Posted: 16 Jul 2018 08:32 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

ใบตองแห้ง


ไชโย 13 ชีวิตทีมหมูป่า ออกจากถ้ำมาได้แล้ว ต้องชื่นชมความสำเร็จคนไทย รักกันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว จนทำได้เป็น ครั้งแรกของโลก แม้ต้องพึ่งพาอาศัยนักดำน้ำนานาชาติ 13 คน

สื่อไทยที่เกาะติดปฏิบัติการ 18 วัน ได้ภาพได้ข่าวล้นหลาม ทั้งลุ้นระทึก ตื้นตัน อิทธิปาฏิหาริย์ นิยาย วีรกรรม ดีใจ เศร้าใจ พระเอก ผู้ร้าย

เพียงแต่รายสุดท้าย ผู้ร้ายในสายตาสังคม กลับกลายเป็น สื่อนั่นเอง ที่โดนรุมกระหน่ำ ว่าแข่งขันกันทำข่าวขายข่าวจนล้ำเส้น เช่น แอบคุ้ยชื่อเด็ก ส่งโดรนขึ้นบิน และใช้ข่าวจาก ว.แดงกู้ภัย

ว่าตามเนื้อผ้า สรรพสิ่งมีสองด้าน ผู้สื่อข่าวภาคสนาม มีจำนวนตั้งมากมาย ที่ไปทำข่าวอย่างอุตสาหะ สนองความอยากรู้อยากเห็นของสังคม โดยไม่เคยล้ำเส้นละเมิดสิทธิ แต่ถูกเหมาด่าไปหมด ก็ไม่เป็นธรรมเท่าไหร่

หรือว่าตามหลักวิชาข่าว จะให้สื่อนั่งเอี้ยมเฟี้ยม รอฟังคำแถลงจากผู้มีอำนาจหน้าที่ มันก็คงไม่ใช่ สื่อมีหน้าที่หาข้อมูล ตรวจสอบไปในตัว เพียงแต่กรณีนี้เป็นปฏิบัติการช่วยชีวิต ก็ต้องขีดเส้นไม่ให้กระทบการกู้ภัย และไม่ละเมิดสิทธิ

ยกตัวอย่างเทียบกัน ครั้งม็อบอยากเลือกตั้ง ตำรวจห้าม นักข่าวไปยืนฝั่งม็อบ ก็เชื่อฟังไม่ได้ ครั้งนี้ก็มีข้อมูลหลายอย่างที่สื่อต้องแสวงหาเอง เช่น ใช้วิธีอะไรนำทีมหมูป่าออกจากถ้ำ ซึ่ง ศอร.ไม่ยักแถลง ทั้งที่ไม่ใช่ความลับต้องปิดบัง ดังนั้นบางเรื่อง เช่นสื่อหาข้อมูลจาก ว.แดง ก็ไม่ผิด แต่ตอนนำเสนอต้องใช้ วิจารณญาณ

กระนั้นในภาพรวม ก็ต้องยอมรับกันว่า “สื่อเสื่อม” ไม่ใช่เฉพาะพฤติกรรมล้ำเส้นช่วงช่วยชีวิต และไม่ใช่เฉพาะ Media Crisis ครั้งนี้ ที่มีสื่อไทยสื่อเทศไปลงทะเบียนพันกว่าคน จนเกิด การเปรียบเทียบอย่างช่วยไม่ได้ เช่น ทำไมสื่อญี่ปุ่นทำโมเดลทำหนังสั้นจำลองสถานการณ์ถ้ำหลวงอย่างที่คนดูยกนิ้วให้ ขณะที่สื่อไทยมัวแต่เร้าอารมณ์ เวิ่นเว้อ ฟูมฟาย “รู้สึกอย่างไรคะ”

อ.พิจิตรา สึคาโมโต้ นิเทศจุฬาฯ พูดไว้ตั้งแต่ก่อนปฏิบัติการช่วยชีวิตแล้วว่า สื่อไทยยังเน้นเนื้อหาลักษณะ “ไทยมุง” ซึ่งไม่ได้สร้างความรู้ให้คน ไม่ได้เป็นประโยชน์สาธารณะ มิหนำซ้ำยังละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เพราะเน้นเรื่องส่วนตัว ผู้ประสบภัย สื่อไทยทำตัวเหมือนคนธรรมดาที่ใช้อินเตอร์เน็ตเป็น ทั้งที่ควรมีชั้นเชิงที่ลึกซึ้งกว่า มีความเป็นมืออาชีพ มีความน่าเชื่อถือ

อ.พิจิตรายังทำสถิติให้ดูว่า ข่าวที่มียอดไลก์ยอดแชร์สูง ได้แก่ข่าวความเสียสละหรือการแสวงหาฮีโร่ ข่าวหาแพะ หาคนผิด ข่าวไสยศาสตร์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และข่าวเรานับถือน้ำใจคนไทย (ตื้นตัลล์น้ำตาไหลล์ล์ล์)

เดี๋ยวๆ อันนี้ไม่ได้ผิดที่สื่อนะ เธอบอกว่าเป็นภาพสะท้อนวัฒนธรรมและสังคมไทย คือข่าวเนื้อหาสาระก็มีอยู่ แต่ไม่กดไลก์กดแชร์

ฉะนั้นตอนที่มีสื่อนิรนามเกรียนอิสระออกมาโต้ (แล้วถูกด่าอื้ออึง) ว่านักข่าวไทยมุงก็เสือกแทนสังคมดราม่าละวะ ก็พูดถูกด้านหนึ่ง แต่อีกด้านคืองั้นทำไมสื่อต้องยกตนเป็นตะเกียง เป็นฐานันดรที่ห้า ถ้าไม่มีความเป็นมืออาชีพและวุฒิภาวะ

ในภาพรวมจึงเห็นได้ว่า “สื่อเสื่อม” มานานแล้ว ตั้งแต่มีทีวีดิจิตอลดาวเทียมไลฟ์สดนับร้อยช่อง แข่งกันขายข่าวดารา ข่าวดราม่า มีพิธีกรข่าวปากกว้างๆ นับสิบคนแข่งกันเป็นสรยุทธ์ สุทัศนะจินดา แต่มีประสบการณ์ข่าวน้อยกว่า วุฒิภาวะน้อยกว่า ต้องแข่งกันปลุกเร้า บิลด์อารมณ์ แข่งฟันธง หาฮีโร่หาคนผิด

ในภาพรวมยังเห็นได้ว่า สื่อไม่ใช่กระจกตั้งนานแล้ว ตั้งแต่สื่อกระแสหลักเลือกข้าง ทำลายล้างเสรีภาพประชาธิปไตย อ้างความดีปลุกความเกลียดชัง ไม่เอาเลือกตั้ง ไม่เว้นแม้พวกอวดตัวว่ามีจรรยาบรรณ ตามองค์กรวิชาชีพทั้งหลาย

เมื่อสังคมเปลี่ยน สู่ยุคโซเชี่ยลออนไลน์ ประชาชนทุกคนเป็นสื่อได้ ก็เกิดเพจดังหลากหลายตั้งตัวเป็น Influencer ปลุกอารมณ์สังคมแข่งกับสื่อ โดยไม่ต้องมีข้อจำกัด ไม่ต้องคาบจรรยาบรรณ หรือความรับผิดชอบเชิงองค์กรสถาบัน ดราม่าสนุกสนาน มีคนติดตามมากกว่าสื่อด้วยซ้ำไป

ความเสื่อมของสื่อ ยังอยู่ในกระแส antie-establishment เหมือนกระแสต่อต้านระบบที่เกิดขึ้นทั่วโลกทั่วทุกปริมณฑล สื่อเป็นฐานันดรที่ห้า มีความเป็นอภิสิทธิ์ชน เราได้อภิสิทธิ์นั้นเพื่อเป็นปากเสียงทวงสิทธิเสรีทวงความเป็นธรรมให้สังคม เมื่อใด ที่สังคมเห็นว่าสื่อไม่ทำหน้าที่ เมื่อนั้นก็ไม่ควรมีฐานันดร

เพียงแต่กระแสวิพากษ์สื่อก็มีด้านกลับ ภายใต้สังคมดราม่าที่ใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล ค่อนไปทางนิยมอำนาจ อาจเข้าทางอำนาจที่อยากกำกับควบคุมสื่อ ซึ่งมุ่งปิดปากสื่อ ที่มีเหตุผล ที่เหลือก็ปล่อยให้สาละวนทำข่าวผัวเมียดาราไป



ที่มา: https://www.khaosod.co.th/hot-topics/news_1333134

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.