Posted: 26 Jul 2018 07:43 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

Submitted on Thu, 2018-07-26 21:43


อัจฉริยา บุญไชย และทัศมา ประทุมวัน รายงาน


ภาพจากนิทรรศการ "ของ(คณะ)ราษฎร" ที่เพิ่งเสร็จสิ้นการจัดแสดงไป โดยเป็นการรวบรวมวัตถุ สิ่งของหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 จนถึงจุดสิ้นสุดในปี 2490 ตั้งแต่สิ่งที่ผลิตโดยภาครัฐ ภาคเอกชน ถึงผู้คนธรรมดา จากใบประกาศนียบัตร ตาลปัตร ถึงหน้าบันศาลาการเปรียญ ที่สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อร่วมฉลองการเปลี่ยนแปลงการปกครองในครั้งนั้น

ชมภาพจากนิทรรศการ "ของ(คณะ)ราษฎร" นิทรรศการที่รวบรวมวัตถุสิ่งของเกี่ยวข้องกับคณะราษฎร ตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2479 – 2490 ซึ่งในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 มีการทำรัฐประหารของจอมพลผิน ชุณหะวัณ โค่นรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ซึ่งในทางประวัติศาสตร์คือช่วงหมดยุคของคณะราษฎร

โดยภัณฑารักษ์ที่ดูแลนิทรรศการ นิทรรศการดังกล่าวผลงานรวบรวมของ 2 ภัณฑารักษ์ ชาตรี ประกิตนนทการ และกิตติมา จารีประสิทธิ์ ที่คาร์เทล อาร์ตสเปซ ระหว่าง 24 มิถุนายน ถึง 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา

นิทรรศการ "ของ(คณะ)ราษฎร" เริ่มต้นจากข้อถกเถียงที่ว่าการปฏิวัติ 2475 โดยคณะราษฎรเป็นการแย่งชิงอำนาจที่เกิดขึ้นเฉพาะคนกลุ่มเล็กๆ โดยกลุ่มทหารหรือนักเรียนนอกจากฝรั่งเศสเล็กน้อย มักจะพูดว่าพานรัฐธรรมนูญเป็นสัญลักษณ์ที่ไม่มีใครรู้จักและคณะราษฎรพยายามจะทำให้กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เอาไว้ให้ประชาชนกราบไหว้ ทำให้เหมือนกับว่าคณะราษฎรเป็นเพียงแค่กลุ่มคนที่แย่งชิงอำนาจ แล้วพยายามที่จะสถาปนาความศักดิ์สิทธิ์ไม่ต่างจากที่เคยมีมา นิทรรศการนี้จึงเป็นการใช้หลักฐานวัตถุสิ่งของทางวัฒนธรรมที่ผลิตขึ้นไม่ใช่เฉพาะในกลุ่มคนที่เป็นรัฐบาล แต่ของหลายชิ้นผลิตขึ้นโดยคนธรรมดา ชาวบ้านรวมไปถึงพระสงฆ์ ที่ผลิตขึ้นเพื่อร่วมฉลองการเปลี่ยนแปลงการปกครองในครั้งนั้น


ข้อมูลนิทรรศการ

ชื่อนิทรรศการ "ของ(คณะ)ราษฎร"

คาร์เทล อาร์ตสเปซ 24 มิถุนายน ถึง 19 กรกฎาคม 2561

ภัณฑารักษ์และผู้เขียน

ชาตรี ประกิตนนทการ
กิตติมา จารีประสิทธิ์

ผู้เขียนร่วม

ณภัค เสรีรักษ์
กษมาพร แสงสุระธรรม




โดยนิทรรศการ "ของ(คณะ)ราษฎร" มีการจัดแสดงวัตถุทั้งหมดประมาณ 60 ชิ้น แบ่งออกเป็น 4 หมวด

หมวด A คือวัตถุสิ่งของในชีวิตประจำวันที่ผลิตขึ้นโดยรัฐ เช่น เข็มหมุดที่ระลึก เหรียญตราต่างๆ

หมวด B คือวัตถุสิ่งของในชีวิตประจำวันที่ผลิตขึ้นโดยเอกชน สร้างจากคนธรรมดา รวมถึง Mass Production ที่เอาไว้ขายที่มีตราสัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญ เป็นหมวดที่แสดงให้เห็นว่าความตื่นตัวหรือการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นไปไกลมาก

หมวด C วัตถุสิ่งของที่สร้างในศาสนสถาน เช่นหน้าบัน ตาลปัตร จะเห็นได้ว่าพระสงฆ์ในสมัยนั้นก็ร่วมเฉลิมฉลองการเปลี่ยนแปลงนี้ด้วย

และหมวด D หน้าปกสิ่งพิมพ์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองส่งผลกระทบต่อสิ่งพิมพ์เหล่านี้ในฐานะเครื่องมือที่สำคัญอย่างหนึ่งในการเผยแพร่อุดมการณ์ประชาธิปไตยในยุคดังกล่าว

โดยต่อไปนี้ส่วนหนึ่งของผลงานจัดแสดงในนิทรรศการที่คาร์เทล อาร์ตสเปซ ระหว่าง 24 มิถุนายน ถึง 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา


หมวด A


A.1 ฐานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่ไม่ได้สร้าง (จำลอง), พ.ศ. 2561

วัสดุ : ปูนปลาสเตอร์ ขนาด 20 x 80 x 2.5 ซม.

สมบัติของ : ผลงานจริงจัดแสดงอยู่ที่ หอประติมากรรมต้นแบบ กรมศิลปากร กรุงเทพฯ

ปั้นจำลองโดย : ธนกร ตีระเมธี

แสดงเรื่องราวการดำเนินงานและประวัติของคณะราษฎรในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ตลอดจนภาพประชาชนหลากหลายอาชีพในฐานะพลเมืองของรัฐชาติสมัยใหม่ภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญ เป็นรูปแบบศิลปะเหมือนจริง อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของงานศิลปะในสมัยคณะราษฎร รูปบุคคลล้วนเต็มไปด้วยกล้ามเนื้อที่แสดงออกถึงความแข็งแรงของของร่างกาย




A.4 ประติมากรรมนูนต่ำ เจ้าแม่โมฬี โรงภาพยนตร์ทหานบก(จำลอง), พ.ศ. 2561

วัสดุ : พลาสติกและไฟเบอร์เสริมเรซิน ขนาด 59 x 84 x 8 ซม.

สมบัติของ : ผลงานจริงติดตั้งอยู่ในโรงภาพยนตร์ทหานบก จ.ลพบุรี

สร้างจำลองโดย : บริษัท AT 3D Printing

ผลงานประติมากรรมชิ้นนี้สะท้อนให้เห็นถึงอุดมคติเกี่ยวกับร่างกายของคนไทยในสมัยสร้างชาติในยุคคณะราษฎร กล่าวคือ ร่างกายของผู้หญิงไม่นิยมผู้ที่มีร่างกายอ้อนแอ้น แต่ต้องเป็นหญิงที่แข็งแรงสุขภาพดี ผู้ชายก็เช่นกัน งานชิ้นนี้ทำหน้าที่ผลิตซ้ำภาพร่างกายในอุดมคติที่รัฐต้องการเป็นกลวิธีหนึ่งในการปลูกฝังนโยบายรัฐผ่านงานศิลปะ




A.5.1 เหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ขนาดย่อ, พ.ศ. 2476

วัสดุ : ทองแดง ขนาด 1.4 x 1.4 ซม.

สมบัติของ : ศรัญญู เทพสงเคราะห์

เหรียญด้านหน้าเป็นรูปรัฐธรรมนูญในวงล้อมพวงมาลัยชัยพฤกษ์ แผ่รัศมีกระจายโดยรอบ ด้านหลังเป็นรูปพระสยามเทวาธิราชทรงพระขรรค์ในท่าประหารปรปักษ์ มีอักษรด้านล่างว่า ปราบกบฏ พ.ศ. 2476 บริเวณห่วงมีข้อความว่า พิทักษ์รัฐธรรมนูญ แพรแถบสีธงชาติ ห้อยบนเข็มโลหะมีข้อความว่า สละชีพเพื่อชาติ เหรียญจัดทำขึ้นเพี่อมอบแก่บุคคลทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนที่ช่วยเหลือราชการในการปราบกบฏบวรเดช พ.ศ. 2476



A.6 ใบประกาศยกย่องคุณงามความดีเนื่องในเหตุการณ์ปราบกบฏ พ.ศ. 2476, พ.ศ. 2477

วัสดุ : กระดาษ | ขนาด : 18.5 x 24 ซม. | สมบัติของ : ประวิทย์ สังข์มี

โดยในใบประกาศเขียนข้อความว่า "ด้วย ...ขุนยุกตนันทน์โลหเวท... ได้ช่วยรัฐบาลเนื่องในการปราบกบฏ พ.ศ. 2476 ซึ่งเป็นการแสดงว่า เป็นผู้รักประเทศชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ จึ่งขอชมเชย และอวยพรให้เจริญด้วย อายุ วรรณ สุขะ พละ ทุกประการ" ลงลายมือชื่อ นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี




A.7.1 เหรียญสร้างชาติ, พ.ศ.2483

วัสดุ : ทองแดง | ขนาด 2 x 3.5 ซม.

สมบัติของ : ศรัญญู เทพสงเคราะห์

เหรียญห้อยคอ รูปอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ชื่อว่าเหรียญสร้างชาติ จัดทำขึ้นเพื่อเป็นเหรียญที่ระลึกใน “งานฉลองวันชาติ พ.ศ. 2483” ออกแบบเป็นรูปทรงเสมา ด้านหลังเขียนข้อความว่า “สร้างชาติ” มีจำนวนการผลิตมากถึง 2 ล้านเหรียญ ถูกแจกจ่ายเป็นครั้งแรกพร้อมกับการทำพิธีเปิดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยใน พ.ศ. 2483 เหรียญนี้ถูกแพร่กระจายออกไปสู่มวลชนในวงกว้างอย่างรวดเร็ว จนทำให้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยได้กลายมามีสถานะของการเป็น”ภาพจำ”และภาพ”อ้างอิง” ที่สำคัญมากที่สุดอย่างหนึ่งของสังคมไทยเมื่อมีการพูดถูกระบอบประชาธิปไตย




A.7.3 เข็มผู้แทนตำบล, พ.ศ.2476

วัสดุ : เงินลงยา | ขนาด 3 x 4 ซม.

สมบัติของ : ประวิทย์ สังข์มี

ในปี 2476 ได้มีการเลือกตั้งครั้งแรกเกิดขึ้นในสังคมไทย โดยเป็นการเลือกตั้งทางอ้อม กระบวนการคือ ประชาชนเลือกตั้งผู้แทนตำบล และสุดท้ายผู้แทนตำบลทำการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร เข็มกลัดนี้จะมอบให้ผู้แทนที่ได้รับเลือกตั้งในครั้งนั้น




A.7.7 เข็มกลัดรางวัลสวนครัว, พ.ศ. 2484-87

วัสดุ : เงินลงยา | ขนาด : เส้นผ่านศูนย์กลาง 2.5 ซม. | สมบัติของ : ศรัญญู เทพสงเคราะห์

เข็มกลัดเนื้อเงินลงยา ตรงกลางเป็นรูปไก่และพืชผักสวนครัวมีข้อความ “รางวัลสวนครัว พิบูลสงคราม” ในงานฉลองวันชาติ สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้จัดประกวดพืชผักสวนครัวและสัตว์เลี้ยง เพื่อส่งเสริมการเพาะปลูกและสนับสนุนเศรษฐกิจของชาติ


หมวด B


B.1 ประติมากรรมรูปพระยาพหลพลพยุหเสนา (จำลอง), พ.ศ. 2561

วัสดุ : ขี้ผึ้ง,สีอะคริลิค | ขนาด 34 x 10 x 7 ซม.

สมบัติของ : ผลงานจริงจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ศูนย์การทหารปืนใหญ่ จ.ลพบุรี

ปั้นจำลองโดย : วรายุทย์ หล่อนกลาง

ประติมากรรมรูปพระอิศวรปรางปราบอสุรีตรีบุรัมเทิดรัฐธรรมนูญสยามรัฐ ทำโดยช่างจีนชื่อนายซุ่นฮะ ตวลพรรณ์ ที่มีความศรัทธาต่อการปฎิวัติ 2475 ตัวเทวรูปเป็นหินทรายแกะสลักมีชื่อเรียกว่า “อิศวรปรางปราบอสุรตรีปูรำ เทิด รัฐธรรมนูญสยามรัฐ” ใบหน้าของเทวรูปใช้ใบหน้าของพระยาพหลพลพยุหเสนา รูปปั้นคนขนาดเล็กบนบ่าได้รับการอธิบายว่าเป็นสัญลักษณ์แทนประชาชนที่พระยาพหลพลพยุหเสนาได้นำพาสู่ระบอบการปกครองแบบใหม่ เป็นของที่ระลึกมอบให้พระยาพหลพลพยุหเสนา เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2476 สำหรับผลงานที่จัดแสดงในนิทรรศการเป็นเพียงผลงานจำลอง




B.2 โอ่งดินเผา ลายรัฐธรรมนูญ, พ.ศ. 2478

วัสดุ : ดินเผา | ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 70 ซม. สูง 180 ซม.

สมบัติของ : หอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

โอ่งมอญที่มีสัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญรัฐธรรมนูญ ปั้นขึ้น3ปีภายหลังการปฏิวัติ ตอนนี้เป็นสมบัติของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ของห้องสมุดปรีดี พนมยงค์

ขอบด้านบนของโอ่งปรากฏลวดลายพานรัฐธรรมนูญและสัญลักษณ์ของพระอาทิตย์อยู่ด้านบน พร้อมทั้งระบุ พ.ศ.2478 ไว้ด้านล่าง โอ่งนี้เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงการกระจายตัวของสัญลักษณ์ประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นแพร่หลายลงไปจนถึงระดับมวลชน




B.4 แผ่นเสียงวิทยุ ตรากระต่าย เพลงสดุดีรัฐธรรมนูญ , ไม่ทราบปีที่ผลิต

วัสดุ : แผ่นเสียง ขนาด : เส้นผ่านศูนย์กลาง 25 ซม.

สมบัติของ : ประวิทย์ สังข์มี




B.5 ขวดน้ำหวาน ลายพานรัฐธรรมนูญ ยี่ห้อ SMAI THAI CO (สมัยไทย), ไม่ทราบปีที่ผลิต

วัสดุ : แก้ว ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 6 ซม. สูง 22 ซม.

สมบัติของ : ประวิทย์ สังข์มี

ขวดแก้วยี่ห้อสมัยไทย เดิมเป็นขวดใส่น้ำหวานที่ขายในยุคสมัยนั้น ด้านล่างมีรูปพานรัฐธรรมนูญ เป็นmass production ที่ผลิตขึ้นโดยเอกชน เพื่อร่วมเฉลิมฉลองในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แสดงให้เห็นว่าสัญลักษณ์เหล่านี้แพร่หลายเป็นอย่างมากในตอนนั้น


หมวด C


C.1 หน้าบันศาลาการเปรียญ วัดตลิ่งชัน กรุงเทพฯ, พ.ศ. 2484

วัสดุ : ไม่และคอนกรีต | ขนาดกว้าง 5 ม. สูง 4 ม.

สมบัติของ : วัดตลิ่งชัน กรุงเทพฯ

หน้าบันศาลาการเปรียญของวัดตลิ่งชัน พื้นหลังเป็นหน้าบันเดิมที่สันนิษฐานว่ามาตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นราวสมัยรัชกาลที่ 3 หรือรัชกาลที่ 4 หลังจากการปฏิวัติเจ้าอาวาสได้ทำการสร้างลวดลายใหม่ทับลงไปเป็นรูปเทวดากำลังเทินพานรัฐธรรมนูญ โดยระบุปี พ.ศ. 2484 วัสดุทำมาจากคอนกรีตเสริมเหล็กที่เป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ในตอนนั้น รูปร่างของเทวดามีลักษณะกำยำซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของสกุลงานศิลปะยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง




C.2 พนักพิงธรรมาสน์ วัดเชิงท่า จ.ลพบุรี, พ.ศ.2480

วัสดุ : ไม้ | ขนาด 32 x 79 x 2.5 ซม.

สมบัติของ : พิพิธภัณฑ์วัดเชิงท่า จ.ลพบุรี

ผนักพิงที่ประกอบกับตัวธรรมาสน์ ระบุไว้ว่าสร้างเมื่อ พ.ศ. 2480 และซ่อมปิดทอง พ.ศ. 2482 ทำจากแผ่นไม้แกะสลักเป็นรูปทรงเสมา ภายในสลักรูปลายพานแว่นฟ้าเทินพานรัฐธรรมนูญมีประการเป็นแสงอาทิตย์ 7 แฉกอยู่เบื้องหลัง ซึ่งเป็นลักษณะทางศิลปะอื่นๆที่พบเห็นได้แพร่หลายในงานศิลปะยุคนี้ แสดงให้เห็นถึงยุคแห่งแสงสว่างภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญ งานชิ้นนี้น่าจะถูกสร้างโดยช่างชาวจีนหรือช่างญวนในยุคสมัยนั้น


C.4 หุ่นจำลองเมรุวัดไตรมิตร, พ.ศ.2559

วัสดุ : ไม้และปูนปลาสเตอร์ | ขนาด 28 x 55 x 60 ซม.

สมบัติของ : สถาบันศิลปสถาปัตยกรรมไทยเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยศิลปากร

เมรุจำลองที่วัดไตรมิตร ซึ่งปัจจุบันไม่มีอยู่แล้ว สร้างเสร็จเมื่อประมาณปี 2484 ออกแบบโดยพระพรหมพิจิตร สถาปนิกกรมศิลปากร ถือเป็นเมรุเผาศพแบบสมัยใหม่ของสามัญชนแห่งแรก โดยก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 หากคนธรรมดาเสียชีวิตต้องทำการเผาศพบนเชิงตะกอน ไม่สามารถเผาศพบนเมรุได้ แต่หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัฐบาลในยุคนั้นมอบหมายให้กรมศิลปากรทำการออกแบบเมรุสำหรับประชาชนคนธรรมดาขึ้นเป็นครั้งแรก ประกอบด้วยอาคาร 3 ส่วน คือโถงด้านหน้าที่ทำเป็นอาคารทรงเครื่องยอดมณฑป ส่วนอาคารเคาเผาสมัยใหม่ทางด้านหลัง และมุขหลังคาที่เชื่อมระหว่างอาคารทั้งสอง ซึ่งเป็นรูปแบบที่เห็นทั่วไปในปัจจุบัน


หมวด D

D.1.2 สุภาพสตรี ฉะบับ ทหานหยิง, พ.ศ. 2486

หน้าปกเป็นรูปทหารหญิงซึ่งก็คือคุญจีรวัฒน์ พิบูลสงคราม ในสมัยนั้นเริ่มมีทหารที่เป็นผู้หญิง คำนำหน้ายศทหารจะไม่มีคำว่านาย เช่น นายพลเอก จะกลายเป็นพลเอก ทั้งฟร้อนและตัวสะกดถูกบัญญัติขึ้นใหม่ในสมัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีการตัดตัวอักษรที่ไม่ต้องการใช้ออกเป็นจำนวนมาก


D.1.3 คู่มือสมรส, พ.ศ. 2486

วัสดุ : กระดาษ ขนาด : 16.5 x 24 ซม.

สมบัติของ : ศรัญญู เทพสงเคราะห์

หนังสือคู่มือสมรส หน้าปกเป็นรูปของจอมพล ป. พิบูลสงครามสวมชุดทหารคล้ายเครื่องแบบทหารเยอรมันกำลังยืนมองท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงครามกำลังอุ้มลูกสาวอยู่บนระเบียง ภายใต้บรรยากาศของอุดมการณ์ส่งเสริมการมีลูกมากในสมัยนั้น ได้มีการก่อตั้งกระทรวงสาธารณะสุขในปี พ.ศ. 2485เพื่อดำเนินการสร้างพลเมืองภายใต้วาทกรรมความรู้ทางการแพทย์และสาธารณสุขอย่างเป็นกระบวนการเช่นการสร้างจิตสำนึกให้หญิงสาวดูแลสุขภาพ เพื่อที่จะเป็นแม่พันธุ์ที่ดีก่อนสมรส มีเนื้อหาเน้นความสำคัญของการเพิ่มประชากร ซึ่งหมายถึงการสร้างความเข้มแข็งให้กับชาติบ้านเมืองผ่านการสร้างพลเมืองด้วย


D.1.5 สมุดที่ระลึกวันพิธีเปิดสมัยการศึกษาและประสาทปริญญา พุทธศักราช 2483, พ.ศ.2483


D.2.1. ภาพพิมพ์ ปกหนังสือเมืองไทย: หนังสือภาพฉะบับงานฉลองรัฐธรรมนูญ, พ.ศ. 2561

วัสดุ : ภาพพิมพ์ตะแกรงไหม | ขนาด 80 x 100 ซม.

ภาพต้นฉบับเป็นสมบัติของ : ประวิทย์ สังข์มี

ถ่ายภาพปกโดย : ธาดา เฮงทรัพย์กูล

พิมพ์โดย : ฐิรชญา แสนจิตต์

หนังสือภาพฉบับงานฉลองรัฐธรรมนูญ ในปี 2484 เดือนธันวาคม ที่มีรูปสถาปัตยกรรมที่ทันสมัยที่ส่งผลมาถึงปัจจุบัน มีลักษณะคล้ายปีกทั้ง4 ของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หน้าปกในช่วง 15 ปีหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองมักถูกออกแบบมาเพื่อมีลักษณะของ visual politics เพื่อนำเสนออุดมการณ์ของคณะราษฎรและใช้ฟอนต์ตัวเหลี่ยม
[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.