Posted: 19 Jul 2018 03:15 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Thu, 2018-07-19 17:15
ศรายุทธ ฤทธิพิณ สำนักข่าวปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน : รายงาน
ทบทวน 9 ปี การต่อสู้ในสิทธิที่ดินทำกินของ ชุมชนบ่อแก้ว ชัยภูมิ ประธานกลุ่ม เผยปัจจุบันก้าวไปสู่การพัฒนาที่อยู่อาศัย ควบคู่ไปกับทำการผลิตปลูกพืชผักสวนครัว สร้างความมั่นคงทางอาหาร และเพื่อนำมาเป็นรายได้หล่อเลี้ยงชีพในครอบครัว
ทุกวันที่ 17 ก.ค. ชาวบ้านบ่อแก้วจะถือเอาเป็นวันกำเนิดของชุมชน โดยทุกปีจะมีตัวแทนสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) จำนวนทั้งหมด 25 ชุมชน ประกอบด้วย จ.ชัยภูมิ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด ยโสธร และศรีสะเกษ มาเข้าร่วมเพื่อแลกเปลี่ยนสรุปบทเรียนการต่อสู้ในสิทธิที่ดินทำกิน และรำลึกถึงสิ่งที่ร่วมกันต่อสู้ในสิทธิที่ดินทำกินของผู้เดือดร้อนที่สามารถร่วมกันเข้ายึดที่ดินทำกินเดิมกลับคืนมา
และในวาระครบรอบ 9 ปี ครั้งนี้ ชาวบ้านบ่อแก้วได้กำหนดกิจกรรมจัดงานขึ้นในวันที่ 16 ก.ค.61 ได้เชิญตัวแทนองค์กรชุมชนแก้ไขปัญหาที่ดินภาคอีสาน (คอ.ปอ.) กลุ่มสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมอีสาน (กสส.) เข้าร่วมเวทีสัมมนาแลกเปลี่ยนสถานการณ์ปัญหาที่ดินและข้อเสนอเชิงนโยบายต่อภาครัฐ โดยมี ดร.อลงกรณ์ อรรคแสง อาจารย์ประจำวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และ ผศ.ดร.อนุสรณ์ พัฒนศานส์ ร่วมเป็นวิทยากร และในวันที่ 17 ก.ค.61 เริ่มจากในช่วงเช้า จะเป็นการร่วมกันทำบุญตักบาตรนิมนต์พระสงฆ์จำนวน 5 รูป มาประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนา เพื่อความเป็นสิริมงคล พร้อมทั้งถวายภัตตราหารแด่พระสงฆ์
นอกจากนี้ สุนีย์ ไชยรส พร้อมทั้งนักศึกษามหาวิทยาลัยรังสิต รวม 4 คน เดินทางมาร่วมเรียนรู้ศึกษาวิถีชีวิตและประวัติศาสตร์การต่อสู้ของชุมชน รวมทั้งวงดนตรีสเลเต จากจังหวัดอุบลราชธานีมาบรรเลงบทเพลงแนวรบด้านวัฒนธรรม ให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรมตลอดทั้ง 2 วัน
นิด ต่อทุน ประธานโฉนดชุมชนบ้านบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ เล่าว่า จากการถูกขับไล่อพยพที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม นำมาสู่ความเดืออดร้อนทำให้ไม่มีที่ดินทำกิน หลายคนต้องไปเป็นแรงงานรับจ้าง และหลังจากได้มีการลงตรวจสอบสิทธิ์การใช้ประโยชน์ที่ดินร่วมกับ อ.อ.ป.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีมติที่ประชุมร่วมกันว่าให้ยกเลิกสวนป่ายูคาฯ และคืนที่ดินทำกินให้ผู้เดือดร้อน แต่ อ.อ.ป.ไม่ยอมมอบคืนให้ และในการปฏิบัติได้ส่งคนติดตามเพื่อหาข่าวความเคลื่อนไหวชาวบ้านตลอดเวลา ซึ่งก่อนเข้ายึดพื้นที่ประมาณ 5 วัน ได้ร่วมกันวางแผนปล่อยข่าวลวงไปยังที่ต่างๆ เช่น เวลาไปซื้อของที่ร้านค้าหรือเจอใครที่รู้จัก จะแกล้งพูดเพื่อให้มีการบอกต่อๆ กันว่าจะเข้ายึดสำนักงานสวนป่าฯ เมื่อ อ.อ.ป.ได้รับข่าว ได้เสริมกำลังเจ้าหน้าที่ป่าไม้มาจากหลายจังหวัดในภาคอีสานและตำรวจ รวมกว่า 200 นาย มาประจำการที่สำนักงานสวนป่าคอนสาร และในช่วงเช้ามืดของวันที่ 17 ก.ค.ปี 52 เป็นวันที่ฝนตกหนักมาก พวกเราที่ได้รับผลกระทบ 200 กว่าคน จัดแบ่งกำลังออกเป็น 3 ทาง เพื่อปฏิบัติการเข้ามายึดพื้นที่พร้อมกันตรงบริเวณลำห้วยโปร่ง ตั้งอยู่ห่างจากสำนักงานฯประมาณ 3 กิโลเมตร
ประธานโฉนดชุมชนบ้านบ่อแก้ว เล่าอีกว่า จากนั้นเจ้าหน้าที่ป่าไม้และตำรวจ นำกำลังเข้ามาผลักดันให้ออก แต่พวกเราได้เตรียมการรักษาความปลอดภัยโดยได้จัดชุดการ์ดมีทั้งผู้หญิงและผู้ชายประสานมือกันยืนเรียงแถวหน้ากระดานดันเจ้าหน้าที่เข้ามาจับกุมและทำร้ายได้ เจ้าหน้าที่จึงตั้งแคมป์ปิดล้อมทางเข้าออกไว้เป็นเวลาหนึ่งเดือนกว่า ในช่วงที่ถูกปิดล้อมอยู่ในพื้นที่ที่พวกเราเข้ายึดมาได้รวมจำนวนประมาณ 98 ไร่ จึงได้ประกาศจัดตั้งเป็นชุมชนบ่อแก้วขึ้นมาเพื่อแสดงสัญลักษณ์ในความเป็นเจ้าของ และได้มีการได้ร่วมกันพลิกฟื้นผืนดินให้คืนสู่ความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง โดยได้เอาต้นไผ่เลี้ยง 3 ฤดู และกล้วย เข้ามาปลูกแทนที่ต้นยูคาฯ ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้ถอนกำลังออกไปหลังจากที่ยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดภูเขียว จำนวน 31 คน ข้อหาบุกรุกป่าสงวนแงชาติภูซำผักหนาม โดยมีนายนิด ต่อทุน เป็นจำเลยที่ 1 ซึ่งในปัจจุบันคดีอยู่ในระหว่างการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา
นิด กล่าวอีกว่า เส้นทางการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นธรรมของสมาชิกชุมชนบ่อแก้ว ไม่เคยหยุดนิ่งในการต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินทำกินที่สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตของชุมชนมาตลอดจนถึงครบรอบ 9 ปี ด้วยทำการผลิตในรูปแบบการเกษตรอินทรีย์ ทั้งในที่ดินส่วนบุคคล และที่ดินที่เป็นสิทธิของชุมชนที่สมาชิกได้ทำแปลงรวมร่วมกัน โดยปลูกผักพื้นบ้าน และไม้ยืนต้น เป็นการช่วยกันรักษาและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งต่างกับพืชเศรษฐกิจ เช่น ต้นยูคาฯ ที่ อ.อ.ป.นำเข้ามาปลูกเป็นอย่างมาก และปัจจุบันชุมชนบ่อแก้วได้ก้าวไปสู่การพัฒนาที่อยู่อาศัย ควบคู่ไปกับทำการผลิตปลูกพืชผักสวนครัว เพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหาร และเพื่อนำมาเป็นรายได้หล่อเลี้ยงชีพในครอบครัว
กระบวนการต่อสู้เพื่อที่ดินของชุมชนบ่อแก้ว
ทั้งนี้ ชุมชนบ่อแก้ว ได้รับผลกระทบและสูญเสียที่ดินทำกินมานับแต่ปี 2521 หลังจากที่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ได้รับสัมปทานปลูกสร้างสวนป่า ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม จำนวนทั้งสิ้น 4,401 ไร่ แต่การดำเนินการกลับเข้ามายึดที่ของชาวบ้านไปปลูกยูคาลิปตัส ส่งผลให้หลายครอบครัวต้องถูกอพยพจากที่ดินทำกิน
ปี 2547 ผู้เดือดร้อนในเขตอำเภอคอนสาร ได้รวมตัวกันในนาม“เครือข่ายองค์กรชาวบ้านอนุรักษ์ลุ่มน้ำเซิน (คอซ.)”ทำการชุมนุมที่หน้าสำนักงานสวนป่าคอนสาร ในวันที่ 9 – 11 พ.ย.47 และต่อมาได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.)ในปี 2549
ในช่วงปี พ.ศ. 2548 – 2552 ร่วมผลักดันให้เกิดกลไกการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยมีหน่วยงานรัฐร่วมกับฝ่ายประชาชน และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.)รวมทั้งหน่วยงานระดับท้องถิ่น ร่วมกันลงตรวจสอบพื้นที่ และเมื่อวันที่ 29 ธ.ค.51 มีการประชุมประชาคมตำบลทุ่งพระ มีมติให้ยกเลิกสวนป่าคอนสาร และให้ดำเนินการจัดสรรที่ดินให้กับผู้เดือดร้อน ในระหว่างการแก้ไขปัญหาจนกว่าจะได้ข้อยุติ ให้ผู้เดือดร้อนสามารถเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ได้ จำนวนเนื้อที่1,500 ไร่
แต่ในทางปฎิบัติ อ.อ.ป.ไม่ดำเนินการส่งมอบที่ดินทำกินให้ ในวันที่ 17 ก.ค.52 ผู้เดือดร้อนจึงได้เข้ายึดพื้นที่ทำกินเดิมมาได้ประมาณ 90 ไร่ และจัดตั้ง “ชุมชนบ่อแก้ว” ต่อมาในวันที่ 27 ส.ค.2552 อ.อ.ป.เป็นโจทก์ยื่นฟ้องดำเนินคดีรวม 31 ราย ในข้อกล่าวหาบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติป่าภูซำผักหนาม ปัจจุบันสถานภาพคดีอยู่ระหว่างการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา
26 ส.ค.57 เจ้าหน้าที่ป่าไม้และทหาร เข้ามาปิดประกาศ คำสั่ง คสช.ที่ 64/57 ให้รื้อถอน อพยพออกจากพื้นที่ ตามนโยบาย ทวงคืนผืนป่า ชาวบ้านจึงได้ยื่นหนังสือเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งร่วมประชุมหารือเพื่อแก้ไขปัญหาในนามขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมกับหน่วยงานรัฐ เพื่อให้หัวหน้า คณะ คสช.พิจารณาสั่งการเพื่อยกเลิกหนังสือคำสั่งบังคับให้ออกจากพื้นที่ และเพื่อให้พิจารณารับรองแผนการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนโดยชุมชน ในพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชน บนเนื้อที่ 1,500 ไร่ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชนในปี 2553 นำที่ดินมาบริหารจัดการเพื่อการมีส่วนร่วมของชุมชน ที่สมาชิกมีมติกฎ ระเบียบ กติกา ร่วมกันปฏิบัติ เช่น ไม่นำที่ดินไปทำธุรกิจอุตสาหกรรมและที่ดินสมารถตกทอดกันได้เฉพาะบุคคลในครอบครัวหรือสมาชิก ชุมชนมีการฟื้นฟู ดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และมีการผลลิตในรูปรูปแบบเกษตรอินทรีย์ เพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร
วันที่ 2 – 12 พ.ค.61 ชาวบ้านชุมชนบ่อแก้วเข้าร่วมชุมนุมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) เพื่อติดตามแนวทางแก้ไขปัญหา กระทั่งวันที่ 12 พ.ค.61 พีมูฟ ได้แถลงการณ์ยุติการชุมนุม ภายหลังจากที่นายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี(พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) มอบหมายให้ พล.อ.นัฐพล นาคพานิชย์ เสนาธิการทหารบก ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อนและการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินคณะที่ 5 (กขป. 5) ทำการบันทึกข้อตกลงลงนามการแก้ไขปัญหาร่วมกับผู้ชุมนุมพีมูฟ เช่น ข้อตกลงได้มุ่งเน้นการคุ้มครองพื้นที่ชุมชนที่ได้ดำเนินการยื่นขอโฉนดชุมชนตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ปี 2553 โดยไม่มีการดำเนินการใดๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อราษฎรและชุมชน จนกว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการส่งมอบพื้นที่โฉนดชุมชน และการชะลอการดำเนินคดีกับผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า รวมทั้งได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาของ พีมูฟ ภายใต้คณะกรรมการ กขป.5
ข่าว
สิทธิมนุษยชน
คุณภาพชีวิต
สิ่งแวดล้อม
เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน
ชุมชน
ชุมชนบ่อแก้ว
สิทธิที่ดินทำกิน[full-post]
แสดงความคิดเห็น