โฆษก กมธ.วิสามัญฯ พิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ยัน ทหาร-กมธ.ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน

Posted: 29 Mar 2017 11:57 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

29 มี.ค.2560 รายงานข่าวระบุว่า พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ โฆษกกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม และร่างพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ยืนยันว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลตามขั้นตอนแล้ว ซึ่งการมีบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ไม่ใช่แนวคิดใหม่ เคยศึกษาและเสนอเรื่องนี้ ไปยังรัฐบาล สมัยที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เป็นรองนายกรัฐมนตรี มาแล้ว แต่ร่างที่ ครม. เสนอกลับมา ไม่ได้กำหนดให้ตั้ง บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ คณะกรรมาธิการจึงพิจารณาถึงความจำเป็น ที่ต้องกำหนดให้มีบรรษัทน้ำมันแห่งชาติไว้ในร่าง พ.ร.บ. เพื่อกำกับดูแลระบบการแบ่งปันผลประโยชน์ จึงได้กำหนดเพิ่มเติมในร่าง พ.ร.บ. นอกเหนือจากเดิมที่มีเพียงระบบพลังงาน พร้อมยืนยันว่า ผ่านมาได้รับฟังความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้านแล้ว ทหาร และ กรรมาธิการทั้ง 21 คน ที่ร่วมพิจารณา ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นการออกกฎหมายเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ ส่วนการที่ไม่กำหนดโครงสร้างของบรรษัทน้ำมันที่ชัดเจน ไว้ในมาตรา 10 / 1 มองว่า หากเขียนแบบผูกขาดจนเกินไป จะยากต่อการปฏิบัติของรัฐบาล ซึ่ง ไม่มั่นใจว่า ในอนาคต จะมีฝ่ายการเมืองเข้าแทรกแซงโครงสร้าง หรือไม่ ขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะบริหารจัดการ

พล.อ.อกนิษฐ์ ยังได้กล่าวถึงกรณีที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ระบุว่าในร่างกฎหมายฉบับนี้ จะเปิดช่องให้ กรมพลังงานทหาร เข้ามาดูแลบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ว่า ส่วนตัวมองว่าเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะกรณีนี้ ผู้ที่มีอำนาจสูงสุด คือ รัฐมนตรีว่าการการทรวงพลังงาน แต่กรมพลังงานทหารขึ้นตรงกับกระทรวงกลาโหม ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อคิดค้นพลังงานใช้ในการปกป้องประเทศ ไม่ได้ดำเนินธุรกิจน้ำมัน

ยันพรุ่งนี้ ไม่เลื่อนพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม


ขณะที่ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงการพิจารณาร่างดังกล่าว ของที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิปสนช.) เมื่อวานนี้ ว่า ที่ประชุมวิปสนช. ได้พูดคุยเรื่องความเป็นมาของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว และได้รับการอธิบายจากพลเอกสกนธ์ สัจจานิตย์ ประธานกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ถึงการเพิ่มมาตรา 10/1ว่าด้วย การจัดตั้งคณะกรรมการบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ซึ่งเป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นจากกรรมาธิการชุดดังกล่าว ที่มีข้อเสนอของผู้ทรงคุณวุฒิและกรรมาธิการที่รับฟังความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิ เสนอว่า ควรจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติขึ้นมาเพื่อเป็นทางเลือกในการดำเนินการเรื่องปิโตรเลียม เนื่องจากระบบการปิโตรเลียมของไทยเป็นการให้สัมปทาน แต่การเพิ่มเรื่องนี้อยู่นอกหลักการของกฎหมายฉบับนี้ เพราะฉบับที่รัฐบาลส่งมา เป็นระบบสัมปทาน ดังนั้น จึงต้องขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) และกรรมาธิการก็ได้รับการอนุมัติจาก ครม.แล้ว อย่างไรก็ตาม ตนได้ตรวจสอบพบว่า ในร่างกฎหมายดังกล่าว บัญญัติเพียงว่า หากจะดำเนินการในลักษณะของบรรษัทเช่นนี้ จะต้องศึกษาความพร้อมอย่างไร ซึ่งเป็นการเขียนกฎหมายแบบเปิดทางไว้เท่านั้น ยังไม่ได้มีการจัดตั้ง เนื่องจากมีแนวคิดว่า นอกจากระบบสัมปทานแล้ว ก็ควรมีรัฐบาลแห่งชาติเข้าไปดำเนินการเอง โดยจัดในรูปแบบของบรรษัทของรัฐบาล แต่ทั้งนี้ จากกรณีดังกล่าว ทำให้มองได้ 2 ทาง คือฝ่ายที่ผลักดันมองว่าร่างกฎหมายเพิ่มเติมมาไม่สมบูรณ์และไม่ชัดเจน ส่วนอีกฝ่ายที่สนับสนุนกฎหมายเดิม ก็มองว่า เพิ่มประเด็นนี้ขึ้นมาได้อย่างไร อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า กังวลที่มีกลุ่มเตรียมชุมนุมต่อต้านการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว แต่อยากให้เข้าใจว่า กฎหมายสามารถปรับปรุงแก้ไขได้เสมอในอนาคต เพราะกฎหมายไม่ตายตัว วันนี้ทำให้ดีที่สุดสำหรับรัฐบาลนี้ ส่วนจะดำเนินการพิจารณากฎหมายตามมาตรา 77 ในรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติหรือไม่นั้น ยังไม่ทราบว่าจะต้องทำเมื่อใด แต่ยืนยันว่า ขณะนี้เปิดรับฟังความเห็นอย่างกว้างขวางอยู่แล้ว รวมถึงการวิเคราะห์ผลกระทบของกฎหมายที่มีต่อประชาชนด้วย

พรเพชร ยืนยันว่า ที่ประชุม สนช.จะไม่เลื่อนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ในวันพรุ่งนี้ (30มี.ค.) เนื่องจากต้องพิจารณาหลักการอื่นๆของกฎหมายด้วยโดยเฉพาะเรื่องการค้นหาพลังงานของประเทศ ส่วนปัญหาเรื่องการตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ จะต้องหาข้อยุติโดยการอภิปรายของสมาชิกสนช. ซึ่ง ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา คือร่างของรัฐบาล แต่ที่ระบุว่าต้องเดินหน้าต่อไป คือ เดินหน้าในส่วนที่ไม่ได้ขัดแย้ง ส่วนข้อเสนอใหม่จะต้องพิจารณาว่าดำเนินการอย่างไร หากดำเนินการได้ก็เดินหน้าต่อ แต่หากยังดำเนินการไม่ได้ก็ต้องหาทางออกต่อไป ขณะนี้ยังคาดเดาอนาคตไม่ได้ว่าจะได้ข้อยุติหรือไม่ แต่ที่ผ่านมา สนช.เคยแก้ไขกฎหมายในชั้นกรรมาธิการเช่นนี้มาแล้ว 3-4ครั้ง และการพิจารณาของ สนช.มีหลายรูปแบบ ทั้งการโหวต การประนีประนอม หรือบางครั้งกรรมาธิการจะนำร่างกลับไปพิจารณา จึงต้องดูสถานการณ์และเปิดให้อภิปรายก่อน เพื่อให้ทราบความคิดเห็นของสมาชิกสนช.และขอย้ำว่าจะพยายามให้ได้ข้อสรุปที่ลงตัวและเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ

อภิสิทธิ์ แนะตั้งองค์กรกำกับด้านดูแลด้านพลังงานต้องชัดเจน

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวแสดงความเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวด้วยว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวช่วยเปิดทางเลือกให้กับประเทศด้วยการจำแนกระบบแบ่งปันผลผลิต ระบบการจ้างผลิต ซึ่งนอกเหนือจากเดิมที่มีระบบสัมปทานอย่างเดียว แต่การปรับเปลี่ยนย่อมต้องปรับโครงสร้างองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับด้านพลังงานทั้งหมด จึงต้องมีการตั้งองค์กรหนึ่งขึ้นมาดูแล ซึ่งจะต้องมีการเพิ่มเนื้อหาสาระลงในร่างกฎหมายให้ชัดเจนว่าควรมีองค์กรเข้ามาบริหารจัดการในประเด็นต่างๆ เมื่อใด พร้อมกำหนดกรอบเวลา และอำนาจขององกรค์ที่จะเข้ามาทำงานแต่ละด้าน อาทิ การผูกขาดท่อก๊าซ การสำรวจผลผลิต ผู้เข้ามาทำหน้าที่ควรมีทักษะที่เหมาะสมในแต่ละงาน ทั้งนี้ การดำเนินการควรอยู่บนทางสายกลาง หากจัดตั้งเป็นบรรษัทที่ใหญ่เกินไปอาจเกิดปัญหาการแทรกแซงผูกขาด

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า รัฐบาลควรจริงจังในการใช้โอกาสนี้ปฏิรูปพลังงาน ส่วนการพิจารณาของร่างกฎหมาย สนช. ในวันที่ 30 มี.ค.นี้เห็นว่า กรรมาธิการสามารถรับความเห็นของสมาชิกไปปรับแก้ไขได้ตามกระบวนการของสภา ซึ่งอาจพิจารณาดูว่าจะปรับแก้ร่างเดิม หรือเสนอรัฐบาลเพิ่มร่างกฎหมายฉบับใหม่



ที่มา : เว็บไซต์วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.