Posted: 20 Jul 2018 10:10 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sat, 2018-07-21 00:10

ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์

ข่าวหนี้ครูที่เป็นที่โจทก์ขวัญกันอย่างกว้างขวางได้ทำให้เห็นถึงการถกเถียงกันอย่างน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นมุมมองคลาสสิกแบบอนุรักษ์นิยมที่มองว่า ครูเหล่านี้คือ ผู้ไม่รู้จักอดออมประหยัด ฟุ้งเฟ้อ และไม่เป็นเยี่ยงอย่างที่ดีให้กับเด็กนักเรียน นักศึกษา โดยเฉพาะเมื่อไปเทียบกับการที่บัณฑิตเบี้ยวหนี้กยศ. หรือการมองในสายตาฝั่งทุนนิยมที่เห็นว่า พวกเขาเหล่านี้คือ ผู้แพ้ในโลกทุนนิยม ผู้ที่ไร้วินัยทางการเงิน ใช้เงินเกินตัว การเรียกร้องรัฐให้มาอุ้มถือว่าเป็นการเอารัดเอาเปรียบสังคม ขณะที่ฝั่งมาร์กซิสต์ก็เสนอว่า นี่คือปัญหาเชิงโครงสร้างที่พวกครูเผชิญอยู่ แต่ก็ถูกโจมตีว่า วิธีคิดเช่นนี้ทำให้ละเลยปัญหาที่เกิดจากปัจเจกโดยไปโทษโครงสร้างเสียทั้งหมด ข้อถกเถียงเหล่านี้ ไม่แน่ใจนักว่าจะนำพวกเราไปสู่ทิศทางใด อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมีเรื่องที่จะชวนคุยอยู่ 2-3 ประเด็น ดังนี้


1. ความเป็นแรงงานที่หายไป

กรณีหนี้ครูครั้งนี้ได้ทำให้กลุ่มครูที่รวมตัวกันเรียกร้อง ถูกแบ่งแยกออกมาจากสังคม กลายเป็นปัจเจกที่ต่อรองผลประโยชน์เพื่อตัวเองลักษณะเช่นนี้จึงผลักให้ครูกลายเป็นเป้าวิจารณ์ในที่สาธารณะดังที่กล่าวไปแล้วเบื้องต้น โดยที่ผู้วิจารณ์จำนวนมากไม่ตระหนักว่า พวกเราก็อยู่ในโครงสร้างทุนนิยมที่ถูกขูดรีดไปด้วยกัน สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาจากปัญหาของการหายไปของการตระหนักถึง "ความเป็นแรงงาน" ในกลุ่มคนและวิชาชีพต่างๆ หลังจากที่อุดมการณ์การเมืองที่ขัดง้างกับทุนนิยมแบบสังคมนิยมได้เสื่อมมนต์ขลังไปหลายสิบปี

แรงงานถูกทำให้กลายเป็นคำธรรมดาสามัญ ทั้งยังแฝงนิยามความดูถูกเหยียดหยามไปในตัว จึงพบว่ามีคนอยู่ไม่มากนักที่นิยามตนเองเป็นแรงงาน คำว่าแรงงานจึงถูกจัดให้อยู่คนกลุ่มแคบๆ นั่นคือ กรรมกรผู้ใช้แรงงาน คนในโรงงาน ทั้งที่แรงงานจำนวนมากอยู่ภายใต้การควบคุมอย่างกฎหมายแรงงาน กฎหมายประกันสังคมที่ถูกบังคับให้ต้องจ่ายเงินสมทบกองทุน ฯลฯ

อย่างครูก็เป็นวิชาชีพหนึ่งที่นับเป็นแรงงานได้ เพียงแต่ว่าในสังคมไทยอาชีพมักจะผูกอยู่กับเกียรติที่มากับสถานภาพความศักดิ์สิทธิ์ ครูแม้จะถูกเปรียบเป็นเรือจ้าง แต่ก็มิได้เป็นแรงงาน ครูเป็นผู้มีศักดิ์ศรีที่สูงกว่านั้น เช่นเดียวกับวิชาชีพอื่นๆ ที่นิยามตัวเองหลีกออกจากความเป็นแรงงานทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ

กรณีครูที่เป็นข้าราชการ (ไม่นับกรณีครูอัตราจ้าง ครูเอกชนที่สภาพการจ้างย่ำแย่กว่า และแทบจะไม่มีความมั่นคงและสวัสดิการที่สมเหตุสมผล) ยังมีความซับซ้อนไปอีก เนื่องจากพวกเขามีสถานะเป็นข้าราชการที่ไม่ถือเป็นแรงงานตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ ทั้งยังมีสวัสดิการแบบข้าราชการที่เหนือกว่าสิทธิประกันสังคมตามแรงงานทั่วไปเข้าถึง ยังไม่นับว่าฐานเงินเดือนของครูปัจจุบันเมื่อเทียบกับอายุงานแล้วถือว่ามีระดับที่สูงมาก ดังนั้นข่าวหนี้ครู จึงสร้างความหมั่นไส้ให้กับแรงงานจำนวนมากไปด้วยในฐานะที่พวกเขาไม่เล่นตามกติกา แม้จะมีแต้มต่อกว่าคนกลุ่มอื่นๆ

การไม่ตระหนักถึงความเป็นแรงงาน จึงเป็นผลต่อการรวมตัวเพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับแรงงานที่มีจำนวนมหาศาลในประเทศ นั่นทำให้ผู้ที่เป็นแรงงานไร้อำนาจต่อรองกับนายจ้าง และผลกระทบอันไม่เป็นธรรมอื่นๆ กรณีนี้ครูที่ถูกแยกออกมาแล้วจึงง่ายที่จะถูกโจมตีและถูกทำลายชื่อเสียงโดยไม่ได้รับการสนับสนุนจากแนวร่วมแรงงานอื่นๆ เลย

แรงงานทั้งหลายถูกทำให้เชื่อและมีสามัญสำนึกว่า เราต้องทำงานดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอดไปตามกลไกของตลาดทุนและแรงงาน เก็บเงิน ประหยัด อดออม ลงทุนอย่างชาญฉลาดแล้ว สักวันพวกเขาจะมีชีวิตในฝันที่สุขสบาย เห็นได้ชัดที่สุดคือ การลงทุนผ่านการซื้อหวยเดือนละ 2 ครั้ง การดิ้นรนของพวกเขานั้นเกิดขึ้นท่ามกลางระบบสาธารณูปโภคที่รัฐไม่เอื้อให้สำหรับการดำเนินชีวิต เช่น การขนส่งสาธารณะ การศึกษาฟรีที่มีคุณภาพ ฯลฯ ทำให้พวกเขาต้องลงทุนกับสิ่งที่ไม่จำเป็นหากการบริการสาธารณะมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญคือ คนทั่วไปยังเห็นดีเห็นงามกับการที่รัฐไม่ต้องมีพันธะสนับสนุนสวัสดิการที่ว่ามานี้ด้วย

ความเชื่อและความรับรู้เหล่านี้เป็นเชื้ออย่างดีให้แก่นโยบายรัฐที่ปฏิเสธสิ่งที่เรียกว่า รัฐสวัสดิการ แนวนโยบายสายสังคมนิยมที่ให้ความสำคัญกับชีวิตความเป็นอยู่พื้นฐาน แน่นอนว่า อาจถกเถียงกันได้ถึงความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ที่ฝ่ายสนับสนุนรัฐสวัสดิการก็เสนอว่า หากพื้นฐานเบื้องต้นดีจะนำไปสู่ชีวิตโดยรวมของสังคมที่ดีขึ้นและตอบแทนมายังรายได้ของประเทศ ขณะที่อีกฝ่ายก็เห็นว่าเป็นการเสี่ยงในการลงทุนที่มีมูลค่ามหาศาลมากเกินไป นั่นหมายถึง ให้ประชากรในประเทศไปวัดความเสี่ยงเอาเอง ใครโชคดีหน่อยแม้จะไม่ได้มีฐานะดีมาตั้งแต่ต้น แต่อาจจะมีเครือข่ายอุปถัมภ์นี่ช่วยเหลือกันได้ก็จะสามารถหาช่องทางโอกาสไต่เต้าเพื่อสู่ความฝันได้

2. หนี้กับภาระในโลกทุนนิยม

ในจักรวาลที่ทุนนิยมกำชัยชนะอยู่นอกเหนือไปจากอาชีพครู แทบทุกอาชีพในสังคมสมัยใหม่ ล้วนแต่เผชิญหน้ากับความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ สำหรับคนที่มีต้นทุนชีวิตที่มากพอ เช่น เป็นตระกูลผู้มั่งมี หรือครอบครัวข้าราชการทำให้คนเหล่านี้ไม่ต้องห่วงพะวงกับค่าใช้จ่ายพื้นฐานในชีวิตมากนัก ไม่ว่าจะเป็นรายจ่ายจำเป็นในชีวิตประจำวัน รายจ่ายด้านการศึกษา ด้านสุขภาพ ฯลฯ หรือการลงทุนด้านที่อยู่อาศัย ยานพาหนะ และเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ

แต่เชื่อได้ว่าประชากรส่วนใหญ่ในสังคมนี้มิได้มีต้นทุนชีวิตเช่นนั้น ในครอบครัวที่ต้นทุนต่ำ การเข้าถึงทุนวิธีหนึ่งก็คือ การเป็นหนี้ไม่ว่าจะระยะสั้นหรือระยะยาว เห็นได้ชัดจากกรณีเงินกู้ยืมทางการศึกษาที่รู้จักกันดีคือ กยศ. ที่เป็นหนี้ที่เกิดขึ้นเพื่อลงทุนในด้านการศึกษา เงินกู้กรณีผ่อนสร้าง/ซื้อที่พักอาศัยที่เป็นเงินก้อนที่อาจจะเรียกได้ว่า ก้อนใหญ่ที่สุดในชีวิตที่มีระยะเวลาผ่อนส่งยาวนาน 20-30 ปีไม่ต้องนับถึงค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดฝันจากการเจ็บไข้ได้ป่วย การประสบอุบัติเหตุ

ชีวิตประจำวันของคนไทยเกี่ยวพันกับเงินอย่างแยกจากกันได้ยาก รายจ่ายในหนึ่งเดือนที่นับตั้งแต่ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ยังไม่ต้องนับภาษีสังคมต่างๆ ในช่วงที่เศรษฐกิจเฟื่องฟู ซื้อง่ายขายคล่อง ปัญหาอาจยังไม่ชัด จนกระทั่งเศรษฐกิจฝืดเคือง ความจริงที่โหดร้ายของโลกทุนนิยมก็ปรากฏขึ้นอย่างแจ่มแจ้ง

การใช้เงินเพื่ออำนวยความสะดวก ซื้อความสุข ปลอบประโลมตัวเองด้วยสินค้าและบริการต่างๆ แม้จะดูผิดบาปกว่าการก่อหนี้จากการลงทุนที่สมเหตุสมผล จะไม่ถูกประณามตราบใดที่ยังเล่นตามกติกา ไม่ใช้เงินเกินตัว ข่าวหนี้ครูจึงอยู่นอกมาตรฐานการใช้เงินเช่นนี้

อาจลืมไปว่าในโลกทุนนิยมที่ไม่มีตาข่ายรองรับสวัสดิการของชีวิต ไม่ใช่เรื่องธรรมชาติที่เป็นกันทุกสังคม ทั้งที่เราสามารถออกแบบสังคมที่สร้างความจำเป็นพื้นฐานให้กับประชาชนได้ ความฝันแบบทุนนิยมจึงบดบังความเป็นไปได้ทางนโยบายรัฐสวัสดิการและนโยบายทางสังคมนิยมไปด้วย

3. โอกาสการรวมตัวหลังยุคสหภาพแรงงาน...สภาแรงงานและสวัสดิการ?

เมื่อกล่าวถึงการรวมตัวด้านแรงงานแล้ว อาจต้องยอมรับว่านี่ไม่ใช่ยุคที่รุ่งเรืองของสหภาพแรงงานอีกต่อไป สหภาพหลายกลุ่มไปร่วมกับฝ่ายเผด็จการทหารนิยม และสหภาพในทุกวันนี้มักมีภาพที่อยู่ในวงแคบนั่นคือในโรงงานเอกชน และไม่สามารถจะขยายแนวร่วมได้มาก บางครั้งก็ได้ยินว่าในสหภาพแรงงานก็มีสมาชิกที่มีอายุมาก ไม่มีสมาชิกอายุน้อยๆ เข้าไปทำงานร่วมกับสหภาพมากนัก

สหภาพแรงงานยังกระจุกตัวอยู่ในแหล่งงานประเภทโรงงาน รัฐวิสาหกิจ จำนวนไม่มากนัก ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตเมืองใหญ่และย่านอุตสาหกรรม ทั้งที่แรงงานนั้นกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ ในปัจจุบันสหภาพแรงงานจึงยังมิใช่ทางออกของแรงงานส่วนใหญ่ในประเทศ เนื่องจากไม่ได้มีพลังมากพอจะสามารถสร้างเอกภาพและเครือข่ายที่กว้างขวางได้อย่างที่ควรจะเป็น ทั้งที่ปัญหาแรงงานจำนวนมากมีผลกระทบในวงกว้างเช่นเรื่อง ระบบประกันสังคม รู้กันอยู่แล้วว่า กฎหมายประกันสังคมที่บังคับให้แรงงานต้องจ่ายเงินสมทบ คนและเม็ดเงินจำนวนมากเกี่ยวข้องกับระบบนี้ แต่กลายเป็นว่าระบบนี้ ไม่ตอบสนองต่อความต้องการของเจ้าของเงินอย่างที่ควรจะเป็น ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะว่าขาดอำนาจการต่อรองที่กว้างขวางในระดับประเทศ

เช่นเดียวกับกรณีหนี้ครู หากมีการรวมตัวของเหล่าแรงงานที่เข้มแข็ง เครือข่ายเกษตรกร หรืออาชีพอื่นๆ ไม่ว่าจะในนามสหภาพแรงงานหรือหน่วยงานใด ก็จะเป็นกลุ่มก้อนที่สร้างอำนาจต่อรองให้กับเหล่าครู เช่นเดียวกันกับความไม่เป็นธรรมอื่นกับแรงงานในวิชาชีพอื่นๆ ก็จะมีพื้นที่เช่นนี้สำหรับหาทางออกที่สมเหตุสมผลและสมศักดิ์ศรีเช่นกัน

ผู้เขียนเห็นว่า เราอาจจะต้องออกแบบกลไกที่เป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญกับแรงงานและสวัสดิการขึ้นมาเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์และการต่อรองอำนาจของเหล่าแรงงานทั้งผอง ในเมื่อภายใต้กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ที่ตัดแรงงานในสถานที่ราชการออกไป การรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานในหน่วยงานรัฐ และการรวมสหภาพแรงงานข้ามหน่วยงานกับสถานประกอบการกับหน่วยงานรัฐเป็นสหพันธ์แรงงานก็ยิ่งเป็นไปไม่ได้ ไม่เพียงแต่เรื่องแรงงาน สิ่งที่สัมพันธ์กันไปด้วยคือ สวัสดิการซึ่งจะนำไปสู่การวางรากฐานของรัฐสวัสดิการในอนาคต

ในที่นี้ขอเสนอกลไกการทำงานในเชิงโครงสร้างแบบใหม่นั่นก็คือ "สภาแรงงานและสวัสดิการ"

ก่อนจะพูดถึงรายละเอียด ผู้เขียนอยากยกตัวอย่างองค์กรของนายทุนและผู้ประกอบการในนาม"หอการค้า" และ "สภาอุตสาหกรรม" องค์กรทั้งสองยึดครองพื้นที่ทางการเมืองได้ทั้งในระดับประเทศและจังหวัดสร้างอำนาจต่อรอง เป็นปากเป็นเสียงให้กับสมาชิกของตน ทั้งยังไปอยู่ในกลไกของรัฐในนามคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2520[1] ที่รวมเอาสมาคมธนาคารไทยเข้าไปด้วยนั่นหมายถึง นี่คือการผนึกกำลังกันของกลุ่มทุนนิยมของประเทศไปนั่นเอง ส่วนคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ที่จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2524[2] ทั้งกกร.และกรอ.ล้วนนี้มีบทบาทสำคัญในนโยบายรัฐในยุคเผด็จการเต็มใบและครึ่งใบ ตลอดจนประชารัฐของรัฐบาลเผด็จการในยุคนี้ภายใต้การประสานงานอย่างใกล้ชิดจากสำนักงานคณะกรรมพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

สภาแรงงานและสวัสดิการจึงควรถูกก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นปากเป็นเสียงให้แก่เหล่าแรงงานที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในประเทศ สภาแห่งนี้โดยแนวคิดแล้วจะทำหน้าที่ต่อรองกับนโยบายของรัฐ การแสดงจุดยืนจากชนชั้นแรงงาน รวมไปถึงโต้แย้งถกเถียงนโยบายที่ไม่เป็นธรรมกับแรงงาน เช่น การพิจารณาสิทธิประโยชน์ในระบบประกันสังคม และอาจรวมไปถึงการผลิตนโยบายรัฐสวัสดิการที่สอดคล้องกับความต้องการและความเป็นไปได้ของแรงงาน

ที่สำคัญคือ อำนาจดังกล่าวมิได้ทำงานในพื้นที่ระดับประเทศเท่านั้น ทุกวันนี้หอการค้าและสภาอุตสาหกรรมมีบทบาทสำคัญต่อรัฐบาลและการดำเนินการของจังหวัดต่างๆ ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งมักดำเนินไปโดยผลประโยชน์ของชนชั้นของตน ขณะที่แรงงานที่มีจำนวนมากกว่ามาก กลับไร้ซึ่งพื้นที่การต่อรองตั้งแต่ระดับประเทศมาจนถึงระดับจังหวัด ดังที่กล่าวไปแล้วว่า สหภาพแรงงานเองก็ไม่มีน้ำยามากพอ ทั้งยังไม่มีฐานสำคัญในระดับพื้นที่ สภาแรงงานและสวัสดิการจังหวัดจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการสร้างอำนาจการต่อรอง นอกจากประเด็นแรงงานแล้ว พันธกิจหนึ่งของสภาแห่งนี้คือ การให้ความสำคัญกับประเด็นสวัสดิการของแรงงาน และความเป็นไปได้ของรัฐสวัสดิการซึ่งเป็นฐานสำคัญของแนวคิดแบบสังคมนิยมที่จะสร้างสังคมที่เท่าเทียม สภาแห่งนี้ยังควรจะเป็นพี่เลี้ยงทางด้านความรู้ความจัดการต่างๆ ด้านแรงงานและสวัสดิการ ไม่ว่าจะเป็นการให้ความรู้และอำนวยความสะดวกในจัดตั้งสหภาพแรงงาน การสร้างความรู้ จัดเสวนานโยบายด้านแรงงาน และรัฐสวัสดิการ ที่เป็นตัวเชื่อมระดับประเทศกับความเป็นไปได้อื่นๆ ในท้องถิ่นอีก

อย่างไรก็ตามในรายละเอียดผู้เขียนก็ยังนึกไม่ออกว่า ที่มาและกระบวนการจะเป็นอย่างไร แต่ต้องขีดเส้นใต้เน้นด้วยว่า กระบวนการการได้มาซึ่งสภาแห่งนี้จะต้องเป็นประชาธิปไตยที่ยอมรับกันได้ และการดำรงอยู่ในตำแหน่ง ผู้มีอำนาจในสภาจะต้องได้รับการตรวจสอบจากเหล่าแรงงานอย่างจริงจัง ทำงานอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้

เรื่องหนี้ครูในวันนี้ จึงมิได้เป็นแค่ประเด็นดราม่าในสังคมออนไลน์ แต่มันสะท้อนให้เห็นรากฐานสำคัญของโลกทุนนิยมในไทย ทั้งยังเป็นโอกาสสำคัญอย่างยิ่งที่จะนำไปสู่การคิด ถกเถียง ถึงความเป็นไปได้ใหม่ของสังคมไทยอีกด้วย.



เชิงอรรถ




[1] คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.). "ประวัติ". สืบค้นเมื่อ 20 กรกฎาคม 2561จาก http://www.jsccib.org/th/home/history


[2] สำนักงานคณะกรรมพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. "กรอ. กลไกการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ". สืบค้นเมื่อ 20 กรกฎาคม 2561จาก www.nesdb.go.th/ewt_dl_link.php?nid=5272




บทความ
การเมือง
เศรษฐกิจ
สังคม
การศึกษา
แรงงาน
คุณภาพชีวิต
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์
หนี้สินครู

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.