Posted: 11 Jul 2018 02:47 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
มุมมองอดีตรองผู้บังคับการจเรตำรวจ พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร ผู้ชี้ให้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทยมีปัญหามากมาย ตั้งแต่การบิดเบือนคำให้การจนถึงการประหารนอกกฎหมาย ชี้หากลงโทษประหารย่อมไม่มีวันแก้ไขคืนกลับได้เลยถ้าลงโทษผิดคน
แนวคิดต่อผู้กระทำผิดมีการเปลี่ยนแปลงจากที่มองเป็นคนชั่วร้ายต้องลงโทษมาสู่การแก้ไข เพราะมองเห็นคุณค่าในชีวิต
กระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทยมีปัญหา การสอบสวนไม่มีความเป็นวิทยาศาสตร์ที่แม่นยำ ทำให้เกิดการลงโทษผู้บริสุทธ์
ต้องทำการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญา
การประหารผู้ต้องขังครั้งล่าสุดหลังจากว่างเว้นไปเกือบ 10 ปี จุดกระแสการถกเถียงอันร้อนแรงในสังคมไทยว่า โทษประหารควรมีอยู่หรือไม่ มันนำไปสู่การโต้เถียงด่าทอกันระหว่างสองฟากความคิด
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยได้จัดงานเสวนาเรื่อง ‘ทางออกโทษประหารกับปัญหากระบวนการยุติธรรม’ เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคมที่ผ่านมา พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีตรองผู้บังคับการจเรตำรวจ ให้มุมมองต่อประเด็นนี้ผ่านกระบวนการยุติธรรมที่มีปัญหามากมาย ทำให้การลงโทษจำเลยสุ่มเสี่ยงที่จะลงโทษผู้บริสุทธิ์ และถ้าเป็นการลงโทษประหารชีวิตด้วยแล้ว ย่อมหมายความว่าจะไม่มีวันแก้ไขคืนกลับได้เลยหากลงโทษผิดคน
โทษประหารในมุมชัยวัฒน์ : อาชญากรไม่ได้หล่นมาจากฟ้า แต่ผุดขึ้นจากเนื้อนาดินสังคม
จากลงโทษสู่การแก้ไข
การที่เราพูดถึงเรื่องโทษประหาร มันเป็นสัญญาณของความสิ้นหวังต่อกระบวนการยุติธรรมสมัยใหม่ กระบวนการยุติธรรมโบราณถือเอาการประหารเป็นหลักและก็ไม่ใช่การประหารแบบปัจจุบัน แต่ประหารแบบโหดเหี้ยมเพื่อให้คนกลัว หลักสำคัญคือแก้แค้นให้กับผู้เสียหายและทำให้สังคมปลอดภัย ปลอดภัยแบบแน่นอนเด็ดขาด ไม่ต้องเสียเวลาควบคุมตัว กำจัดเลย
การลงโทษทางอาญาสมัยโบราณถือหลักการลงโทษรุนแรงมาตลอด ในยุโรปแค่เป็นหนี้แล้วไม่ใช้ เอาไปขังคุกมืดขึ้นกับจำนวนเงิน แล้วปรากฏการณ์เหล่านี้ก็คลายตัวไปตามความเจริญก้าวหน้าของสังคม ซึ่งเขาคิดว่าพวกนี้เป็นพวกชั่วร้าย แก้ไขอะไรไม่ได้ สมัยก่อนก็คงไม่มีความละเอียดอ่อนที่จะคิดแก้ไข แล้วประเทศเราก็เจริญไปตามตะวันตก ขณะที่ตะวันตกมีความคิดก้าวหน้าไปเรื่อยๆ จากเดิมที่มองอาชญากรเป็นคนชั่วร้ายเปลี่ยนเป็นคนป่วย ทำนองเดียวกันกับการปฏิบัติต่อผู้ป่วยจิตเวชที่สมัยก่อนก็ปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรม แต่ตอนหลังก็มีความพยายามในการแก้ไข
ทั้งหมดทั้งปวงมันขึ้นกับว่าเราเห็นคุณค่าในตัวมนุษย์แค่ไหน สังคมที่เจริญจะเห็นคุณค่าของชีวิตมากกว่าสังคมที่เจริญน้อยกว่า ต้องยอมรับว่าสังคมตะวันตกมีความคิดเหล่านี้ เขาจึงยกเลิกโทษประหาร ในประเทศยุโรปแทบทั้งหมดก็ยกเลิกไปแทบทั้งสิ้น เวลานี้ประเทศที่ยังมีโทษประหารเหลือเพียงส่วนน้อย
กฎหมายและโทษประหารมีอยู่ 3 ลักษณะคือประเทศที่มีโทษประหารอยู่ในกฎหมายและมีการบังคับใช้จริงจัง เช่น จีนประหารปีหนึ่งเป็นพันๆ คน อีกประเภทหนึ่งคือยกเลิกไปเลย ไม่มีอยู่ในกฎหมาย ประเภทสุดท้ายคือมีโทษประหารอยู่ในกฎหมาย แต่ก็ไม่มีการบังคับใช้จริง ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น กระทั่งกระแสความเจริญก้าวหน้าในโลกตะวันตก การตระหนักของพวกเราเองที่รู้สึกว่าเขาก็เป็นผู้ป่วยคนหนึ่ง ถ้าเรายึดปรัชญาที่ว่าส่วนใหญ่อาชญากรเกิดจากปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่เราควบคุมได้ ป้องกันได้ ส่วนหนึ่งเกิดจากความผิดปกติ ลักษณะทางพันธุกรรมที่มีความเป็นอาชญากรมาแต่กำเนิดก็มี เจอใครพูดผิดหูก็ชกทันที ยิงทันที แต่ส่วนใหญ่เกิดจากปัจจัยสิ่งแวดล้อม ปัญหาคือข้อมูลเหล่านี้เราไม่ค่อยมี
ลองสังเกตดู หลายกรณีเกิดจากปัจจัยสิ่งแวดล้อมกระตุ้นทั้งนั้น บางคนมีความอดทนต่อความคับแค้นใจได้มาก แต่บางคนก็ถึงจุดที่ทนไม่ได้ ตัวอย่างคุณป้าจอมขวาน วันนั้นถ้ามีปากเสียง แกอาจจะบันดาลโทสะเอาขวานจามหัว แกก็เป็นอาชญากรไป จะเห็นว่ามันเกิดขึ้นได้ แล้วมันเป็นเพราะอะไร เพราะว่าไม่ควบคุม ไม่เป็นธุระในการบังคับใช้กฎหมาย ทุกอย่างมีกฎหมายหมด แต่รัฐไม่เป็นธุระหรือทำท่าเป็นธุระแต่ไม่มีผลในทางปฏิบัติจริง แล้วทุกคนผมก็คิดว่าอยู่ในสภาพนี้ได้ทั้งนั้น อยากเข้าไปจัดการเอง พอเข้าไปจัดการเองก็เกิดการกระทบกระทั่งกลายเป็นอาชญากรไป
ศาลก็ไม่มั่นใจว่าจำเลยผิดจริง
โทษประหารในกฎหมายไทยมีอยู่สี่ห้าลักษณะ ในเรื่องการฆ่าก็คือฆ่าโดยไตร่ตรอง ฆ่าอย่างทารุณโหดร้าย ฆ่าเจ้าพนักงาน ฆ่าเพื่อปกปิดความผิด และข่มขืนฆ่า ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ที่ทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต และเรื่องยาเสพติดที่ผลิต นำเข้า ส่งออกเพื่อการค้า เหล่านี้มีบทลงโทษประหารสถานเดียว ซึ่งศาลเองก็ไม่สามารถลงโทษเป็นอื่นได้ ศาลเองก็ไม่อยากลงโทษประหาร ถึงแม้จะมีหลักฐานชัดเจนก็ไม่อยากลงโทษประหาร ด้วยความรู้สึกว่าไม่อยากประหารชีวิตใคร
ผมคิดว่าเราทุกคน โดยเฉพาะประเทศเราที่เป็นเมืองพุทธคงไม่มีใครอยากเป็นคนสั่งให้ประหาร เพชฌฆาตก็เพียงลั่นไกตามกระบวนการของกฎหมาย แต่จะเห็นว่าไม่มีใครอยากเข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรง ปัญหาอยู่ที่ว่าเมื่อมีการกระทำความผิดเกิดขึ้น สังคมไทยรู้สึกอับจน ไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไร โทษไม่รุนแรงพอ ใครที่มีโทษประหารชีวิต สารภาพก็ลดโทษ อันนี้ธรรมดา ไม่มีทางเลือก เมื่อจำเลยรับสารภาพศาลก็ต้องลดโทษให้ ถ้าไม่ลดโทษจะผิดหลักกระบวนการยุติธรรม ศาลจะได้แน่ใจว่าคนคนนั้นกระทำความผิด
กรณีที่มีโทษประหาร บางคนต่อสู้คดีอย่างสุดชีวิต บางทีต่อให้ศาลเห็นหลักฐาน ศาลก็ไม่มั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าคนคนนี้ทำผิดจริงหรือไม่ แต่ที่น่าตกใจคือบางกรณีไม่มีความชัดเจนเลยก็มี ศาลจึงไม่ค่อยอยากลงโทษประหาร หรือกรณีคนที่ฆ่าผู้อื่น รับสารภาพ ศาลก็ลงโทษประหารไม่ได้ บางกรณีลงโทษจำคุกตลอดชีวิต แต่ทำไม 7 ปีออกมาแล้ว ถ้ามีปัญหาเรื่องกระบวนการลดโทษก็ต้องไปว่ากันตรงนั้น คนที่ถูกพิพากษาลงโทษตลอดชีวิต ผมตรวจสอบดู ส่วนใหญ่ต้องถูกจำคุกไม่ต่ำกว่า 15 ปี
จริงๆ การติดคุกก็ทำให้เข็ดหลาบ คนที่ก่ออาชญากรรมไม่ได้คิดหรอกว่ามีโทษแค่ไหน บางทีมีอารมณ์ก็ลุยกันไป พอเกิดเหตุแล้วก็กระทำผิดต่อเนื่องไป เช่น หั่นศพ ทำลายศพ เป็นความต่อเนื่อง บางทีไม่ได้ตั้งใจ ต้องทำผิดไปเรื่อยๆ คนก็มองว่าโหดร้าย ต้องประหาร แต่เมื่อจำเลยรับสารภาพแล้วก็ไม่อาจจะประหารได้
ต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญา
มีบางกรณีที่มีพยานหลักฐานว่าผู้ถูกประหารไม่ได้กระทำความผิด หลายฝ่ายก็พยายามไม่พูดถึง ซึ่งผมคิดว่าไม่ถูกต้อง มีพยานปรากฏออกทีวี พูดแบบนี้ๆ กลายเป็นว่าพยานถูกดำเนินคดีฐานเอาความเท็จเข้าสู่คอมพิวเตอร์ นี่เป็นเพราะเราไม่พยายามค้นหาความจริง
การที่เรามี พ.ร.บ.รื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ ตั้งแต่ปี 2526 สะท้อนว่า สังคมยอมรับว่าคำพิพากษาอาจมีความผิดพลาดได้ ถ้ามีหลักฐานใหม่อันชัดแจ้งและสำคัญก็สามารถขอรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ได้ เมื่อก่อนไม่มีนะครับ คำพิพากษาที่ถึงที่สุดแล้วไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงอะไรได้ แต่การมีกฎหมายรื้อฟื้นคดีขึ้นมาใหม่สะท้อนว่าเรายอมรับว่าศาลก็เป็นมนุษย์ปุถุชน อาจจะมีความผิดพลาดได้
แต่ปัญหาคือตั้งแต่ปี 2526 จนถึงปัจจุบัน เรายังไม่มีการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ได้สำเร็จเลย เข้าสู่กระบวนการพิจารณาประมาณ 3 ราย อีกเกือบ 200 รายมีการยื่น แต่ที่น่าเสียใจคือใครที่พยายามยื่นขอรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่กลายเป็นคนเสียหาย ถูกมองเป็นคนกะล่อนปลิ้นปล้อน ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะเป็นสิทธิตามกฎหมาย กระบวนทัศน์ของผู้เกี่ยวข้องควรเข้าใจว่า ถ้ามีหลักฐานใหม่ก็ควรให้ความยุติธรรม ไม่ใช่เรื่องที่น่าอาย
และถ้าพิจารณาอย่างจริงจัง มันจะนำไปสู่การแก้ไขกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่มีปัญหาอยู่ทุกวันนี้ด้วย แต่ถ้าเราปกปิดไว้ ทุกอย่างก็เหมือนเป็นไปด้วยดี ทำให้ไม่เกิดการแก้ไข เพราะเราไม่ยอมรับความผิดพลาดในกระบวนการยุติธรรมไม่ว่าชั้นใด ทุกฝ่ายจะตะแบงไปกันหมด
ทุกวันนี้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนได้รับจากกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ไม่ว่าจะเป็นผู้เสียหาย ผู้ต้องหา ไม่รับแจ้งความ จับแพะ หรือคดีอาญาที่อัยการสั่งไม่ฟ้องหรือศาลยกฟ้อง ซึ่งไม่ใช่ความยุติธรรม คดีที่อัยการสั่งไม่ฟ้องแล้วใครเป็นผู้กระทำความผิดล่ะ แล้วถ้าสั่งไม่ฟ้อง ผู้ต้องหาที่ถูกควบคุมตัวอย่างไม่เป็นธรรม หรือถ้าศาลยกฟ้องก็ยิ่งไปใหญ่เลย ถ้าเป็นผู้บริสุทธิ์ เขาก็เป็นแพะในชั้นศาล แต่ถ้าเขาเป็นผู้กระทำความผิด เขาก็ลอยนวลเลย ก็ไม่เป็นธรรมกับผู้เสียหาย มีคดีประมาณร้อยละ 40 ที่จำเลยต่อสู้คดีแล้วศาลยกฟ้อง ขณะที่ในประเทศญี่ปุ่นถ้าอัยการสั่งฟ้อง ศาลจะลงโทษเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ เขาจะไม่แจ้งข้อหาใครง่ายๆ แจ้งแล้วอัยการสั่งไม่ฟ้อง อัยการฟ้องแล้วศาลยกฟ้อง
หลักคิดของพนักงานอัยการก็ต้องมีการปฏิรูปครับ จากแค่มีหลักฐานพอฟ้องก็ฟ้อง แต่ต้องมีหลักฐานเพียงพอให้ศาลลงโทษได้จึงจะฟ้อง ถ้าอัยการฟ้องคดีไหน แล้วศาลยกฟ้อง อัยการจะต้องถูกตรวจสอบว่าบกพร่องอะไร โจทย์จะไปตกที่พนักงานสอบสวน ตำรวจ คุณต้องทำให้คดีเกิดขึ้นน้อย การสอบสวนต้องมีประสิทธิภาพ รวบรวมหลักฐานให้แน่นหนา ชัดเจน และเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น ปัญหาของประเทศเราคือไม่มีความเป็นวิทยาศาสตร์อย่างยิ่งเลย โดยเฉพาะการสอบปากคำพยานบุคคล คุณจะสอบกันยังไงก็ได้ ระหว่างโมโหอยู่จะพูดความจริงทั้งหมดก็ยังไม่สอบ ค่อยรอให้หายโมโหแล้วสอบก็ได้ ที่พูดไม่จด ที่จดไม่ได้พูด
ที่น่าตกใจคือบางทีพยานไม่ต้องการให้การในชั้นสอบสวน เพราะไม่รู้ว่าให้การไปแล้วจะถูกบิดเบือนอย่างไร ผู้ต้องหาเองก็ไม่อยากให้การแก้ข้อกล่าวหา ขอให้การชั้นศาล เมื่อเป็นอย่างนี้ อัยการก็ต้องฟ้องศาล ถือว่าไม่มีข้อต่อสู้ก็ฟ้องเลย จริงๆ ไม่ใช่ผู้ต้องหาไม่อยากให้การ แต่กลัวว่าให้การไปแล้วจะถูกบิดเบือนเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เช่น อ้างพยานสักคน ตำรวจก็ไปสอบพยานปากนี้ จากที่เห็นก็กลายเป็นไม่เห็น เป็นต้น เป็นกระบวนการยุติธรรมที่วิปริต
สรุปคือเราจะคิดอย่างไรกับโทษประหารขึ้นอยู่กับว่าเราคิดอย่างไรกับอาชญากรรม ถ้าเราคิดว่าเขาเป็นผู้ป่วยที่ต้องแก้ไข หลักในการลงโทษเอาคนติดคุก ความจริงมันก็ดับแค้นได้ไม่น้อย ทำให้สังคมปลอดภัย ไม่ใช่ว่าลงโทษแบบต้องการให้สะใจ การจำคุกตลอดชีวิตที่พูดกันว่าติดจริงเจ็ดปี สิบปี บางทีก็พูดกันผิดๆ ความจริงติดกันไม่น้อย แต่เรื่องการลดโทษ เราต้องไปควบคุมตรงนั้น คนที่ต้องโทษประหารชีวิต แม้ไม่ได้ประหารจริง อย่างน้อยเขาก็ถูกจำคุกตลอดชีวิตนะครับ เขาต้องตายในคุก แต่เขาถูกลงโทษจำคุกตลอดชีวิต เขาอาจได้รับการลดโทษ แต่ศักยภาพในการก่ออาชญากรรมจะถูกทำลายไปด้วยอายุขัยของเขาเอง
เราต้องยอมรับว่ากระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศเรามีปัญหา และในทัศนะของผมมันมีปัญหาที่ร้ายแรงมาก เราพูดกันมากมาย แต่ก็ไม่มีใครมีข้อมูลจะยืนยันได้ว่ามีผู้ต้องคำพิพากษาที่ไม่ได้ทำผิดจริง ซึ่งมันไม่ควรจะมีแม้แต่รายเดียว เพราะประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาก็บัญญัติเอาไว้ว่า ศาลจะลงโทษใครจะต้องสิ้นสงสัย ต้องเชื่อโดยปราศจากข้อสงสัย ไม่ใช่คดีที่มีแค่โทษประหาร แต่ทุกคดี แต่ประเทศของเราเป็นเช่นนั้นหรือไม่ ไม่ใช่ มีคดีไม่น้อยที่ผู้ต้องหารับสารภาพโดยไม่ได้กระทำความผิด รับซะ จะได้จบๆ ไป รับสารภาพในชั้นสอบสวนเพื่อเอาตัวรอดจากการถูกทรมาน ใดๆ ก็แล้วแต่
กรณีมือปืนป็อปคอร์น ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษ ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง รายนี้ผมมีโอกาสคุยในเรือนจำ เขาก็พูดตลอดว่าเขาไม่รู้เรื่องอะไรเลย แล้วผมก็ประเมินว่าศาลคงยกฟ้อง ศาลก็ยกฟ้องจริงๆ ติดคุกอยู่สามสี่ปี ถามว่าทำไมไม่ประกันตัว ประกันตัวออกไปอาจจะถูกฆ่าตาย อยู่ในเรือนจำปลอดภัยกว่า นี่คือประเทศไทย และก็อีกมากมาย
กระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่ผิดพลาดเป็นเรื่องโหดร้าย
คนในประเทศเรายังไม่มีความเข้าใจต่อหลักอาชญวิทยาในเรื่องปัจจัยการกระทำความผิด ความจริงมีอะไรที่โหดร้ายกว่านั้นมาก มันมีการประหารนอกกฎหมายอยู่มากมายในประเทศเรา ปี 2547 ปี 2548 ผมเป็นผู้กำกับอยู่สถานีตำรวจ มีคนถูกฆ่านอกกฎหมายถึง 2,500 คนในช่วงเวลา 3 เดือน และอาจจะมากกว่านั้นถึง 5,000 คนที่ไม่เป็นข่าว คนส่วนใหญ่กลับเฉยๆ บางคนสะใจ ถ้ามารอสามศาลไม่ทันใจ แบบนี้ดีกว่า 2,500 ศพนี้ล้วนแต่เป็นคดีที่ไม่รู้ตัวผู้กระทำผิดทั้งสิ้น
ในประเทศที่กระบวนการยุติธรรมมีประสิทธิภาพ เชื่อถือได้ เขาก็ยังยกเลิกโทษประหารชีวิต ผมคุยกับผู้พิพากษาผู้ใหญ่ ที่ไม่อยากพิพากษาประหารชีวิตเพราะไม่ค่อยแน่ใจเท่าไหร่ มีท่านหนึ่งบอกว่าเคยพิพากษาประหารชีวิตไปแล้ว กรมราชทัณฑ์ก็เอารูป เอาเอกสารมาให้เซ็นเพื่อยืนยันว่าถูกต้อง ประหารไปแล้วด้วย แกก็ยังไม่สบายใจจนทุกวันนี้ ไม่ค่อยแน่ใจ อย่าลืมว่าคำพิพากษาเป็นเรื่องสมมติ ไม่ได้เป็นวิทยาศาสตร์ร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าตราบใดยังไม่ได้ประหารชีวิต ผู้พิพากษาก็สบายใจว่าคนคนนั้นยังมีชีวิตอยู่ แต่ถ้าประหารไปแล้ว พ.ร.บ.รื้อฟื้นคดีก็ช่วยอะไรไม่ได้ แม้ว่าจะไม่ห้าม เพราะญาติก็จะได้รับการชดเชย
กระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่ผิดพลาดเป็นเรื่องโหดร้าย ไม่ใช่เฉพาะคนที่ถูกลงโทษ ญาติพี่น้องก็ถูกตราหน้า ต่อให้อัยการสั่งไม่ฟ้องก็ตาม ทำอย่างไรเราจะปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศให้มีความเป็นวิทยาศาสตร์ แม่นตรง เชื่อถือได้
ส่วนโทษประหารในทัศนะของผม ในอนาคตก็ต้องยกเลิก จะช้าเร็วแค่ไหนก็ขึ้นกับความเข้าใจของผู้คนในสังคม โทษประหารเป็นสัญญาณของการอับจนทางความคิดว่าเราไม่สามารถจะแก้ปัญหาได้ แล้วสังคมไทยกำลังเดินมาด้วยดีในการไปสู่แนวโน้มของการยกเลิกโทษประหาร
แสดงความคิดเห็น