Posted: 29 Jul 2018 07:11 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sun, 2018-07-29 21:11


เอกรินทร์ ต่วนศิริ

คำถามสำคัญที่เราจำเป็นต้องพิจารณาต่อกรณีเรื่องของคุณแชมป์ ผู้สื่อข่าวรายการกีฬาช่อง 3 ที่มีความเห็นต่อประธานาธิบดีตุรกี เรยิบ ทายยิบ แอรโดอัน คือคุณแชมป์มีสิทธิจะให้ความเห็นและแสดงทัศนะเรื่องการเมืองกับฟุตบอลหรือไม่ ? ต่อประเด็นเราสามารถพิจารณาได้หลายมุมมอง ไม่ว่ามองจากมุมไหนก็ย่อมไม่พ้นประเด็นพื้นฐานสุดคือ สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

สำหรับผมแล้วนับว่าเป็นเรื่องธรรมดาอย่างมากต่อการวิพากษ์วิจารณ์ ที่มีต่อ “นักการเมือง” และ “บุคคลสาธารณะ” ในทางด้านวิชาการ “นักการเมือง” สามารถวิพากษ์วิจารณ์ และแสดงทัศนะ ความเห็นต่าง ๆ ได้นับว่าเรื่องนี้เป็นสิทธิและเสรีภาพของการทำงานของคนทำงานทางด้านสื่อ และประชาชนคนธรรมดาอย่างเรา ๆ

การจะมีใครพูดว่าประธานาธิบดีตุรกี เรยิบ ทายยิบ แอรโดอัน เป็นเผด็จการ ก็ไม่เห็นว่าเป็นเรื่องที่แปลกและต้องอ่อนไหวรับไม่ได้ เพราะอย่างน้อย ๆ ผลการเลือกตั้งตุรกีที่ผ่านมาปี 2018 คนตุรกีที่ไปเลือกตั้งจำนวน 48 % ก็ไม่ได้ลงคะแนนเสียงให้เรยิบ ทายยิบ แอรโดอัน และคนที่เห็นต่างในประเทศตุรกี ก็เรียกว่าเขาว่าเผด็จการ หรือสุลต่านคนใหม่ ไม่นับการล้อเลียนภาพผู้นำ ทำเป็นรูปการ์ตูนต่าง ๆ จากสื่อต่าง ๆ และคนตุรกีที่ไม่เห็นด้วยกับการบริหารประเทศ ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องปกติของการแข่งขันทางการเมืองเพื่อต้องการเสียงโหวต

ข้อตกลงร่วมกันของประชาชนในประเทศตุรกีคือ การไม่ยอมรับให้ทหารเข้ามายึดอำนาจปกครองประเทศ และประชาชนจะเลือกผู้นำเอง โดยผ่านการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นการแข่งขันตามกฎกติกาภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ผลคือพรรคอัคได้รับคะแนนเสียงเกินครึ่งคือ 52 % พรรคผ่านค้านก็ยอมรับการเลือกตั้ง เดินหน้าตรวจสอบรัฐบาลอย่างเข้มข้นต่อไป ทั้งวิพากษ์วิจารณ์จากทั้งในและต่างประเทศ และแน่นอนเรยิบ ทายยิบ แอรโดอัน คือเผด็จการในสายตาของคนตุรกีเกือบครึ่งประเทศ

ผมอยากจะเรียนว่า เราไม่ต้องไปหาสื่อที่ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ มีแต่เราเท่านั้นที่จะใช้สติปัญญาในการรับฟังสื่อ จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะผู้ทำงานด้านสื่อไม่สามารถบังคับให้เราเชื่อได้

เราพบเห็นความผิดพลาดทางด้านการสื่อสาร การให้ข้อมูลทางด้านสาธารณะจำนวนมาก ไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากการเลือกขอมูลหรือว่าเกิดจากทัศนะคติส่วนตัวที่แสดงผ่านพื้นที่ Onlineและ Offline ทั้งแบบทางการและไม่ทางการ

ต่อกรณีของคุณแชมป์ในฐานะนักข่าวคนหนึ่ง เขามีสิทธิที่จะแสดงความเห็นและทำหน้าที่สื่อ จะดีหรือไม่ดีนั้นอีกเรื่องนะครับ เพราะผู้รับชมจะเป็นคนตัดสินใจ

โปรดพิจารณาว่า ประธานาธิบดีตุรกีคือประชาชนอย่างเรา ๆ โดยทั่วไป หากทว่าก็มีบทบาทที่แตกต่างกัน และการให้ข้อมูลจากคุณแชมป์ ตั้งแต่การจับนักข่าว ปิดกั้นสื่อ การจับกุมนักวิชาการ และสร้างระบบการเมืองแบบใหม่ ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง ๆ ในประเทศตุรกี ซึ่งจะเห็นด้วยหรือไม่นั้นก็ไม่สำคัญเท่ากับการที่เรารับฟังและพิจารณาด้วยใจเป็นธรรม ส่วนเรื่องท่าทีในการเสนอข่าวนั้นของคุณแชมป์นั้นก็เป็นอีกประเด็น เราควรปกป้องและรับฟังด้วยสติปัญญาและหากว่าเราไม่เห็นด้วยก็ควรใช้ปัญญาในการตอบ เพื่อให้คนเข้าใจ ในสิ่งที่เราเห็นว่าถูกต้อง

ผมอยากจะกล่าวถึงพี่น้องมุสลิมไทยที่ต้องการล้มแชมป์ว่า เราล้มแชมป์ได้ แต่เราก็ไม่สามารถพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพได้ กล่าวให้ถึงที่สุด เราเองก็วิพากษ์วิจารณ์ ผู้นำของโลกตะวันตกและผู้นำต่าง ๆ ของโลกที่เราไม่เห็นด้วยจำนวนมากและกระทำอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่รับรวมที่หลายต่อหลายครั้งมุสลิมไทยจำนวนหนึ่งก็วิพากษ์วิจารณ์ผู้นำศาสนาของเราเอง นับตั้งแต่ระดับอีหม่ามจนถึงจุฬาราชมนตรี ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องปกติในสังคม เราสามารถกระทำได้เพราะเรามีสิทธิและเสรีภาพ ภายใต้คุณค่าสังคมแบบนี้ เราควรหันกลับมาพิจารณาในเชิงหลักการของหลักสิทธิและเสรีภาพอันเป็นสิ่งที่เราสำคัญ

ต่อประเด็นการวิจารณ์ประธานาธิบดีตุรกี ที่เราจะเข้าใจว่าเป็นผู้นำของโลกมุสลิม ถึงจะมีคนบางกลุ่มสมาทานความคิดนี้ก็ไม่อาจจะเหมารวมได้ทั้งหมดว่ามุสลิมทั้งหมดจะเห็นด้วย สิ่งสำคัญที่ต้องตระหนักคือเรื่องของการเข้าใจหลักการสิทธิและเสรีภาพ ของสื่อที่มีต่อบุคคลสาธารณะ ที่นับว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ

คุณแชมป์และประธานาธิบดีตุรกี สังคมมุสลิมไทยไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความรุ่มรวยในความแตกต่างทางด้านความคิด ประชาชาติมุสลิมไทยมีหนทางที่จะเข้าสู่วงถกเถียงด้วยหลักการสากลของการอยู่ร่วมกัน และควรจะทำ เราต้องเสาะหากลุ่มคนที่พร้อมจะขึ้นสู่เวทีการเผชิญหน้าในโลกคุณค่าสมัยใหม่สากลทางความคิดและอุดมคติที่ทั้งสำคัญ ทั้งจุดประกายปัญญา

ประชาชาติมุสลิมมีภาระหน้าที่จะต้องอธิบายให้ชัดว่า ชุดคุณค่าแห่งอิสลามนั้นได้เคารพความหลากหลายและความเป็นปัจเจกทางความคิดในลักษณะต่าง ๆ หาใช่วิธีการฟ้องร้องและบดขยี้คุณแชมป์อย่างเอาเป็นเอาตาย เราไม่มีบุคลิกภาพแห่งศาสนาที่เป็นมรดกของศาสนาอันสำคัญคือ การรับฟังด้วยความอดกลั้นและการอ่อนน้อมถ่อมตน ทบทวนพิจารณาให้รอบด้าน

และท้ายสุด หากว่าเราคิดว่าข้อมูลเราถูกต้อง คนอื่นก็น่าจะมีข้อมูลส่วนถูกต้องด้วย และหากคิดว่าคนอื่นผิดพลาด เราเองก็อาจจะผิดพลาดหรือตกหล่นอะไรไปบ้าง ในสิ่งที่เรายังไม่มีข้อมูล สิ่งที่แน่ ๆ คือประธานาธิบดีตุรกีคือคนปกติ ไม่ใช่สิ่งบุคคลศักสิทธิ์ ไม่ควรมีใครถูกลงโทษด้วยการแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำของประเทศ ไม่ว่าประเทศใดก็ตาม

ในนามของมุสลิมคนหนึ่ง ขอยืนยันว่าหลักการของการวิพากษ์วิจารณ์บุคคลสาธารณะสามารถกระทำได้อย่างมีสิทธิและเสรีภาพ และสิ่งที่ควรจะเป็นคือ ใครก็ตามที่เข้ามาใช้อำนาจสาธารณะ ไม่ว่าในตำแหน่งใด ๆ ก็ย่อมต้องยอมรับการถูกวิพากษ์วิจารณ์จากคนในสังคม รวมถึงกลุ่มคนผู้สนับสนุนด้วยบุคคลสาธารณะด้วย นี้ต่างหากคือสปิริตของสังคมประชาธิปไตยและหลักการของการอยู่ร่วมกันในสังคมสมัยใหม่

เผยแพร่ครั้งแรกใน: www.pataniforum.com

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.