Posted: 27 Jul 2018 08:43 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Fri, 2018-07-27 22:43
ตัวแทนแรงงานกัมพูชาในไทยออกคำร้องถึงเลขาธิการยูเอ็น เรียกร้องให้ไม่ยอมรับการเลือกตั้ง ผลการเลือกตั้งกัมพูชาที่จะมีขึ้นในวันอาทิตย์นี้ พร้อมเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้นำพรรคฝ่ายค้าน CNRP ที่ถูกจองจำ รวมถึงให้สิทธิ์สมาชิกพรรค CNRP ที่ถูกยุบพรรคกลับมาเล่นการเมืองได้ใหม่
27 ก.ค. 2561 ผู้แทนแรงงานกัมพูชาในไทยได้ออกคำร้องถึงอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) กรณีกัมพูชาจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 29 ก.ค. ที่จะถึงนี้ โดยมีใจความและข้อเรียกร้องเจ็ดข้อดังนี้
คำร้องจากแรงงานกัมพูชาในไทยถึงเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ
ประชาธิปไตยในกัมพูชากำลังตายลง รัฐบาลกัมพูชาได้ยุบพรรคสงเคราะห์ชาติกัมพูชา (CNRP) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านเพียงพรรคเดียวที่เห็นได้ในกัมพูชา และได้จองจำ เนรเทศหัวหน้าของพรรคในฐานะหนึ่งความพยายามที่จะปิดปากพรรคฝ่ายค้านอย่างแท้จริง ในวันที่ 16 พ.ย. 2560 ศาลฏีกาอันเป็นเครื่องมือของนายกรัฐมนตรีฮุนเซน ได้ยุบพรรค CNRP และตัดสิทธิ์พรรคดังกล่าวซึ่งได้รับเลือกตั้งจากเสียงถึงร้อยละ 44 ออกจากการลงเลือกตั้งในการเลือกตั้งปีนี้ ซึ่งเป็นการทำลายความหวังในการมีการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรม
โรนา สมิธ ผู้แทนพิเศษขององค์การสหประชาชาติในกัมพูชากล่าวว่า “ไม่มีการเลือกตั้งใดจะเป็นการเลือกตั้งที่แท้จริงหากขาดซึ่งการแข่งขันของพรรคฝ่ายค้าน” ไม่ควรมีใครถูกบังคับให้ไปเข้าร่วมการเลือกตั้งที่หลอกลวง และในทางกลับกัน ผู้คนควรที่จะต้องคว่ำบาตรมัน (การเลือกตั้ง)
กรรมการการเลือกตั้งกัมพูชาที่ได้รับอำนาจจากกฎหมายการเลือกตั้งให้จัดการเลือกตั้ง ตรวจสอบและจับตาดูการเลือกตั้งในทุกแง่มุมตั้งแต่การลงทะเบียนผู้มีสิทธิ์ออกเสียง การลงทะเบียนพรรคและผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อพิสูจน์ความแม่นยำในการนับคะแนนเลือกตั้งนั้น ได้สูญเสียความเป็นกลางและความเป็นอิสระเนื่องจากสมาชิกทั้งเก้าคนนั้นถูกควบคุมโดยพรรครัฐบาลหลังตัวแทนอีกสามคนที่ได้รับเลือกจากสภาแห่งชาติอย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญที่มาจากพรรค CNRP ได้ลาออกไป
กว่าสองทศวรรษที่ผ่านมาหลังจากผ่านปีแห่งความขัดแย้งและนองเลือด กัมพูชาเกือบเป็นประเทศที่ได้รับความสำคัญที่สุดในโลก ในเวลาต่อมามี 18 ประเทศได้ร่วมเป็นผู้แทนในการประชุมสันติภาพที่กรุงปารีสในปี 2534 เพื่อร่างข้อตกลงในการฟื้นฟูและคงไว้ซึ่งสันติภาพ รณรงค์ให้เกิดความปรองดองและเกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเสรีประชาธิปไตยที่มีการพิทักษ์ซึ่งสิทธิมนุษยชน ข้อตกลงที่ได้รับจากสหประชาชาติได้เป็นกุญแจสำคัญในการฟื้นฟูสันติภาพในกัมพูชา รวมถึงการเคารพซึ่งสิทธิมนุษยชนและการมีการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรม แต่แทนที่พรรครัฐบาลปัจจุบันจะยึดถือหลังนิติรัฐแบบประชาธิปไตย เคารพซึ่งสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นบาน พวกเขากลับมีทีท่าในลักษณะเผด็จการ เข้าควบคุมเสรีภาพขั้นพื้นฐานและสิทธิมนุษยชนโดยอ้างว่าเพื่อปกป้องเสถียรภาพทางการเมืองและพัฒนาการทางเศรษฐกิจ
พวกเราจึงร้องขอให้สหประชาชาติในฐานะที่เป็นผู้รักษาสันติภาพของโลก และผู้มีส่วนสำคัญในการฟื้นฟูสันติภาพของกัมพูชาดังนี้
ไม่ให้ความชอบธรรมกับการเลือกตั้งในวันที่ 29 ก.ค. 2561 และผลการเลือกตั้งที่หลอกลวง
ไม่ยอมรับรัฐบาลที่ขัดต่อกฎหมายและไม่ให้ที่นั่งผู้แทนกัมพูชาในสหประชาชาติ
ให้ฟื้นฟูประชาธิปไตยในกัมพูชาด้วยการผลักดันให้เกิดการเลือกตั้งใหม่ที่เสรีและยุติธรรม ด้วยการมีส่วนร่วมของพรรค CNRP ในช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่ง (อย่างน้อยภายในหกเดือน)
ประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศใดๆ ที่ยอมรับการเลือกตั้งที่หลอกลวงและเพิกเฉยต่อเจตนารมณ์ของผู้ลงคะแนนเสียงสามล้านคนถือเป็นผู้ร่วมกระทำผิดในการทำลายประชาธิปไตยและเหยียบย่ำสิทธิมนุษยชน
เรียกร้องให้ปล่อยตัวกึม สุขขา หัวหน้าพรรค CNRP และนักโทษการเมืองทั้งหมดอย่างทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข
ให้สิทธิ์อย่างครบถ้วนกับเหล่าผู้นำพรรค CNRP ทั้ง 118 คนเพื่อให้พวกเขาใช้สิทธิทางการเมือง
เรียกร้องให้ฟื้นฟูความเป็นอิสระของสื่อมวลชนและปกป้องนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน
พวกเราหวังและเชื่อว่าเลขาธิการสหประชาชาติจะมีมาตรการที่เหมาะสมเพื่อช่วยเหลือกัมพูชาจากระบอบเผด็จการและคอมมิวนิสต์
ลี รัตนรักเสมย ผู้แทนแรงงานกัมพูชาในไทย
คำร้องของพวกเขาอ้างว่ามีผู้ร่วมลงนามกับคำร้องนี้จำนวน 117,379 คน
ในการเลือกตั้งกัมพูชา 29 กรกฎาคมนี้ ผู้สังเกตการณ์นานาชาติแสดงความกังวลว่าจะเป็นเพียงการสืบทอดอำนาจของผู้นำตลอดกาลอย่างฮุนเซ็นและพรรคประชาชนกัมพูชา ซึ่งก่อนเลือกตั้งมีการกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ได้แก่ ยุบพรรคสงเคราะห์ชาติ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านคู่แข่ง จับกุมและฟ้อง กึม สุขขา แกนนำพรรคฝ่ายค้านโดยตั้งข้อหาทรยศชาติ มีการกวาดล้างเครือข่ายพรรคสงเคราะห์ชาติทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น จนทำให้อดีต ส.สพรรคสงเคราะห์ชาติจำนวนมากลี้ภัยไปต่างประเทศ รวมทั้งสม รังสี
และในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้มีการแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และกลายเป็นเครื่องมือกำจัดฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลกัมพูชา
นอกจากนี้ยังมีการปิดสื่อ โดยในเดือน ส.ค. 2560 รัฐบาลกัมพูชาปิดสถานีวิทยุหลายแห่งที่ได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ ได้แก่ วิทยุเอเชียเสรี (RFA) วิทยุวอยซ์ออฟอเมริกา (VOA) เรียกเก็บภาษีย้อนหลัง 6.3 ล้านเหรียญสหรัฐจากหนังสือพิมพ์เดอะ แคมโบเดีย เดลี หนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษที่มีบทบาทวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ส่งผลให้หนังสือพิมพ์ต้องยุติการตีพิมพ์ในเดือนกันยายน 2560 นอกจากนี้ศิวะกุมาร คณปติ นักลงทุนมาเลเซียซึ่งใกล้ชิดกับรัฐบาลกัมพูชายังเข้าซื้อกิจการ "พนมเปญโพสต์" หนังสือพิมพ์อิสระภาษาอังกฤษฉบับสุดท้าย ตามด้วยการไล่บรรณาธิการ และทีมงานอีก 4 ราย
โดยในการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 29 ก.ค. นี้ พรรคประชาชนกัมพูชานำโดยฮุนเซ็นซึ่งครองอำนาจมาแล้ว 33 ปี จะต้องแข่งกับพรรคฝ่ายค้านเล็กๆ ที่เหลืออยู่อย่าง พรรคประชาธิปไตยมูลฐาน (GDP) พรรคสัมพันธ์เพื่อประชาธิปไตย (LDP) ส่วนพรรคใหญ่อีกพรรคอย่างฟุนซินเปก แกนนำของพรรคคือสมเด็จกรมพระนโรดม รณฤทธิ์ ทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์บาดเจ็บสาหัส ส่วนพระชายาเสียชีวิต ต้องเสด็จมาประทับรักษาตัวที่โรงพยาบาลในกรุงเทพมหานคร ด้านอดีตสมาชิกพรรคสงเคราะห์ชาติ รณรงค์คว่ำบาตรการเลือกตั้งที่พวกเขาเห็นว่าไม่เป็นไปอย่างเสรีและยุติธรรม ขณะที่รัฐบาลและ กกต. ขู่จะเอาผิดคนรณรงค์คว่ำบาตรเลือกตั้ง
แสดงความคิดเห็น