Posted: 15 Jul 2018 04:05 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

สื่อโกลบแอนด์เมลนำเสนอเรื่องของชอว์น จาง นักศึกษาด้านนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งบริติชโคลัมเบีย ผู้ที่สนใจเรื่องสิทธิมนุษยชนในจีนโดยเฉพาะพื้นที่ทิเบตและซินเจียง เขาเป็นคนที่จริงจังกับเรื่องการสืบสวนเกี่ยวกับ "ค่ายกักกันปลูกฝังความเชื่อใหม่" ในซินเจียงโดยใช้ภาพถ่ายผ่านดาวเทียม อะไรทำให้เขาสนใจเรื่องค่ายกักกันนี้


15 ก.ค. 2561 "ค่ายกักกันปลูกฝังความเชื่อใหม่" เป็นค่ายที่ทางการจีนจับประชาชนในซินเจียงโดยเฉพาะชาวมุสลิมรวมนับแสนคนเข้าปลูกฝังความเชื่อทางการเมืองใหม่ โดยถึงแม้ทางการจีนจะอ้างว่าระบบดังกล่าวนี้เป็น "การฝึกอบรมทักษะวิชาชีพ" แต่นักวิจารณ์ก็มองว่ามันเหมือนกับ "เรือนจำทหาร" มากกว่า และหนึ่งในผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการบันทึกข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเรื่องนี้คือนักศึกษาอายุ 28 ปี ชื่อ ชอว์น จาง เขาเกิดในประเทศจีนและปัจจุบันศึกษาอยู่คณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบียจากโครงการให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมาย (legal-aid)

จากภาพถ่ายดาวเทียมที่จางศึกษาแสดงให้เห็นว่าสภาพของค่ายกักกันฯ มีการวางรั้วลวดหนามและมีหอคอยเฝ้ายามตั้งอยู่รอบๆ การค้นหาสถานกักกันเหล่านี้กลายเป็นโครงการส่วนตัวของจาง มันทำให้เขาสามารถค้นพบแหล่งที่ต้องสงสัยว่าจะเป็นค่ายกักกันได้แล้ว 21 แหล่ง แค่ในเดือน ก.ค. เดือนเดียวก็พบแหล่งต้องสงสัยถึง 6 แหล่ง โดยที่จางมองว่าแหล่งกักกันเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงประเด็นสิทธิมนุษยชนที่น่าเป็นห่วงในจีน

ในจีนมีความไม่ลงรอยกันระหว่างชาวจีนเชื้อสายฮั่นซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศกับชนกลุ่มน้อยมุสลิมชาวอุยกูร์มานานแล้ว ความไม่ลงรอยนี้แตกหักในเหตุการณ์จลาจลปี 2552 หลังจากนั้นทางการจีนก็มักจะโทษเหตุก่อการร้ายในประเทศว่าเป็นฝีมือชาวอุยกูร์ ขณะเดียวกันก็มีชาวอุยกูร์หลายร้อยคนที่ไปเข้าร่วมกลุ่มไอซิส

อย่างไรก็ตามจางมองว่าค่ายกักกันปลูกฝังความเชื่อของจีนเป็นความพยายามควบคุมพื้นที่ซินเจียงให้ได้เต็มรูปแบบ โดยอาศัยการลบล้างวัฒนธรรม ลบล้างอัตลักษณ์ และดูดกลืนชาวอุยกูร์

ดาร์เรน บายเลอร์ นักมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยวอชิงตันที่ศึกษาเรื่องของมณฑลซินเจียงกล่าวถึงโครงการของจางว่าเป็นข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือมากและช่วยให้เห็นแผนการสร้างค่ายกักกันของรัฐบาลจีนในมุมกว้างได้ และจากที่บายเลอร์มองเห็นการสร้างค่ายกักกันจำนวนมากนี้เองทำให้เขาวิเคราะห์ได้ว่าโครงการปรับทัศนคติชาวอุยกูร์นี้เป็นสิ่งที่มีการวางแผนและจัดการมาเป็นระบบมาก บายเลอร์ตั้งข้อสังเกตว่าแต่ละค่ายกักกันมีการออกแบบตำแหน่งที่ตั้งสิ่งก่อสร้างต่างๆ คล้ายคลึงกันแบบที่ดูเหมือนวางแผนมาแล้วจากส่วนกลาง นอกจากนี้ยังเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่ามีประชากรชาวอุยกูร์ราวร้อยละ 10 ที่ถูกจับเข้าค่ายกักกัน

ก่อนหน้าที่จะทำโครงการนี้จางเคยเป็นนักศึกษาวิชาวรรณกรรมจีนที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง และมีดีกรีปริญญาโทจากสาขาวิชาเอเชียตะวันออกศึกษาของมหาวิทยาลัยวอชิงตัสในเซนต์หลุยส์ รัฐมิสซูรี เขาวางเส้นทางอาชีพของตัวเองเอาไว้ว่าอยากเป็นนักวิชาการ การถกเถียงอภิปรายกับเพื่อนร่วมห้องและการได้ชมสารคดีการปราบปรามผู้ชุมนุมที่จัตุรัสเทียนอันเหมินทำให้เขามีแนวคิดการเมืองที่แหลมคมมากขึ้น นอกจากนี้จางยังสนใจแถลงการณ์กฎบัตร 08 ของนักวิชาการและนักสิทธิมนุษยชนในจีนที่เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองแบบอำนาจนิยมของรัฐบาลจีน รวมถึงสนใจกรณีนักกิจกรรมรางวัลโนเบลหลิวเสี่ยวโปด้วย

จางบอกว่าเขาหวังว่าการเรียนด้านกฎหมายจะทำให้เขามีเครื่องมือในการไขว่คว้าความสนใจเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน ตัวเขาเองไม่เรียกตัวเองว่าเป็นนักกิจกรรมแต่ข้อเขียนเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนของเขาในโลกออนไลน์ก็ทำให้ทางการจีนเข้ามาสอบสวนเขา เช่นในปี 2555 ตำรวจลับของจีนสอบสวนจางเกี่ยวกับทวิตเตอร์ที่เขาโพสต์เกี่ยวกับการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในจีนช่วงปี 2554

นอกจากตำรวจจีนยังเคยติดต่อหาพ่อแม่ของจางในช่วงต้นปีที่ผ่านมาหลังจากที่จางโพสต์ภาพธงทิเบตในทวิตเตอร์และโซเชียลมีเดียจีนเว่ยป๋อ โดยตำรวจจีนเรียกร้องให้เขาลบเนื้อหารูปภาพดังกล่าวทิ้ง หลังจากที่เขาไม่ยอมทางการจีนก็โน้มน้าวให้เพื่อนพ่อของจางซึ่งเป็นพนักงานรัฐฝ่ายโฆษณาชวนเชื่อพูดกับพ่อของจางแทน พ่อของจางถูกถ่ายภาพเก็บไว้ในการพบปะครั้งนั้นและถูกขอให้ลงนามในเอกสารเกี่ยวกับเรื่องที่พูดคุยกัน ตำรวจยังเคยติดต่อกับพ่อแม่ของจางอีกครั้งหลังจากที่เขาโพสต์ภาพของประธานาธิบดีสีจิ้นผิงในแบบที่ดูไม่สง่า รวมถึงมีการระงับบัญชีผู้ใช้เว่ยป๋อของเขาสองบัญชีในปีนี้

ถึงแม้ว่าจางจะไม่ได้ถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดจากรัฐบาลจีนในช่วงที่เขาอยู่ในมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบียในแคนาดา แต่เขาก็เข้าใจว่าโครงการสืบค้นเรื่องค่ายกักกันของจีนทำให้เขามีความเสี่ยง และนั่นทำให้จางบอกว่าเขาไม่อยากกลับไปจีนถ้าไม่ได้เดินทางไปด้วยหนังสือเดินทางของแคนาดา และเขาต้องการลงทะเบียนเป็นผู้อาศัยถาวรของแคนาดาในอีกไม่นานนี้

ขณะที่ทางการจีนปฏิเสธการมีอยู่ของของค่ายกักกันฯ สื่อของรัฐบาลก็เขียนถึงเรื่องการแพร่กระจายโฆษณาชวนเชื่อของอุดมการณ์พรรคคอมมิวนิสต์และความสำเร็จในโครงการของพวกเขาอย่างจริงจัง

สาเหตุที่จางต้องการสืบค้นเรื่องค่ายกักกันเหล่านี้มีแรงจูงใจมาจากการที่เขาต้องการหาหลักฐานที่เป็นรูปธรรมจากคำบอกเล่าของผู้ถูกจับกุมเข้าสถานกักกันเหล่านี้หรือจากปากคำญาติของพวกเขา จางยังหวังว่าประชาคมโลกจะกดดันจีนให้หยุดค่ายกักกันเหล่านี้ โดยทูตแคนาดามีการพูดถึงประเด็นนี้ต่อจีนและในที่ประชุมขององค์การสหประชาชาติแล้ว


เรียบเรียงจาก

UBC student uses satellite images to track suspected Chinese re-education centres where Uyghurs imprisoned, The Globe and Mail, 09-07-2018
https://www.theglobeandmail.com/world/article-ubc-student-uses-satellite-images-to-track-suspected-chinese-re/

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.