Posted: 27 Jul 2018 02:09 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Fri, 2018-07-27 16:09


'แชมป์ พีรพล' พิธีกรรายการกีฬารายงานถึงประธานาธิบดีตุรกี ที่มีข้อวิจารณ์จากทั่วโลกว่า ละเมิดสิทธิมนุษยชน และอีกหลายๆ ประเด็น สร้างความไม่พอใจต่อชาวมุสลิม ทำให้ ผู้บริหารช่อง 3 ถึงใช้ยาแรงพักงานไม่มีกำหนด พร้อมนำตัวแชมป์ไปขอโทษกับทูตตุรกี แต่ตุรกีก็จับข้อหาหมิ่นประธานาธิบดีกว่า 2 พันคน รวมทั้งนักสิทธิมนุษยชน

จากกรณี แชมป์ พีรพล เอื้ออารียกูล พิธีกรรายการกีฬา “คน เฝ้า ข่าว” ทางช่อง 3 หรือ ช่อง 28 เสนอรายงานประเด็น เมซุต โอซิล นักฟุตบอลทีมชาติเยอรมนีซึ่งมีเชื้อสายตุรกีประกาศอำลาทีมชาติ โดยในตอนหนึ่งของรายงาน พีรพล ได้พูดวิพากษ์วิจารณ์ เรเจป ไตยิป เอร์โดอัน ประธานาธิบดีตุรกี จนเกิดกระแสความไม่พอใจของชาวมุสลิมบางส่วนในไทยนั้น


วานนี้ (26 ก.ค.61) ช่วงบ่าย เพจ 'Save Islam : สมาคมปกป้องอัลอิสลาม' โพสต์ว่า วันอังคารที่ 31 ก.ค.2561 เวลา 13.30 น. สายัณห์ สุขจันทร์ ฝ่ายกฏหมายมูลนิธิมุสลิมเพื่อสันติ (มมส.) จะไปยื่นหนังสือถึงผู้บริหารช่อง 3 เพื่อให้ดำเนินการจัดการกับ แชมป์ พีรพล ที่ได้เหยียดหยามใส่ร้ายประธานาธิบดีตุรกีในรายการของตน และยืนยันว่า ช่อง 3 ต้องปลด พีรพล เพื่อเป็นการรับผิดชอบในฐานะสื่อที่ต้องรับผิดชอบต่อสังคม พร้อมเชิญชวนให้แฟนเพจ เจอกันที่หน้าตึกอาคารมาลีนนท์ในเวลาดังกล่าวด้วย

เพจ Save Islam : สมาคมปกป้องอัลอิสลาม ยังโพสต์คลิปรายการที่เป็นประเด็น พร้อมวิจารณ์ แชมป์ พีรพล ด้วยว่า ชาวตุรกีแท้ๆ ที่ได้ดูคลิปนี้ยังมีอารมณ์โกรธเคือง และบอกว่านายพีรพลพูดจามั่ว ไม่มีมูลความจริง และขอให้เกียรติผู้นำประเทศพวกเขาด้วย พร้อมทั้งบอกด้วยว่า ชื่อประธานาธิบดีตุรกี อ่านว่า ตอยยิบ, ฏอยยิบ ไม่ใช่ "ตายยิบ" อย่างที่นายพีรพลอ่าน

ต่อมา ผู้บริหารฝ่ายข่าวสถานีโทรทัศน์ช่อง 28 ดิจิทัล นำโดย อัชฌา สุวรรณปากแพรก และ พีรพล เดินทางเข้าพบ เอฟเรน ดาเดเลน อักกุล เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐตุรกี ประจำประเทศไทย เพื่อแสดงความเสียใจ และขออภัยเป็นอย่างยิ่งต่อกรณีการดำเนินรายการพาดพิงถึงประธานาธิบดีสาธารณรัฐตุรกีโดยใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสม ทางผู้บริหารขอน้อมรับในความผิดพลาดต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด พร้อมทั้งขอแสดงความเสียใจ และขออภัยอย่างยิ่งต่อท่านประธานาธิบดี รวมถึงประชาชนชาวตุรกี โดยทางสถานีได้ลงโทษด้วยการระงับรายการทุกรายการของ พีรพล ทันที โดยห้ามปฏิบัติหน้าที่ใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับรายการของทางสถานีฯ อย่างไม่มีกำหนด
แชมป์ พูดอะไรในรายการ

แชมป์ พีรพล ในตอนแรกเขา รายงานถึงการเลิกเล่นทีมชาติเยอรมันของ โอซิล หลังถูกแฟนบอลและสหพันธ์ฟุตบอลเยอรมันวิจารณ์อย่างหนัก หลังพาทีมชาติตกรอบแรกฟุตบอลโลก 2018 โดยสิ่งที่เมซุต โอซิล ถูกโจมตีมากที่สุดคือการไปถ่ายรูปคู่กับ เอร์โดอัน ประธานาธิบดีตุรกี ซึ่งกำลังมีปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนและอีกหลายๆ เรื่อง ก่อนฟุตบอลโลกเริ่มขึัน ทำให้โอซิลถูกมองให้เป็นแพะรับบาปในความล้มเหลวของทีมชาติเยอรมันกับการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งนี้

ต่อมา แชมป์ พีรพล ได้อธิบายปัญหาของ ประธานาธิบดีตุรกี โดยได้ระบุว่า “เป็นผู้นำที่คนตุรกี และคนรอบโลกยี้ เพราะเผด็จการสุดๆ ทำกฎหมายให้ตัวเองสามารถครองบัลลังก์ได้ 14 ปี เยอะกว่าปกติ เยอะแยะมากมาย คนตุรกีไม่สามารถเข้าอินเตอร์เน็ต คนตุรกีไม่สามารถเข้าเว็บไซต์วิกิพีเดีย ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่คนธรรมดาสามารถเข้าไปพิมพ์อะไรก็ได้เพราะไตยิปบอกว่า มีข้อมูลที่ไม่ดีเกี่ยวกับเขา โชคดีเราอยู่ประเทศไทยเราเข้าวิกิพีเดียได้”

“5 คำที่คุณจะเห็นเยอะสุดเมื่อพูดถึง นายเรเจ็ป ไตยิป เอร์โดอัน คือ เผด็จการ / โกงเลือกตั้ง / ไม่ฟังประชาชน / กำจัดฝ่ายตรงข้ามด้วยทุกวิถีทาง / ผู้นำที่จับนักข่าวเข้าคุกมากที่สุด ซึ่งสิ่งที่คนที่ติดตามข่าวการเมืองเสียความรู้สึกกับเขามากที่สุดคือ พังสวนสัตว์, ทำลายป่า, สร้างวังขาว หลังชนะการเลือกตั้งได้สร้างวังขาวบนพื้นที่ 130 ไร่ 700,000 ตารางเมตร หรือเทียบเท่า 90 สนามบอล และมีห้องถึง 1,000 ห้อง แต่ปัญหาคือ ดันไปสร้างในป่าคุ้มครองที่มีสวนสัตว์อยู่ คนสวนใหญ่ก็งงว่าแทนที่ผู้นำจะรักษากฎหมาย ปกป้องธรรมชาติ แต่กลับทำตรงข้ามหมด ใช้งบประเทศกว่า 11,000 ล้านบาท เอางบนั้นมาช่วยประชาชนที่มีรายได้เฉลี่ยไม่ถึง 20,000 บาทดีกว่าไหม คนตุรกีต่อต้านถึงขนาดว่า ตอนแรกจะมีการฉลองวันชาติที่วังขาว แต่กระแสสังคมต่อต้านเยอะมาก และก็เปลี่ยนชื่อเป็น วังแห่งความโกง วังผิดกฎหมาย บัตรเชิญที่ส่งไปคนส่วนใหญ่รับไม่ได้จนงานเปิดตัวออฟฟิตหมื่นล้านเวอร์วังต้องยกเลิกไป นี่แค่เรื่องเดียวนะครับเพราะถ้าจะเอาเรื่องอื่นด้วย 3 ชั่วโมงอาจจะไม่พอ ฝ่ายที่โจมตีโอซิลก็บอกว่า โอซิลอาจไม่ผิดถ้าเขาเป็นคนธรรมดา แต่การที่เป็นซุปตาร์กีฬาที่มีแฟนคลับรอบโลกแล้วดันไปถ่ายรูปกับผู้นำที่ภาพไม่ขาวสะอาด และดันเขียนว่า ประธานาธิบดีของฉัน ก่อนการเลือกตั้งไม่กี่วัน มันไม่เกี่ยวแล้วหล่ะ ไอ้เรื่องเชื้อชาติอะไร แต่คุณดีใจที่คุณได้ถ่ายรูปกับผู้นำที่หลายคนทั่วโลกเขาเหนื่อยใจต่างหาก” แชมป์ พีรพล กล่าวในรายการ



บางส่วนในรายการที่แชมป์กล่าวถึงโอซิล
ตุรกีจับข้อหาหมิ่นประธานาธิบดีกว่า 2 พันคน รวมทั้งนักสิทธิมนุษยชน

พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ นักแปล คอลัมนิสต์อิสระ โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊กด้วยว่า กรณีนี้ว่า



กรณี “ช่อง 3 ขอโทษ ‘ปธน.ตุรกี + ถอด ‘แชมป์ พีรพล’ ทุกรายการ” เป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงออก “freedom of expression” และเสรีภาพของสื่อ “press freedom“ หรือไม่การตัดสินว่าสื่อทำหน้าที่ดีหรือไม่ ไม่ควรตัดสินจากการที่เขาพูดแล้วทำให้มีคนโกรธ โดยเฉพาะเมื่อคำนึงว่าเออโดวานนั้นเป็นพวกขี้โกรธและช่างฟ้อง เฉพาะในปี 2016 ปีเดียว กระทรวงยุติธรรมตุรกีแถลงว่า ได้ออกหมายจับบุคคลในข้อหาหมิ่นประมาทประธานาธิบดีมากถึงเกือบ 2,000 ราย (https://bit.ly/2v4oAoQ) เรียกว่าขยันฟ้องคนที่ด่าตัวเองมาก นี่ยังไม่นับกฎหมายอีกมากมายที่ปิดกั้นสื่อ การใช้อำนาจฝ่ายบริหารสั่งปิดสื่อเป็นร้อย ๆ แห่ง ฯลฯ

การเป็น “public figure” (บุคคลสาธารณะ) แต่ไม่อดทนกับคำด่า + คำวิจารณ์นี่เอง ทำให้คนมองว่าเออโดวานเป็น “เผด็จการ” แบบที่แชมป์ว่า

ในเยอรมนี มีกรณีที่คล้ายคลึงกันคือ Jan Böhmermann คอมเมเดียนที่ได้อ่านบทกวีล้อเลียนเสียดสีเออโดวานออกอากาศทางทีวีเยอรมนีเมื่อมี.ค. 2016 รัฐบาลตุรกีกดดันให้ทางการเยอรมันสอบสวนเรื่องนี้ และแจ้งข้อหาอาญาต่อนายเบอเมอร์มัน ฐานหมิ่นประมาทประมุขต่างชาติ ใช้อำนาจตามกฎหมายโบราณตั้งแต่ปี 1871 ต่อมารัฐบาลเยอรมนียอมให้อัยการสอบเรื่องนี้ (การฟ้องคดีอาญาต้องได้รับความเห็นชอบจากครม.เยอรมัน) ทำให้แมร์เกิลถูกวิจารณ์อย่างหนักว่า ไม่ปกป้อง “press freedom”

อย่างไรก็ดี สุดท้ายอัยการเยอรมันมีความเห็นไม่สั่งฟ้องอาญาต่อนายเบอเมอร์มัน โดยเห็นว่าเป็นการแสดงความเห็นเสียดสี แต่ไม่ถึงขั้นมีเจตนาในการดูหมิ่น แต่เออโดวานได้ฟ้องเขาทางแพ่งด้วย ซึ่งศาลไม่ได้ลงโทษนายเบอเมอร์ เพียงแต่สั่งไม่ให้อ่านบทวีชิ้นนี้อีก (เฉพาะ 18 จาก 24 บรรทัด อ่านไม่ได้) ท่านที่สนใจเสิร์ชหากวีบทนี้ในเน็ตได้

ประเด็นการวิจารณ์เออโดวาน ผมเห็นว่าสามารถทำได้ เพราะเขาเป็นบุคคลสาธารณะ ผิดถูกอย่างไร ตัดสินกันตรงนั้น ไม่ใช่ตัดสินจากแค่ว่ามันทำให้คนที่ถูกวิจารณ์โกรธ ก็ถ้าจะไม่ให้คนโกรธ แล้วจะวิจารณ์ทำไม

เป็นที่น่าเสียดายว่า ในบรรดาพี่น้องมุสลิมเท่าที่ผมเจอ แม้จะก้าวหน้าแค่ไหนก็เดารพเออโดวานราวกับ “เทวรูป” มันเป็น “idolatry” ซึ่งความจริงก็ขัดกับหลักศาสนาของตัวเองแท้ ๆ เห็นว่า “แชมป์” โดนพวกมุสลิมทุกระดับวิจารณ์ยับ นับว่าน่าเสียดายว่า ความคิดของอิสลามกับโลกประชาธิปไตยสมัยใหม่ มีช่องว่างมากมายจริง ๆ

นอกจากมีรายงานการจับบุคคลในข้อหาหมิ่นประมาทประธานาธิบดีตุรกีมากถึงเกือบ 2,000 ราย แล้ว เมื่อ ก.ค.ปีที่แล้ว ตุรกี ยังคุมขังอิดิล เอสซา (Idil Eser) ผู้อำนวยการองค์กรแอมเนสตีอินเตอร์เนชันแนลประจำตุรกีผู้ถูกคุมขังโดยไม่สามารถติดต่อได้พร้อมกับผู้แทนขององค์กรเฮลซิงกิซิติเซนแอสเซมบลี (Helsinki Citizens’ Assembly) ซึ่งเป็นองค์กรเพื่อสันติภาพ ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนจากยุโรป ขณะที่พวกเขากำลังฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการด้านความปลอดภัยทางดิจิทัลบนเกาะบูยูกาดาในเมืองอิสตันบูล โดยก่อนหน้านั้นทางการตุรกีก็เพิ่งจับกุม ทาเนอร์ คิลิจ ประธานแอมเนสตีประจำตุรกีรวมถึงทนายความ 22 คน โดยอ้างว่ามีส่วนเกียวข้องกับกลุ่มของเฟตุลเลาะห์ กูเลน อดีตครูสอนศาสนาที่เป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองและลี้ภัยอยู่นอกประเทศด้วย

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.