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร และควรใช้ข้อมูลและหลักฐานเชิงประจักษ์ อย่าให้ chilling effect มีผลต่อการรายงานข้อเท็จจริงในเหตุการณ์เหล่านี้
ผู้บริโภคอย่างเราก็คือผู้เสียหายเพราะขาดช่องทางเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร

พรรษาสิริกล่าวว่า สังคมควรใส่ใจกับเรื่องการกำกับดูแลสื่อให้มากขึ้น เพราะนี่คือกลไกอันชอบธรรมที่รัฐใช้อยู่ และถ้ามองย้อนกลับไป รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยก็มีกลไกทางกฎหมายในการจัดการกับสื่อไม่ต่างกัน ดังนั้นถ้าเราเห็นว่า ทั้งรัฐบาล สถาบันนิติบัญญัติ องค์กรอิสระของรัฐที่ไม่ควรอยู่ใต้อำนาจรัฐ สถาบันสื่อและสถาบันอื่นๆ ในสังคมไม่สามารถสร้างกลไกการตรวจสอบและกำกับดูสื่อที่มีประสิทธิภาพ ถ่วงดุลตรวจสอบได้ และอยู่บนหลักการประชาธิปไตย ภาคประชาชนก็ต้องสร้างเอง

บทบาทขององค์กรผู้บริโภคน่าสนใจมาก เพราะไม่ได้มองจากมุมมอง 'สิทธิและเสรีภาพ' ซึ่งมักถูกนำไปโยงกับการเมือง (politicised) แต่มองในฐานะว่าผู้บริโภคเสียอะไรหากขาดช่องทางการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และควร 'สู้' พร้อมทั้งเรียกร้องด้วยวิธีใหม่ๆ เพราะที่ผ่านมาก็เถียงอยู่บนประเด็นเดิมๆ ที่รัฐไม่เคยฟังและใช้ argument เดิมๆ ในการลงดาบ ความท้าทายของพลเมืองและผู้ใช้สื่อในยุคนี้ คือต้องระบุให้เป็นรูปธรรม หรือสะท้อนว่าการลงดาบอย่างนี้ส่งผลต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นของรัฐอย่างไร เพราะบางเรื่องที่มีเสียงคัดค้านเยอะ รัฐมีท่าทีถอย (หรือแอบทำเงียบๆ) ถ้าไม่คอยค้าน ก็จะเจอเหตุการณ์อย่างนี้อีก

ทั้งนี้เธอได้กล่าวทิ้งท้ายว่า ทุกประเด็นย้อนกลับไปยังสภาพการณ์ทางการเมืองและสังคมในปัจจุบันว่า ความแตกต่างทางอุดมการณ์และความเชื่อทางการเมือง มีอิทธิพลต่อทุกเรื่อง ทำให้ประชาชนทั่วไป นักวิชาการ นักวิชาชีพ ไม่สามารถมองเหตุการณ์นี้ได้ด้วยหลักการ (freedom of expression/ freedom of press; transparency, participatory process) เพราะถ้าวิเคราะห์ตามหลักการเหล่านี้ได้ ก็จะมีวิธีอื่นในการจัดการและกำกับดูแลวอยซ์ทีวีที่ไม่ต้องมาถึงขั้นการระงับใบอนุญาต

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.