พิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลสมัคร

Posted: 20 Jul 2018 03:35 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Fri, 2018-07-20 17:35

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล : สัมภาษณ์/เรียบเรียง

สนทนากับอดีตรัฐมนตรีช่วยคลัง พิชัย นริพทะพันธุ์ วิพากษ์อีอีซี ระบุเห็นด้วยกับโครงการ ประเทศไทยต้องการเครื่องยนต์สร้างการเติบโต แต่วิธีการและผลลัพธ์ยังไม่ผ่าน ลด แลก แจก แถมมากเกินไป หวั่นกระทบผู้ประกอบการไทยอนาคต ถามทำไมต้องรวมที่ดินมักกะสันในโครงการรถไฟเชื่อสามสนามบิน หรือมีผู้ชนะในใจแล้ว

โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกจำเป็นต่อการสร้างการเติบโตของประเทศไทย
รัฐบาลให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนมากเกินไป บางกรณีอาจกระทบต่อผู้ประกอบการไทยในอนาคต
อีอีซีต้องไม่ละเลยผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เพราะในอนาคตมูลค่าการฟื้นฟูอาจสูงกว่ามูลค่าการลงทุน
โครงการรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบินไม่ควรรวมการพัฒนาที่ดินมักกะสัน

อีอีซีหรือโครการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด-ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ถือเป็นโครงการเรือธงด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หวังจะใช้อีอีซีเป็นแม่เหล็กดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ

ในเชิงหลักการ พิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช และอดีตรัฐนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เห็นด้วยกับอภิโครงการนี้ แต่ในเชิงวิธีการและผลลัพธ์เป็นอีกประเด็นหนึ่ง

พิชัยเห็นด้วยว่า ประเทศไทยวันนี้ต้องการเครื่องมือสร้างความเติบโต (Growth Engine) อีสเทิร์น ซีบอร์ดที่สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศในอดีต ปัจจุบันถือว่าเต็มศักยภาพแล้ว จำเป็นต้องขยายพื้นที่ ผนวกกับผลพวงจากการพัฒนาที่ผ่านมาทำให้ภาคตะวันออกมีความพร้อมกว่าภาคอื่นในด้านโครงสร้างพื้นฐาน

“ผมจึงเห็นด้วยกับการที่รัฐบาลนี้ทำอีอีซีเพราะมันเป็นทางที่ถูกต้องและจำเป็น”

เรียกว่าอีอีซีเป็นภาคบังคับของรัฐบาล พิชัยกล่าวว่าเนื่องจากหลังการรัฐประหาร ประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้ลงทุนหลักของไทยกลับไม่มีการลงทุนเลย นิกเคอิ รีวิว ระบุว่ามูลค่าการลงทุนหายไปกว่า 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ในปีแรกของการรัฐประหาร มองในแง่นี้ ต้องถือว่ารัฐบาลใช้เวลานานเกินไปกว่าจะคิดแก้ไขเรื่องนี้ กระนั้น ตัวเลขการลงทุนก็ยังไม่กระเตื้องขึ้น

“รัฐบาลต้องถามตัวเองว่าทำไม เพราะตัวเลขตั้งแต่เปิดอีอีซีมาไม่ดีขึ้นเลย ไตรมาสแรกการลงทุนที่แท้จริงหายไป 2.7 หมื่นล้าน ซึ่งแปลก เปิดอีอีซีแล้ว แทนที่จะมีตัวเลขการลงทุนเพิ่มขึ้น มีตัวเลขขอบีโอไอเพิ่มขึ้น แต่กลับไม่มีตัวเลขการลงทุนจริง กลับลดลงจากปีที่แล้ว ทั้งที่ปีที่แล้วก็แย่อยู่แล้ว ปีนี้กลับลดลงไปอีก แสดงว่าสิ่งที่รัฐบาลทำไม่เวิร์ค

“รัฐบาลต้องกลับมาดูตัวเองว่าทำอะไรผิดพลาดหรือไม่ อย่างน้อยคุณต้องมีทิศทางที่ชัดเจนว่าใครจะมาลงทุนกับคุณแน่ๆ แต่ไม่มี บีโอไอที่ขอค้างไว้เป็นล้านๆ ก็ชะงักหมด เพราะจริงๆ ลงได้เลยทันทีกับคำขอที่ค้างอยู่หรือจะขอปรับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น แต่กลับไม่มีใครลงทุน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสงสัย แล้ว 4 ปีที่ผ่านมาคุณทำอะไร ทำไมจึงเพิ่งจะคิดทำตอนนี้”

เป็นไปได้หรือไม่ที่ตัวเลขการลงทุนจากญี่ปุ่นอาจจะลดลง แต่ตัวเลขการลงทุนจากจีนเพิ่มขึ้น

พิชัยไม่เห็นด้วย เขากล่าวว่าการลงทุนจากจีนก็น้อย เพราะประเทศจีนยังมีพื้นที่กว้างใหญ่ ยังต้องการการลงทุนในประเทศอีกมาก ดังนั้น จีนจะไปลงทุนต่างประเทศเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น การลงทุนต่างประเทศจึงไม่ใช่นโยบายหลัก ขณะที่ญี่ปุ่นมีการลงทุนเต็มพื้นที่แล้ว นโยบายหลักคือการหาที่ลงทุนในต่างประเทศ แต่ผลพวงจากสถานการณ์ทางการเมืองทำให้ญี่ปุ่นขนเงินไปลงทุนในประเทศอื่นในอาเซียนแทน

“แล้วคุณสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ (รองนายกรัฐมนตรี) ก็ไม่เข้าใจว่า จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ไม่ถูกกันตั้งแต่อดีต พอคุณเป็นเขตญี่ปุ่น จีนกับเกาหลีก็ไม่อยากมาลงทุน เกาหลีไปลงทุนเวียดนามมโหฬารเลย ลงทุนในไทยนิดเดียว คุณสมคิดรับไม่ได้ คุณไม่เข้าใจความคิดความรู้สึกของนักลงทุน นักลงทุนเกาหลีลงทุนในเขตที่มีคนเกาหลีอยู่ ไม่ลงทุนในเขตที่จีนอยู่เพราะเขาไม่ถูกกับจีน คุณต้องไปตั้งเขตใหม่ให้เขา ถ้าคุณไม่เข้าใจ คุณก็จะสะเปะสะปะ”


ด้านสิทธิประโยชน์ที่รัฐบาลมอบให้แก่นักลงทุน พิชัยมีทัศนะว่าเป็นการลด แลก แจก แถมที่มากเกินไป และไม่คำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดตามมาต่อผู้ประกอบการของไทย

“อย่างอาลีบาบา คุณให้เขาเยอะแยะไปหมด แล้วธุรกิจออนไลน์ในอนาคตของไทยจะสู้กับอาลีบาบาได้อย่างไรเมื่อคุณให้สิทธิประโยชน์เขาเยอะขนาดนี้ คุณไม่ได้มองว่าอาลีบาบาเป็นธุรกิจที่จะมีการแข่งขันกับไทยด้วยหรือเปล่า”

อีกประเด็นคือความต้องการดึงดูดการลงทุนจนละเลยสิ่งแวดล้อมอาจสร้างผลกระทบที่ย้อนกลับคืนไม่ได้ กลายเป็นว่าอนาคตต้องตามแก้ปัญหามลภาวะแพงกว่าการลงทุนที่ได้รับ

ส่วนกรณีเช่าที่ดิน 99 ปี พิชัยไม่เห็นว่าเป็นปัญหาใหญ่ ประสบการณ์การทำธุรกิจในสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศทุนนิยมเต็มขั้น เขายอมรับได้กับเรื่องนี้

“ถ้าเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือถ้าเรามีโอกาสเป็นรัฐบาล เราจะทำอย่างไรให้อีอีซีเกิดผล ปัญหาหลักๆ ที่มันไม่เกิดผลคืออะไร ผมคิดว่าประการแรกคือการเจรจาการค้ากับประเทศหลักๆ อย่างอเมริกา อียู ออสเตรเลียยังทำไม่ได้ จึงเกิดข้อจำกัดว่าถ้ามาลงทุนแล้วจะขายใครได้หรือเปล่า จะเจอกำแพงภาษีหรือเปล่า ขณะที่ไปลงทุนประเทศอื่นสามารถมั่นใจว่าจะขายได้เพราะมีเอฟทีเอแล้ว

“เมื่อใส่ปัจจัยความเสี่ยงทางการเมืองเข้าไปก็ทำให้เป็นปัญหาต่อการลงทุน ผมคิดว่าประเด็นนี้มีส่วนอยู่ไม่มากก็น้อย เราก็ต้องพยายามสร้างความมั่นใจ แต่รัฐธรรมนูญก็ยังไม่รู้จะทำให้รัฐบาลในอนาคตมีปัญหาหรือเปล่า ถ้าเราสร้างความมั่นใจได้ รัฐบาลมีความมั่นคง มีทิศทางในการเจรจาการค้า ผมว่าโอกาสการลงทุนเพิ่มขึ้นก็มี เพราะประเทศไทยก็มีศักยภาพที่จะลงทุนอยู่แล้ว

“ส่วนตัวกฎหมายผมไม่ใช่นักกฎหมาย ไม่ได้ดูในรายละเอียด อีอีซีโดยหลักการแล้วดี แต่ผมเชื่อว่ามีหลายเรื่องต้องแก้ไข บางเรื่องถ้าจะส่งผลกระทบต่อประเทศระยะยาว เช่น การข้ามเรื่องการทำอีไอเอ เอชไอเอ”


พิชัยยังตั้งข้อสังเกตต่อโครงการรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบินเกี่ยวกับการรวมที่ดินมักกะสันเข้าไปในโครงการ

“การเอาที่ดินมักกะสันเข้าไปแถมในโครงการ ผมคิดว่าไม่น่าจะใช่ ที่ดินผืนนี้บางคนวิเคราะห์มูลค่าสูงถึง 2 แสนกว่าล้านบาท เมื่อ 10 กว่าปีก่อนยังประเมินไว้ที่ 80,000 กว่าล้านบาท คุณจะเอามาปนกันทำไม ที่คุณเอามาปนกันเพราะคุณมีผู้ชนะในใจแล้วหรือยัง ส่วนตัวผมเชื่อว่ามันไม่ได้เกี่ยวข้องกัน โครงการเชื่อมต่อสามสนามบินด้วยตัวโครงการเองน่าจะคุ้มทุนอยู่แล้ว การแถมที่ดินมักกะสันไม่ได้ให้ประโยชน์สูงสุดกับประเทศ ถ้าจะใช้ประโยชน์ที่ดินผืนนี้ก็เปิดให้คนมาประมูล เพราะคนทำรถไฟอาจจะไม่ชำนาญการพัฒนาที่ดิน คนที่ชำนาญการพัฒนาที่ดินก็อาจไม่ชำนาญเรื่องรถไฟก็ได้ แบบนี้คุณก็ต้องไปหาคนที่ชำนาญทั้งสองเรื่องซึ่งมีไม่เยอะ มีคนในใจหรือเปล่า”

พิชัยทิ้งท้ายการสนทนาว่า

“รัฐบาลต้องกลับมาดูตัวเองหรือไม่ว่าปัญหาคืออะไร ทำไมหลังการรัฐประหารแล้วการลงทุนหายไปเรื่อยๆ จนทุกวันนี้ รัฐบาลต้องยอมรับความจริงและคิดว่าจะแก้อย่างไร”


[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.