Posted: 24 Jul 2018 09:32 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Tue, 2018-07-24 23:32
พสิษฐ์ ไชยวัฒน์ สัมภาษณ์
เป็นประจำทุกปีที่ ดร.ก้องภพ อยู่เย็น วิศวกรประจำองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (The National Aeronautics and Space Administration: NASA) ประเทศสหรัฐอเมริกา จะกลับมาเยี่ยมบ้านที่ประเทศไทย และทุกครั้งก็จะเต็มไปด้วยตารางนัดหมายที่มาจากทั่วทุกสารทิศ ทั้งการรับเชิญไปออกรายการโทรทัศน์ เข้าร่วมสัมมนาหรือประชุมวิชาการ รวมทั้งมีนัดสัมภาษณ์จากสื่อทั้งในแบบออนไลน์และออฟไลน์
และปีนี้พิเศษกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจาก ดร.ก้องภพ กลับมาคราวนี้ก็เพื่อเตรียมข้อมูลและความพร้อมในการกลับมาทำวิจัยที่บ้านเกิดในอนาคตอันใกล้นี้ ดังนั้นจึงเป็นโอกาสอันดีสำหรับประเทศไทยที่จะได้ทรัพยากรบุคคลที่เคยทำงานในองค์กรระดับโลกกลับมาร่วมพัฒนาชาติไทยเพิ่มอีกหนึ่งคน บทสัมภาษณ์นี้จึงเริ่มต้นในแบบเป็นกันเอง สบายๆ และไม่เคร่งเครียดมากนัก แต่มีเนื้อหาที่น่าสนใจ อีกทั้งบางเรื่องก็เป็นโครงการริเริ่มใหม่หรือจะนำมาต่อยอดในประเทศไทย หากมีโอกาสเราจะนำมาเผยแพร่ให้ทราบอีกครั้งหนึ่ง
1. อยากให้เล่าถึงชีวิตประจำวันในการทำงานที่นาซ่า
ที่นาซ่า ผมมีหน้าที่รับผิดชอบเป็นวิศวกรไฟฟ้า ทำวิจัยเกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านไมโครเวฟเพื่อใช้ในการตรวจจับสัญญาณและพลังงานจากนอกโลก ซึ่งในแต่ละวันจะมีหน้าที่หลักคือ การพัฒนาเทคโนโลยี โดยจะออกแบบทำโมเดลคอมพิวเตอร์ของวงจรไฟฟ้าที่ใช้สารตัวนำยิ่งยวด
การทำงานทั่วไปในนาซ่า เราจะมีกลุ่มงานวิจัยที่แบ่งออกเป็นหลายสาขาด้วยกัน มีงานวิจัยเกี่ยวข้องกับการสำรวจโลก , สำรวจดวงอาทิตย์ , สำรวจดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ และสำรวจนอกระบบสุริยะซึ่งก็คือกาแล็กซีต่างๆ ผมจะเน้นงานวิจัยที่อยู่นอกระบบสุริยะเป็นหลัก นาซ่าจะมีทีมงานที่ทำโครงงานพัฒนาเทคโนโลยีหลายส่วนด้วยกัน ซึ่งโครงงานที่ผมทำส่วนใหญ่จะประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์และวิศวกร ประมาณ 6 คนต่อ 1 ทีม และมีช่างเทคนิคที่จ้างเป็นชั่วคราวจำนวนหลายคน โดยจะทำตั้งแต่การเสนอหัวข้อวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีให้เป็นไปตามความต้องการของนาซ่า หรือทำให้บรรลุตามเป้าหมายที่นาซ่ากำหนดขึ้นมา งานวิจัยจะเริ่มตั้งแต่การออกแบบ สร้างอุปกรณ์ต้นแบบเพื่อใช้พิสูจน์ทฤษฎี และทดลองในห้องแล็บตามสภาพแวดล้อมจริงที่จะนำไปใช้งานในอวกาศ เสร็จแล้วจะเป็นชิ้นงานที่นำไปประยุกต์ใช้ ติดตั้ง และทดสอบในกล้องดูดาวบนภาคพื้นดินหรือในอวกาศต่อไป
2. ปัจจุบันที่นาซ่ามีงานวิจัยใหม่ที่สนใจบ้าง
งานวิจัยที่นาซ่ามีหลายอย่างด้วยกัน โครงการที่ผมทำนั้นจะเน้นศึกษาพลังงานที่เกิดจากการปะทุหรือระเบิดจากในจักรวาลตามทฤษฎีของ Big Bang ซึ่งจะจับภาพพลังงานเหล่านี้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรในเชิงเวลาและในเชิงขนาด รวมถึงการตรวจจับคลื่นพลังงานจากกาแล็กซี เพราะเราต้องการทราบองค์ประกอบของกาแล็กซีว่า ประกอบด้วยธาตุอะไรบ้าง เพื่อจัดลำดับทำฐานข้อมูลทั้งหมดของดวงดาวในกาแล็กซี และดูว่ากาแล็กซีนั้นมีโอกาสที่จะมีสิ่งมีชีวิตอยู่มากน้อยแค่ไหน นี่เป็นโครงงานในปัจจุบัน ส่วนโครงงานในอนาคต เราจะต่อยอดเทคโนโลยีเหล่านี้ให้ใช้งานในการวัดพลังงานในย่านความถี่ที่สูงขึ้นและมีประสิทธิภาพในการตรวจจับพลังงานได้ไวและรวดเร็วมากขึ้น
3. เทคโนโลยีเหล่านี้จะมา Disrupt ของเก่าได้อย่างไร
ที่นาซ่า เทคโนโลยีเหล่านี้จะมาใช้แทนของเก่า ปัจจุบันเราเน้นเรื่องการย่อส่วนอุปกรณ์ต่างๆ ให้มีขนาดเล็กลง สมัยก่อนอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ชิ้นหนึ่งจะมีขนาดใหญ่มาก และถ้าขนออกไปนอกโลกจะมีน้ำหนักมาก ดังนั้นเราจะย่อส่วนทุกอย่างให้เป็น Chip ขนาดเล็กโดยทำให้อุปกรณ์มีขนาดเล็กลง สามารถผลิตได้ง่ายขึ้นและเอาไปใช้งานได้หลากหลายโครงงาน ซึ่งจะ Disrupt ทั้งในเชิงขนาดและประสิทธิภาพในการตรวจจับพลังงาน หรืออาจเรียกว่านาโนเทคโนโลยีก็ได้ ขณะนี้จะใช้งานในนาซ่าไปก่อน เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่ค่อนข้างลงทุนสูงและไม่มีใครนำไปใช้ตรวจจับพลังงานที่น้อยขนาดนี้นอกจากองค์กรที่สำรวจอวกาศอย่างนาซ่า จึงเป็นเรื่องยากที่จะนำมาต่อยอดเชิงพาณิชย์
4. ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีมีกี่ประเภท อะไรบ้าง
เทคโนโลยีจะมี 2 ส่วน คือ
1. เทคโนโลยีส่วนพลเรือน
2. เทคโนโลยีส่วนความมั่งคงทางการทหาร ซึ่งพลเรือนจะเห็นการประยุกต์ใช้งานอย่างแท้จริงก็ต่อเมื่อเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติขนาดใหญ่ หรือเมื่อต้องการแสดงแสนยานุภาพทางการทหาร เช่น การใช้ระเบิดปรมาณูในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้น
ซึ่ง 2 ส่วนนี้จะแยกออกจากกัน เราจะพูดถึงเรื่องเทคโนโลยีของพลเรือน เพราะว่าเป็นเทคโนโลยีที่มีประโยชน์สำหรับคนจำนวนมากและสามารถใช้งานในปัจจุบัน ประชาชนสามารถเห็นและจับต้องได้
การพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลเรือนจะ Disrupt เทคโนโลยี เราจะเน้นทำสิ่งหนึ่งที่ยังไม่มี ให้มีขึ้นมา สิ่งที่เมื่อก่อนเคยทำได้ยากก็จะกลายเป็นของง่าย ตัวอย่างในอดีตเช่น การสร้างเครื่องบิน จะร่นระยะทางจากการเดินหรือการใช้รถยนต์ จะลดเวลาในการเดินทาง นี่ก็เป็นการ Disrupt เทคโนโลยีอย่างหนึ่ง หรือการส่งของจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง ต้องใช้เวลานาน เดี๋ยวนี้สามารถสั่งซื้อออนไลน์และมาส่งถึงบ้าน เทียบกับเมื่อก่อนที่ต้องไปรับที่ไปรษณีย์ ดังนั้นการ Disrupt เทคโนโลยี คือ การทำสิ่งที่เมื่อก่อนทำได้ยาก มาทำให้ง่าย และการเข้าถึงข้อมูลอินเทอร์เน็ตก็เป็นการ Disrupt เทคโนโลยีอีกเช่นกัน เพราะทำให้คนเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว
ในอนาคตจะเป็นเรื่องของ AI (เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์) และหุ่นยนต์ จะใช้คอมพิวเตอร์ในการคิด วิเคราะห์ ตัดสินใจแก้ปัญหาเพื่อทดแทนแรงงานมนุษย์ รวมถึงเรื่องการใช้อุปกรณ์สื่อสารแบบไร้สาย หรือที่เรียกว่า Internet of Things ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับมนุษย์ในการทำงานหลายอย่าง หรือเรื่องการซื้อขายต่างๆ ในโลก Virtual (โลกเสมือนจริง) เช่น Bitcoin, Blockchain, Cryptocurrency ซึ่งจะเป็นมาตรฐานการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการในยุคต่อไป รวมถึงเรื่องของ Virtual Reality การสร้างสภาพแวดล้อมเสมือนจริงเพื่อมิติในการรับรู้หรือเรียนรู้
5. ปัญหาหรืออุปสรรคต่อการพัฒนาเทคโนโลยีในประเทศไทยมีอะไรบ้าง
ปัญหาและอุปสรรคของการทำงานด้านนี้คือ เทคโนโลยีในประเทศไทยยังตามหลังต่างประเทศอยู่มาก แต่ถ้าจะแข่งขันกับต่างประเทศนั้นเราต้องมีความคิดที่สร้างสรรค์และต้องอาศัยแรงงานที่มีคุณภาพสูงในการทำวิจัยด้วย ซึ่งตรงนี้เป็นการตามที่ยากพอสมควร แต่ก็มีวิธีที่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ นั่นคือ เราต้องเปลี่ยนวิธีคิด วิธีการทำงาน วิธีแก้ปัญหาเสียใหม่ ต้องเปลี่ยนทางไปอีกกระแสหนึ่งให้ได้ เช่น เศรษฐกิจสมัยนี้เน้นการบริโภคสิ่งของต่างๆ เราก็เปลี่ยนจาก Consumer (ผู้บริโภค) มาเป็น Prosumer (ผู้ซื้อกึ่งผู้ขาย) คือ นอกจากบริโภคแล้วยังสามารถที่จะคิดหรือสร้างอะไรเป็นของตัวเองได้ ผลิตสินค้าที่มีคุณสมบัติไม่เหมือนใคร หรือสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ยังไม่มีใครเคยทำมาก่อน
6. ขอให้ยกตัวอย่างจากงานวิจัยที่กำลังทำอยู่
ยกตัวอย่างเช่น เรารู้จัก Wi-Fi คือ การส่งข้อมูลไร้สาย ต่อไปอาจจะมี Wi-Power ซึ่งนอกจากส่งข้อมูลแล้วยังส่งพลังานไร้สายได้ด้วย เช่น เมื่อก่อนโทรศัพท์ต้องชาร์จไฟโดยการเสียบปลั๊ก ต่อไปก็ไม่ต้องเสียบปลั๊ก โดยจะมีการชาร์จไฟทางอากาศแทน พัดลม , ทีวี ก็ไม่ต้องเสียบปลั๊กเช่นกัน เหล่านี้คือลักษณะของอุปกรณ์ไร้สายที่จะมาคู่กับการส่งข้อมูลไร้สายในอนาคต
อีกตัวอย่างเช่น ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม เราอาจจะคิดนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่ทุ่นแรงเกษตรกรหรือทำให้ผลผลิตทางการเกษตรมีปริมาณสูงขึ้น โดยไม่ต้องใช้สารเคมีมากนัก แต่จะใช้พลังงานสนามแม่เหล็กไฟฟ้าแทน หรือกรณียารักษาโรค แทนที่เราจะมุ่งเน้นไปรักษาที่ปลายเหตุหรือไปวิเคราะห์ที่เชื้อโรค ให้เปลี่ยนมุมมองใหม่มาเป็นการผลิตนวัตกรรมเพิ่มภูมิต้านทานเพื่อไปจัดการกับเชื้อโรคแทน นี่คือการมองต่างมุมในการแก้ปัญหา หรือปัญหารถติด ถ้าเราสร้างระบบยกลอยที่ทำให้รถสามารถซ้อนกันได้หลายๆ ชั้นเหมือนในหนังสตาร์วอร์ ก็จะแก้ปัญหารถติดได้ นี่เป็นการ Disrupt เทคโนโลยีอย่างหนึ่ง แต่ว่าจะทำได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น จินตนาการ , วิธีคิด , วิธีการสังเกตธรรมชาติ , วิธีการแก้ปัญหาของแต่ละคนเพื่อผลักดันให้สิ่งเหล่านี้เป็นจริงขึ้นมา
7. รูปแบบหรือลักษณะงานในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
เศรษฐกิจในอนาคต เราอาจจะเห็นการสร้างนวัตกรรมเพื่อนำไปสร้างงานอีกต่อหนึ่งมากกว่าในปัจจุบัน จะมีการสร้างธุรกิจใหม่ สร้างอุตสาหกรรมใหม่ ดังนั้นจะมีแรงงานเกิดใหม่ขึ้นมาแทนที่ของเก่า โดยเป็นการเคลื่อนย้ายแรงงานจากภาคอุตสาหกรรมเดิมไปสู่ภาคอุตสาหกรรมใหม่ และวิธีการทำงาน การบริหารงาน หรืองานทั่วไปก็จะเปลี่ยนไปด้วย จากเดิมเป็นแรงงานคนที่ทำงานในรูปแบบซ้ำๆ ต่อไปจะเป็นการบริการจัดการโดยหุ่นยนต์อัตโนมัติหรือบริหารจัดการเซิร์ฟเวอร์คอมพิวเตอร์แทน ทำให้งานที่มนุษย์ต้องทำซ้ำๆ จะลดลง แต่งานใหม่จะเป็นงานที่ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ , การแก้ปัญหา , การซ่อมเครื่องจักร , การพัฒนาเครื่องจักรให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น รวมถึงการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ด้วย
8. ในอนาคต นักเรียน นักศึกษา หรือคนทั่วไปควรเลือกประกอบอาชีพประเภทใดจึงจะอยู่รอดได้
อาชีพไหนก็ได้ ถ้าคนที่เรียนมีความคิดสร้างสรรค์ อาชีพไหนก็ได้ที่ใจเรารักและมีความต้องการพัฒนาสาขาอาชีพเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม นอกจากนั้นแล้วควรมีความรู้อย่างกว้างขวาง ศึกษาหาความรู้จากหลายด้านแล้วนำมาประยุกต์รวมกับความเชี่ยวชาญหลัก ก็จะเกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่ที่มีการบูรณาการมากขึ้น เกิดอุตสาหกรรมใหม่ เศรษฐกิจใหม่ และอยู่รอดได้ด้วยการเป็นผู้ให้ในสิ่งที่ตนเองรักหรือถนัดต่อสังคม
9. ในสมัยเด็ก อะไรเป็นแรงบันดาลใจให้หันมาสนใจเรียนด้านวิทยาศาสตร์
แรงบันดาลใจที่ทำให้สนใจเรียนและทำงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพราะว่า ต้องการจะพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับสังคมโลก และพัฒนาระดับสติปัญญาในเวลาเดียวกัน ซึ่งหากเรามีความรู้ มีทักษะในกระบวนการคิดที่สร้างสรรค์และตอบโจทย์ความต้องการของสังคมบนโลกได้ ก็จะทำให้ชีวิตเรามีคุณค่าที่ได้เกิดมา เป็นความสุขแบบหนึ่งที่ได้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
10. ตามที่ ดร.ก้องภพ จบการศึกษาปริญญาตรีที่ประเทศไทย และปริญญาโท-เอกที่สหรัฐอเมริกา อยากให้เปรียบเทียบความแตกต่างใน
การเรียนการสอนในระดับมหาวิทยาลัยว่า แตกต่างกันอย่างไร ทำไมสหรัฐอเมริกาถึงมีความเจริญก้าวหน้าในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสูงมาก
ประเทศสหรัฐอเมริกาให้โอกาสคนในการคิดและพัฒนาสิ่งใหม่ๆ มีทุนให้วิจัยแบบหวังผลเฉพาะด้านและทุนให้เปล่า กล้าที่จะลงทุนกับทรัพยากรบุคคลด้านการศึกษา กล้าที่จะให้คนเหล่านั้นทดลองทำงานบางอย่างที่จะมีประโยชน์ต่อค์กร มีการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการศึกษาและการเรียนรู้ ให้นักศึกษาเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างกว้างขวาง เรื่องกฎหมายและระเบียบหลักเกณฑ์ก็มีส่วนสำคัญด้วย มีการสร้างระบบให้เกิดความยุติธรรมในการแข่งขันและลดการเอารัดเอาเปรียบ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการหรือผู้ที่มีความคิดจะสร้างผลงานหรือสิ่งประดิษฐ์ให้กับสังคมหรือโลกมีความกล้าที่จะทำ อีกทั้งมีผู้ที่พร้อมให้การสนับสนุนปัจจัยในหลายด้านด้วย
11. ประเทศไทยสามารถมีนวัตกรรมเป็นของตนเองได้หรือไม่
ประเทศไทยสามารถมีนวัตกรรมเป็นของตนเองได้หลายแบบด้วยกัน ทั้งจากต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ สำหรับต้นน้ำนั้นควรเน้นการผลิตนวัตกรรมที่มี Deep Technology ที่ยังไม่มีในท้องตลาดปัจจุบันและต้องมีประโยชน์สูง ถ้าหากประสบความสำเร็จในการวิจัย ก็สามารถสร้างสายการผลิตในประเทศแล้วผลิตส่งขายต่างประเทศทั่วโลก
12. ปัญหาและอุปสรรคในการวิจัยหรือการทำ Startup ในประเทศไทยคืออะไร
อุปสรรคที่สำคัญ คือ ทักษะฝีมือแรงงานของคนไทยและความรู้ความเข้าใจเทคโนโลยีในเชิงลึก แต่เราสามารถเรียนรู้และทำไปพร้อมกันได้ นอกจากนั้นยังมีเรื่องกฎหมาย มาตรฐานการผลิต และกำแพงภาษี เป็นต้น สิ่งเหล่านี้บอกได้ยากว่า จะประสบความสำเร็จได้มากน้อยเพียงใด แต่คาดว่าในอนาคตจะเกิดอุตสาหกรรมแบบใหม่ในประเทศไทยที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ทั้งนี้ก็ต้องอาศัยการส่งเสริมสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชนในการสร้าง Startup ที่มีคุณภาพที่สามารถแข่งขันและสร้างงานด้านเทคโนโลยีให้กับประเทศต่อไป
13. ในมุมมองของ ดร.ก้องภพ อะไรเป็นเหตุผลที่ประเทศไทยจึงเหมาะสำหรับการทำงานด้านนวัตกรรม
แม้ว่าประเทศพัฒนาแล้วจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกรวมถึงบุคลากรที่มีความพร้อมสูงกว่าประเทศไทยก็ตาม แต่ประเทศไทยมีอิสระในการทำงานและการคิดนอกกรอบสูงกว่าประเทศพัฒนาแล้ว อีกทั้งมีต้นทุนในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ไม่สูงมากนัก รวมถึงมีแหล่งวัตถุดิบที่หลากหลาย มีทำเลที่ตั้งใกล้กับประเทศจีน และสามารถส่งงานบางส่วนไปผลิตที่ประเทศจีนได้ เราสามารถพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อช่วยเหลือคนได้ทุกกลุ่มตั้งแต่ระดับเกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา รวมถึงคนที่มีฐานะ เป็นข้าราชการ หรือนักธุรกิจ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่สามารถรองรับคนจำนวนมากได้ หากต้องเทียบกับการทำงานที่นาซ่าแล้ว จะเป็นการทำงานเพื่อรองรับด้านวิทยาศาสตร์เฉพาะทางเป็นหลัก ส่วนการผลิตนวัตกรรมที่นาซ่านั้นจะเป็นการผลิตเป็นจำนวนน้อย ใช้งานเฉพาะด้านและในระยะเวลาจำกัดเท่านั้น
14. ทำอย่างไรให้คนไทยมีกระบวนการคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น
ต้องทำทุกอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรม พิสูจน์ได้ วัดได้ จับต้องได้ เป็นเหตุ เป็นผล และที่สำคัญ ให้เห็นประโยชน์จากการทำงานวิทยาศาสตร์ นั่นคือ วิจัยและพัฒนาแล้ว ต้องนำไปประยุกต์ใช้งานได้จริง
การผลิตนวัตกรรมให้กับประเทศไทยให้ประสบความสำเร็จนั้น ควรพิจารณาปัญหาของประเทศเป็นโจทย์หลักแล้วนำปัญหานั้นมาสร้างนวัตกรรม ดูว่ามีอะไรบ้างที่คนส่วนใหญ่ต้องการให้แก้ไข ซึ่งผลวิจัยที่ทำออกมาจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้จริง เป็นประโยชน์ได้จริง
แต่การทดลองทำอะไรใหม่ๆ ต้องมีการลองผิดลองถูกเสมอ และความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจะเป็นบทเรียนที่ทำให้เราทำงานได้ถูกต้องและมีโอกาสประสบความสำเร็จในอนาคต ดังนั้นการใช้ทฤษฎีที่มีสมมติฐานที่แตกต่างจากตำราเรียนจึงไม่ใช่ปัญหา เพราะเราจะเน้นการแก้ปัญหาของสังคม โดยไม่ยึดติดว่าจะใช้ทฤษฎีอะไร นั่นคือต้องเน้นผลลัพธ์มากกว่าวิธีการ
15. อยากให้ฝากถึงเยาวชนไทยหรือประชาชนทั่วไปที่มีความสนใจด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และเทคโนโลยี
เยาวชนไทยมีศักยภาพไม่แพ้เยาวชนในต่างประเทศ เพราะปัจจุบันทุกคนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต เข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้เท่าเทียมกันทั่วโลก เพียงแต่ว่า ใครสามารถแยกแยะได้ว่า อะไรจริง อะไรไม่จริง อะไรที่สามารถทำได้ และคนไหนมีความกล้าที่จะฉีกออกจากกรอบทฤษฎีปกติโดยเน้นการบรรลุเป้าหมาย คนนั้นก็จะประสบความสำเร็จได้อย่างแท้จริงในสังคมที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน
เราต้องวิเคราะห์ว่า อะไรคือศักยภาพของตัวเองและสามารถนำศักยภาพเหล่านั้นไปทำประโยชน์ให้กับสังคมได้มากน้อยแค่ไหน หากขาดตกบกพร่องด้านใดก็ควรศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องนั้น อีกส่วนหนึ่งเราจะมีแนวทางการพัฒนาศักยภาพตัวเองอย่างไรให้สูงขึ้น โดยไม่ให้กรอบความคิดบางอย่างมาปิดกั้นหรือเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา
16. เป้าหมายในอนาคตที่อยากจะทำคืออะไร นอกเหนือจากการทำวิจัย
ในเบื้องต้น ผมอยากถ่ายทอดประสบการณ์จากการทำงานในต่างประเทศ จากองค์กรระดับโลกอย่างนาซ่าที่มีบุคลากรชั้นนำทั้งนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรที่มีศักยภาพสูง ผมอยากสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถสร้างนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่ขึ้นมาใช้เองภายในประเทศ โดยคาดการณ์อนาคตว่า สิ่งที่โลกควรจะมีในอีก 10-20 ปีข้างหน้าคืออะไร ผมอยากสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ศึกษาวิธีแก้ปัญหาด้วยการคิดนอกกรอบจากสมมติฐานเดิมที่อยู่ในตำราเรียนปัจจุบัน และสนับสนุนคนเหล่านั้นให้มีความพร้อมในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ให้เกิดขึ้น
[full-post]
แสดงความคิดเห็น