ในเดือนมิถุนายน 2012 เด็กเล็ก 14 คนถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลทางเหนือของประเทศบังคลาเทศ หลังจากป่วยด้วยโรคสมองอักเสบอย่างรุนเเรง ซึ่งทำให้สมองบวม เด็กส่วนใหญ่หมดสติภายใน 3 ชั่วโมงหลังจากล้มป่วย และทั้ง 14 คนเสียชีวิตภายใน 20 ชั่วโมงหลังจากนั้น

ทีมนักวิทยาศาสตร์จากศูนย์นานาชาติเพื่อการวิจัยโรคอุจจาระร่วง (International Center for Diarrheal Disease Research) ซึ่งเป็นสถาบันด้านการวิจัยหลักในบังคลาเทศ ได้เริ่มทำการเสาะหาต้นตอของการเจ็บป่วยและเสียชีวิตของเด็กเล็กเหล่านี้

และเนื่องจากอาการป่วยที่รุนแรงและกระทันหัน พวกเขาสงสัยว่าไม่ได้เกิดจากเชื้อไวรัส แต่อาจเกิดจากเชื้อปรสิตจากการถูกเเมลงกัด

แต่เมื่อได้วิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ เเล้ว นายโมฮัมเหม็ด ฮิสลาม หัวหน้าผู้ร่างผลการศึกษาบอกกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่า ทีมการเเพทย์สังเกตุพบว่าเด็กเล็กเกือบทุกคนที่เสียชีวิต อาศัยอยู่ติดกับสวนลิ้นจี่ เด็กหลายคนอาศัยในบ้านเดียวกับคนที่ทำงานในสวนลิ้นจี่ และเด็กที่เสียชีวิตส่วนมากไปในสวนลิ้นจี่ก่อนหน้าที่จะล้มป่วย

รายงานผลการศึกษาชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet ได้ศึกษาการล้มป่วยและเสียชีวิตของเด็กเล็ก 122 คนในปี 2014 ในอำเภอมูซัฟฟาร์ปุร รัฐพิหารของอินเดีย ซึ่งเป็นแหล่งปลูกลิ้นจี่ของประเทศ และเป็นพื้นที่ที่มีการระบาดเป็นประจำทุกปีของโรคที่คล้ายๆ กับโรคสมองอักเสบรุนแรง

รายงานชิ้นนี้ชี้ว่า สาเหตุของโรคนี้เกิดจากสารพิษที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติในลิ้นจี่ ที่มีผลให้ระดับน้ำตาลในร่างกายของเด็กเล็กที่ขาดสารอาหารต่ำมากจนเป็นอันตราย

แต่รายงานผลการศึกษาชิ้นใหม่ที่ตีพิมพ์เมื่อเร็วๆ นี้ โดยทีมงานที่นำโดยนายอิสลาม ซึ่งวิเคราะห์การระบาดของโรคสมองอักเสบรุนแรงในเด็กเล็กในบังคลาเทศในปี 2012 และการระบาดครั้งต่อๆ มาอีกหลายครั้ง ชี้ว่า พื้นที่ต่างๆ ที่เกิดโรคนี้บ่อยๆ เป็นพื้นที่ที่มีการปลูกลิ้นจี่ ไม่ใช่พื้นที่บริโภคลิ้นจี่ และการระบาดจะหมดไปหลังฝนที่ตกในช่วงฤดูฝนที่ช่วยชะล้างยาฆ่าเเมลงที่ตกค้างอยู่กับต้นลิ้นจี่

ทีมนักวิจัยทีมนี้ได้สัมภาษณ์คนงานในสวนลิ้นจี่ ครอบครัวของคนงาน ตลอดจนเพื่อนบ้านของคนงาน และครอบครัวของเด็กเล็กที่ไม่ล้มป่วย

ทีมนักวิจัยพบว่าเด็กๆ มักเก็บลิ้นจี่ที่ร่วงจากต้นกินโดยไม่ล้างเสียก่อน เเละเด็กๆ ยังใช้ฟันแทะเปลือกสีเเดงของลิ้นจี่เพื่อแกะเอาเนื้อลิ้นจี่

คนงานในสวนลิ้นจี่กล่าวว่า บางครั้งมีการจ้างให้เด็กๆ ช่วยเก็บลิ้นจี่ เพราะเด็กปีนต้นลิ้นจี่ต้นเล็กๆ ได้ คนงานสวนลิ้นจี่มักไม่รู้ว่ายาฆ่าเเมลงที่ใช้ชื่ออะไรเพราะฉลากถูกแกะทิ้งก่อนหน้าที่ขวดยาฆ่าเเมลงจะถูกนำไปฉีดในสวนลิ้นจี่ อย่างไรก็ตาม ทีมนักวิจัยได้เก็บขวดยาฆ่าเเมลงเปล่าที่ใช้เเล้วเพื่อนำไปตรวจ

ผลการศึกษาชิ้นใหม่โดยนายอิสลามและทีมนักวิจัยชิ้นนี้ ตีพิมพ์ในวารสาร The American Journal of Tropical Medicine and Hygiene ไปเมื่อเร็วๆ นี้ เเละพบว่ามีการใช้ยาฆ่าเเมลงหลายชนิดในสวนลิ้นจี่ รวมทั้งสารเอนโดซัลเเฟน (endosulfan) โดยสารเคมีฆ่าเเมลงชนิดนี้ถูกเพิ่มเข้าไปในรายชื่อของสารเคมีอันตราย ภายใต้อนุสัญญากรุงสต็อกโฮล์มว่าด้วยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน (Stockholm Convention on Persistent Organic Pollutants: POPs) ในปี ค.ศ. 2011 ซึ่งถูกสั่งห้ามใช้เกือบทั่วโลก

แต่ความล่าช้าในการบังคับใช้ข้อห้ามนี้ ตลอดจนข้อยกเว้นหลายอย่างและการบังคับใช้อย่างไม่จริงจัง ทำให้ยังมีการนำสารอันตรายชนิดนี้ไปใช้งานกันอยู่

ในบังคลาเทศ มีการอนุญาตให้ใช้สารสารเอนโดซัลเเฟนกับพืชบางชนิด แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้กับต้นลิ้นจี่ นายอิสลามกล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่า โดยรวมเเล้ว แทบไม่มีการตรวจตราและเฝ้าระวังการใช้ยาฆ่าเเมลงในบังคลาเทศเลย

การศึกษานี้ไม่สามารถยืนยันได้อย่างเด็ดขาดว่า ยาฆ่าเเมลงเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของเด็กแต่ละคน และไม่สามารถระบุได้ว่าสารเคมีชนิดใดเป็นต้นเหตุให้เด็กป่วยด้วยอาการสมองอักเสบ

แต่นายอิสลาม หัวหน้านักวิจัยกล่าวว่า หากทีมนักวิจัยสามารถเก็บตัวอย่างเลือดของผู้ป่วยได้ไม่กี่ชั่วโมงหลังเกิดการระบาดในครั้งต่อไป ก็เป็นไปได้ว่าพวกเขาจะสามารถระบุได้ว่าสารเคมีฆ่าเเมลงตัวใดเป็นต้นเหตุ

นายอิสลามกล่าวว่า ตนต้องการร่วมมือกับทีมนักวิทยาศาสตร์ทีมอื่นๆ และทำการศึกษาเรื่องนี้เพิ่มเติมทั่วประเทศบังคลาเทศ อินเดีย เวียดนาม และประเทศไทย ที่มีการล้มป่วยด้วยโรคสมองอักเสบคล้ายๆ กันนี้

และอาจจะยังมีการใช้สารเอนโดซัลเเฟนในพืชผลทางการเกษตรกันอยู่

(รายงานโดย Ben Thompson / เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว )

source :- http://rferl.c.goolara.net/Click.aspx?id=066994955404219771

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.