Posted: 28 Jul 2018 02:43 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sun, 2018-07-29 04:43
กรมจัดหางานเล็งซื้อเครื่องสแกนม่านตาล็อตใหญ่ 100 เครื่อง
นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดี กรมการจัดหางาน (กกจ.) กล่าวถึงความคืบหน้าในการจัดซื้อเครื่องสแกนม่านตา ที่ใช้ในการพิสูจน์อัตลักษณ์แรงงานประมง ว่าก่อนหน้านี้รัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน (กกจ.) ดำเนินการจัดซื้อจัดหา เครื่องสแกนม่านตา เพื่อพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลในกลุ่มแรงงานต่างด้าวกิจการประมง พร้อมกับมีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาการเก็บข้อมูลพิสูจน์ตัวบุคคลของแรงงานต่างด้าวที่มีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน อธิบดีกรมการกงสุล อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์(องค์การมหาชน) เป็นกรรมการ อธิบดีกรมการปกครองเป็นกรรมการและเลขานุการ อธิบดีกรมการจัดหางาน อธิบดีกรมเจ้าท่า และอธิบดีกรมประมง เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ ตั้งแต่เดือน พ.ย.2560 แต่การดำเนินการเป็นได้ด้วยความล่าช้าจน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตำหนิกระทรวงแรงงานที่ไม่ดำเนินการจัดซื้อ ทั้งที่ได้สั่งการไปแล้ว ซึ่ง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว. แรงงาน ได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งดำเนินการ
นายอนุรักษ์ กล่าวว่า ขณะนี้ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ได้จัดสรรงบประมาณ 10 ล้านบาท ให้ กกจ. ดำเนินการจัดซื้อจัดหาเครื่องสแกนม่านตา 100 เครื่องซึ่งเป็นราคาเดียวกับที่กรมเจ้าท่าเคยจัดซื้อมาก่อน อย่างไรก็ตามตนได้มีการทำหนังสือสอบถามไปยังกรมบัญชีกลางแล้วว่า ถ้าหากจะต้องซื้อเครื่องสแกนม่านตาสเปกเดิม เพื่อเข้าถึงฐานข้อมูลเดิม จะสามารถซื้อโดยวิธีใด ถ้าซื้อโดยวิธีเฉพาะเจาะจงคือการล็อคสเปกตามที่กรมเจ้าท่าเคยซื้อ กกจ.จะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ เพราะถ้ายังดำเนินการ จะเป็นการผิดระเบียบ เนื่องจากงบประมาณที่ได้รับจะต้องจัดซื้อตามระเบียบพัสดุ ก็คือต้องมีการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ หรืออี-บิดดิ้ง
“เนื่องจากระบบเดิมมีการเก็บข้อมูล เมื่อมีการสแกนม่านตา ข้อมูลจะเข้ามาในระบบ แต่ข้อมูลที่ได้จะถูกเข้ารหัสเก็บไว้ ซึ่งจะต้องใช้ซอฟแวร์ของเขา หากเราจะไปใช้รหัส จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม ดังนั้นจะต้องดูรายละเอียดให้รอบคอบ ทั้งการจัดซื้อ และระบบต่างๆ หาก กกจ. ซื้อแล้วใช้ไม่ได้ ก็ต้องให้กรมเจ้าท่าเป็นคนจัดซื้อ ซึ่ง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน ได้สั่งว่า เป็นคำสั่งรัฐบาล ที่จะต้องปฎิบัติตาม แต่ต้องถูกตามตามระเบียบของกฎหมาย” นายอนุรักษ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า การจัดซื้อเครื่องสแกนม่านตา มีปัญหาคาราคาซังมาตั้งแต่สมัยของ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล เป็น รมว.แรงงาน โดย คสช. มีคำสั่งมาตรา 44 เด้งด่วนนายวรานนท์ ปีติวรรณ อดีตอธิบดีกรมการจัดหางาน ในขณะนั้น ไปเป็นรองปลัดกระทรวง โดยมีปมเหตุจากไม่ยอมทำเรื่องของบกลางจัดซื้อเครื่องสแกนม่านตา จนเป็นเหตุให้ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล อดีต รมว.แรงงานพร้อมทีมงานลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากเห็นด้วยกับนายวรานนท์ เรื่องการพิสูจน์สัญชาติ ที่ประเทศต้นทางรับรอง และการออกบัตรประจำตัวชั่วคราวที่ทำอยู่ เพียงพอแล้ว รวมทั้งการจัดเก็บข้อมูลม่านตา น่าจะเป็นหน้าที่ของหน่วยงานอื่น และกรมเจ้าท่ามีใช้อยู่แล้ว 30 เครื่อง ขณะนั้นมีกระแสข่าวว่าการใช้เครื่องสแกนม่านตาจำนวนมาก ในราคาชุดละ 1 แสนบาท จะต้องมีระบบเก็บรักษาข้อในมูลระยะยาว เพราะระบบจะมีฮาร์ดแวร์ ซอฟแวร์ในการเก็บข้อมูลซึ่งยังต้องใช้เงินจำนวนมากและเป็นงบผูกพันที่ต้องดูแลระยะยาว
ที่มา: โลกวันนี้, 28/7/2561
ภาคประมงประชุมเตรียมยื่น 8 ประเด็นให้รัฐบาลแก้ปัญหา 1 ส.ค. นี้ ลั่น หากไม่ได้รับคำตอบภายใน 7 วัน จะหยุดเรือออกหาปลาพร้อมกันทั้ง 22 จังหวัดชายทะเล
27 ก.ค. 2561 ที่ห้องประชุมสหกรณ์ประมงแม่กลอง จำกัด ต.บางจะเกร็ง อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ในฐานะนายกสมาคมประมงสมุทรสงคราม ประชุมสมาชิก 4 องค์กร คือ สมาคมการประมงสมุทรสงคราม , สมาคมประมงเรือลากคู่สมุทรสงคราม , สหกรณ์ประมงแม่กลอง และสหกรณ์ประมงบางจะเกร็งบางแก้วเพื่อหารือถึงแนวทางการขับเคลื่อนภาคประมงในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดจากภาครัฐ และอียู โดยเฉพาะประเด็นปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคประมงทั่วประเทศ กว่า 40,000 คน ที่ยื่นหนังสือไปหลายหน่วยงานให้แก้ปัญหาแต่ก็ยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังนิ่งเฉย นอกจากนี้ยังมีประเด็นปัญหา อีก 7 ประเด็น คือ ปัญหาเรื่องการรับซื้อเรือคืน , ปัญหากฎหมายของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน , ปัญหากฎหมายของกรมเจ้าท่า , ปัญหากฎหมายของกรมประมง , ปัญหาการแจ้งเรือเข้า-ออก หรือ PIPO , ปัญหา VMS และ ปัญหากระทรวงแรงงานจะดันไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา C188 เป็นต้น
ซึ่งที่ประชุมได้อภิปรายกันถึงความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสมานานกว่า 3 ปี จากการที่รัฐบาลได้ออกกฎหมายการประมง ระเบียบวิธีปฏิบัติของชาวประมง เพื่อแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม หรือ IUU ภายหลังจากสหภาพยุโรป (อียู) ประกาศให้ ใบเหลืองไทย เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2558 แม้ภาคประมงจะหารือถึงแนวทางแก้ไขความเดือดร้อนกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง แต่ก็ได้รับการแก้ไขปัญหาน้อยมาก ที่ประชุมจึงมีมติเห็นชอบให้นายกสมาคมประมงทุกสมาคมในจังหวัดสมุทรสงครามเดินทางไปยื่นหนังสือเรียกร้องความเดือดร้อนต่อรัฐบาลรวม 8 ประเด็น ที่ทำเนียบรัฐบาลในวันพุธที่ 1 สิงหาคม นี้ เวลา 10.00 น. ส่วนในวันเดียวกัน ชาวประมงในพื้นที่จะยื่นหนังสือเรียกร้องปัญหาความเดือดร้อนที่ศาลากลางจังหวัด พร้อมกับ 22 จังหวัดชายทะเล อย่างไรก็ตาม หากไม่ได้รับคำตอบภายใน 7 วัน ในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวประมง ชาวประมงทั่วประเทศจะพร้อมใจกันหยุดเรือออกหาปลาอย่างน้อย 7 วัน และหากยังไม่แก้ปัญหาอีกชาวประมงจะเดินทางไปยื่นถวายฎีกาต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต่อไป
นายมงคล กล่าวว่าการแก้ปัญหาไอยูยูของรัฐบาล 3 ปี ที่ผ่านมา ชาวประมงเดือดร้อนหนักมากขึ้นทุกวัน ชาวประมงจำนวนมากต้องเลิกอาชีพการทำประมง โดยในอดีตมีเรือประมงพาณิชย์ขนาด 10 ตันกรอสส์ขึ้นไป กว่า 20,000 ลำ แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 10,600 ลำ และก็ยังไม่สามารถออกเรือทำประมงอีกกว่า 2,000 ลำ เนื่องจากขาดแคลนแรงงาน นอกจากนี้ยังมีปัญหา อีก 7 ประเด็น คือ ปัญหาเรื่องการรับซื้อเรือคืน , ปัญหากฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน , กรมเจ้าท่าและกรมประมงที่ไม่สอดคล้องกับการประกอบอาชีพ ปัญหาการแจ้งเข้าแจ้งออก เนื่องจากแต่ละหน่วยงานและเจ้าหน้าที่แต่ละศูนย์ปฏิบัติไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน
นอกจากนี้ยังมีปัญหาที่กำลังจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อชาวประมงภายใน 1 - 5 ปี ข้างหน้า คือ การที่กระทรวงแรงงานจะนำไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา C188 เรือประมงต้องรื้อเก๋งเรือเพื่อทำห้องน้ำ ห้องนอน ห้องครัว ความสูงเพดานเก๋งเรือใหม่ต้องใช้เงินอีกนับล้านบาทต่อลำ ซึ่งเรื่องนี้กลุ่มประเทศอียูมีผู้รับรองภาคีนี้เพียง 3 ประเทศเท่านั้น ทั้งที่มีการรณรงค์มานานถึง 8 ปี แต่ในเอเชียก็ยังไม่มีประเทศใดได้รับการรับรอง หรือแม้แต่สหรัฐอเมริกา แคนาดา สเปน จีน ญี่ปุ่น ก็ยังไม่รับรอง ชาวประมงจึงขอคัดค้านการที่รัฐบาลจะไปลงนามในสัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานในภาคการประมง พ.ศ. 2560 อีกด้วย
ที่มา: คมชัดลึก, 27 ก.ค. 2561
รมว.แรงงาน ชี้แจงกรณีการผลักดันไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา ฉบับที่ 188
เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2561 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีที่สื่อมวลชนนำเสนอว่า สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย นำโดยนายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคม พร้อมนายกสมาคมประมง 22 จังหวัดชายทะเล เตรียมยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อร้องเรียนเนื่องจากประสบความเดือดร้อน จากการที่รัฐบาลได้ออกกฎหมายการประมง เพื่อแก้ปัญหาไอยูยู ซึ่งการที่กระทรวงแรงงานจะผลักดันประเทศไทยให้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญา C 188 นั้น จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อชาวประมงภายใน 1-5 ปีข้างหน้า ในเรื่องนี้ขอชี้แจงว่า การให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานภาคการประมง ค.ศ. 2007 (2550) กระทรวงแรงงานมีเจตนารมณ์ความมุ่งมั่นที่จะสร้างหลักประกันการทำงานบนเรือประมงให้เกิดสภาพการทำงานที่มีคุณค่า (Decent Work) ซึ่งเป็นสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐานที่ต้องได้รับการปกป้องดูแลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีในการทำงานอย่างเหมาะสมตามหลักปฏิบัติสากล
พล.ต.อ.อดุลย์ฯ กล่าวต่อว่า สาระสำคัญของอนุสัญญาฯ (ILO) ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานภาคการประมง ค.ศ. 2007 จะทำให้คนงานประมง มีสภาพการทำงานที่มีคุณค่าตามข้อกำหนดขั้นต่ำในการทำงานบนเรือประมง อาทิ มีข้อกำหนดขั้นต่ำในการทำงานที่ชัดเจน ทั้งในเรื่องอายุขั้นต่ำ มีใบรับรองแพทย์ก่อนลงเรือ มีเวลาพักขั้นต่ำ 10 ชั่วโมงจาก 24 ชั่วโมง และ 77 ชั่วโมงใน 1 สัปดาห์มีทะเบียนลูกจ้าง สัญญาจ้าง การจ่ายค่าตอบแทนผ่านระบบบัญชีธนาคาร มีที่พัก อาหาร น้ำดื่มที่เพียงพอเหมาะสม มียารักษาโรคเบื้องต้นกรณีเจ็บป่วย มีช่องทางการติดต่อสื่อสารกับบนฝั่ง มีอุปกรณ์ป้องกันเพื่อความปลอดภัยในการทำงาน ได้รับสิทธิความคุ้มครองด้านการประกันสังคม และเข้าถึงการดูแลรักษาทางการแพทย์ เป็นต้น
รัฐบาลได้กำหนดนโยบายเร่งด่วนสำคัญที่จะต้องแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานบนเรือประมง ซึ่งเป็นข้อห่วงกังวลของทุกภาคส่วนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในประเด็นการใช้แรงงานบังคับ การค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ควบคู่กันไปกับการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) การค้ามนุษย์ในเรือประมงและข้อกล่าวหาต่าง ๆ ในมิติด้านสิทธิมนุษยชนและการกีดกันทางการค้า ซึ่งปัจจุบันรัฐบาล โดยกระทรวงแรงงานอยู่ในระหว่างรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย เพื่อนำมาหาจุดสมดุลที่ถูกต้องเหมาะสมควบคู่กัน เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมเสมอภาคกับทุกฝ่าย ทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง ภาครัฐ เอกชน และประชาชนทุกคน
“ขอให้ผู้ประกอบการและแรงงานประมงมั่นใจได้ว่า รัฐบาลโดยกระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะยังคงมุ่งมั่นดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาแรงงานในภาคประมงไปอย่างต่อเนื่อง โดยพัฒนากลไกการดำเนินการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการคุ้มครองสิทธิของแรงงานให้สอดคล้องตามหลักสิทธิมนุษยชนและมาตรฐานสากลเพื่อขับเคลื่อนประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” พล.ต.อ.อดุลย์ฯ กล่าวในท้ายสุด
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 26/7/2561
กยศ. ชี้แจงกรณีครูผู้ค้ำประกันถูกยึดทรัพย์
กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ชี้แจงพร้อมให้ความช่วยเหลือกรณีครูค้ำประกันนักเรียนที่กู้ยืมเงินแล้วค้างชำระหนี้จนถูกยึดทรัพย์ เตือนผู้กู้ยืมให้มีจิตสำนึกในการชำระเงินคืนเพื่อไม่ให้เดือดร้อนผู้ค้ำประกันและแบ่งปันโอกาสทางการศึกษาสู่รุ่นน้อง
นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เปิดเผยว่า "จากกรณีที่ครูวิภา บานเย็น ได้เป็นผู้ค้ำประกันให้แก่นักเรียนที่เป็นผู้กู้ยืมตั้งแต่ปี 2541-2542 จำนวน 60 ราย แต่มีลูกศิษย์ที่ค้างชำระหนี้ กยศ. จนถึงขั้นบังคับคดีกับครูที่เป็นผู้ค้ำประกันนั้น กองทุนได้ตรวจสอบสถานะคดีของผู้กู้ยืมที่ครูวิภาได้เป็นผู้ค้ำประกันแล้ว พบว่า มีจำนวน 60 ราย จากจำนวนดังกล่าวมีผู้กู้ที่ชำระหนี้ปิดบัญชีเรียบร้อยแล้ว 29 ราย ชำระหนี้ตามปกติ 10 ราย ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีทั้งสิ้น 21 ราย ในจำนวนคดีที่ถูกฟ้องร้องมีการยึดทรัพย์แล้ว 4 ราย ซึ่งทั้ง 4 รายนี้ ครูวิภาได้มาชำระหนี้ในส่วนที่ค้ำประกันเรียบร้อยแล้วซึ่งกองทุนจะดำเนินการถอนการยึดทรัพย์ต่อไป ในส่วนคดีอีก 17 คดีที่เหลือนั้นอยู่ในขั้นตอนการบังคับคดี ซึ่งทั้ง 17 รายนี้คิดเป็นเงินต้นที่ค้ำประกันประมาณ 190,000 บาท สำหรับการช่วยเหลือครูวิภาในส่วนของคดีที่รอการบังคับคดีนั้น กองทุนจะดำเนินการไกล่เกลี่ยก่อนการยึดทรัพย์ ซึ่งภาระหนี้ดังกล่าวจะไม่ถึงขั้นล้มละลายตามที่เป็นข่าว กองทุนขอชื่นชมคุณครูที่ได้ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์แบบและเป็นผู้ให้อย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม กองทุนขอชี้แจงว่า ที่ผ่านมาในการติดตามหนี้กองทุนไม่ได้ละเลยที่จะติดตามผู้กู้ยืม และได้ดำเนินการตามขั้นตอนติดตามหนี้จากผู้กู้ยืมมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปีแรกที่ผู้กู้ยืมครบกำหนดชำระหนี้ กองทุนจะส่งจดหมายแจ้งภาระหนี้ให้แก่ผู้กู้ยืม จากนั้นกองทุนจะมีจดหมายติดตามหนี้ค้างชำระ แจ้งเตือนให้แก่ผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกัน รวมทั้งมีเจ้าหน้าที่โทรศัพท์แจ้งเตือนภาระหนี้ และส่งข้อความ SMS รวมถึงประชาสัมพันธ์ทางสื่อต่างๆ ให้รับทราบเพื่อดำเนินการชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนด แต่หากผู้กู้ยืมไม่ได้รับจดหมายจากกองทุนก็สามารถตรวจสอบยอดหนี้และสถานะของตนเองได้ทางเว็บไซต์ กยศ. (www.studentloan.or.th) และหากผู้กู้ยืมค้างชำระหนี้ จะต้องเสียเบี้ยปรับในอัตราร้อยละ 12 หรือ 18 ต่อปี ของเงินต้นงวดที่ค้างชำระแล้วแต่กรณี จนถึงขั้นถูกบอกเลิกสัญญาและดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งเมื่อถูกดำเนินคดีแล้วสามารถไปขอไกล่เกลี่ยทำสัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาลได้ และชำระหนี้เป็นรายเดือนได้อีก 9 ปี หรือแม้ว่าไม่ได้ไปศาลและศาลมีคำพิพากษาให้ชำระหนี้ทั้งหมด กองทุนยังได้ให้เวลาผ่อนชำระหนี้ตามคำพิพากษาอีกระยะหนึ่ง แต่หากผู้กู้ยืมหรือผู้ค้ำประกันไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาภายในระยะเวลา ที่กฎหมายกำหนด กองทุนมีความจำเป็นต้องสืบทรัพย์บังคับคดีตามกฎหมาย มิฉะนั้นกองทุนจะมีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากเงินกู้ยืมเป็นเงินงบประมาณแผ่นดินที่มาจากภาษีของประชาชน
ทั้งนี้ กองทุนจึงขอฝากเรื่องการค้ำประกันการกู้ยืมใดๆ ผู้ค้ำประกันจะต้องตระหนักว่าจะเป็นภาระผูกพันทางกฎหมาย และขอฝากถึงผู้กู้ยืมให้ชำระหนี้เป็นปกติ เพื่อไม่ให้ถูกฟ้องร้องจนเดือดร้อนถึงผู้ค้ำประกัน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นบิดา มารดา ญาติ หรือครู อาจารย์ เพราะหากค้างชำระเป็นระยะเวลานานจะทำให้เกิดเบี้ยปรับจำนวนมากอีกด้วย
ปัจจุบัน กองทุนได้ปล่อยเงินกู้ยืมให้แก่นักเรียน นักศึกษาไปแล้วจำนวนกว่า 5.4 ล้านราย คิดเป็นเงินกว่า 5.7 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้มีผู้กู้ยืมที่ชำระหนี้เสร็จสิ้นแล้วจำนวน 8 แสนราย อยู่ระหว่างปลอดหนี้ 1 ล้านราย อยู่ระหว่างชำระหนี้ 3.5 ล้านราย แบ่งเป็นผู้ชำระหนี้ปกติ 1.4 ล้านราย ผิดนัดชำระ 2.1 ล้านราย โดยมีผู้ที่ถูกดำเนินคดีแล้วมากกว่า 1 ล้านราย กองทุนขอให้ผู้กู้ยืมรุ่นพี่ทุกท่านมีจิตสำนึกความรับผิดชอบ ในการชำระคืนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้แก่รุ่นน้องต่อไป"
ที่มา: กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง, 25/7/2561
สำนักงานประกันสังคมย้ำให้สิทธิผู้ประกันตนผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาไม่ต้องสำรองจ่าย
นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า สปส.ให้สิทธิการรักษาผู้ประกันตนที่เจ็บป่วยเกี่ยวกับกระจกตา และต้องได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะกระจกตา โดยผู้ประกันตนที่มีความประสงค์จะใช้สิทธิการเปลี่ยนอวัยวะกระจกตา จะต้องมีข้อบ่งชี้คือ โรคแผลเป็นที่กระจกตา โรคกระจกตาเป็นแผล โรคกระจกตาขุ่นเป็นฝ้าขาว บวม เช่น อุบัติเหตุจากสารเคมี หรือกระจกตาบวมหลังการผ่าตัด กระจกตาเสื่อมตามอายุ กระจกตาผิดปกติแต่กำเนิดหรือผิดปกติทางพันธุกรรม การติดเชื้อแต่กำเนิด กระจกตาขุ่นจากโรคทางภูมิร่างกายผิดปกติ เช่น การแพ้ยาบางชนิด โรคกระจกตามีความโค้งผิดรูป กระจกตาบาง กรณีจำเป็นเร่งด่วน เช่น โรคติดเชื้อที่กระจกตารุนแรง กระจกตาทะลุ หรือกรณีอื่นๆ ตามที่จักษุแพทย์ผู้รักษาระบุ หากผู้ประกันตนเจ็บป่วยโรคเกี่ยวกับกระจกตา และต้องได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา สามารถรับบริการตรวจรักษาได้ ที่สถานพยาบาลตามสิทธิการรักษาพยาบาลที่เลือกไว้ทันที โดยไม่ต้องสำรองจ่าย
ทั้งนี้ สปส.ได้มีการอนุมัติสิทธิให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิกรณีการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาแล้วจำนวน 628 ราย โดย สปส. ได้จัดสถานพยาบาลในบันทึกข้อตกลงที่มีศักยภาพเพื่อให้ผู้ประกันตนเข้าถึงการรักษาที่ดีที่สุดในกรณีสถานพยาบาลตามสิทธิฯ ส่งต่อการรักษา 29 แห่ง โดยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง สำนักงานประกันสังคมจังหวัดสาขา/ ที่ท่านสะดวก หรือโทร.1506 ตลอด 24 ชั่วโมง
ที่มา: PPTV, 25/7/2561
ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ได้งบกลางเพิ่ม 439 ล้านบาท ต้นปีใช้ไปแล้ว 364 ล้านบาท
24 ก.ค. 2561 แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่าสำนักงบประมาณเตรียมโอนจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีอุกเฉินหรือจำเป็น ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ ให้กับศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) วงเงินรวม 439,747,855 บาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของ ศปมผ. ระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2561 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2561
ทั้งนี้ เป็นงบประมาณให้กับ ศปมผ. 316,339,200 บาท กรมประมง 58,741,200 บาท กรมเจ้าท่า 10,620,300 บาท กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 14,604,000 บาท สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) 2,452,000 บาท กรมการจัดหางาน 10,000,000 บาท กรมสวัสติการและคุ้มครองแรงงาน 8,223,900 บาท สำนักงานปลัดกระทรวงการต่างประเทศ 812,400 บาท และ สำนักงานอัยการสูงสุด 7,382,200 บาท
งบประมาณดังกล่าว เพื่อเป็นการดำเนินงานบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดในดำเนินการตรวจเรือประมง และโรงงานแปรรูปสัตว์นํ้า ตามเป้าหมายที่กำหนด การทำแผนการบริหารจัดการประมงทะเลของประเทศไทย พ.ศ.2558-2562 แผนปฏิบัติการระดับชาติในการป้องกันยับยั้งและขจัดการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม พ.ศ.2558-2562
แผนการควบคุมและตรวจตราการประมงระดับชาติ ระบบการตรวจสอบยัอนกลับ แผนงานเร่งด่วนตามข้อเสนอแนะของผู้แทนสหภาพยุโรปไปสู่การปฏิบัติ และการเตรียมความพร้อมในการส่งผ่านการดำเนินงานให้กับหน่วยงานหลัก โดยคำนึงถึงการบูรณาการขีดความสามารถ ฐานข้อมูล และการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเพื่อลดความซํ้าซ้อน ลดความต้องการงบประมาณในการบำรุงรักษาระบบ ให้การแก้ไขป้ญหาการทำการประมงผิดกฎหมายมีประสิทธิภาพสูงสุด
มีรายงานว่า เมื่อช่วงต้นปี 2561 ศปมผ. ได้รับงบประมาณมาแล้ว 364.25 ล้านบาท เพื่อนำไปแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ประกอบด้วย ศปมผ. 282 ล้านบาท กรมประมง 24 ล้านบาท กรมเจ้าท่า 10 ล้านบาท กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 19.99 ล้านบาท กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน 5.5 ล้านบาท สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) 20 ล้านบาท สำนักงานปลัดกระทรวงการต่างประเทศ 1.58 ล้านบาท เป็นภารกิจระหว่างวันที่ 1 ต.ค.2560-31 มี.ค.2561
ซึ่งจะเป็นการถ่ายทอดภารกิจในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายของส่วนงานต่างๆ ใน ศปมผ. โดยเน้นกาการพัฒนาระบบงานให้มีความพร้อมในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย รวมถึงสนับสนุนการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของผู้แทนสหภาพยุโรป (อียู) เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์โดยเร็ว โดยเฉพาะการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย การจัดการกองเรือประมง การติดตามควบคุมและเฝ้าระวังการพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับ การบังคับใช้กฎหมาย การพัฒนาบุคลากร ระบบงาน ระบบสนับสนุน ตลอดจนพิจารณาการเปลี่ยนผ่านการดำเนินการของ ศปมผ.ให้หน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมประมง กรมเจ้าท่า เป็นต้น ภายหลังจากที่ ศปมผ.เสร็จสิ้นภารกิจ
ที่มา: MGR Online, 24/7/2561
หนุนไอเดีย ให้แรงงานต่างด้าว ซื้อประกันภัยคุ้มครองเจ็บป่วย
วันที่ 24 ก.ค. 2561 นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) เปิดเผยว่าในการประชุมร่วมกับอธิบดีกรมแรงงานเมียนมาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางอธิบดีฯ เมียนมาได้แสดงความห่วงใยแรงงานเมียนมาที่เดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทย แต่ยังไม่ได้เข้าระบบประกันสังคม ซึ่งยังไม่ได้รับการคุ้มครองใดๆ ระหว่างการเดินทาง จึงมีการหารือกันว่าน่าจะมีการซื้อประกันภัยระยะสั้นๆ ซึ่งตนก็เห็นด้วย และเสนอให้ดำเนินการทำมาตั้งแต่ประเทศต้นทาง โดยให้เป็นแบบสมัครใจ อย่างไรก็ตามเป็นเพียงการหารือกันเท่านั้น และยังไม่ทราบว่าทางการเมียนมาจะดำเนินการอย่างไรต่อ
นายอนุรักษ์ กล่าวต่อว่าเรื่องนี้ตนได้นำเรียน พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน ทราบแล้ว ซึ่งในเรื่องของการทำประกันภัยแรงงานต่างด้าวนั้น ท่านรมว.ก็เห็นด้วยเพราะมองว่าที่ผ่านมาไม่มีอะไรคุ้มครองเลย เช่น ไฟไหม้รถแรงงานต่างด้าวที่ อ.แม่สอด แล้วไม่ได้รับการชดเชย ดังนั้นคิดว่าควรมี และคิดว่าเป็นประกันภัยระยะสั้นระหว่างรอเข้าระบบประกันสังคมของประเทศไทย ดังนั้นราคาค่าประกันน่าจะไม่แพงมาก ไม่กี่ร้อยบาท เหมือนที่เราไปต่างประเทศ ก็จะมีระบบประกันภัยการเดินทางซึ่งเป็นแบบสมัครใจเหมือนกัน คนไหนทำก็ได้รับการคุ้มครอง ใครไม่ทำก็ดูแลตัวเอง อย่างไรก็ตาม แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในเมืองไทยไม่ใช่ทั้งหมดที่จะเข้าสู่ระบบประกันสังคม ซึ่งตามกฎหมายแล้วจะมียกเว้นแรงงานอยู่ 2 กลุ่มที่ไม่ได้เข้าประกันสังคม คือ คนรับใช้ตามบ้าน และประมงทะเล แต่ทั้ง 2 กลุ่มนี้ก็จะมีการซื้อประกันสุขภาพกับ รพ.อยู่แล้ว
เมื่อถามว่าเนื่องจากตอนนี้เมืองไทยนำเข้าแรงงานผ่านเอ็มโอยู ซึ่งรู้แน่ชัดว่าใครเป็นนายจ้าง พอมีกระแสข่าวนี้ออกมาทำให้นายจ้างกังวลว่าจะต้องเป็นคนรับผิดชอบค่าทำประกันภัยด้วยหรือไม่ นายอนุรักษ์ กล่าวว่า ไม่มีใครบังคับ เรื่องการประกันภัย เป็นสิทธิของผู้เอาประกัน หากสมัครใจทำก็ทำ และได้รับการคุ้มครอง ถ้าไม่ทำก็ไม่มีสิทธิอะไร หากเกิดเรื่องอะไรขึ้นมาก็รับผิดชอบตัวเอง เพราะฉะนั้นแรงงานต้องเป็นคนรับผิดชอบค่าประกันภัยเอง ทั้งนี้เป็นการหยิบยกของทางเมียนมา ส่วนประเทศอื่นๆ ยังไม่ได้คุย แต่คิดว่าน่าจะมีแนวคิดคล้ายๆ กัน อย่างไรก็ตามคงไม่ได้จะหยิบยกมาเป็นเรื่องที่ต้องหารือร่วม 3 สัญชาติ
ที่มา: คมชัดลึก, 24/7/2561
ครูสาวร้องกองปราบ หลังถูก ผอ.โรงเรียนลวนลาม-เลิกจ้างไม่เป็นธรรม
นางสาวภัทรพร กลิ่นภิรมย์ อดีตครูอนุบาล โรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง ย่านมีนบุรี เข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวนกองปราบปราม กรณีถูกผู้อำนวยการโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งย่านมีนบุรี ที่ตนเองเคยเป็นครูสอนอยู่ ลวนลาม คุกคามทางเพศ และเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ด้านนางสาวภัทรพร เปิดเผยว่า ตนได้เข้ามาเป็นครูประจำชั้นนักเรียนอนุบาล 2 และอนุบาล 3 อยู่ที่โรงเรียนดังกล่าวตั้งแต่ปี 2556 และถูกคุกคามในช่วงระหว่างปี 2558 ถึง 2560 ซึ่งผู้อำนวยการคนดังกล่าว ส่งคลิปลามาอนาจารมาในไลน์ส่วนตัว และชอบชักชวนครูสาว ๆ ออกไปรับประทานอาหารหลังจากเลิกงาน โดยอ้างว่าไปพูดคุยเพื่อมอบหมายงานสำคัญ หรือ พูดคุยเพื่อปรับทัศนคติ ซึ่งได้กระทำการลวนลามตนเอง จากนั้นก็ได้แสดงพฤติกรรมไปในเขิงชู้สาวมาโดยตลอด แต่ตนเองก็พยายามหลีกเลี่ยง เพราะไม่อยากมีปัญหากับผู้บังคับบัญชา
ต่อมาเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2561 ที่ผ่านมา ผู้อำนวยการคนดังกล่าว ได้ออกหนังสือเลิกจ้าง ไล่ตนเองออกจากงาน โดยไม่มีเหตุอันควร และเลิกจ้างโดยไม่บอกล่วงหน้าก่อน 60 วัน อีกทั้งยังไม่ได้จ่ายเงินชดเชยใดๆ ทั้งสิ้น ตามกฎหมายแรงงาน วันนี้ตนเองจึงมาแจ้งความเพื่อปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นครู และความเป็นลูกผู้หญิงของตนเอง ที่ไม่เคยมีเรื่องเสื้อมเสียตลอดการมีอาชีพเป็นครูมี 17 ปี อีกทั้งผู้อำนวยการคนดังกล่าวยังกระทำกับครูสาวรายอื่นอีกหลายคน ที่ต้องทนทุกข์กับพฤติกรรมดังกล่าว ไม่กล้าเอาเรื่อง เพราะกลัวตกงาน โดยวันนี้ได้นำหลักฐานเป็นสำเนาข้อความ รูปภาพ และคลิปที่ผู้อำนวยการคนดังกล่าวเคยส่งให้ตนเอง รวมถึงหนังสือเลิกจ้างงานที่ให้เหตุผลอย่างไม่เป็นธรรมมาด้วย
ที่มา: ไอเอ็นเอ็น, 23/7/2561
แสดงความคิดเห็น