หนึ่งในผลิตภัณฑ์ยี่ห้อราวน์อัพ (ที่มา: flickr/David Mulder)

Posted: 16 Jul 2018 10:55 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

เมื่อเดือนที่แล้วมีการฟ้องร้องมอนซานโต บรรษัทเกษตรเคมีภัณฑ์ในสหรัฐฯ ด้วยข้อกล่าวหาว่าผลิตภัณฑ์กำจัดศัตรูพืชทำให้คนสวนชาวแคลิฟอร์เนียเป็นมะเร็ง นับเป็นครั้งแรกที่มอนซานโตถูกดำเนินคดีจากที่ก่อนหน้านี้มีคนฟ้องร้องกรณีเดียวกันนับพันคน

สื่อ CBS นำเสนอกรณี เดอเวย์น จอห์นสัน ชาวมลรัฐแคลิฟอร์เนียผู้มีอาชีพคนดูแลสนามฟ้องร้องต่อบรรษัทมอนซานโต ผู้ผลิตยากำจัดวัชพืชยี่ห้อ 'ราวน์อัพ' โดยกล่าวหาว่าสารไกลโฟเซตในราวน์อัพทำให้เขาเป็นมะเร็งจากการใช้ผลิตภัณฑ์นี้ในการทำงานเป็นเวลาสองปี

จอห์นสันที่ปัจจุบันอายุ 46 ปีได้รับการตรวจพบว่าเป็นมะเร็งตั้งแต่ปี 2557 เขาฟ้องร้องมอนซานโตว่าไม่มีการใส่คำเตือนเกี่ยวกับความเสี่ยงอันตรายในการใช้งานและสัมผัสสารไกลโฟเซตที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ มีคนอื่นๆ ฟ้องร้องมอนซานโตในแบบเดียวกันนี้หลายพันคน แต่ตามกฎหมายของแคลิฟอร์เนีย คดีของจอห์นสันจะได้รับการพิจารณาก่อนเพราะว่าจอห์นสันใกล้จะเสียชีวิตแล้ว

ริคดี คลีแมน นักวิเคราะห์ด้านกฎหมายกล่าวว่าคดีของจอห์นสันมีความสำคัญในฐานะที่ผลการตัดสินของคดีนี้จะกลายเป็นตัวอย่างชี้นำให้กับการพิจารณาคดีสำหรับผู้ฟ้องร้องรายอื่นๆ อีกหลายพันคน

คลีแมนกล่าวว่ามีการฟ้องร้องคดีนี้จำนวนมากในมลรัฐซานฟรานซิสโกและเซนต์หลุยส์ที่เป็นแหล่งที่ตั้งของมอนซานโต ถ้าหากโจทก์ในคดีที่แคลิฟอร์เนียได้รับชัยชนะ ก็จะส่งผลต่อเนื่องไปสู่โจกท์คนอื่นๆ และทำให้มอนซานโตต้องพิจารณาตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองใหม่ แต่ถ้าโจทก์ในคดีที่แคลิฟอร์เนียแพ้ก็จะทำให้มอนซานโตอยู่ในจุดที่ได้เปรียบ

จนถึงตอนนี้มอนซานโตยังคงปฏิเสธข้อกล่าวหาเรื่องที่สารเคมีในผลิตภัณฑ์ของพวกเขาทำให้เกิดมะเร็ง โดยแถลงว่า "พวกเรามีความเห็นใจต่อใครก็ตามที่ป่วยเป็นมะเร็ง แต่หลักฐานทางวิทยาศาสตร์แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าไกลโฟเซตไม่ได้เป็นสาเหตุในเรื่องนี้ พวกเราจะรอเสนอหลักฐานนี้ต่อศาล"

อย่างไรก็ตาม คลีแมนบอกว่าโจทก์ในคดีนี้สามารถนำเสนอหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่แสดงให้เห็นว่าราวน์อัพทำให้เกิดมะเร็งได้จริงและมอนซานโตรู้เรื่องนี้ดีแต่ไม่เตือนผู้คน ถือเป็นการกลบเกลื่อนหลักฐานจากสายตาประชาชน ถ้าหากจอห์นสันสามารถพิสูจน์ได้สำเร็จ เขาก็ต้องการเรียกร้องค่าเสียหายในเชิงลงโทษต่อมอนซานโตไม่ว่ามันจะเป็นไปได้มากแค่ไหน เพราะฝ่ายมอนซานโตสามารถอ้างผู้เชี่ยวชาญฝ่ายพวกเขาและอ้างงานวิจัยจำนวนมาก อย่างไรก็ตามมีงานวิจัยจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ในปี 2558 ที่ระบุว่าไกลโฟเซตในราวน์อัพอาจจะเป็นสารก่อมะเร็ง

มอนซานโตเป็นบรรษัทที่มีบริษัทแม่ในมลรัฐเซ็นต์หลุยส์ได้พัฒนาสารไกลโฟเซตในช่วงทศวรรษ 2510 ปัจจุบันยาฆ่าหญ้าราวน์อัพถูกจำหน่ายไปมากกว่า 160 ประเทศ ถูกใช้กับพืชผลมากกว่า 200 ชนิดโดยเกษตรกรในแคลิฟอร์เนีย นอกจากนั้นมันยังถูกใช้กับสนามหญ้าและสวนตามบ้านเรือนอีกด้วย

มอนซานโตไม่ได้ขายเพียงยาฆ่าหญ้า แต่ยังขายเมล็ดพันธุ์พืชที่ตัดต่อทางพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) ให้เป็นพืชที่ทนต่อสารไกลโฟเซตเพื่อไม่ให้ตายตามวัชพืชรอบๆ

เมื่อเวลาผ่านไป ยาฆ่าหญ้าตัวดังกล่าวเริ่มถูกจับตามองมากขึ้นเรื่อยๆ จากองค์กรวิจัยนานาชาติด้านมะเร็งที่เป็นส่วนหนึ่งขององค์การอนามัยโลก มีศูนย์ใหญ่อยู่ที่เมืองลีญง ประเทศฝรั่งเศส ในปี 2558 องค์กรดังกล่าวระบุว่าราวน์อัพมีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ก่อมะเร็ง จากนั้นก็ตามมาด้วยการฟ้องร้องจำนวนมากในศาลมลรัฐและศาลสูงของสหรัฐฯ จำนวนมาก โดยมลรัฐแคลิฟอร์เนียได้เพิ่มสารไกลโฟเซตเข้าไปอยู่ในรายการสารเคมีที่ก่อมะเร็ง

คริสติน เชพพาร์ด หนึ่งในผู้ฟ้องร้องมอนซานโตกล่าวว่าเธอใช้ราวน์อัพกำจัดวัชพืชในไร่กาแฟของเธอที่ฮาวายเป็นเวลาหลายปี จนในปี 2546 เธอถูกตรวจพบว่าเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองและจะมีชีวิตอยู่ต่อได้เพียงหกเดือนซึ่งเธอเชื่อว่าราวน์อัพคือสาเหตุของมะเร็งนี้ แม้ตามรายงานข่าวเมื่อเดือน มี.ค. 2561 เธอมีอาการดีขึ้น แต่ก็ยังมีอาการเจ็บปวดอย่างสาหัสที่มือและขาจากการรักษามะเร็งและระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอลง

เรียบเรียงจาก

Monsanto faces its first trial over allegations Roundup ingredient caused cancer, CBS News, Jun. 19, 2018

Monsanto's Roundup to face cancer claims in unusual court case, CBS News, Mar. 5, 2018
[right-side]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.