Posted: 20 Jul 2018 09:41 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Fri, 2018-07-20 23:41

นิธิ เอียวศรีวงศ์

คําที่ใช้มากจนเป็นที่เข้าใจกันดีในหมู่นักเล่นโซเชียลมีเดียคำหนึ่งคือ “ดราม่า” ผมเดาว่าคงมาจากคำว่า dramatic ในภาษาอังกฤษ คือผลสะเทือนใจอย่างแรงที่ได้จากการแสดง แต่เราอาจได้รับผลสะเทือนใจเช่นนี้จากเหตุการณ์ที่ไม่ใช่ “การแสดง” ก็ได้ มันไม่ใช่แค่จัดฉาก, จัดเครื่องแต่งกาย, ส่องไฟ, จัดกล้อง, แต่งหน้า ฯลฯ ซึ่งทำให้สิ่งที่ทำอยู่ (เช่น พูดทางทีวีทุกวันศุกร์) มีลักษณะเหมือนฉากละคร ซึ่งภาษาอังกฤษเรียกว่า theatrical ไม่ใช่ dramatic

ดราม่าที่ใช้ในภาษาไทยเป็นการแสดงที่ดูเหมือนไม่มีใครตั้งใจแสดง แต่กลับให้ผลสะเทือนใจกว่า แม้กระนั้นความหมายไทยดูจะส่อไปในทาง “มากเกินไป” เช่น เศร้าเกินไป, ดีใจเกินไป, เครียดเกินไป, เก่งเกินไป, ดีเกินไป, ชั่วเกินไป ฯลฯ ตรงกับภาษาอังกฤษว่า melodramatic มากกว่า

อย่างไรก็ตาม ขึ้นชื่อว่าละคร ไม่ว่าจะเป็นการแสดงแบบไหน ก็ล้วนมีเรื่องที่จะสื่อทั้งนั้น ผมใช้คำว่าเรื่องอาจชวนให้นึกถึงเนื้อเรื่อง แต่ผมต้องการหมายถึงแก่นเรื่องมากกว่า จะเรียกให้เข้าใจง่ายๆ ว่า “บทเรียน”, “นิทานเรื่องนี้สอนว่าอะไร”, “ปรัชญา” ฯลฯ ก็ได้ เพราะใกล้เคียงกับความหมายที่ผมต้องการมากกว่า

เมื่อมองในแง่นี้ ดราม่าคือการสื่อสารทางสังคมอย่างหนึ่ง เป็นเรื่องที่สังคมทบทวนคุณค่าบางอย่างร่วมกัน ผมใช้คำว่าทบทวน เพราะไม่จำเป็นต้องตอกย้ำเสมอไป บางครั้งก็เป็นการตั้งคำถามกับคุณค่าบางอย่าง แต่ไม่ใช่เพื่อล้มล้างคุณค่านั้น หากเพื่อให้ความหมายใหม่หรือปรับความหมายเก่าให้มีความหมายในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

ดราม่าจึงเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในทุกสังคม ไม่ใช่เพราะมีโซเชียลมีเดียแพร่หลายเพียงอย่างเดียว กรณีฆาตกรรมโหดของบุญเพ็ง หีบเหล็ก ซึ่งเกิดตั้งแต่สมัย ร.5 เป็นดราม่าใหญ่ครั้งหนึ่งของคนกรุงเทพฯ ยังมีนิทานคำกลอนซึ่งแต่งหลังดราม่าไม่นานพิมพ์ออกขายและตกทอดมาถึงทุกวันนี้ ก่อนหน้าบุญเพ็งขึ้นไป แม่นาคพระโขนงก็อาจเป็นดราม่าอีกครั้งหนึ่ง แต่งเติมเสริมต่อเนื้อเรื่องกันจนแก่นเรื่องของดราม่าครั้งแรกคืออะไร ก็ไม่ทราบเสียแล้ว

ดราม่าเป็นการสื่อสารทางสังคมที่มีพลังมากเป็นพิเศษในสังคมไทย (และน่าจะเป็นสังคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกหลายสังคม) ในประเพณีการแสดงของไทย เราไม่แยกนักแสดงกับผู้ชมออกจากกัน การที่ผู้ชมจะส่งเสียง ด่าทอ หรือแสดงความชื่นชม จนแม้แต่แทรกแซงเวทีทางกายภาพเลย (เช่น ขว้างสิ่งของขึ้นไป หรือเรียกนักแสดงมาตบรางวัล แม้ในระหว่างการแสดง) ก็เป็นสิ่งที่ทำได้ และพึงทำในบางกรณีด้วย

ดราม่าจึงไม่ได้สื่อ “สาร” ของผู้แต่งบทหรือผู้จัดละครให้แก่สังคมโดยรวม แต่สังคมเองนั่นแหละร่วมเขียนบทและร่วมจัดละครขึ้นทั้งโรง เสียงเชียร์และเสียงด่า ไม่ว่าจะเป็นแต่เสียงหรือเป็นม็อบด้วยก็ตาม ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของดราม่า ซึ่งสื่อ “สาร” ของสังคมให้แก่สังคมเอง

ดราม่าเรื่องใหญ่สุดในสังคมไทยเวลานี้คือเรื่องเด็กติดถ้ำที่เชียงราย แทบจะหาคนที่ไม่รู้ “เนื้อเรื่อง” ของเหตุการณ์นี้ไม่ได้เลย ไม่แต่เนื้อเรื่องอย่างเดียว แม้แต่แก่นเรื่องก็ดูเหมือนจะรับได้ทั่วถึงทุกคน เพราะถูก “ดราม่า” ให้ชัดจนยากที่จะไม่รับได้ และนั่นคือความเป็นปึกแผ่น หรือ solidarity ในภาษาอังกฤษ

ความเป็นปึกแผ่นทางสังคมคือสิ่งที่สังคมไทยกำลังขาดแคลนที่สุด และเป็นที่สำนึกกันได้ทั่วไปในทุกชนชั้น ทุกฝ่ายเห็นว่าเป็นอุปสรรคใหญ่ที่ทำให้เราก้าวไปข้างหน้าไม่ได้ หรือแม้แต่ก้าวให้พ้นจากอำนาจทหารก็ไม่ได้ด้วย

แก่นเรื่องนี้เหมาะสมอย่างยิ่งกับเนื้อเรื่อง เด็กที่เข้าไปติดในถ้ำเป็น “คนชายขอบ” ของสังคมไทย เป็นเด็ก “บ้านนอก” ระดับชายแดนเลยทีเดียว ซ้ำบางคนยังไม่มีสัญชาติเสียอีก แต่ในขณะเดียวกันเขาได้ก้าวหรือกำลังก้าวเข้าสู่ “ความเป็นไทย” แล้ว เพราะเขาใฝ่ฝันจะเป็นนักฟุตบอลมืออาชีพ อันเป็นกีฬาที่สร้างความเป็นปึกแผ่นแก่สังคม เพราะเป็นที่นิยมในหมู่คนทุกชนชั้นจริงเสียด้วย

ดังนั้น คนในทุกสถานภาพทางเศรษฐกิจ ทุกสถานภาพทางสังคม และทุกเสื้อสี ต่างอุทิศทรัพย์สิน, เวลา, ความรู้ความเชี่ยวชาญ, กำลังใจ ฯลฯ ให้ความช่วยเหลือเต็มกำลังความสามารถของตนเท่าที่ต่างจะทำได้ ด้วยคำกล่าวที่ได้ยินจากทุกฝ่ายอยู่เสมอว่า “คนไทยด้วยกัน” อันเป็นคำที่หายไปเป็นเวลานานแล้ว และน่าจะได้ยินใน 2552 และ 2553 เป็นอย่างยิ่ง นับว่าสอดคล้องกับแกนเรื่องหลักของดราม่า คือความเป็นปึกแผ่น

อันที่จริงเนื้อเรื่องของดราม่าติดถ้ำจะเล่าแก่นเรื่องอื่นนอกจากความเป็นปึกแผ่นก็ได้ เช่น คุณค่าของชีวิต ตั้งแต่ผมเกิดมาจนบัดนี้ ไม่เคยมีครั้งไหนที่เราทุ่มเทสรรพกำลังทั้งหมดที่เรามี รวมทั้งระดมสรรพกำลังจากมิตรประเทศ เท่าที่สถานะของไทยในการเมืองโลกจะทำได้ เพื่อช่วยชีวิตเด็กและโค้ชฟุตบอล 13 คน โดยไม่สนใจสถานะทางเศรษฐกิจ-สังคมหรือการเมืองของคนเหล่านี้เลย เพราะคนไทยมองเห็นชีวิตไม่ว่าของคนเล็กคนน้อยเท่าไรว่ามีคุณค่าเสมอเหมือนกัน เท่าไรเท่ากัน แต่ชีวิตต้องรอด

แล้วคิดว่าดราม่าที่มีแก่นเรื่องแบบนี้ จะก่อให้เกิดความกระตือรือร้นและเอาใจใส่ได้เท่ากับแก่นเรื่องแบบแรกหรือ?

ดราม่าต้องมีเนื้อเรื่องที่น่าสนใจน่าติดตาม แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมีแก่นเรื่องที่แฝงคาใจผู้คนด้วย

ทำไมคนไทยใน พ.ศ.นี้จึงอยากฟังแก่นเรื่องความเป็นปึกแผ่นของชาติ? ก็เพราะนี่กำลังเป็นปัญหาที่ค้างคาใจคนไทยมากที่สุด พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ พ.ศ.นี้คือช่วงที่คนไทยรู้สึกว่าชาติเรากำลังขาดความเป็นปึกแผ่นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

ใน พ.ศ.2524 ไทยรัฐไปพบเรื่องของ ด.ญ.วัลลี ซึ่งสู้อุตส่าห์ดูแลแม่และยายที่ป่วยและช่วยตนเองไม่ได้ โดยการวิ่งจากโรงเรียนกลับไปป้อนข้าวป้อนน้ำทุกเวลาเที่ยง ทั้งๆ ที่ ด.ญ.วัลลีเพิ่งเรียนอยู่ชั้น ป.5

เรื่องเด็กยากจนประสบปัญหาอย่างหนักในชีวิตใน 2524 คงมีอีกหลายกรณี แต่ไทยรัฐเลือกที่จะเสนอเนื้อเรื่อง ด.ญ.วัลลีไปพร้อมกับแก่นเรื่องลูกกตัญญู (ข้อเขียนบางชิ้นบอกว่า “ที่สุดในโลก” ด้วย) นับเป็นดราม่าใหญ่ที่เรียกผู้ชมและผู้แสดงไทย (ซึ่งดังที่กล่าวข้างต้นแล้วว่าคือคนคนเดียวกัน) เข้าไปร่วมเขียนบทและจัดการอย่างคึกคักที่สุดหนหนึ่ง

ถ้าไทยรัฐเลือกเสนอแก่นเรื่องของ ด.ญ.วัลลี เป็นเรื่องโอกาสอันไม่เท่าเทียมกันของเด็กไทย หรือคนแก่คนพิการจำนวนมากที่ถูกรัฐและสังคมทอดทิ้ง หรือนโยบายรัฐสวัสดิการ ฯลฯ เรื่องของ ด.ญ.วัลลีก็ไม่มีวันเป็นดราม่าขึ้นมาได้ (และไทยรัฐก็อาจเจ๊งไปนานแล้ว)

เพราะความกตัญญูกำลังเริ่มเป็นปัญหาค้างคาใจคนไทยใน 2524 มากขึ้นตามลำดับ คนไทยจำนวนมากขึ้นทั้งในชนบทและเมือง ต้องละทิ้งพ่อแม่ปู่ย่าตายายไว้ที่บ้าน เพื่อออกมาหางานทำนอกบ้านตนเอง ไกลบ้าง ใกล้บ้าง พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือคนจำนวนไม่น้อยต้องละทิ้งการผลิตที่มีฐานอยู่บนครอบครัว มาสู่การงานที่ตัดขาดอย่างชั่วคราวหรืออย่างค่อนข้างถาวรจากครอบครัวของตนเอง

ในความรู้สึกคนไทยยังสำนึกถึงความกตัญญูอย่างเต็มเปี่ยม (หากไม่มีสำนึกก็ไม่ต้องมีอะไรคาใจสิครับ) แต่ชีวิตจริงไม่อาจทำตามความคาดหวังของคุณค่านั้นได้เสียแล้ว เนื้อเรื่องของ ด.ญ.วัลลี และแก่นเรื่องที่ไทยรัฐเลือกใช้ในการนำเสนอข่าวแต่ต้น จึงเข้ามาชดเชยความว้าวุ่นใจของคนไทยจำนวนมากพอดี ถึงไม่ใช่ลูกกตัญญูเท่า ด.ญ.วัลลี แต่การเข้าร่วมแสดงในดราม่า ช่วยตอกย้ำความยกย่องที่คนไทยซึ่งไม่อาจปฏิบัติความกตัญญูได้เหมือนเดิม ว่ายังดำรงอยู่อย่างมั่นคงในจิตใจ

ประเด็นที่อยากย้ำในที่นี้ก็คือ แก่นเรื่องของดราม่า จะต้องเข้ากับอารมณ์ความรู้สึกของคนกลุ่มใหญ่ในสังคม และในแต่ละช่วงเวลาพอดีด้วย ไม่ใช่ว่า-ดราม่าทุกเรื่อง จะ “ติดตลาด” ได้ง่ายๆ เพียงเพราะมันเป็นดราม่าเท่านั้น

กลับมาสู่แก่นเรื่องของดราม่าเด็กติดถ้ำอีกทีหนึ่ง ควรชี้ให้เห็นไว้ด้วยว่า แม้ความเป็นปึกแผ่นกลายเป็นแก่นเรื่องหลัก แต่กว่าจะเป็นได้ มีแก่นเรื่องอื่นถูกเสนอขึ้นมาแข่งอีกหลายแก่น หากไม่อาจทานทนต่อความนิยมของแก่นเรื่องหลักได้จึงเงียบหายไป เช่น ความคลั่งชาติ (Thai Chauvinism) ที่เหยียดนักดำน้ำต่างชาติ เพื่อยกนักดำน้ำไทยให้เหนือกว่า หรือเปลี่ยนจากความเป็นปึกแผ่นไปสู่การมองหาเหยื่อสำหรับชี้นิ้วกล่าวโทษ หรือยกย่องสรรเสริญในฐานะปัจเจก

กระบวนการที่จะเกิดแก่นเรื่องหลักขึ้นได้ในดราม่าแต่ละครั้ง มีความสลับซับซ้อนเกินกว่าจะนับเป็นผลงานของใครคนใดคนหนึ่งได้แท้จริง มันเกิดขึ้นโดยหลายๆ กลุ่ม หลายๆ ฝ่ายเข้ามาให้ความหมายที่อาจไม่เหมือนกันทีเดียว แต่ก็มีกระบวนการเลือกสรรจากหลายกลุ่มหลายฝ่ายจนแกนเรื่องหลักค่อยๆ ปรากฏขึ้นมา และคนจำนวนมากอยากเข้าร่วมแสดง

แม้กระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าแกนเรื่องหลักไม่ได้ถูก “สร้าง” ขึ้นเสียเลยทีเดียว ที่มองเห็นได้จากผิวนอกสุดคือสื่อสร้างมันขึ้นมา แต่สื่อก็ไม่ได้สร้างตามใจชอบ หากสร้างขึ้นอย่างไม่ตั้งใจจากความพยายามให้ความหมายแก่ดราม่าตามที่เก็งว่าจะถูกใจลูกค้า ซึ่งก็คือคนชั้นกลางในสังคม หากมันติดตลาดแล้ว ผู้กระโดดขึ้นมาแสดงบนเวที ก็ต้องเต้นต้องรำไปตามแกนเรื่องหลัก

ภายใต้แกนเรื่องหลักที่กำหนดดราม่า ผู้แสดงทุกกลุ่มทุกฝ่ายยังสามารถกำหนดท้องเรื่องของดราม่าให้ตนขึ้นไปยืนอยู่กลางเวที เบียดขับคนอื่นให้ไปยืนริม หรือตกเวทีไปเลย ดังนั้นในแกนเรื่องหลักที่ทุกฝ่ายยอมรับ ก็ยังมีการให้ความหมายซ้อนลงไปในความหมายของแกนเรื่องหลักไปพร้อมกันอยู่ด้วย

ภายใต้แกนเรื่องหลักความเป็นปึกแผ่นของสังคมไทยนี้ จนถึงวันที่เขียนบทความนี้ซึ่งได้นำบางส่วนของนักฟุตบอลเด็กออกมาได้แล้ว ใครคือ “พระเอก” ของดราม่าเรื่องนี้?

เห็นได้ชัดว่าภาครัฐส่วนกลางคือพระเอก สรรพกำลังที่ทุ่มเทลงไปในการช่วยเหลือเด็กติดถ้ำคือรัฐส่วนกลาง แม้มีเอกชนและหน่วยงานต่างชาติเข้ามามีส่วนร่วม ก็ทำงานหนุนเสริมรัฐส่วนกลางไทย และภายใต้การกำกับของรัฐส่วนกลาง ยิ่งผู้อำนวยการการกู้ภัยมีความสามารถสูงอย่างผู้ว่าฯ เชียงราย ก็ยิ่งทำให้ “บท” พระเอกของรัฐส่วนกลางเด่นชัดขึ้นไปอีก

ดราม่าเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า สมควรแล้วที่ท้องถิ่นของรัฐไทย พึงถูกส่วนกลางควบคุมกำกับชี้นำและประคับประคอง เพราะท้องถิ่นไม่มีกำลังพอจะดูแลตนเองได้ และนี่คือรัฐในอุดมคติของคนชั้นกลางในเมืองไม่ใช่หรือ?

แต่ก็อย่าลืมด้วยว่า ประวัติศาสตร์ไทยที่ไม่ค่อยได้เล่ากันคือการต่อสู้ของท้องถิ่น เพื่อรักษาอิสรภาพของตนไว้ให้ดำรงอยู่สืบไป ถึงไม่ใช่ในฐานะรัฐเอกราช แต่ก็อยากมีอิสรภาพในการจัดการตนเองได้มากกว่านี้มากนัก สำนึกเช่นนี้แสดงตัวออกได้ไม่ง่ายนักในรัฐไทยสมัยใหม่ (และยิ่งไม่ง่ายขึ้นไปอีกภายใต้รัฐบาลทหาร) ในดราม่าที่รัฐส่วนกลางเป็นพระเอก ท้องถิ่นจะแสดงตัวตนของตนออกมาบนเวทีได้อย่างไร แม้แต่เครื่องสูบน้ำสักเครื่องก็มีแรงไม่พอจะดูดน้ำในบ่อให้หมดในพริบตาได้ จะไปทำอะไรกับน้ำในถ้ำ ถึงขนเครื่องสูบน้ำไปสัก 100 เครื่อง ก็แทบไม่ปรากฏเป็นข่าวให้ใครได้รับรู้อยู่นั่นเอง เมื่อเทียบกับสูบน้ำพญานาคของกรมชลประทาน

อย่างไรก็ตาม หากมองจากสำนึกท้องถิ่นดังกล่าว เด็กต้องติดถ้ำก็เพราะ “อำนาจ” ของท้องถิ่น นั่นคือเจ้าแม่เขานางนอนกักเด็กเอาไว้ เพราะถ้ำหลวงเขานางนอนนั้นมีตำนานท้องถิ่นที่เล่าถึงเจ้าแม่ซึ่งอดอาหารนอนตายสยายผมเป็นเขาทั้งลูก จะช่วยเด็กได้ก็ต้องเจรจาต่อรอง (negotiate) กับเจ้าแม่ ซึ่งในกรณีนี้ย่อมเป็นตัวแทนของอำนาจท้องถิ่น

พิธีกรรมที่ถูกสื่อเรียกว่า “ไสยศาสตร์” ทั้งหมดจึงถูกจัดอยู่หน้าถ้ำหลายครั้งหลายหน รวมทั้งเชิญ “ครูบา” อันเป็นอำนาจอีกอย่างหนึ่งของท้องถิ่นเข้ามาร่วมเจรจาต่อรองกับเจ้าแม่ด้วย แต่ “บท” ของท้องถิ่นเหล่านี้ถูกแกนเรื่องหลักและ “บท” ของรัฐส่วนกลางเบียดขับออกไปในนามของประสิทธิภาพและวิทยาศาสตร์ จนต้องไปยืนอยู่ริมเวที หรือตกเวทีไปเลย

ดราม่าจึงเป็นการสื่อสารทางสังคม ที่สื่อทั้งสารหลักที่อยากให้สื่อ และสารรองที่บางครั้งก็ไม่อยากให้สื่อ แม้กระนั้นมันก็ถูกสื่อออกไปจนได้

(ความในตอนท้ายนี้เป็นหนี้ความคิดบทความเรื่อง “Myth and politics in Thailand”s cave rescue operation,” ของคุณ Edoardo Siani ซึ่งลงในวารสารออนไลน์ New Mandala วันที่ 3 กรกฎาคม 2018 อันเป็นบทความที่วิเคราะห์หาความหมายทางสังคมของปฏิบัติการกู้เด็กจากถ้ำที่กระตุ้นความคิดอย่างยิ่ง)



เผยแพร่ครั้งแรกใน: มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 13 - 19 กรกฎาคม 2561

ที่มา: www.matichonweekly.com/column/article_118529
บทความ
สังคม
วัฒนธรรม
การศึกษา
คุณภาพชีวิต
นิธิ เอียวศรีวงศ์
13 หมูป่า
ดราม่า

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.