Posted: 16 Jul 2018 12:43 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

กรกริช สมจิตรานุกิจ

ระบบบำบัดผู้เสพยาเป็นแนวคิดใหม่ในการจัดการปัญหายาเสพติด เราจะพาไปดูภาพรวมของระบบ ค่ายทหารกลายเป็นกำลังหลักในการบำบัด ตามมาด้วยเรือนจำซึ่งไม่มีความพร้อมใดๆ และสถาบันธัญญารักษ์ที่พบว่าการบังคับบำบัดตามกฎหมาย ผู้เสพไม่ค่อยให้ความร่วมมือนัก ฯลฯ

รายงานตอนแรก ชวนดูนโยบายรัฐไทยที่มีความพยายามจะแก้ปัญหายาเสพติดในทิศทางใหม่ เช่นเดียวกับเทรนด์โลกที่แยกแยะผู้เสพออกจากผู้ค้า แล้วเน้นการฟื้นฟูเยียวยาให้ผู้เสพเลิกเสพกลับมามีที่ยืนในสังคม พร้อมกับชวนดูช่องว่างของระบบมีอะไรบ้าง การสร้างตัวชี้วัดเป็น “ยอดจำนวน” ของผู้ได้รับการบำบัด ทำให้เกิดการหว่านแหจับกุม ซึ่งอาจเป็นการละเมิดสิทธิของบุคคล ยังไม่ต้องพูดถึงแนวคิดล้ำๆ อย่างสิทธิของผู้ใช้ยา นอกจากนี้ระบบ(บังคับ)บำบัดยังผ่อนผันเพียง 1 ครั้งที่ผู้เสพสามารถเลือกเข้าสู่การบำบัดแทนการถูกลงโทษทางอาญา แต่หากถูกจับกุมอีกครั้งก็จะถูกดำเนินคดีในท้ายที่สุด

ตอนสุดท้ายนี้ เราจะดูว่าเส้นทางการเข้าสู่ระบบบำบัดมีกี่สาย และการบำบัดในปลายทางขั้นสุดท้ายคือ เรือนจำ ซึ่งกรมราชทัณฑ์กำลังแบกรับภารกิจการบำบัดฟื้นฟูที่หนักเกินศักยภาพ

หลังจากถูกจับกุมและได้รับการตรวจสารเสพติดในร่างกายกับทางโรงพยาบาลแล้ว คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดในเขตพื้นที่ต่างๆ ซึ่งประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่จากกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงยุติธรรมภายในพื้นที่ จะทำหน้าที่จำแนกว่าผู้ป่วยควรได้รับการบำบัดแบบใด ภายใต้สังกัดหน่วยงานใด จำเป็นต้องควบคุมตัวหรือไม่

รูปแบบการบำบัดในระบบบำบัดแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบหลักๆ คือ

1) แบบควบคุมตัว ผู้รับการบำบัดจะถูกควบคุมตัวอยู่ในศูนย์ฟื้นฟูสมรรภาพผู้ติดยาเสพติด ซึ่งกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ รวม 90 แห่ง และเข้าโปรแกรมบำบัดเป็นระยะเวลา 4-6 เดือน เป้าหมายของการควบคุมตัวก็เพื่อกันผู้ป่วยออกจากยาเสพติดให้ได้มากที่สุด

2) ระบบไม่ควบคุมตัว ผู้รับการบำบัดจะต้องเข้าโปรแกรมเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตามศูนย์ฟื้นฟูฯ เป็นเวลา 12 วัน หลังจากเสร็จโปรแกรมแล้วต้องเข้ารายงานตัวทุกเดือนและรับการสุ่มตรวจปัสสาวะเป็นเวลา 1 ปี หากหลบหนี หรือพบสารเสพติดระหว่างกระบวนการดังกล่าว ผู้ป่วยจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

ปัญหาใหญ่ของระบบบังคับบำบัดก็คือ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่ได้รับการดูแลโดยแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข หากแต่เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง โดยในบรรดาศูนย์ฟื้นฟูฯ 90 แห่งทั่วประเทศนี้ เป็นค่ายทหาร หรืออยู่ในการดูแลของทหารและตำรวจ มากถึง 57 แห่ง ศูนย์ที่อยู่ในความดูแลของกระทรวงสาธารณสุขมีเพียง 20 แห่งเท่านั้น อีก 11 แห่งเป็นของกระทรวงมหาดไทย มี 2 แห่งเป็นของกระทรวงยุติธรรม

ดูภาพใหญ่ที่นี่

นายแพทย์ล่ำซำ ลักขณาภิชนชัช รองผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจด้านวิชาการและการแพทย์ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี โรงพยาบาลธัญญารักษ์ กล่าวว่า แม้กระทรวงสาธารณสุขจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการวางโปรแกรมบำบัดฯ และอบรมวิทยากร ท้ายที่สุดแล้ว แต่ละค่ายก็จะมีวิธีปฏิบัติตามศักยภาพและความถนัดของหน่วยงานนั้นๆ ซึ่งค่ายทหารก็จะเน้นการฝึกวินัยเสียเป็นส่วนใหญ่

“การบำบัดยาเสพติดมันไม่ใช่แค่กระทรวงสาธารณสุข ยังมีหน่วยงานภาคีเครือข่ายด้วย ภาคราชการด้วยกันเองก็ทำหลายหน่วยงาน เช่นกลาโหมก็จะมีค่ายวิวัฒน์พลเมือง ค่ายขวัญแผ่นดินของมหาดไทย แม้กระทั่งกระทรวงยุติธรรมคุมประพฤติเองก็เปิดลักษณะการบำบัดแบบนี้ซึ่งอาจจะเคยได้ยินกันมาบ้าง ในหน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่กระทรวงสาธารณสุขเขาก็มีความเชี่ยวชาญในการฝึกระเบียบฝึกวินัย แต่ในส่วนของความรู้ในด้านการบำบัดยาเสพติดนั้นมันไม่ใช่แค่เรื่องระเบียบวินัยอย่างเดียวที่จะทำให้เลิกยาได้ ทางเราจึงต้องเข้าไปช่วยดูแลว่าจะเสริมความรู้ยังไงบ้าง”

นอกจากจะได้รับการบำบัดโดยผู้ไม่มีความรู้ทางการแพทย์แล้ว ระบบบังคับบำบัดยังสร้างปัญหาในขั้นตอนการรักษาโดยแพทย์อีกด้วย ล่ำซำให้ความเห็นว่าระบบในปัจจุบันที่ตั้งต้นจากการตรวจปัสสาวะเพื่อสกัดจับผู้ติดยาเสพติดนั้นสร้างปัญหาในขั้นตอนการบำบัดอยู่พอสมควร เพราะผู้ที่เข้าสู่กระบวนการผ่านช่องทางนี้มักจะให้ข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงเพื่อหลีกเลี่ยงการบำบัดที่พวกเขาไม่ต้องการ

“การตรวจปัสสาวะมันบ่งบอกได้แค่ว่า ณ ตอนนั้นเขามีสารเสพติดอยู่ในร่างกาย แต่ถึงขั้นจะระบุว่าเป็นผู้ใช้ ผู้เสพหรือผู้ติด อันนี้มันต้องคุยรายละเอียด และผู้เสพก็ต้องให้รายละเอียดข้อเท็จจริงซึ่งเป็นเรื่องที่เขามีส่วนได้ส่วนเสีย เขาเลยไม่ให้ข้อเท็จจริงอยู่แล้ว เขาก็พูดในสิ่งที่ทำให้เขาดูดี”

ในส่วนที่สถาบันธัญญารักษ์ดูแลนั้น นพ.ล่ำซำระบุว่า โดยปกติแล้วหากผู้ป่วยไม่ได้มีอาการติดรุนแรง แพทย์จะไม่ค่อยให้แอดมิดในโรงพยาบาลแต่ใช้วิธีการเรียกมาให้คำปรึกษาเป็นครั้งคราว แต่ในเคสที่มีอาการติดหนักในระดับที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการดำเนินชีวิต หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่เสี่ยงต่อการกลับเสพซ้ำ หรือครอบครัวไม่พร้อมที่จะดูแล ก็จะต้องแอดมิดภายในโรงพยาบาล กระบวนการรักษาจะเริ่มจากการถอนพิษยาเสพติดในร่างกายด้วยการใช้ยา ซึ่งจะใช้ระยะเวลาประมาน 2-4 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับความรุนแรง หลังจากถอนพิษแล้วก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการฟื้นฟูทางด้านจิตใจ ในบางกรณีก็จะมีการฝึกอาชีพให้กลับเข้าสู่สังคมได้โดยไม่ต้องกลับไปยุ่งเกี่ยวกับวงจรยาเสพติดอีก กระบวนการตรงนี้ใช้เวลาราว 4 เดือน หลังจากนั้นก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการติดตามผล เป็นช่วงที่ปล่อยให้ผู้ป่วยกลับออกไปใช้ชีวิตเหมือนคนปกติ แต่จะมีการเรียกมาพูดคุยต่อเนื่อง 12 เดือน

นพ.ล่ำซำระบุว่าในแต่ละปีทางสถาบันฯ มีผู้ป่วยยาเสพติดในการดูแลประมาณ 100,000 - 300,000 คนต่อปี ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่ถูกบังคับบำบัดเพื่อแลกกับการไม่ต้องรับโทษอาญา ประมาณร้อยละ 43 หรือมากกว่า 40,000 คน ในขณะที่ผู้ที่สมัครใจเข้ามารับการบำบัดจริงๆ มีอยู่ราวร้อยละ 41 ส่วนที่เหลือประมาณร้อยละ 15 เป็นระบบต้องโทษ เป็นผู้ที่ต้องได้รับการบำบัดภายในเรือนจำ

นั่นหมายความว่าในแต่ละปีจะมีผู้ใช้ยามากกว่า 40,000 คนถูกบังคับให้เข้ารับการบำบัดที่พวกเขาไม่ได้ต้องการตั้งแต่ต้น คนกลุ่มนี้จึงไม่ค่อยให้ความร่วมมือในการรักษา อย่างไรก็ตามล่ำซำก็ยังคงมองว่า มาตรการกึ่งบังคับในส่วนนี้ยังควรมีอยู่ เพราะอาการติดยาเสพติดก็เหมือนกับมะเร็ง ที่ยิ่งเจอเร็วโอกาสที่จะรักษาให้หายขาดก็ยิ่งมากขึ้น แต่ก็ขึ้นอยู่กับการให้ความร่วมมือของผู้รับการบำบัดด้วยเช่นกัน

“ถ้าถูกบังคับมาเราต้องทำความเข้าใจกับผู้ป่วยก่อนว่า จริงๆ แล้วการมาบำบัดแบบนี้เป็นข้อเสียที่เขาจะไม่มีอิสระ เสรีภาพเท่าที่ควร แต่ว่าก็ถือเป็นข้อดีอีกแบบหนึ่งในแง่ที่กฎหมายเปิดช่องให้เรามาเปลี่ยนแปลงตัวเอง ถ้าผ่านมาทางช่อง คำสั่ง คสช.ที่108 เมื่อบำบัดเสร็จแล้วก็จะไม่มีประวัติข้อมูลคดี อีกเรื่องหนึ่งถ้าเกิดมีโรคอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้น อาจจะเป็นโรคทางสมองหรืออื่นๆ ก็จะได้ดูแลช่วยเหลือกันไป ส่วนถ้ามีความจำเป็นถ้าเขาไม่หนักมากเราก็นัดมาถี่ตามความรุนแรงของผู้ป่วยแล้วก็จะมีการติดตามเป็นระยะไป รายที่หนักมากก็ค่อยให้ทำการรักษาบำบัดที่โรงพยาบาลเลย” นพ.ล่ำซำกล่าว
แล้วเหตุใดผู้ใช้ยาจึงไม่ค่อยสมัครใจเข้ารับการบำบัด?

ล่ำซำกล่าวว่าทัศนคติของสังคมไทยยังคงมองผู้ใช้ยาเป็นอาชญากรที่ต้องได้รับการกำจัด แนวคิด “ผู้เสพคือผู้ป่วย” ที่รัฐบาลพยายามผลักดันยังคงเป็นแค่คำขวัญที่สวยหรู แต่ไม่ได้สะท้อนออกมาเป็นนโยบายที่ชัดเจน ยกตัวอย่างคือสิทธิในการรักษา แม้สวัสดิการ 30 บาทรักษาทุกโรคจะครอบคลุมค่ารักษาอาการป่วยจากสารเสพติด แต่ผู้ประกันตนผ่านระบบประกันสังคมกลับไม่ได้สิทธิดังกล่าว และถึงแม้สวัสดิการข้าราชการจะครอบคลุมค่ารักษาในส่วนนี้ แต่ข้าราชการเองกลับไม่ค่อยใช้กัน เนื่องจากกลัวว่าจะมีผลกระทบต่อประวัติการรับราชการ

“คนทั่วไปก็ยังมองคนติดยาเป็นคนที่ทำความผิด ในประเทศตะวันตก เขามองว่าเรื่องคนติดยาไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร สามารถแก้ไขได้ เขามองคนที่ใช้ยาเสพติดว่าเหมือนคนกินเหล้า คนดูดบุหรี่ มองว่าเป็นปัญหาเฉพาะตัว ไม่ใช่เป็นปัญหาอาชญากร แต่ในสังคมไทยเราไม่ใช่ ฉะนั้นถ้าเราค่อยๆ แก้ทัศนคติตัวนี้ได้ เวลาเขาบำบัดเสร็จก็สามารถไปทำงานประกอบอาชีพได้ตามปกติ แต่ในปัจจุบันไม่ใช่ พอรู้ว่ามีประวัติยาเสพติดคือไม่ได้งาน” ล่ำซำกล่าว
ข้อจำกัดของการบำบัดภายในเรือนจำ

ในบรรดาผู้รับการบำบัดยาเสพติดทั้ง 3 ประเภทคือ ระบบสมัครใจ, ระบบบังคับบำบัดตามพ.ร.บ.ฟื้นฟูฯ หรือ คำสั่งหัวหน้าคสช.108/2557, ระบบต้องโทษ

กลุ่มที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ ระบบต้องโทษ

ผู้ต้องขังคดียาเสพติดกว่า 200,000 คน ต้องผ่านกระบวนการบำบัดโดยผู้ที่ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข หรือไม่เช่นนั้นก็ไม่เคยได้รับการบำบัดเลย

นายบัส (นามสมมติ) วัย 39 ปี เล่าว่า ตัวเขาเคยเข้าเรือนจำ 2 ครั้งในข้อหาครอบครอบครองไอซ์และเมทแอมเฟตตามีนเพื่อจำหน่าย อันที่จริงตัวเขาไม่ได้เป็นผู้ขาย เพียงแต่ซื้อของมาจำนวนมากเพื่อเก็บไว้ใช้กับเพื่อน แต่ด้วยกฎหมายยาเสพติดที่จำแนกผู้เสพกับผู้ขายจากจำนวนสารเสพติดที่ครอบครอง บัสจึงต้องรับโทษจำคุกในฐานะผู้จำหน่ายเป็นระยะเวลา 5 ปี 12 เดือนในปี 2539 และต้องจำคุกอีก 3 ปี 6 เดือนในปี 2554

เขากล่าวว่า ในช่วงที่เขาถูกคุมขัง เขาไม่เคยได้รับการบำบัดอะไร ภาพที่เขาเห็นคือนักโทษกว่า 700 ชีวิตที่เบียดเสียดกันอยู่ภายในทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง ซึ่งเป็นที่คุมขังผู้ต้องหาคดียาเสพติดที่ครอบครองสารปริมาณมาก กล่าวอย่างง่ายก็คือพวก “เอเย่น” ซึ่งมีทั้งคนไทยและคนต่างชาติปะปนกันไป

“ไม่เห็นจะมีอะไรบำบัดเลย ผมไปอยู่ก็เหมือนกับไปรอการตัดสิน รอย้ายเรือนจำ ไม่เคยเห็นใครไปบำบัดอะไรเลย บำบัดคือการฟื้นฟูร่างกายใช่ไหม แต่นี่มีแค่ออกกำลังกายตอนเช้าแล้วก็หมดไป แล้วมันเรียกว่าการบำบัดได้ยังไง”

บัสเปิดเผยว่ามีเพื่อนผู้ต้องหาจำนวนมากในแดนเดียวกับเขาที่เข้ามาในฐานะผู้เสพที่ซื้อของตุนไว้เยอะไปหน่อย แต่กลับออกไปประกอบอาชีพผู้ขาย เนื่องจากการได้เข้ามาพบกับเอเย่นรายใหญ่ภายในคุก ประกอบกับทัศนคติในสังคมที่ยังคงมองผู้ใช้ยาเป็นอาชญากร ยังทำให้ผู้ที่มีประวัติยาเสพติดไม่สามารถหางานสุจริตทำได้หลังพ้นโทษ ทั้งหมดนี้จึงเป็นการบีบให้คนเหล่านี้ต้องกลับเข้าสู่วงจรยาเสพติดและพัฒนาจากผู้เสพมาเป็นผู้ขายหลังพ้นโทษ

นั่นหมายความว่าไม่มีกระบวนการบำบัดภายในเรือนจำเลยหรือ? คำตอบคือยังมีอยู่ แต่ยังไม่ได้มาตรฐานและไม่เพียงพอ

พรพรรณ ศิลปวัฒนาพร นักจิตวิทยาคลินิกชำนาญการ ของกรมราชทัณฑ์เปิดเผยว่า ในแต่ละปีจะมีผู้ต้องขังที่มีประวัติใช้สารเสพติดอยู่ประมานหนึ่งแสนต้นๆ แต่ศักยภาพในการบำบัดฟื้นฟูของกรมราชทัณฑ์สามารถรองรับได้เพียงประมาน 20,000 คนต่อปีเท่านั้น โดยกระบวนการบำบัดส่วนใหญ่จะเป็นการเข้าค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและแนวคิดของผู้ใช้ยา ผ่านการฝึกสมาธิ ฝึกควบคุมอารมณ์ และเรียนรู้โทษของยาเสพติด การฝึกมองโลกในแง่ดี และก่อนที่จะพ้นโทษก็จะมีกระบวนการบำบัดอีกครั้งเป็นหลักสูตรระยะเวลา 3 วันเพื่อเตรียมความพร้อมผู้ต้องหาก่อนจะออกไปสู่โลกภายนอก

หากย้อนกลับไปที่เป้าหมายการบำบัดในระบบต้องโทษ ที่กระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าไว้ที่ 20,700 ราย แต่ทำได้จริง 15,314 ราย ในกรณีของกรมราชทัณฑ์กลับทำได้ทะลุเป้ามาโดยตลอด โดยในปี 2559 มีการตั้งเป้าผู้ต้องขังที่ผ่านการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดไว้ที่ 17,700 ราย แต่มีผู้ผ่านการบำบัดถึง 19,449 ราย ส่วนเป้าในปี 2560 ตั้งไว้ที่ 17,700 ราย แต่ทำได้จริง 21,668 ราย

เหตุผลที่ยอดของสองหน่วยงานต่างกันก็เพราะว่าผู้ต้องขังจะได้รับการบำบัดกับกระทรวงสาธารณสุขได้ก็ต้องเมื่อมีคำสั่งศาลเท่านั้น ส่วนรายอื่นที่ศาลไม่ได้มีคำสั่ง แต่ผ่านกระบวนการคัดกรองภายในเรือนจำก็จะต้องผ่านระบบบังคับบำบัดผ่านในเรือนจำ

ตัวเลขดังกล่าวนอกจะสะท้อนว่ากรมราชทัณฑ์กำลังแบกรับภารกิจการบำบัดฟื้นฟูที่หนักเกินศักยภาพแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงความซับซ้อนของการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ ที่แต่ละหน่วยงานจะมีเป้าหมายและเป้าหมายยอดผู้รับการบำบัดเป็นของตัวเอง จนยากที่คำนวนหาจำนวนผู้ป่วยยาเสพติดที่อยู่ในประเทศไทยในทุกระบบ เพราะนอกจากกระทรวงสาธารณสุขกับกรมการแพทย์แล้ว กรมคุมประพฤติ กระทรวงมหาดไทย ต่างก็มีภารกิจในการบำบัดผู้ป่วยยาเสพติดของตัวเองแยกย่อยลงไปอีก

นอกจากกรมราชทัณฑ์จะไม่สามารถรองรับการบำบัดได้อย่างครบถ้วนแล้ว ปัญหาด้านทรัพยากรบุคคลก็เป็นปัจจัยสำคัญ หากตั้งหลักว่า “ผู้เสพคือผู้ป่วย” ผู้ทำหน้าที่ให้การบำบัดภายในเรือนจำก็ควรจะเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพกับนักจิตวิทยาเป็นหลัก แต่ในความเป็นจริงกรมราชทัณฑ์มีนักจิตวิทยาเพียง 29 คน จากเรือนจำ 142 แห่งทั่วประเทศ ในจำนวนนี้มีเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานอยู่ในเรือนจำจริงๆ เพียง 22 คนเท่านั้น ส่วนอีก 7 คนจะประจำอยู่ที่กองบริการทางการแพทย์ กรมราชทัณฑ์

พรพรรณกล่าวว่าบุคลากรที่ขาดแคลนที่สุดในกระบวนการบำบัดผู้ป่วยยาเสพติดในเรือนจำคือนักจิตเวช เนื่องจากผู้ที่ใช้ยาเสพติดมาเป็นเวลานาน แล้วต้องหยุดยาในทันที มักจะเกิดอาการทางจิตแทรกซ้อนเช่นหูแว่วหรือเห็นภาพหลอน ซึ่งควรได้รับการดูแลเหมือนกับผู้ป่วยภายในโรงพยาบาล ในปัจจุบันมีผู้ต้องขังที่มีอาการทางจิตที่อยู่ในความดูแลของกรมราชทัณฑ์ประมาน 3,000 คน และประมานร้อยละ 10 เป็นอาการทางจิตที่มีผลมาจากการใช้สารเสพติด

นอกจากนี้ลักษณะการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ภายในเรือนจำที่มีลักษณะหมุนเวียนกันไปเรื่อยๆ ทุกปี เช่นคนที่รับผิดชอบฝ่ายการศึกษาในปีที่แล้ว อาจจะถูกย้ายมาทำฝ่ายฟื้นฟูผู้ต้องขังในปีต่อมา จึงทำให้เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบด้านการบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยภายในเรือนจำไม่มีความต่อเนื่อง และเป็นเหตุให้ต้องมีการอบรมเจ้าหน้าที่กันใหม่ทุกปีประมาน 300 - 360 คน

อย่างไรก็ดีกรมราชทัณฑ์มีความพยายามที่จะพัฒนาเรือนจำให้สามารถรองรับผู้ป่วยยาเสพติดได้อย่างมีมาตรฐาน โดยจัดให้มีการประเมินร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อรับรองคุณภาพสถานพยาบาลยาเสพติด (ประเภทฟื้นฟูสภาพ) ระบบต้องโทษ ซึ่งจะประเมินโดยเจ้าหน้าที่จากกระทรวงสาธารณสุขผ่านมิติต่างๆ เช่น ความแออัด สภาพแวดล้อม หรือจำนวนแพทย์ที่สามารถดูแลผู้ป่วยได้ แต่ก็มีเรือนจำที่ผ่านมาตรฐานดังกล่าวเพียง 31 แห่งเท่านั้น

พรพรรณกล่าวว่าปัญหาหลักๆ ที่มีเรือนจำผ่านเกณฑ์การประเมินน้อยเป็นเพราะปัญหาด้านบุคลกรขาดแคลน ในบางแห่งมีเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการอบรมด้านการบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติดเพียง 1 คนเท่านั้น อีกทั้งยังไม่ใช่บุคลกรทางการแพทย์อีกด้วย

นอกจากนี้นายแพทย์ล่ำซำของสถาบันธัญญารักษ์ยังกล่าวว่า การประเมินดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทางเรือนจำสมัครใจที่จะขอรับการประเมินเท่านั้น ทางสาธารณสุขไม่มีอำนาจที่จะเข้าไปตรวจสอบเรือนจำที่ไม่ได้ขอรับการประเมิน ซึ่งส่วนเรือนจำส่วนใหญ่ที่ขอเข้ารับการประเมินก็มักจะมีความพร้อมอยู่แล้ว จึงผ่านการประเมินเสียเป็นส่วนใหญ่

ภาพเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความไม่พร้อมของรัฐไทยในการทำให้ “ผู้เสพคือผู้ป่วย” อย่างแท้จริง ตราบใดที่การตั้งด่านตรวจปัสสาวะเพื่อหาผู้ป่วยยังคงมีอยู่ ตราบใดที่สวัสดิการทางสังคมยังไม่ยอมรับผู้ใช้ยาเสพติดเฉกเช่นประชาชนทั่วไป ตราบใดที่คุกไทยยังไม่เอื้อให้ผู้พึ่งพิงยาหลุดออกจากวงจรยาเสพติดได้จริงๆ และสถานที่ทำงานต่างๆ ยังรังเกียจผู้มีประวัติใช้ยา ตราบนั้นผู้ป่วยก็ยังคงเป็นอาชญากร

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.