(ซ้าย) ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา (ขวา) คัตเอาท์หาเสียงของพรรคประชาชนกัมพูชา ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลปกครองกัมพูชามาตั้งแต่ทศวรรษ 1980 โดยในภาพมีเฮงสัมริน และฮุนเซน แกนนำสำคัญของพรรค (ที่มา: Thaigov.go.th/Wikipedia)

Posted: 24 Jul 2018 05:53 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Tue, 2018-07-24 19:53



เยี่ยมยุทธ สุทธิฉายา แปลและเรียบเรียง


ข้อมูลพื้นฐานเรื่องประวัติศาสตร์และโครงสร้างทางการเมืองของกัมพูชาก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 29 ก.ค. นี้ หนึ่งในไฮไลท์ที่หลายคนกังวลคือความโปร่งใส เสรี และบริสุทธิ์ยุติธรรมของการเลือกตั้งจะยังมีอยู่หรือไม่ ในวันที่พรรครัฐบาลปิดสื่อ ฟ้องยุบฝ่ายค้าน ข่มขู่คนให้ไปเข้าคูหา หรือการเลือกตั้งจะเป็นลิเกฉากใหญ่ให้ฮุนเซนสืบอำนาจเท่านั้น


เนื้อหาโดยย่อ

  • การเลือกตั้งในกัมพูชาที่จะมีขึ้นใน 29 ต.ค. เป็นที่จับตามองในแง่ความฟรีและแฟร์
  • สมเด็จฮุนเซน นายกฯ กัมพูชาอยู่ในอำนาจมาแล้วรวมทั้งสิ้น 33 ปี
  • ที่ผ่านมารัฐบาลที่นำโดยพรรคซีพีพีพยายามควบคุมเกมการเมืองหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการฟ้องร้องพรรคฝ่ายค้านที่นำไปสู่การยุบพรรคฝ่ายค้าน หรือการออกกฎหมายให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจเหนือฝ่ายตุลาการ
  • องค์กรนานาประเทศกังวลว่าการเลือกตั้งนี้จะเป็นเพียงตรายางให้ฮุนเซนสืบทอดอำนาจต่อไป หลายองค์กร รวมถึงสหรัฐฯ และอียู ตัดสินใจไม่ส่งตัวแทนไปสังเกตการณ์การเลือกตั้ง
  • เครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี (ANFREL) ระบุว่า จำนวนผู้สังเกตการณ์ที่ กกต. กัมพูชาบอกว่ามี 80,000 คนนั้น ครึ่งหนึ่งมาจากองค์กรที่นำโดยลูกชายของฮุนเซนและรองนายกฯ เมินสัมอัน

ใกล้เข้ามาทุกทีสำหรับการเลือกตั้งทั่วไปในราชอาณาจักรกัมพูชาที่จะมีขึ้นในวันที่ 29 ก.ค. 2561 หากพูดกันในรายละเอียดแล้วจะพบว่าการเลือกตั้งของกัมพูชาอาจไม่สามารถนำมาล้อเลียนหรือตบหน้าการเมืองไทยที่รถถังขวางทางไปคูหามาแล้วสี่ปี เพราะข้อสงสัยเรื่องความฟรีและแฟร์ของการเลือกตั้งในรอบนี้เนื่องจากพรรครัฐบาลที่เปิดการ์ดจู่โจม กดดันฝ่ายค้านและสุ้มเสียงที่วิพากษ์วิจารณ์มาตั้งแต่เนิ่นๆ ในแบบที่เรียกว่าง้างแข้งมาตั้งแต่นอกกรอบเขตโทษ

ประชาไทรวบรวมข้อมูลพื้นฐานที่จะทำให้เข้าใจสนามการเมืองของประเทศที่เพิ่งผลัดเปลี่ยนการปกครองจากระบอบเขมรแดงที่คร่าชีวิตคนในประเทศเป็นหลักล้านราว 4 ทศวรรษได้มากขึ้นก่อนที่การเลือกตั้งที่เต็มไปด้วยเครื่องหมายคำถามจะมีขึ้นและจบลง
เส้นทางการเมืองการปกครองกัมพูชาจากอดีตถึงปัจจุบัน

ราชอาณาจักรกัมพูชามีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยรัฐสภา โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยเส้นทางทางการเมืองของราชอาณาจักรกัมพูชาถ้าเป็นเส้นทางรถเมล์ก็ต้องผ่านหลายป้าย
เป็นรัฐใต้อารักขาของฝรั่งเศสช่วงปี 2406
ถูกยึดครองโดยญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง (2484-2488)
ถูกฝรั่งเศสกลับมาผนวกเข้าไปในสหภาพฝรั่งเศสเมื่อปี 2489 โดยให้อำนาจการปกครองดินแดนตนเอง เรื่อยมาถึงการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2490
ได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสหลังเจ้าอาณานิคมจากยุโรปพ่ายแพ้ในการรบกับเวียดมินห์ที่เวียดนาม เกิดเป็นความตกลงเจนีวาที่ให้ฝรั่งเศสมอบเอกราชแก่เวียดนาม สปป.ลาว และกัมพูชาในปี 2496
ถูกนายพลลอน นอล ยึดอำนาจจากกษัตริย์สีหนุ ซึ่งตอนนั้นสละราชสมบัติแต่ดำรงสถานะประมุขรัฐในปี 2513 กษัตริย์สีหนุจึงลี้ภัยไปยังปักกิ่ง ประเทศจีน จับมือกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งกัมพูชาหรือที่รู้จักกันในชื่อเขมรแดง
เขมรแดงยึดอำนาจจากลอน นอล ในปี 2518 ตามมาด้วยการเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นคอมมิวนิสต์ ขนย้ายคนจากเมืองเข้าระบบนารวม ตามมาด้วยการเข่นฆ่า รวมถึงความตายที่เกิดจากสภาพความเป็นอยู่ที่ไม่ดีจำนวนราว 1.7-2 ล้านคน
ปี 2521 กองทัพของเวียดนามและแนวร่วมสามัคคีสงเคราะห์ชาติกัมพูชา นำโดยฮุนเซน เฮง สัมรินและเจียซิม (United Front for the National Salvation of Kampuchea) เข้าโจมตีกัมพูชา ในปีต่อมายึดกรุงพนมเปญได้ในปีต่อมา ผู้นำของเขมรแดงหลบหนีไปทางตะวันตกมาตั้งหลักกันใหม่ในเขตแดนไทย
ปี 2525 เขมรแดงตั้งรัฐบาลสามฝ่าย ในขณะที่เวียดนามก็ให้การช่วยเหลือการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ภายใต้ระบอบที่เรียกว่า ‘สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนกัมพูชา’ ณ กรุงพนมเปญ กัมพูชาอยู่ใต้ระบอบการเมืองการปกครองดังกล่าวเป็นเวลาหนึ่งทศวรรษ ส่วนกองทัพเวียดนามถอนกำลังจากกัมพูชาในปี 2533
ปี 2534 ภาคีต่างๆ ในกัมพูชาเซ็นสนธิสัญญาสันติภาพที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และเห็นชอบกับการจัดการเลือกตั้งภายใต้การดูแลขององค์การบริหารชั่วคราวแห่งสหประชาชาติในกัมพูชา (UNTAC) ซึ่งเขมรแดงได้คว่ำบาตรการเลือกตั้งที่จัดโดยยูเอ็น และปฏิเสธที่จะสลายกองกำลังที่มีอยู่
ปี 2536 รัฐบาลเลือกตั้งนามว่า รัฐบาลหลวงแห่งกัมพูชา (Royal Government of Cambodia) ขึ้นสู่อำนาจผ่านการเลือกตั้ง พรรคที่ชนะเลือกตั้งคือพรรคของสมเด็จพระนโรดม รณฤทธิ์ พระราชโอรสพระองค์ที่สองของกษัตริย์สีหนุชนะเลือกตั้ง แต่ทางฝ่ายสมเด็จฮุน เซน ซึ่งก็เป็นอดีตเขมรแดงไม่ยอมรับ ต่อมาเกิดการประนีประนอมตั้งรัฐบาลร่วมกัน ประเทศกัมพูชาจึงเป็นประเทศแรกในโลกที่มีหนึ่งรัฐบาลแต่มีสองนายกรัฐมนตรี คือ สมเด็จกรมพระนโรดม รณฤทธิ์ และสมเด็จ ฮุน เซน เป็นนายกรัฐมนตรีร่วมกัน
จากปี 2536 ถึงปัจจุบันสมเด็จฮุน เซน ยังคงเป็นนายกรัฐมนตรีของกัมพูชา นับเวลารวมทั้งสิ้นเป็นเวลา 25 ปี แต่หากนับรวมเวลาที่เขาเป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชาตั้งแต่ปี 2529 นับเวลาได้ 33 ปี

ที่มา: วิกิพีเดีย, Cambodia Tribunal, Worldatlas, aseanthai.net
ทำความรู้จักการเมืองกัมพูชาและภาวะเผด็จการรัฐสภาของฮุนเซนและพรรคซีพีพี

รายงานของคณะกรรมการการเลือกตั้งของกัมพูชาระบุว่า การเลือกตั้งปีนี้มีพรรคการเมืองลงทะเบียนแข่งขันในสนามเลือกตั้งทั้งสิ้น 20 พรรค มีเขตเลือกตั้งทั้งหมด 25 เขต ประชาชนจะได้เลือกผู้แทนของพวกเขาเข้าไปในสภาขนาด 125 ที่นั่ง จำนวนนี้ถูกเพิ่มขึ้นมาจากเดิมที่เลือกตั้งครั้งที่แล้วมี 123 ที่นั่ง โดยสองที่นั่งที่เพิ่มมาจะไปอยู่ในเขตจังหวัดสีหนุวิลล์ เนื่องจากมีประชากรเพิ่มขึ้น ทำให้สีหนุวิลล์มีเก้าอี้ผู้แทนทั้งหมดสามที่นั่ง

ระบบรัฐสภาของกัมพูชามีสองสภา รัฐสภาที่จะมีการเลือกตั้งกันนั้นเป็นสภาล่าง อีกสภาหนึ่งคือสภาสูง ประกอบด้วยวุฒิสภาจำนวน 62 คน สภาท้องถิ่นใน 24 จังหวัดทั่วประเทศและรัฐสภาเป็นผู้เลือกตั้งทางอ้อม 58 คน ส่วนอีกสี่คนที่เหลือจะถูกแต่งตั้งโดยกษัตริย์จำนวนสองคน และสภาล่างเป็นคนแต่งตั้งอีกสองคน โดยรัฐสภามีหน้าที่หลักสามด้าน หนึ่ง ออกกฎหมาย สอง อนุมัตินโยบายของรัฐ และคอยตรวจสอบรัฐบาล

การเลือกตั้ง ส.ว. ล่าสุดมีขึ้นเมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา พรรคประชาชนกัมพูชา (ซีพีพี) กวาดที่นั่งในสภาได้ 58 ที่นั่งเต็มโควตาการเลือก จากนั้นรัฐสภาเลือกสมาชิกจากพรรคฟุนซินเปกสองคน กษัตริย์นโรดมสีหมุนีแต่งตั้งอีกอีกสองคนที่ไม่ได้สังกัดพรรคการเมือง ส่วนคณะกรรมาธิการภายในจำนวน 10 คนที่ ส.ว. เลือกกันเองมาจากพรรคซีพีพีทั้งหมด

ข้อกังวลสำหรับการเลือกตั้งกัมพูชาปีนี้คือความโปร่งใสในการเลือกตั้งเพราะพรรครัฐบาลใช้หลายวิธีตัดทอนคู่แข่งและฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล

การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาในปี 2556 พรรคประชาชนกัมพูชาที่มีฮุนเซนเป็นหัวหน้าพรรคชนะการเลือกตั้ง ได้ที่นั่งในสภาไปทั้งสิ้น 68 ที่นั่ง ส่วนพรรคสงเคราะห์ชาติกัมพูชาหรือ CNRP ได้ที่นั่งที่เหลือไปคือ 55 ที่นั่งกลายเป็นฝ่ายค้าน โดยฝ่ายค้านได้ประท้วงผลการเลือกตั้งโดยกล่าวหาว่ามีการโกงการเลือกตั้ง จนพรรคฝ่ายค้านได้ทำการคว่ำบาตรสภาในเดือน ก.ย. 2556 โดยกล่าวว่าจะไม่เข้าสภาจนกว่าจะมีการปฏิรูประบบเลือกตั้ง การประท้วงของฝ่ายค้านกลายเป็นชนวนให้เกิดการประท้วงต่อต้านรัฐบาลอย่างกว้างขวาง

ในปี 2557 รัฐสภาที่มีพรรคซีพีพีเป็นเสียงข้างมาก ผ่านกฎหมายเกี่ยวกับฝ่ายตุลาการสามชิ้น ได้แก่ กฎหมายว่าด้วยองค์กรและศาล พ.ร.บ. ว่าด้วยผู้พิพากษาและอัยการ และกฎหมายว่าด้วยโครงสร้างและหน้าที่ของสภาคณะผู้พิพากษาสูงสุด โดยสาระสำคัญหนึ่งของกฎหมายเหล่านี้คือการเพิ่มบทบาทให้ รมว.กระทรวงยุติธรรมและกระทรวงยุติธรรมมีส่วนในการกำหนดกลไกด้านการบริหาร งบประมาณฝ่ายตุลาการ พิจารณาโยกย้าย เลื่อนตำแหน่ง ปลดหรือดำเนินการทางวินัยต่างๆ กับตัวผู้พิพากษา ซึ่งเท่ากับว่าฝ่ายบริหารมีอำนาจเหนือกว่าฝ่ายตุลาการ

จนในเดือน พ.ย. ปีที่แล้ว (2560) ศาลสูงกัมพูชามีคำตัดสินยุบพรรค CNRP หลังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแจ้งความว่าพรรค CNRP ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ให้วางแผนโค่นล้มรัฐบาลผ่านการประท้วงของผู้ไม่พอใจรัฐบาลหรือที่ทางภาครัฐมักเรียกว่า ‘ปฏิวัติสี (Color Revolution)’ ซึ่งเป็นชื่อเรียกของการโค่นล้มระบอบการปกครองในสหภาพโซเวียตเดิมและตะวันออกกลาง

กึม สุขขา หัวหน้าพรรค CNRP ถูกจับกุมที่บ้านพักของเขาช่วงกลางดึกของวันที่ 3 ก.ย. ปีที่แล้ว เขาถูกรัฐบาลกัมพูชาตั้งข้อหา "ทรยศชาติ" ซึ่งมีโทษจำคุกระหว่าง 15-30 ปี พวกเขาอ้างข้อหานี้จากการที่สุขขาเคยปราศรัยไว้ในปี 2556 ว่าเขาได้รับการอบรมจากเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ

อีกหลักฐานที่ถูกยกมาใช้ในศาลคือวิดีโอของสม รังสี อดีตหัวหน้าพรรคที่ปัจจุบันลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ ที่ปราศรัยขอให้กองทัพหันเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาล นอกจากทั้งสองคนแล้ว ภาคประชาสังคมหลายองค์กรก็ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเป็นผู้อำนวยความสะดวกกับการปฏิวัติด้วย สถานีวิทยุเรดิโอ ฟรี เอเชียที่รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ช่วย และหน่วยงานที่ตรวจสอบการเลือกตั้งชื่อคอมเฟรลถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้สมรู้ร่วมคิด

คำตัดสินของศาลสุดท้ายนำไปสู่การปลด ส.ส. พรรค CNRP ในสภาจำนวน 55 ที่นั่ง โดยตำแหน่งที่ว่างลง 55 ที่นั้น 44 ที่นั่งถูกแทนที่ด้วยผู้แทนจากพรรคอื่นๆ ที่ไม่ได้รับเลือกตั้ง แต่ได้คะแนนเสียงไม่ถึงร้อยละห้าจากเสียงทั้งหมด อีก 11 ที่นั่งพรรคซีพีพีได้ไป โดยสมาชิกพรรค CNRP ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองถึงห้าปี เท่ากับไม่สามารถเข้าสู่สนามการเมืองได้ทันการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ เท่ากับการเลือกตั้งครั้งนี้พรรคซีพีพีไม่มีคู่แข่งที่น่ากลัวอยู่ในสนามการเลือกตั้งทั้งในแง่พรรคและตัวบุคคล

12 ก.ย. ปีเดียวกันนั้น พรรคสงเคราะห์ชาติซึ่งถูกเล่นงานด้วยคดีการเมืองประกาศต่อสมาชิกพรรคว่า "ไม่มีทางเลือกอื่นอีกแล้ว นอกจากจะต้องออกมาชุมนุมมวลชนอย่างสันติวิธี"

การประกาศดังกล่าวตามมาด้วยการตอบโต้ของนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ฮุน เซน ที่เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ Fresh News ซึ่งมักใช้เผยแพร่ข่าวของรัฐบาล โดย ฮุน เซน ระบุว่าเขาได้บอกแก่กองกำลังรักษาความมั่นคงว่า การประท้วงดังว่านั้น "จะไม่อนุญาตให้เกิดเด็ดขาด"

ในวันที่ 12 ก.ย. นั้นเอง รถยนต์บรรทุกทหาร ตำรวจ หลายคันรถมาจอดหน้าที่ทำการพรรคสงเคราะห์ชาติเมื่อคืนวันที่ 12 ก.ย. และวนเวียนไปมาจนถึงเช้าตรู่วันที่ 13 ก.ย. โดยก่อนหน้านี้ไม่กี่วันก็มีเฮลิคอปเตอร์ของทหารกัมพูชา และเรือยนต์ติดปืนกล เข้ามาใกล้ที่ทำการพรรคสงเคราะห์ชาติ อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่หน่วยอารักขาฮุน เซน ระบุเป็นเพียงการ "ฝึกซ้อม" ก่อนงานฉลองวันก่อตั้งหน่วย

ในช่วงเดือน ส.ค.- ก.ย. 2560 รัฐบาลกัมพูชาสั่งปิดหนังสือพิมพ์อิสระภาษาอังกฤษ เดอะแคมโบเดียเดลี โดยอ้างว่าสำนักข่าวไม่ได้จ่ายเงินภาษีมูลค่า 6.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 19 ล้านบาท แคมโบเดียเดลีเป็นหนึ่งในสื่อที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอยู่เรื่อยๆ รัฐบาลยังได้สั่งเพิกถอนใบอนุญาตแพร่ภาพกระจายเสียงของสำนักข่าวเรดิโอฟรีเอเชีย วอยซ์ออฟเดโมเครซีและวอยซ์ออฟอเมริกา ด้วยเหตุผลด้านภาษีและสถานะการจดทะเบียน เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา สื่อใหญ่อย่างพนมเปญโพสท์ถูกเทคโอเวอร์กิจการโดยนายทุนชาวมาเลเซียที่มีความสนิทสนมกับฮุนเซน

ฟิล โรเบิร์ตสัน รักษาการแทนผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์ องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ให้ข้อมูลในงานแถลงข่าวกรณีประชาธิปไตยในการเลือกตั้งกัมพูชาในวันนี้ (24 ก.ค. 2561) ว่าปัจจุบันมีสถานีวิทยุ 32 สถานีถูกปิดไปแล้ว


เทคโอเวอร์ "พนมเปญโพสต์" กรุยทางฮุนเซนก่อนเลือกตั้งกัมพูชา

2 ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อจากกัมพูชาเล่าวิกฤติ รบ. ปิดสื่อ ห่วงต่อไปแตะต้องรัฐบาลไม่ได้
องค์กรต่างชาติอัด ซีพีพีมุ่งสืบอำนาจผ่านลิเกเลือกตั้ง สหรัฐฯ-อียู ไม่สังเกตการณ์ ไม่สนับสนุน

จากพฤติการณ์ของพรรครัฐบาลปัจจุบันทำให้องค์การระหว่างประเทศหลายแห่งแสดงความกังวลถึงการเลือกตั้งกัมพูชาที่จะมาถึง โดยห่วงว่าการเลือกตั้งอาจเป็นเพียงตรายางเพื่อให้ความชอบธรรมแก่ฮุนเซนในการครองอำนาจต่อไป

เครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี (ANFREL- Asian Network for Free Election) ออกแถลงการณ์ในวันที่ 24 ก.ค. ระบุว่าการเลือกตั้งกัมพูชาครั้งนี้ไม่สามารถบรรลุมาตรฐานสากลในด้านสิทธิทางการเมืองและประชาชนรวมถึงบรรทัดฐานต่างๆ ที่ประเทศกัมพูชาเคยให้คำมั่นสัญญา ซึ่งการเลือกตั้งนี้จะไม่สามารถเป็นที่ยอมรับได้ว่าจะเป็นการเลือกตั้งที่ฟรีและแฟร์

กกต. และรัฐบาลกัมพูชาที่ถูกยึดกุมโดยพรรคซีพีพีได้เหนี่ยวรั้งพัฒนาการการแข่งขันของระบบการเลือกตั้งและทำลายระบอบประชาธิปไตยแบบหลายพรรคลงไปจากการยุบพรรค CNRP และการปิดสื่อหลายสำนัก

ANFREL ยังรายงานว่า รัฐบาลและเจ้าหน้าที่พรรคซีพีพีได้ทำการข่มขู่บุคคลที่จะไม่ไปเลือกตั้ง โดยขู่ว่าจะสูญเสียผลประโยชน์หลายประการไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินหรือการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ หากไม่มีหมึกอยู่บนนิ้วหลังวันเลือกตั้ง (การเลือกตั้งกัมพูชาจะต้องปั๊มนิ้วลงบนแผ่นหมึกเพื่อเป็นหลักฐานว่าไปเลือกตั้งแล้ว)

ฟิล กล่าวในประเด็นข้างต้นว่า ได้รับรายงานว่ามีกรณีนายจ้างข่มขู่ลูกจ้างว่าหากไม่ไปเลือกตั้งจะถูกไล่ออก มีกรณีที่ประชาชนถูกข่มขู่ว่า หากไม่ไปเลือกตั้งจะไม่สามารถเข้ารับบริการจากรัฐได้ เช่น การออกสูติบัตร

การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่มีหน่วยงานสังเกตการณ์การเลือกตั้งที่เป็นกลาง แม้ กกต. จะประกาศว่ามีผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งที่มาจากภายในประเทศถึง 80,000 คน แต่ ANFREL ก็แย้งว่า ผู้สังเกตการณ์จำนวนเกินครึ่งมาจากสององค์กรใหญ่ หนึ่ง สหภาพแห่งสหพันธ์เยาวชนกัมพูชา (UYFC - Union of Youth Federation of Cambodia) และกลุ่มสตรีกัมพูชาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (CWPD - Cambodian Women for Peace and Development) ซึ่งทั้งสององค์กรมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพรรคซีพีพี องค์กรแรกนำโดยฮุนมณี หนึ่งในบุตรชายของฮุนเซน องค์กรที่สองนำโดยรองนายกฯ เมินสัมอัน ส่วนผู้สังเกตการณ์ที่เหลือมาจากองค์กรเล็กๆ น้อยๆ ซึ่ง ANFREL มีข้อสงสัยถึงวิธีการได้มาซึ่งผู้สังเกตการณ์กลุ่มนี้ รวมถึงแรงจูงใจเบื้องหลังของการมาร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้ง

นอกจากนั้น องค์กรระหว่างประเทศที่เข้ามาสังเกตการณ์นั้นก็ขาดทักษะที่จำเป็นในการทำงาน รวมทั้งยังมีข้อกังขาเรื่องความเป็นอิสระด้วย จึงมีความเสี่ยงที่การรายงานเหตุการณ์ของกลุ่มเหล่านี้จะไปเสริมในสิ่งที่พรรคซีพีพีต้องการจะนำเสนอ

ทั้งนี้ ANFREL ร่วมกับภาคประชาสังคมหลายองค์กรทั้งในกัมพูชาและต่างชาติจะไม่เข้าร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้งนี้ ด้วยเชื่อว่าสภาวะทางการเมืองที่กดดันเช่นนั้นสร้างความเสียหายให้กับกระบวนการเลือกตั้งตามวิถีประชาธิปไตย โดยผู้แทนจากสหภาพยุโรป (อียู) รวมถึงสหรัฐฯ เองก็ไม่เข้ามาสังเกตการณ์และไม่ให้การสนับสนุนกับการเลือกตั้งครั้งนี้

ประชาไทจึงชวนจับตาดูการเลือกตั้งในกัมพูชาว่าจะจบลงเช่นไร การเลือกตั้งจะเป็นจุดเริ่มต้นของอะไรในกัมพูชาที่ทุกวันนี้ทิวทัศน์ทางการเมืองเปลี่ยนไป เนื่องจากรัฐบาลสถาปนาอำนาจทางการเมืองและกฎหมายไว้ถนัดมือเหลือเกิน

แปลและเรียบเรียงจาก

Phnom Penh Post [1] [2] [3] [4] [5]

Press Release: NEC Has Accredited 20 Political Parties Running for the Election, NEC, May 23, 2018

Table of Official Result of Voter List Update and Voter Registration 2017, NEC, Jan. 24, 2018
[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.