Posted: 30 Jul 2017 07:54 PM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

คุณเคยอยากทราบบ้างไหมคะ ว่าจริงๆ แล้ว คนไทยยอมรับ "ความหลากหลายทางเพศ" มากแค่ไหน

"ผู้มีความหลากหลายทางเพศ" หรือที่บางคนจะเรียกว่า "กลุ่ม LGBT (หรือบางคนก็มี I บางคนก็มี Q หรืออย่างอื่นพ่วงด้วย ฯลฯ)" ดูเผินๆ ก็เหมือนสังคมไทยจะรับกันได้นะ แต่เช่นกัน ลึกๆ เรารู้อยู่แล้วว่า รับได้แค่เปลือก ผิวเผิน เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ

จริงอยู่เราเพิ่งมีพรบ.ความเท่าเทียมทางเพศ เมื่อไม่กี่ปีก่อน แต่ก็ดูเหมือนจะไม่ได้รับการยอมรับจากคนทำงานด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศในด้านปฏิบัติ เพราะในพ.ร.บ.ดังกล่าว มีหมายเหตุและตัวอักษรเล็กในหลายจุดที่สกัดจุดจนไม่สามารถไปถึงดวงดาวได้ และเขียนขึ้นโดยไม่มีการร่วมมือจากนักกิจกรรมสิทธิความหลากหลายทางเพศเลย พี่จิมมี่ กฤตธีพัฒน์ ถึงขั้นเรียก พรบ. นี้ว่า "พรบ. ลักหลับ")

แล้วก็ยังมีบทเรียนในหนังสือเรียนสุขศึกษา ที่พูดถึงเรื่องนี้ แต่พูดถึงในแง่ของ "ผู้มีความเบี่ยงเบนทางเพศ" และเป็น "ผู้มีความผิดปกติทางจิตใจ" เสียมากกว่าที่จะดูเป็น “ความหลากหลาก(ทางเพศ) ของปัจเจกบุคคล” ประเภทหนึ่ง (จนถึงขั้น พระชาย วรธัมโม เจ้าของ quote อมตะ "ไม่ต้องแก้ทอม ไม่ต้องซ่อมดี้ มันดีอยู่แล้ว" เคยวิจารณ์แบบเรียนสุขศึกษาที่สอนอยู่ในปัจจุบันเสียเปิดเปิงจนกระทั่งครูสอนสุขศึกษาและนักเรียนกะเทยที่ไปร่วมงานเสวนายังอ้าปากค้าง) ขณะที่กัมพูชา กำลังบรรจุเรื่องความหลากหลายทางเพศเข้าเป็นหลักสูตรการเรียนการสอน(ดูถูกเขมร เป็นไงล่ะ)

หรือแม้กระทั่งบางบาร์ ที่บังคับงให้กะเทยไปสมัครสมาชิกถึงจะสามารถเข้าไปใช้บริการได้ ด้วยเหตุผลว่า “เพราะเคยมีกะเทยก่อเรื่อง(ไม่ดี)ไว้ในที่แห่งนี้”

แล้วสำนักหนังสือพิมพ์บางที่ ก็ยังพาดหัวข่าวเกี่ยวกับผู้มีความหลากหลายทางเพศว่า "ผิดเพศ" อยู่เลย

ที่เกริ่นมายาวๆ นี่ยังอยู่แค่ในบริบทของโลก cisgender heterosexual หรือ "บุคคลไม่ข้ามเพศ รักเพศตรงข้าม" หรือที่เข้าใจง่ายๆ ว่ากลุ่มหญิงชายรักต่างเพศทั่วๆ ไป นั่นแหละ ยังมิได้พูดถึงการยอมรับในบริบทของผู้มีความหลากหลายทางเพศด้วยกันเลย

กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ที่คนไทยรู้จักอย่าง LGBT (ที่ใครหลายๆ คนชอบแซวว่า Lucky-GoldStar Television หรือ LGTV ซึ่งถ้าแยกเป็นตัวอักษร ก็เป็นดังนี้

L = Lesbian หญิงรักหญิง ซึ่งนานาชาติเขาจัด ทอม-ดี้ หรือ Butch & femme รวมอยู่ในหมวดนี้
G = Gay ชายรักชาย (จริงๆ เดิมแล้ว Gay แปลว่า แปลกตา ซึ่ง Gay คือรากศัพท์ของคำว่า เก๋ นี่แหละ ว่ากันว่า องค์รัชกาลที่ 5 เป็นผู้พูดคำนี้เป็นพระองค์แรก แล้วผู้ติดตามท่านก็เอาไปพูดเพี้ยนเป็นคำว่า เก๋ จนปัจจุบัน) ซึ่งจริงๆ แล้วหมายถึง คนรักเพศเดียวกัน ซึ่งผู้หญิงสามารถบอกว่า I'm gay ได้เช่นเดียวกับผู้ชาย แต่พูดกันโดยบริบทแบบเข้าใจกันโดยทั่วไปก็มักหมายถึง ชายรักชาย
B = Bisexual คนที่ชอบทั้งหญิงทั้งชาย
T = Transgender หมายถึงคนข้ามเพศ (ซึ่งคนไทยรู้แค่ กะเทย และคิดว่า ทอม กับ ชายข้ามเพศ คือสิ่งเดียวกัน)

โอเค ในกลุ่มนี้จะไม่มีปัญหาอะไร ถ้ามีความรักความสัมพันธ์กันดังคำนิยามความหมายข้างต้น แต่จะกลายเป็นปัญหาขึ้นมาทันทีหากกะเทย หรือ หญิงข้ามเพศ ไม่ได้ชอบผู้ชาย หากแต่ชอบผู้หญิง หรือเป็นไบเซ็กซ์ชวลแทน

มันจะกลายเป็นเครื่องรวน และตั้งคำถามยกใหญ่กันทันที

"บ้าหรือเปล่า"
"วิปริตซ้ำซ้อน"
"ทำไมไม่กลับไปเป็นผู้ชายซะ"
"ก็แค่ชายแต่งหญิงเรียกร้องความสนใจ"
"สับสนในตัวเองมั้ย"
"เมายาคุม กินยาผิดมาหรือไง"
"ขยะแขยง อย่ามาใกล้ฉันนะ"
ฯลฯ

แล้วมันแปลกมาก ที่คำวิจารณ์ส่วนใหญ่ข้างต้น (จากประสบการณ์ของตัวเอง) ไม่ได้มาจากสังคมคนรักเพศตรงข้ามแบบทั่วไป หากมาจากกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศด้วยกันเองนี่แหละ

ถึงขั้นหญิงข้ามเพศ ต้องมาจับมือกับเกย์แบบเฉพาะกิจ เพื่อมาถล่มที่เพจกะเทยที่แสดงตัวว่ารักเพศหญิง (เพจเราเอง)

ถึงขึ้น เพจสาวประเภทสองชื่อดังเพจหนึ่ง เอารูป scoop ที่เราไปออกรายการ WeekNight Update ช่อง Workpoint ไปเขียนว่า "มาดูความแปลกประหลาดกันเร็ว #ข่าวไม่ดีสังคมชอบเสพ" กันเลยทีเดียว

ซึ่ง post นั้นของเพจดังกล่าว มีกะเทยและเกย์มาวิพากษ์วิจารณ์กันมาก ว่า "นี้มันตัวอาไร้" พรรค์นั้น

ดูเป็นเรื่องตลก (ไม่ออก) ไปเลย เมื่อเพจ "ผู้มีความหลากหลายทางเพศ" ที่มีคนติดตามมากที่สุดเพจหนึ่งในประเทศไทย กลับเป็นผู้ชี้นำให้รังเกียจเหยียดความหลากหลายเสียเอง ทั้งที่ควรจะเป็นผู้ที่มองเห็นความหลากหลายในผู้คน และสนับสนุน

สิ่งนี้แสดงให้เห็นกรายๆ ว่า คนไทยไม่ได้มีความเข้าใจว่า "ตัวตนทางเพศมิได้ผูกมัดกับรสนิยมขั้วตรงข้ามเสมอไป" เลยแม้แต่น้อย ซึ่งนั้นเป็นเคสหนึ่ง

อีกเคสหนึ่งคือเรามีเพื่อนอยู่คนนึง เป็นเลสเบี้ยนแต่เข้าฟิตเนสส์ฝึกเพื่อเอากล้าม แล้วโดนคนถามว่า "เป็นหญิงชอบหญิงแล้วเล่นกล้าม ทำไมไม่เป็นทอม” คือกลายเป็นว่าทุกคนพยายามจะจัดห้เธออยู่นหมวด butch ให้ได้ ขณะตัวเธอจัดให้ตัวเองอยู่ในแถบ androgynous (ภาพลักษณ์กึ่งชายกึ่งหญิง) แต่การ butch มันเป็น masculinity tone ซึ่งไม่ได้เหมือน androgynous ซึ่งมาทั้งสองโทนพร้อมกัน แต่ก็ยอมรับว่า androgynous เป็นอะไรที่ใหม่พอสมควรกับสังคมไทย การให้เข้าใจอาจจะยากสักหน่อย ถ้าจะให้ยกตัวอย่าง ให้ลองคิดถึง "ซิน" จากวง Singular ดูค่ะ น่าจะพออธิบายได้ไม่มากก็น้อย

แล้วถ้าความหลากหลายมันมากกว่านี้ หลายชั้น หลายเลเยอร์ล่ะ จะเป็นอย่างไร

ก็จะกลายเป็นว่าถูกมองแปลกหนักเข้าไปอีก เพราะ "ทำไมไม่เลือกเอาซักอย่าง" แบบเราละะ

กลุ่มบุคคลที่ไม่ได้ยึดติดเพศใด อย่าง เควียร์ (Queer) และ/หรือนอน-ไบนารี (Non-Binary) ถึงกลายเป็น "แกะดำของสังคมความหลากหลายทางเพศไทย"

เป็นสิ่งที่มีจริง แต่กลับไม่ใคร่มีใครพูดถึง กลายเป็น taboo (สิ่งต้องห้าม) ในเรื่องเพศไป ไม่ว่าจะถูกจัดไปใส่กรอบที่เขาไม่ต้องการ ก็ยังถูกบังคับให้ "ก็ยึดตามคำนำหน้าตามบัตรไปสิ ทำไม่ได้เหรอ"

ถูกตราหน้าว่าสับสนในเพศตัวเอง เพราะไม่ยอมเลือกซักอัน ทั้งที่พวกเขาได้เลือกแล้ว ว่าการอยู่ตรงกลางระหว่างทั้งสองเพศ หรือการไม่เหมือนเพศอะไรเลยคือที่ที่พวกเขารู้สึกใช่ คือเพศของตัวเขามากที่สุด

หรือเบาๆ กับ ทรานส์แมน หรือ ชายข้ามเพศ ที่หลายคนยังจัดให้ไปอยู่ในกรอบของ "ทอม"

หรือแย่ไปกว่านั้น คนที่ไม่รับฮอร์โมน หรือไม่ตัดนม ก็ถูกชายข้ามเพศมองเป็นแค่ทอมไปอีก

หรือแย่กว่านั้นอีก ทอมบางคนที่ตัดนมตัวเอง ก็ดันถูกไปใส่กรอบชายข้ามเพศเอาดื้อๆ

ความจริงคือความหลากหลายทางเพศ มีทั้งทอมที่ตัดหน้าอก และขณะเดียวกันก็มีชายข้ามเพศที่ไม่ตัดหน้าอกด้วย

หรือการเป็น butch แล้วคบหากับหญิงข้ามเพศแทนที่จะเป็น femme ก็จะกลายเป็นตัวน่ารังเกียจ

แล้วบุคคลแรกๆ ที่จะลงไปเหยียด และอ้าง "สถาบันเพศ" ก็มักจะเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศเป็นหลักเสมอ

ทั้ง "สถาบันทอม" "สถาบันกะเทย" นี่มักจะถูกยกมาอ้างบ่อยมากๆ ด้วยความที่ถูกกำหนดไว้ตายตัวจากแนวคิดเพศของไทย

ซึ่ง ยังไม่รวมเรื่อง หน้าตาไม่ดีเด่ขี้เหร่ก็โดนตัดสินด้วยหางตาไป ถ้าหน้าตาหล่อสวยเมื่อไหร่พูดอะไรก็ได้เราก็ชื่นชม

ซึ่งทำให้เคสของหญิงข้ามเพศมีหลากหลายแบบ ไม่ว่าจะ หัวโปก กะเทย หญิงข้ามเพศ ที่เกิดจากการไว้ผมสั้น รับฮอร์โมน ทำนม หรือแปลงเพศ ที่ยังต้องมาแยกชนชั้นให้วุ่นวาย กลายเป็นเรื่องน่าปวดหัวไม่น้อย

พูดแล้วพลอยให้คิดถึงชายข้ามเพศบางท่านที่สนับสนุนแนวคิดที่ว่าถ้าจะให้มีกฎหมายเปลี่ยนคำหน้าเพศ (นาย/นาง/นางสาว) ก็ขอให้เป็นคนที่แปลงเพศแล้วเท่านั้น

ซึ่งทัศนะหรือความเห็นดังกล่าวเป็นการละเลยลืมคนที่ไม่สามารถแปลงเพศได้ ไม่ว่าด้วยเหตุเงินหรือสุขภาพหรือความพร้อมด้านอื่นๆ หรือความพอใจที่จะเก็บอวัยวะเพศดังกล่าวไว้ (ส่วนคนที่ไม่ได้รับฮอร์โมนเพื่อเปลี่ยนผ่าน ก็คงไม่ต้องถามหาสิทธิกันเลยในกรณีนี้)

อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ทุกท่านอาจจะเห็นว่า สังคมไทย มักจะขอร้องให้ "คุณมีอักษรของ LGBT ได้แค่ตัวเดียว" แม้กระทั่ง LGBT ด้วยกันเองก็ยังไม่ได้เข้าใจถึง "ความหลากหลาย" ได้เพียงพอ ทั้งๆ ที่ มนุษย์คือสิ่งที่มีค่าผันแปรที่สูงเป็นอันดับสองในโลก รองจากค่าไพ (Pi = π)

แล้วคุณคิดว่า มนุษย์ร้อยพ่อพันแม่ เกิดมาในสภาพที่แตกต่างกัน เรียนรู้ต่างกัน องค์ประกอบในร่างกายไม่เหมือนกัน จะมีความเหมือนกันได้อย่างไร มนุษย์กับค่าไพจึงเป็นสิ่งที่มีความเป็นไปได้ไม่รู้จักสิ้นสุด และไม่มีวันที่จะซ้ำชุดกันเลย แต่กลับกลายเป็นว่ามนุษย์กลับเป็นสิ่งที่แข็งค่าที่สุดในโลกเมื่อพูดถึงเรืองเพศหลากหลาย

เราเองในฐานะคนแรกๆ ที่กล้าออกมาพูดในสื่อว่าคนข้ามเพศไม่ได้ชอบเพศที่ตรงข้ามรูปลักษณ์ตนเองเสมอไป ก็ต้องมายอมรับผลแบบนี้แหละ

แต่ถ้ามันจะทำให้คนอื่นเริ่มยอมรับตัวเอง ไม่เกลียดตัวเองที่ต้องเป็นความซับซ้อนเชิงเพศแบบนี้เพียงคนเดียว ก็คือผลตอบแทนที่แท้จริงของการเดินออกมาพูดเรื่องความเป็นกะเทยรักหญิงต่อสาธารณชน

ยังไม่รวมผู้ที่อยู่ในประเภท อยากได้รับสิทธิเหมือนคนทั่วไป แต่จะให้ไปมีส่วนในการออกแบบกฎหมายที่จะเอื้อเฟื้อต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ กลับไม่ยอม แถมบอกว่าจะทำให้คนอื่นเกลียดกลัวมากขึ้นไปอีกเพราะการลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิ์จะทำให้คนอื่นดูว่าเป็นคนหัวรุนแรง (เอากับเขาสิ)

ก็คงจะต้องหลับฝันกันอีกยาวๆ หากในหมู่ผู้มีความหลากหลายทางเพศด้วยกันเองยังมองไม่เห็นปัญหาที่แท้จริง ว่ามันไม่ใช่ความหลากหลายของปัจเจกบุคคลเลยที่ทำให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศเสื่อมเสีย แต่เป็นการกีดกันจากคนกันเองต่างหาก ที่คิดว่าความผิดแปลกในเพศคนอื่นเป็นสิ่งที่ต้องถูกกำจัดเพื่อรักษาศีลธรรมของชาติ ศาสนา บ้านเมือง สังคม หรือเพศนั้นๆ ไว้

อ่านมาจนใกล้จบแล้ว คุณเคยลองย้อนกลับไปคิดบ้างไหมคะว่า ได้เคยกีดกันตัวตนเรื่องเพศของคนอื่น เพียงเพราะเขาไม่ได้บรรทัดฐานเราหรือเปล่า

บางทีการปล่อยวางความตายตัวทางเพศที่เราเคยรู้จัก ให้เปลี่ยนมาเป็นมองว่าความหลากหลายทางเพศคือสีสัน การยอมรับกันคือการเปิดโอกาสให้ผู้คนมีชีวิตที่ดี ก็จะสามารถช่วยให้เขามีแรงบันดาลใจทำอะไรดีๆ ให้กับตัวเอง สังคม ประเทศชาติ หรือโลกได้อีกมากมาย

และหากทำได้ โลกของเรา ความหลากหลายทางเพศของไทย น่าจะดำเนินได้ไกล เป็นที่พักพิงของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศรุ่นใหม่ที่จะเกิดขึ้นหรือเดินออกจากตู้เสื้อผ้าในอนาคต ได้อย่างยั่งยืน...สาธุ...

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.