Posted: 09 Aug 2017 10:59 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติผนึกกำลังร่วมกับเครือข่าย จัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันสากลชนเผ่าพื้นเมือง ประจำปี 60 กับ10 ปี ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง


9 ส.ค.2560 รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แจ้งว่า เตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสถานะบุคคล สิทธิกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง กล่าวว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มีแผนยุทธศาสตร์ที่มุ่งการทำงานร่วมกับเครือข่ายในประเทศ และพันธมิตรในเวทีระหว่างประเทศเพื่อให้เกิดการสร้างพลัง (Synergy) ในการทำงานร่วมกันและพัฒนาการดำเนินงานและการทำงานร่วมกับเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และชุมชน ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และส่งเสริมให้สถาบันวิชาการในท้องถิ่นเป็นที่พึ่งของชุมชน จึงจัดโครงการพัฒนาความร่วมมือเครือข่าย ในกิจกรรม : สมัชชาระดับชาติว่าด้วยชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย และกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันสากลชนเผ่าพื้นเมือง ประจำปี 2560 โดยอาศัยความร่วมมือกับสมัชชาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ระหว่างวันที่ 8 – 9 ส.ค.นี้ ณ ห้องประชุม 40 ปี คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ทั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วย แกนนำ และผู้แทนชนเผ่าพื้นเมืองจากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย จำนวน 37 กลุ่ม ผู้แทนภาคีองค์กรพัฒนาเอกชน และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองระหว่างประเทศ ผู้แทนเครือข่ายเด็ก เยาวชน และสตรีชนเผ่าพื้นเมือง คณะศิลปินและนักแสดงชนเผ่าพื้นเมือง นักวิชาการ สื่อมวลชน และผู้สนใจทั่วไป จำนวนทั้งสิ้น 702 คน

เตือนใจ กล่าวเพิ่มเติมว่า กสม.ร่วมเป็นเจ้าภาพสนับสนุนการจัดงานวันชนเผ่าพื้นเมืองโลก จากประสบการณ์การทำงานกับพี่น้องชาติพันธุ์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2514 รวม 46 ปี เห็นการขยายตัว ความเข้มแข็ง จำนวนอัตลักษณ์เพิ่มมากขึ้น การทำหน้าที่ของ กสม. ได้นำเสนอในที่ประชุมปฏิญญาชนเผ่าพื้นเมืองถึงเรื่องราวการต่อสู้ของขบวนชนเผ่าพื้นเมืองประเทศไทย รวมถึงข้อเสนอการตั้งกลไกเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับพี่น้องชนเผ่าพื้นเมือง รัฐบาลโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่จะร่วมทำหน้าที่ในการพัฒนา และเสริมสร้างความเข้มแข็ง ซึ่งถือว่าเป็นการจุดประกายให้สังคมไทยยอมรับพหุวัฒนธรรมอีกด้วย

เตือนใจ กล่าวว่า ในวันที่ 9 ส.ค. ของทุกปี เป็นวันสากลชนเผ่าพื้นเมืองโลก การจัดงานดังกล่าวจึงเป็นการจัดงานสมัชชาระดับชาติว่าด้วยชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย โดยจะเป็นการประมวลสถานการณ์สิทธิชนเผ่าในประเทศไทย การอภิปรายถึงสถานการณ์ของชนเผ่าในประเทศไทย การขับเคลื่อน (ร่าง) พระราชบัญญัติสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย พ.ศ. .... และการสัมมนาเชิงปฏิบัติการกลุ่มย่อยเพื่อรณรงค์และส่งเสริมสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย ประเด็นสถานการณ์ต่าง ๆ 7 ประเด็น ได้แก่ 1) เกษตรอินทรีย์ คือ วิถีแห่งความมั่นคงทางอาหารของชนเผ่าพื้นเมืองไทย 2) การแก้กฎหมายป่าไม้ และที่ดิน และการปฏิบัติการตามนโยบายทวงคืนผืนป่าของรัฐส่งผลกระทบต่อวิถีชนเผ่าพื้นเมือง อย่างไร 3) การศึกษาชนเผ่าพื้นเมือง และกระบวนการปฏิรูปการศึกษาไทย 4) การปรับตัวเพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อน และการมีส่วนร่วมของชนเผ่าพื้นเมือง 5) นโยบาย ยุทธศาสตร์ และการจัดการปัญหาสถานะบุคคล สำหรับคนไร้รัฐ และชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย 6) ศักดิ์ศรีและโอกาสของสตรีชนเผ่าพื้นเมืองไทย 7) การเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขของชนเผ่าพื้นเมือง และกลุ่มชาติพันธุ์ การแสดงเจตนารมณ์ของชนเผ่าต่าง ๆ และเวทีเสวนา “1 ทศวรรษปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง : บทเรียน ข้อท้าทาย และอนาคตชนเผ่าพื้นเมืองไทย” ทั้งนี้ขอขอบคุณนายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่เล็งเห็นความสำคัญถึงสิทธิของกลุ่มชนเผ่าพื้นเมือง และให้เกียรติในการกล่าวเปิดงานครั้งนี้

กฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวถึงความก้าวหน้าเกี่ยวกับสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองว่า รู้สึกยินดี และเป็นเกียรติที่ได้ทำหน้าที่ประธาน และกล่าวเปิดงานในครั้งนี้ โดยประเทศไทยได้ลงนามรับรอง UNDRIP มาตั้งแต่ปี 2550 และการนำเสนอวันนี้เป็นการหารือเรื่องข้อท้าทายที่มีอยู่ ดังนั้น ในการทำหน้าที่ราชการมาเกือบ 38 ปี ในกระทรวงมหาดไทย โดยได้ปฏิบัติหน้าที่กับพี่น้องชนเผ่าพื้นเมือง ที่ดอยผ่าหม่น ดอยยาว เชียงของ และเมื่อเริ่มเติบโตในหน้าที่ก็ได้เกี่ยวข้องกับงานสิทธิมนุษยชน โดยเมื่อวันที่ 10 ก.ค.2560 ได้รับโอกาสในการจัดงาน และทูลเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมกับได้ทำหน้าที่ถวายราชการ และนำเสนอเรื่องสถานการณ์การจัดการปัญหาสิทธิและสถานะ ซึ่งเห็นได้ว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ทรงห่วงใย ดูแลพสกนิกร ดูแลอาณาประชาราษฎร์ โดยไม่เลือกชนชั้น และเผ่าพันธุ์ การทรงงานของพระองค์ (ตลอด 70 ปี) ดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนในทุกพื้นที่ การดูแลปากท้อง การทำมาหากิน การทำหน้าที่ของพระองค์ มีการทรงงานในพื้นที่ และดูแลสารทุกข์สุกดิบ การศึกษา สุขภาพ และอื่นๆ ซึ่งก็เป็นการยืนยันถึงความมุ่งมั่นตั้งใจการส่งเสริมให้ประชาชน รวมถึงพี่น้องชนเผ่าพื้นเมืองเข้าถึงสิทธิต่างๆ

การดำเนินการที่ผ่านมา รัฐบาลดูแลทั้งเรื่องการเข้าถึงสิทธิในการรักษาพยาบาล การศึกษา มีหลายส่วนที่เห็นว่า มีข้อโต้แย้งเรื่องสถานะ แต่ก็พยายามให้การดูแลสิทธิขั้นพื้นฐานเกิดขึ้นจริงในทุกกลุ่ม นอกจากนั้น ณ ปัจจุบัน มีการขยายผลเป็นเรื่องสิทธิในการทำงาน ซึ่งมีการขยายผลไปเรื่องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การถือครองที่ดิน ที่ทำกิน และอื่นๆ โดยแม้จะมีข้อโต้แย้ง เรื่องการถือครองกรรมสิทธิ์ดังกล่าว รัฐบาลพยายามให้มีการดูแลมิให้กระทบกระทั่งกันมากนัก โดยการปฏิบัติงานที่ผ่านมาทำให้เห็นความยากลำบาก และปัญหาเรื่องสิทธิการทำกิน รัฐบาลพยายามดูแลภาพรวม

เรื่องการดูแล การจัดระบบสิทธิของบุคคล โดยมีการโต้แย้งเรื่องการออกนอกเขตพื้นที่ แม้ว่าจะมีการขยายเขตควบคุมจากอำเภอเป็นจังหวัดแล้ว ก็มีที่ท้าทาย คือ วิธีการพิสูจน์สถานะดังกล่าว ทั้งนี้รัฐบาลได้พยายามแก้ไขปัญหา อาทิ กรณีของบุตรหลานเกิด เติบโต และศึกษาอยู่ในประเทศไทยนานกว่า 10 ปี ก็ให้พิจารณาให้สัญชาติกับบุตรหลานดังกล่าวได้เลย แม้ว่า จะมีข้อติดขัดเรื่องการดูความขัดแย้งระหว่างกลุ่มพวกที่อาจจะมีความแตกต่างกัน และแม้ว่าจะมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาสถานะในหลายรูปแบบ แต่ก็ยังไม่สิ้นสุด เนื่องจากภาวะปัญหาของมนุษย์ซับซ้อน และมีความเป็นพลวัต การกำหนดระยะเวลาต่างๆ ก็เป็นการสร้างเงื่อนไขที่พิจารณาแล้วเห็นความสมบูรณ์ของกลุ่มประชากรที่จะผสมกลมกลืนกับสังคมไทย ดังนั้น การกำหนดระยะเวลาการเข้าเมือง (หรือการได้รับการสำรวจว่าอยู่ในประเทศไทย) ก่อนปี ๒๕๔๒ และมีสถานการณ์การเข้าเมืองของกลุ่มต่างๆ หลังจากนั้น ระบบยังไม่อาจจะแก้ไขปัญหาของประชากรได้ทุกกลุ่ม แต่ก็ยืนยันเรื่องการบริหารจัดการที่ดี และมีประสิทธิภาพ

อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสิทธิและความเสมอภาคทางเพศสภาพ ขานรับข้อเสนอแนะจากกลุ่มสตรีชนเผ่า โดยกล่าวว่า ถือเป็นภารกิจหนึ่งของ กสม.ที่จะต้องร่วมสร้างศักยภาพในการส่งเสริมความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนผ่านการสร้างความเข้มแข็งจากภายในของกลุ่มผู้หญิงชนเผ่า การขยายพื้นที่ในการสร้างความรู้ให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมถึงการสร้างศักยภาพกลุ่มเยาวชนรุ่นใหม่เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาในประเด็นต่อไป เนื่องจากการถูกเลือกปฏิบัติ มีการกระทำที่แตกต่างกัน เช่น การถูกเลือกปฏิบัติจากกลุ่มชนเผ่าที่มีความเชื่อพิธีกรรม นำไปสู่การเลือกปฏิบัติที่สร้างเงื่อนไขอยู่มาก

อังคณา กล่าวอีกด้วยว่า ในฐานะ กสม. ที่รับผิดชอบด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ผู้หญิงรวมถึงเพศสภาพ ดีใจที่เห็นความเป็นปึกแผ่น ความเข้มแข็งของพี่น้องชนเผ่า จากการทำหน้าที่ กสม. ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงการถูกบังคับให้สูญหาย กรณีของบิลลี่ และการถูกวิสามัญ กรณีชัยภูมิ รวมถึงการดูแลเรื่องกลุ่มผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชน กสม.ได้จัดทำข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล ให้มีการปกป้องสิทธิมนุษยชนของทุกคน

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.