เปิดตัวหนังสือ 'อินเดียมหัศจรรย์' แนะควรศึกษาแม้ขัดแย้งภายในสูง แต่ไร้รัฐประหาร

Posted: 26 Mar 2017 03:07 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

เปิดตัวหนังสือ “อินเดียมหัศจรรย์” เปิดมุมมองต่ออินเดียใหม่ 'คริส เบเกอร์' แนะไทยควรศึกษาประชาธิปไตยอินเดีย เหตุมีความขัดแย้งภายในเยอะมาก แต่ทหารก็ไม่ใช้กำลังล้มระบอบประชาธิปไตย ระบุประวัติศาสตร์อินเดียไม่ได้มีชุดเดียว มีมานานและยิ่งใหญ่กว่าประเทศอินเดีย ไทยนำแนวคิดมาประยุกต์ใช้ได้


เมื่อวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ได้จัดงานเสวนาและเปิดตัวหนังสือ “อินเดียมหัศจรรย์” ที่บ้านไทยจิมทอมป์สัน โดยมี คริส เบเกอร์ นักเขียนและนักวิจัยอิสระ วีระ ธีรภัทรานนท์ นักจัดรายการวิทยุชื่อดัง สาวิตรี เจริญพงษ์ อาจารย์จากภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เชษฐ์ ติงสัญชลี อาจารย์จากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นวิทยากร และกาญจนี ละอองศรี เป็นผู้ดำเนินรายการ

แนะควรศึกษาประชาธิปไตยอินเดีย ชี้คนมองการมีสิทธิเสียงทำให้ชีวิตดี

คริส เบเกอร์ กล่าวว่า สิ่งที่น่าสนใจในการศึกษาอินเดียในปัจจุบันคือ ปัจจัยที่ทำให้ประเทศที่ใหญ่ และมีความแตกต่างทางอัตลักษณ์สูงมากยังคงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยได้อย่างยาวนานตั้งแต่ได้รับเอกราช ถึงวันนี้ก็ประมาณกว่า 70 ปี เวลาที่คนไทยบอกว่าไม่เอาประชาธิปไตย เรายังไม่พร้อม แต่ในอินเดียนั้นมีความขัดแย้งภายในเยอะมาก ทหารก็ไม่ใช้กำลังล้มระบอบประชาธิปไตย เป็นเรื่องจริงที่วรรณะและความเหลื่อมล้ำในคุณภาพชีวิตสูง ยังเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อสังคมอินเดียอยู่มาก แต่ประชาชนอินเดียเข้าใจว่า ตราบใดที่พวกเขามีสิทธิ์และมีเสียง มันจะเป็นประโยชน์ พวกเขาจะมีช่องทางในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเอง ซึ่งปัจจุบัน ถือได้ว่า ปัญหาต่างๆในสังคมอินเดียได้รับการพัฒนามาไม่มากก็น้อยเมื่อนับจากจุดเริ่มต้น

คริส เบเกอร์ กล่าวในงานว่า Basham มีเจตจำนงในการเขียนหนังสือเล่ม เพื่อให้คนอ่านที่อยู่ในโลกตะวันตกรับรู้ว่า วัฒนธรรม อารยธรรมอินเดียไม่ได้ด้อยกว่าอารยธรรมทั้งหลายในโลกตะวันตก เช่น กรีก โรมัน เพราะว่าสมัยก่อนมีวรรณกรรมหลายชุดที่กดวัฒนธรรมอินเดียให้ดูด้อยกว่าอารยธรรมตะวันตก แต่หนังสืออินเดียมหัศจรรย์มีเนื้อหาถึงแค่สมัยก่อนที่ศาสนาอิสลามจะเข้ามามีอิทธิพลในอินเดียเมื่อศตวรรษที่ 12 – 13 การเข้ามามีบทบาทในอนุทวีปที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความเชื่อ ส่งผลสะเทือนจนถึงปัจจุบันในหลายมิติ เช่น ในรัฐอุตตรประเทศที่เลือกตั้งแล้วได้ผู้ว่าการรัฐที่นับถือศาสนาฮินดูที่มีแนวคิดต่อต้านชาวมุสลิม ในประเทศที่ปัจจุบัน โดย วีระ กล่าวเสริมถึงประเทศอินเดียด้วยว่า มีผู้นับถือศาสนาอิสลามมากที่สุดในโลก

ประเทศอินเดีย ≠ อารยธรรมอินเดีย ชี้ปรัชญาการปกครองอาจนำมาใช้กับไทยได้

สาวิตรี กล่าวว่า อินเดียในการรับรู้ของคนไทยยังถูกมองข้ามในหลายเรื่อง ในแง่ของพื้นที่ อารยธรรมอินเดียกระจายตัวไปไกล กินพื้นที่กว้างขวางกว่าดินแดนที่เป็นอินเดียในปัจจุบัน อารยธรรมอินเดียที่เก่าแก่ที่สุดเองก็ไม่ได้อยู่ในอินเดียแล้ว ในแง่วัฒนธรรม อินเดียมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมสูงมาก ไม่ว่าจะเป็นภาษา ศาสนา วัฒนธรรม ในขณะเดียวกันความแตกต่างนั้นก็สามารถนำมาจำแนกตามคุณลักษณะที่มีร่วมกันได้

ในแง่การปกครอง สาวิตรี กล่าวว่า การเล่าประวัติศาสตร์ตามเส้นเวลาของราชวงศ์ต่างๆ เช่น คุปตะ เมารยะ ทำให้ผู้ศึกษาเข้าใจว่านั่นคือปริมณฑลการปกครองทั้งหมดของอินเดียซึ่งแท้ที่จริงไม่ใช่ ยังมีอาณาจักรอีกมากมายที่ไม่ปรากฏในบทเรียน เพียงแต่การบอกเล่าประวัติศาสตร์ของพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่มากในสมัยหนึ่ง แล้วต่อมามีการรวมตัวกันเป็นประเทศนั้นมีความลำบากพอสมควร

วีระ กล่าวว่า การเขียนประวัติศาสตร์อินเดียมีจุดแบ่งคือ ก่อนได้รับเอกราช และหลังได้รับเอกราช โดยประวัติศาสตร์ก่อนช่วงได้รับเอกราชจะหมายรวมไปถึงพื้นที่นอกเหนือจากอินเดียปัจจุบัน ตั้งแต่อัฟกานิสถาน ปากีสถาน บังกลาเทศ ไปถึงพม่าทีเดียว

วีระ ให้ความเห็นด้วยว่า หนังสืออินเดียมหัศจรรย์ บทที่ 4 ที่ว่าด้วย รัฐ ชีวิต ความคิดทางการเมือง น่าอ่านที่สุด เพราะศิลปะการปกครองอินเดียโบราณไม่เหมือนกับตะวันตกตรงที่อินเดียไม่มีการผลิตทฤษฎีการเมือง แต่อินเดียเขียนออกมาเป็นหลักการปกครอง เช่น ราชธรรม คัมภีร์อรรถศาสตร์ ในสังคมไทย พุทธราชา ธรรมราชาก็มีที่มาจากหลักคิดดังกล่าว โคลงโลกนิติ มีต้นทางจากราชธรรม และตนเห็นว่าอาจจะเอามาใช้กับสถานการณ์ปัจจุบันในไทยหลายๆ เรื่องได้ด้วยซ้ำ


สำหรับหนังสือ “อินเดียมหัศจรรย์” นั้น แปลมาจากหนังสือ “The Wonder that was India” เขียนขึ้นโดย Arthur Llewellyn Basham (A.L. Basham) มีใจความเกี่ยวกับอารยธรรมอินเดียหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดทางการเมือง ศาสนาและลัทธิทางความเชื่อ ศิลปะ ภาษาและวรรณคดี ในเล่มยังมีภาพถ่ายของงานศิลปะต่างๆที่ปัจจุบันถูกทำลายทิ้งไปแล้ว ทั้งนี้ สถานทูตอินเดียประจำประเทศไทย ให้เงินทุนสนับสนุนในการจัดทำหนังสือเป็นจำนวนถึง 350,000 บาท

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.