Posted: 17 Jul 2018 01:39 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
หลังกองทุนสื่อสร้างสรรค์ฯ ออก 5 ลักษณะสื่อไม่ปลอดภัย/ไม่สร้างสรรค์ ‘ใบตองแห้ง’ ชี้เป็นกฎที่ยิ่งจำกัดกรอบการสร้างสรรค์ตามโอวาทรัฐ ย้ำวิวัฒนาการสื่อต้องมาจากกล้าตั้งคำถามท้าทายกรอบศีลธรรม ขณะที่วิธีคิดแบบไทยๆ คือป้องกันเยาวชนจากสื่อไม่ดี แต่กลับไม่ติดทักษะ ‘การรู้เท่าทันสื่อ’
หลังจากเมื่อวาน (16 ก.ค. 61) คณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ออกประกาศเรื่อง “กําหนดลักษณะของสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ พ.ศ.2561” ตั้งแต่เรื่องขัดต่อศีลธรรม ยุยงปลุกปั่น ส่งเสริมการละเมิดสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ขัดต่อกฎหมาย และขัดต่อหลักจรรยาบรรณสื่อ
ประกาศ 5 ลักษณะสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์
จากเนื้อหาที่ตีความได้โดยกว้าง จึงเกิดคำถามว่าสื่อที่อยู่ภายใต้การตีกรอบเหล่านี้ ยังจะสามารถทำหน้าที่สื่อเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมได้อยู่หรือไม่ ประชาไทสัมภาษณ์ อธึกกิต แสวงสุข คอลัมนิสต์เจ้าของนามปากกา ‘ใบตองแห้ง’ และพิธีกรวิเคราะห์ข่าววอยซ์ทีวี ต่อประเด็นดังกล่าว
อธึกกิต กล่าวว่า สื่อที่อยู่ภายใต้กฎ 5 ข้อนี้ นอกจากเรื่องละเมิดสิทธิมนุษยชนแล้ว 4 ข้อที่เหลือก็คือสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ในโอวาทรัฐ คือสื่อที่อยู่ในกรอบ ไม่ใช่สื่อที่เป็นเครื่องมือเปลี่ยนแปลงสังคมซึ่งต้องเปิดกว้าง ต้องมีความหลากหลาย ไม่จำกัดอยู่ภายใต้กรอบของคนส่วนใหญ่
เขา ชี้ว่า วิวัฒนาการของสื่อต้องมาจากสื่อที่กล้าท้าทายต่อศีลธรรม จริยธรรม วัฒนธรรมในสังคมทั้งนั้น เพราะสิ่งเหล่านี้คือการตีกรอบให้อยู่ในระบบ ให้เชื่อฟัง เช่นเดียวกับค่านิยม 12 ประการ ยกตัวอย่างเช่น คำว่า “ทุกคนต้องเป็นคนดี” สื่อก็จะไม่สามารถโต้เถียงได้ว่า “อะไรคือการเป็นคนดี” หรือการรณรงค์ไม่ดื่มเหล้าสูบบุหรี่ พอมีสื่อที่โต้แย้งว่าเรายังมีสิทธิ์ดื่มเหล้าสูบบุหรี่ตราบใดที่ไม่ไปทำให้คนอื่นเดือดร้อน สื่อแบบนี้ก็จะถูกมองว่าสื่อขัดต่อศีลธรรมอันดีงาม หรือในแง่การวิพากษ์วิจารณ์ทางวัฒนธรรม เช่น คำสอนของศาสนาในข้อนี้อาจจะมีปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิ์หรือจำกัดเสรีภาพ สื่อก็อาจจะไม่สามารถสร้างข้อถกเถียงทางศาสนาได้ หรือเรื่องขัดต่อกฎหมาย ก็ต้องตั้งคำถามว่าเราอยู่ในกฎหมายอะไร เราอยู่ในกฎหมายม. 44 สื่อบางครั้งก็ต้องขัดแย้งต่อกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ไม่ได้ก่อให้เกิดความเท่าเทียม เสมอภาค
“ดังนั้นหน้าที่สื่อจึงไม่อาจอยู่ในกรอบ แต่หน้าที่สื่อคือการถกเถียงเพื่อสร้างสิ่งใหม่ ทำให้สังคมเปลี่ยนแปลง” อธึกกิตกล่าว
เขา กล่าวต่อเรื่องกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ออกว่า ทางกองทุนฯ เคยให้ทุนกับละครช่อง 5 เรื่อง ‘นายร้อยสอยดาว’ จำนวน 5 ล้านบาท ทั้งที่มีงบประมาณจัดสรรให้ช่อง 5 อยู่แล้ว ถามว่านั่นคือสื่อปลอดภัยสร้างสรรค์จริงหรือไหม มีองค์กรอื่นที่ควรได้กว่านี้หรือไม่ หรือการให้ทุนกับสื่อสังคมออนไลน์เพื่อมาตุภมิ หรือการ์ตูนสำหรับเด็ก
“สิ่งเหล่านี้มันอาจเป็นอะไรที่ดีๆ ในแนวของรัฐแต่มันไม่หลากหลาย สิ่งที่แหกคอกออกไปถูกมองว่าไม่ใช่สิ่งดี วิธีคิดคือปกป้องเยาวชนจากการรับสิ่งไม่ดี แทนที่จะไปเสริมสร้างการเท่าทันสื่อหรือการรับมือกับโลกออนไลน์ยังไงให้ถูกวิธี” อธึกกิต กล่าวทิ้งท้าย
รายละเอียดประกาศระบุว่า โดยที่ พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ.2558 กําหนดให้คณะกรรมการประกาศกําหนดลักษณะของสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ เพื่อประโยชน์ในการควบคุมดูแล กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ให้ดําเนินกิจการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการส่งเสริม และสนับสนุนให้ประชาชนโดยเฉพาะเด็ก เยาวชนและครอบครัวมีทักษะในการรู้เท่าทันสื่อเฝ้าระวังสื่อ ที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ และสามารถใช้สื่อในการพัฒนาตนเอง ชุมชนและสังคม อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 21 (2) แห่ง พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัย และสร้างสรรค์ พ.ศ.2558 ประกอบกับมติที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัย และสร้างสรรค์ ในการประชุมครั้งที่ 4/2561 เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2561 คณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์จึงกําหนดลักษณะของสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ไว้ ดังต่อไปนี้
1. สื่อที่มีเนื้อหาขัดต่อศีลธรรม จริยธรรม และวัฒนธรรมอันดีของสังคม หรือส่งผลกระทางลบต่อจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน ครอบครัว ชุมชน และสังคมอย่างร้ายแรง
2. สื่อที่มีเนื้อหาก่อให้เกิดความแตกแยก ยั่วยุ และสร้างความเกลียดชังต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลจนอาจก่อให้เกิดผลกระทบร้ายแรง ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกายหรือจิตใจ
3. สื่อที่มีเนื้อหาส่งเสริมการละเมิดสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
4. สื่อที่มีเนื้อหาขัดต่อกฎหมาย
5. สื่อที่มีเนื้อหาขัดต่อหลักจรรยาบรรณสื่อ หรือแนวปฏิบัติของวิชาชีพสื่อนั้นๆ
[full-post]
แสดงความคิดเห็น