Posted: 18 Jul 2018 03:58 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Wed, 2018-07-18 17:58
ภาคต่อของการพูดคุยกับแกนนำพรรคประชาธิปไตยใหม่และยุทธศาสตร์พรรคเล็กภายใต้เงื่อนไข รธน. 60 นอกจากนี้พวกเขายังชูนโยบายแก้ปัญหาหนี้สินและความยากจน ด้วยการเปิด "โรงพยาบาลรักษาหนี้" แก้ภัยแล้งด้วยบ่อบาดาลโซลาร์เซลล์ ชูข้อเสนอปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมสไตล์ไทบ้าน บัตรประชาชนใบละ 6 หมื่นบาท ใช้ประกันตัวจากคดีความ พร้อมให้กำลังใจพรรคเกิดใหม่ แต่ต้องยอมรับว่าด้วยเงื่อนไข รธน. ปัจจุบันนั้นไม่ง่าย
หลังจากพูดคุยกับแกนนำพรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรคการเมืองขนาดเล็กแต่ไม่ธรรมดา เพราะพวกเขาเคยคว้า 1 ที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อในการเลือกตั้งปี 2554 มาแล้ว โดยตอนที่แล้วพวกเขาพูดถึงการปรับยุทธศาสตร์พรรค-แก้โจทย์รัฐธรรมนูญ 2560 (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) นอกจากนี้พวกเขายังเตรียมนโยบายสำหรับใช้รณรงค์ในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้โดยเน้นเดินลุยทั่วประเทศ พร้อมชูนโยบายแก้ปัญหาปากท้องและความยากจนสไตล์ไทบ้าน
เส้นทางต่อสู้จากครูถึงรัฐสภา
สุรทิน พิจารณ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยใหม่ บอกว่าเส้นทางต่อสู้ทางการเมืองของพวกเขาเริ่มมาตั้งแต่สมัยลงสมัครประธานสภานักศึกษา วิทยาลัยครูอุบลราชธานี (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี) หลังจากนั้นเมื่อรับราชการเป็นครูประชาบาล ทั้งเขาและนิพนธ์ ชื่นตา รวมทั้งเพื่อนๆ รวมตัวกันในนาม "ชมรมครูภาคอีสาน" ในปี 2521 ก่อนพัฒนามาเป็น "ชมรมครูประชาบาลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ" มาชุมนุมถึงกระทรวงศึกษาธิการและทำเนียบรัฐบาลเพื่อเรียกร้องการบรรจุครูเป็นข้าราชการประจำ โดยเป็นที่มาของ "สมาพันธ์สมาคมครูประถมศึกษาแห่งประเทศไทย" ในเวลาต่อมา
สุรทินเล่าด้วยว่าการต่อสู้ของขบวนการครูประชาบาลในเวลานั้น นอกจากต่อสู้เรียกร้องเรื่องสิทธิแล้ว ครูในชนบทก็มีเรื่องต้องช่วยเหลือประชาชนที่อยู่ในเขตอิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยด้วย โดยครูบาอาจารย์ส่วนหนึ่งก็ส่งข้าวปลาอาหารไปช่วย จนกระทั่งสถานการณ์คลี่คลายคนเริ่มคืนสู่เมือง ขบวนการครูประชาบาลยังช่วยเหลือประชาชนในปัญหาอื่น ทั้งเรื่องไม่มีที่ดินทำกิน หนี้สิน พิพาทถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้ขับไล่ รวมทั้งติดตามเงินช่วยเหลือผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ฯลฯ
โดยตัวของสุรทินหลังจากนั้นได้ฉีกออกมาทำงานการเมือง เริ่มตั้งแต่เป็นผู้ช่วยของอุทัย พิมพ์ใจชน อดีตประธานรัฐสภา ซึ่งในเวลานั้นอุทัยเป็นแกนนำพรรคก้าวหน้าและพรรคเอกภาพ กระทั่งอุทัยยุติบทบาททางการเมือง สุรทินกับเพื่อนๆ ที่เคยร่วมงานต่อสู้มาตั้งแต่สมัยครูประชาบาลจึงรวมตัวกันอีกครั้งในนามพรรคประชาธิปไตยใหม่
ส่วนเรื่องนโยบายของพรรคประชาธิปไตยใหม่ แม้ว่ารัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้รัฐบาลในอนาคตต้องแถลงนโยบายให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ หรือการประกาศหาเสียงก็ต้องระบุวงเงิน ระบุแหล่งงบประมาณที่จะใช้ แต่หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยใหม่เชื่อมั่นว่าเขาจะสามารถอธิบายให้ กกต. ฟังได้
พรรคประชาธิปไตยใหม่ #1 เน้นเคาะประตูบ้าน ไม่หวั่นโซเชียล ไม่กลัวพลังดูด คสช.
เสนอปฏิรูประบบยุติธรรม เริ่มที่บัตรประชาชนใบละ 6 หมื่น
แกนนำพรรคประชาธิปไตยใหม่
ป้ายประชาสัมพันธ์ภายในพรรคประชาธิปไตยใหม่ป้ายหนึ่งก็คือ "บัตรประชาชนมีค่า 60,000 บาท" ซึ่งฟังดูเหลือเชื่อ อย่างไรก็ตามสุรทินอธิบายว่า นโยบายของพรรคก็คือบัตรประชาชน 1 ใบ มีมูลค่าประกันตัวในวงเงิน 60,000 บาท เขาเสนอว่าเหมือนเป็นเครดิตด้านความยุติธรรม แต่เดิมถ้าลูกชาวบ้านมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้ง เช่น มีเรื่องในวงหมอลำถูกตำรวจจับ พ่อแม่ก็ต้องหาเงิน หาหลักทรัพย์มาประกันลูก
"วิ่งไปเอาโฉนด วิ่งไปหา อบต. ก็ไม่อยู่ กำนันก็ไม่อยู่ ครูน้อยครูใหญ่ก็ไม่อยู่ไปดูหมอลำหมด วิ่งทั้งคืนใครจะให้เงิน 50,000 ลูกก็ติดคุกฟรี เราก็ไม่ได้นอน หมอลำก็ไม่ได้ดู แต่ถ้ามีบัตรประชาชน 1 ใบมีมูลค่าประกัน 60,000 วางใส่หน้าตำรวจเลย ให้ประกันมั้ย ไม่พอ เอาบัตรประชาชนของแม่มาอีก เป็น 120,000 ตำรวจก็ให้ประกัน อย่างน้อยก็ออกมาดูหมอลำ ปรับอารมณ์ก็ดีขึ้น ก็ไม่ตีกันแล้ว" สุรทินกล่าว
แก้ภัยแล้งด้วยบาดาลโซลาร์เซลล์ ไม่ต้องขับรถแจกน้ำ
อีกหนึ่งก็คือแดดออก น้ำแตก คือแดดออกมาปุ๊บน้ำพุ่งออกจากดินเลย คือบาดาลโซลาร์เซลล์ ต่อไปอีสานไม่ต้องปล่อยรถแจกน้ำแล้ว ใช้พลังงานแสงอาทิตย์สูบ เคยมีผู้ทดลองวิจัยมาแล้วที่ อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา ถังประปาสูง 20 เมตรยังสูบขึ้นถังได้ ทีนี้เราก็ทำที่นาใครนามัน หน้าแล้งก็สูบ มกราคมถึงเมษายนก็พอแล้ว เสร็จแล้วกรมบาดาลต้องบอกชาวบ้าน หน้าฝนต้องเอาน้ำลงใต้ดิน ไม่ใช่ว่ามีแต่สูบขึ้นมา คือน้ำใต้ดินของประเทศไทยหลายหมื่นปีมาแล้วยังไม่ได้เอามาใช้ ที่ผ่านมามีแต่พูดว่าแล้งๆๆ เอาน้ำมาสูบ
หน้าที่ของกรมชลประทาน คืออะไร แล้งเอาน้ำไปจ่าย สูบน้ำเข้า พอน้ำฝน ท่วม ก็สูบน้ำออก นี่คือภารกิจของกรมชลประทาน ไม่ได้คิดอย่างอื่นมากกว่านี้ ผมว่าถ้าเราเป็นรัฐบาลจะทำให้เกิดเรื่องใหม่ๆ ขึ้น อย่างบาดาลโซลาร์เซลล์ เอาไปปักที่ปลายยอดของภูเขา มันก็ดูดน้ำขึ้นไปแล้วปล่อยน้ำลงมา ไฟก็ไม่ไหม้หน้าแล้ง แค่สี่ห้าเดือนเท่านั้น หน้าฝนก็ให้น้ำลงใต้ดิน นี่คือนโยบายของพรรคประชาธิปไตยใหม่ซึ่งไม่ใช้งบประมาณเลย
ข้อเสนอตั้งกระทรวงศาสนา ทางออกเพื่อการอยู่ร่วมกัน?
สุรทินกล่าวด้วยว่า พรรคประชาธิปไตยใหม่จะมีข้อเสนอตั้งกระทรวงศาสนา โครงสร้างกระทรวงแบ่งเป็น กรมพุทธ สำนักคริสต์ สำนักมุสลิม กองซิกข์ กองฮินดู กรมกิจการพิเศษ ในกระทรวงจะมีธนาคารศาสนา ร่าง พ.ร.บ.ธนาคารศาสนา หลักการคือให้ตัวแทนของทุกศาสนาที่มีสัดส่วนผู้นับถือเกิน 1% เป็นกรรมการของธนาคาร ส่วนศาสนาพุทธให้ 2 คน ศาสนาอื่นที่มีผู้นับถือ 1% ขึ้นไปจะมีตัวแทนเป็นกรรมการศาสนาละ 1 คน
ทั้งนี้นโยบายเกี่ยวกับศาสนา เป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนในสังคมไทย แต่สุรทินเสนอว่าที่ต้องตั้งกระทรวงศาสนา เพราะปัจจุบันยังไม่มีระบบระเบียบไปควบคุม แม้จะมีกรมการศาสนา สำนักงานพระพุทธศาสนา แต่ก็ดูแลไม่ทั่วถึง การตั้งกระทรวงศาสนาจะทำให้ศาสนิกของแต่ละศาสนาได้มีโอกาสพูดคุยกัน รวมทั้งขจัดความไม่เข้าใจกันในประเด็นต่างๆ โดยสุรทินยกตัวอย่างกรณีประชาพิจารณ์เพื่อสร้างมัสยิดในภาคอีสาน หรือการติดป้ายพระเจ้าสร้างโลกของผู้นับถือศาสนาคริสต์
สุรทินกล่าวด้วยว่า แต่ละศาสนาก็มีองค์กรกำกับอยู่แล้ว เช่น พระสงฆ์มีมหาเถรสมาคม แต่การตั้งกระทรวงศาสนาเป็นการบริการให้ทั่วถึง การมีธนาคารศาสนาจะช่วยให้การทำบุญเรี่ยไรไม่เป็นไปอย่างสะเปะสะปะ เพราะสามารถใช้บริการจากธนาคารศาสนาได้ เขายังยกตัวอย่างวัดบางแห่งถือสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารพาณิชย์ถึง 20 บัญชี ก็สามารถเปลี่ยนมาฝากที่ธนาคารศาสนาแทน
โรงพยาบาลรักษาคนเป็นหนี้ ด้วยการส่งไปปลูกต้นไม้
อีกนโยบายหนึ่งที่พรรคประชาธิปไตยใหม่ใช้หาเสียงมาตั้งแต่ปี 2554 ก็คือการแก้ไขปัญหาหนี้สินด้วย "โรงพยาบาลรักษาหนี้" โดยสุรทินขยายความว่า "โรงพยาบาลรักษาหนี้ มีวิธีรักษาหนี้ด้วยการปลูกต้นไม้ใช้หนี้ หนีโรคร้อน"
โดยแนวทางปลูกต้นไม้ใช้หนี้ที่เขาพูดถึงนั้น เป็นแนวทางของ "ณรงค์ สังขะโห" แห่งศูนย์ศึกษายางนาแก้หนี้แก้จน วิธีการที่พรรคประชาธิปไตยใหม่นำมาต่อยอดคือตั้ง "โรงพยาบาลรักษาหนี้"
"บางคนอายว่าเป็นหนี้ แต่ถ้าเราบอกว่าป่วยเป็นหนี้ก็ได้ไม่อาย จะได้รักษา การเป็นหนี้ เขาว่าเหมือนโรคปิดบังซ่อนเร้น การตายเพราะหนี้ ทำให้ตายทั้งครอบครัว ตายทั้งตระกูลรวมทั้งคนค้ำประกันหนี้"
สุรทินอธิบายต่อว่านโยบายโรงพยาบาลรักษาหนี้ จะทำให้คนเลิกเป็นหนี้ในชาตินี้ไม่ใช่ชาติต่อไป โดยนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาหนี้สินเอกชนที่เขาประเมินว่าจะแก้ไขได้ราว 700,000 ล้านบาทนั้น จะไม่ใช้งบประมาณแผ่นดิน แต่จะให้คณะรัฐมนตรีออกพันธบัตรมาแก้หนี้ แล้วโอนหนี้จากสถาบันการเงิน เช่นนาย ก. หนี้ ธกส. 3 ล้านบ้าน ก็โอนเข้ากองทุนพันธบัตร ออกจากหนี้ ธกส. มาเป็นหนี้โรงพยาบาล โดยวิธีแก้หนี้จะให้คนเป็นหนี้ไปปลูกต้นไม้ใช้หนี้
ส่วนคำถามว่าปลูกอะไรถึงจะพอใช้หนี้ 3 ล้านบาท สุรทินกล่าวว่า จะให้ปลูกต้นยางนา พอลูกหนี้ที่เข้าโครงการเอาต้นยางนาไปปลูกลงดินและเจริญงอกงามดีแล้ว ให้โรงพยาบาลรักษาหนี้ตรวจภายใน 2 อาทิตย์ หากเป็นหนี้ 3 ล้านบาท ปลูกยางนา 1 ต้น ต้นละ 10,000 บาท ปลูก 300 ต้นก็ออกจากหนี้ทันที แต่มีภาระว่าต้องดูแลต้นยาง 25 ปี
โดยการปลูกต้นยาง 25 ปีจะนำไปใช้หนี้ด้วยการขายคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) หรือ "แหล่งคาร์บอนเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Offset)” โดยจะเป็นการขายให้กับองค์กรธุรกิจต่างๆ ตามกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism: CDM) ของพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ที่กำหนดให้ภาคเอกชนที่มีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมา
ทั้งนี้สุรทินประเมินว่าต้นยางอายุ 10 ปีจะเริ่มขายคาร์บอนเครดิตได้ โดยต้นยางนา 1 ต้น ขายคาร์บอนเครดิตได้ 10 ตัน รัฐบาลจะขายคาร์บอนเครดิตในปีที่ 11 ถ้าเป็นหนี้ 3 ล้านบาท ขายคาร์บอนเครดิต 300 ต้น ต้นละ 2,000 บาท ก็จะได้ 6 แสนบาท พอถึงปีที่ 15 ก็จะเป็นปีที่ 5 ที่ได้ขายคาร์บอนเครดิต ก็จะครบหนี้ 3 ล้านบาทพอดี
"รัฐบาลขายอยู่ 5 ปี หนี้ของคนปลูกก็หมดแล้ว ปีที่ 16 ก็แบ่งรายได้กันคนละครึ่ง ได้กำไรไปเรื่อยๆ จนถึงปีที่ 25 แต่ถ้าปีที่ 18 คนปลูกเสียชีวิต ลูกหลานก็ได้มรดกดูแลต่อไปปีที่ 25 นี่คือกำไรของรัฐบาลปีละ 300,000 บาทไปเรื่อยๆ พอถึงปีที่ 25 รัฐบาลหยุดเอาเงินคาร์บอนเครดิต จนกระทั่งรัฐบาลจะมาตัดเอาต้นไม้ เพราะต้นไม้เป็นของรัฐบาล ตัดวันไหนคนที่ปลูกก็หยุดขายคาร์บอนเครดิต"
ส่วนผลพลอยได้ระหว่างที่ปลูกยางนา ก็ได้เห็ดป่า คือเห็ดระโงก เห็ดปลวก เห็ดละหมาก เห็ดนาแดง
"เห็ดขึ้นมาทั้งปี เพราะเราไม่ทำให้ต้นยางมันเกิดไฟไหม้ เราเอาน้ำมาเติมเรื่อยๆ มันชุ่มตลอดปี นี่คือนโยบายของเรา คนมีกินอยู่ตลอดปี" สุรทินวาดฝัน
สุรทินมองภาพยาวว่าถ้าดินดีน้ำดี ส.ส. ต้องแจกพันธุ์ปลาให้ชาวบ้านเอาไปเลี้ยง ถ้าปลาเยอะ ก็ทำปลาร้าขายไปตะวันออกกลาง นอกจากนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องส่งเสริมตลาดชุมชน ตลาดข้างถนน ชาวบ้านมีสถานที่กระจายผลผลิต "พี่น้องปลูกพริก มะเขือ เอาลูกอ๊อดหมกดีๆ มาขายที่ตลาด คนขับรถอย่างเราก็กินของแปลก หมกเห็ดเผาะ หมดเห็ดระโงก ฯลฯ ที่ขายในตลาด ขายไข่มดแดงอีก ปีหนึ่งไม่รู้จะได้เท่าไหร่ นโยบายเราต้องเป็นจริงแบบนี้ คิดว่าจะทำอย่างไรถึงจะเปลี่ยนแปลงชีวิตพี่น้องในต่างจังหวัด"
ยกเลิกกองทุน กยศ. เสนอเรียนฟรีถึงปริญญาตรี
พรรคประชาธิปไตยใหม่ยังเสนอด้วยว่าต้องยกเลิกกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) แทนที่ด้วยนโยบายเรียนฟรีถึงปริญญาตรีโดยไม่ต้องสอบเข้าแทน
"เพราะเด็กไม่ทันมีงานทำ ก็ถูกเจ้าหนี้ฟ้องแล้ว พอเป็นคดีความ เขาจะไปสอบครู สอบตำรวจได้ไหม ก็ต้องเปลี่ยนนโยบายจาก กยศ. เป็นเรียนฟรีถึงปริญญาตรีถึงสมัครใจ"
สุรทินกล่าวต่อไปว่า เพราะมีการเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญมาตราต้องจบปริญญาตรีถึงจะเป็นรัฐมนตรีได้ มหาวิทยาลัยของรัฐบางแห่งหน่วยกิตเกือบ 3,000 บาท ลูกชาวบ้านจะเรียนได้ที่ไหน ถ้าไม่ให้เขาเรียนฟรี
"วิธีเรียนฟรีคือไม่ต้องสอบเข้า ชอบเรียนที่ไหนก็เข้าไปเรียนก่อน แต่มีข้อแม้ว่าต้องสอบออกให้ได้ ถ้าสอบไม่ได้ก็ปรับผู้ปกครองในฐานะที่ไม่ดูแลลูกเต้า นี่คือเงื่อนไขที่วางไว้"
สมัยนี้จะฝากเอาลูกๆ หลานๆ เข้าโรงเรียนตั้งแต่เข้าอนุบาลก็หนักใจแล้ว พรรคประชาธิปไตยใหม่จะชูนโยบายเรียนฟรีทุกที่ ลดหนี้เกษตรกร เรียนฟรีทุกที่ "เรียนฟรีถึงปริญญาตรีโดยสมัครใจไม่ต้องสอบเข้า อยากเรียนนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าได้เลย โรงเรียนไหนมีนักเรียนเข้าเยอะ สอนดี ก็ให้ค่าตอบแทนครูเพิ่ม ให้เงินเดือนมากกว่านายกรัฐมนตรีก็ยังได้ ครูไม่ต้องไปขายแอมเวย์ ไม่ต้องขายประกัน ให้สอนกันตาเปียกตาแฉะเลย โรงเรียนไหนครูขี้เกียจสอน เงินเดือนก็ให้เท่าเดิม หมื่นห้าก็หมื่นห้าไปอย่างนั้น โรงเรียนไหนสอนนักเรียนดี มีคุณสมบัติดี มีกิริยามารยาทดี ก็เพิ่มค่าตอบแทนให้ ดีกว่าไปขายประกัน ขายแอมเวย์" สุรทินกล่าว
ยกเลิกหัวคิวไปทำงานต่างประเทศ รัฐบาลจัดการเอง
พรรคประชาธิปไตยใหม่ ยังมีข้อเสนอเรื่องนโยบายแรงงานว่าจะต้องยกเลิกกฎหมายแรงงานที่ใช้อยู่ และรัฐต้องมีบทบาทในเรื่องนโยบายแรงงานให้มากขึ้น เช่น เรื่องส่งคนไปทำงานต่างประเทศ แทนที่เอกชนจะประกาศรับสมัครเอง หรือผ่านนายหน้า บริษัทที่จะว่าจ้างต้องแจ้งมาที่กระทรวงแรงงาน แจ้งมาที่กรมจัดหางาน กรมจัดหางานจะประกาศรับสมัครเองโดยแบ่งไปตามท้องถิ่นต่างๆ พอได้คนมาสมัคร หากฝีมือยังไม่ได้ตามเกณฑ์ กรมพัฒนาฝีมือแรงงานจะอบรมให้ จากนั้นรัฐมนตรีแรงงานบินไปส่งแรงงานถึงที่ ถ้ามีปัญหาก็แจ้งมาที่กระทรวง นอกจากนี้รัฐบาลต้องส่งหมอ ส่งพยาบาลไปดูแลถึงแคมป์คนงาน เพราะเงินที่แรงงานส่งกลับเมืองไทย ถือเป็นงบประมาณ
สุรทินเสนอด้วยว่ารัฐมนตรีห้ามเดินสายตัดริบบิ้นเปิดงานเกิน 4 ครั้งต่อเดือน รัฐมนตรีต้องเป็นเซลส์แมน รัฐมนตรีเกษตรต้องแบกจอบลงพื้นที่ตามหมู่บ้านต่างๆ จะได้รู้ว่ามีน้ำมีปลาไหม เขื่อนแตกต้องรู้ต้องลงไปดูพื้นที่จริง เวลาตรวจราชการ รัฐมนตรีห้ามนอนโรงแรม ต้องไปนอนที่วัด หรือนอนมัสยิดถ้าลงภาคใต้ รัฐมนตรีต้องไปกราบพระก่อน พระจะได้บอกว่าขาดเหลืออะไร รัฐมนตรีแจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทราบจะได้ปฏิบัติ เวลามีรายงานของราชการ รัฐมนตรีรับรายงานที่ศาลาวัดได้เลย ไม่ต้องไปเฝ้ารายงานที่โรงแรม พรรคผมจะกำหนดแบบนี้ พรรคอื่นผมไม่รู้
ให้กำลังใจพรรคใหม่
ไม่เห็น "พรรคอนาคตใหม่" เป็นคู่ต่อสู้
พรรคที่ไปจดใหม่ 65 พรรค ผมให้กำลังใจพรรคที่ไปจดใหม่ ทำไปเถิดในระบอบประชาธิปไตยต้องแข่งกันหลายๆ พรรคให้พี่น้องได้เลือก ผมอยากให้พรรคแต่ละพรรคเอานโยบายมาแข่งขันกันชอบประชาธิปไตยใหม่ก็เลือก ชอบพรรคใหม่ก็เลือก
สำหรับพรรคใหม่ๆ หลายพรรค ผมมองว่าศักยภาพไม่พอที่จะมาต่อสู้ทางการเมือง ถึงแม้อย่างเช่น พรรคอนาคตใหม่ ที่เป็นคนรุ่นใหม่ ไม่มีนักการเมืองเก่ามาแจมเลย มีแต่นักวิชาการ มีแต่คนรุ่นใหม่ ขอให้กำลังใจน้องๆ ธนาธร ส่วนปิยบุตรก็รู้จักกัน กลุ่มสหพรรคก็ให้กำลังใจอาจารย์ก็แล้วกัน การเมืองไทยไม่หมู ไม่ได้มาแนวเดียว เมืองนอกทำโซเชียลก็ได้รับเลือกตั้ง แต่ของเมืองไทยไม่ใช่ เมืองไทยต้องเปิดทุกกลยุทธ์ เปิดทุกแนวรบ ท่านถึงจะได้ ส.ส. ผมไม่คิดว่าโซเชียลจะเป็นสิ่งตัดสินใจว่าท่านจะได้ผู้แทน
พรรคประชาธิปไตยใหม่ลงหาเคาะประตู กินข้าววัด นอนศาลา ไหว้หลวงพ่อ ก็ยังไม่คิดว่าจะได้คะแนน
"ผมให้กำลังใจคุณธนาธร ท่านอาจารย์ปิยบุตรก็แล้วกันว่าทำไปเถอะ เที่ยวนี้ไม่ได้ผู้แทน เที่ยวหน้าก็ทำเรื่อยๆ เพราะว่ามันต้องให้พี่น้องได้รู้จักจริงๆ ผมไม่เชื่อว่าถ้ามาไลน์เป็นล้านๆ วันเดียวจะได้ สมัยก่อนพรรคประชาธิปไตยใหม่ก็มี ไลน์เป็นล้านแปด เวลาลงคะแนนทำไมมันได้ 3 พันคะแนน คนไลน์เข้ามาไม่ใช่เขาจะเลือก คะแนนไม่ได้อยู่ที่โซเชียล คะแนนอยู่ที่มือเขา ยิ่งเที่ยวนี้คะแนนไม่ได้อยู่ที่หน่วย เที่ยวนี้เขาจะคุยกันที่ครอบครัว จะคุยกันตอนทานข้าว"
"เพราะฉะนั้นทุกพรรคต้องถี่ถ้วน อย่าประมาท เที่ยวนี้กฎหมายไม่ได้ช่วยพรรคเล็ก แต่ไปช่วยฝังพรรคเล็ก ฝังไม่เห็นขาเลย เพราะพรรคเล็กจะได้คะแนนจริงๆ ต้องส่ง ส.ส. ลงให้ครบ 350 เขต ถึงจะมีคะแนนประเมิน 70,000 ได้ ส.ส. 1 คน"
พ.ร.บ.พรรคการเมืองฉบับนี้ช่วยฝังพรรคเล็กไม่ได้ผุดได้เกิด ไม่เหมือนแต่ก่อน การจัดสรรงบประมาณหลังเลือกตั้งจะจัดสรรตามความนิยม ถ้าไม่ได้ ส.ส. ไม่ได้เงิน มันก็จบ จะไปเอาเงินเมียมาทำพรรคหรือ การทำพรรคการเมืองไม่ง่าย พรรคตั้งใหม่ อาจจะไม่ถึงครึ่งที่จะทำพรรคใหม่ได้ ถึงเงื่อนเวลา 180 วันก็จะสลายตัว เรื่องจะทำพรรคเอาเงิน กกต. เหมือนสมัยก่อนไม่มีทางแล้ว
"ส่วนพรรคใหม่ที่ว่าเป็นคู่ต่อสู้ของพรรคประชาธิปไตยใหม่หรือไม่ ผมว่าไม่ใช่เลย ขอให้กำลังใจพรรคใหม่เสียอีก พรรคประชาธิปไตยใหม่ก็ไปอีกแนวทางหนึ่ง" สุรทินกล่าว
สุรทินประเมินด้วยว่า รัฐบาลหลังเลือกตั้งมี 4 แนวทาง หนึ่ง เพื่อไทยตั้งรัฐบาล สอง ประชาธิปัตย์ตั้งรัฐบาล สาม ทหารตั้งรัฐบาล แต่ยังมีแนวทางที่สี่ คือ พรรคขนาดกลางกับพรรคขนาดเล็กรวมกัน
"ถ้ากลุ่มที่ 4 เอนไปทางไหน ทางนั้นล่ะคือรัฐบาล" สุรทินกล่าว "แต่ถ้าพรรคใหม่รวมกัน ได้ ส.ส. ไม่ถึงพรรคละ 5 คน แล้วมันจะรวมกันตั้งรัฐบาลได้อย่างไร" ดังนั้น การเป็นพรรคการเมืองจะต้องคิดว่า ถ้าได้เป็นรัฐบาลจะทำอะไร พรรคประชาธิปไตยใหม่จึงเตรียมพร้อม มีการประเมินแทบทุกเดือน ทุกสัปดาห์ คุยกันว่าจะลงพื้นที่อย่างไร ไม่ใช่เน้นประชุมแถลงข่าว กินกาแฟแล้วหายไป
"การเมืองต้องทำงานอยู่ตรงนี้ 24 ชั่วโมง ต้องนอนคลุกฝุ่น นี่คือวิธีการของพรรคประชาธิปไตยใหม่ ไม่ได้หวั่นไหวเรื่องพรรคใหม่เลย"
ข่าว
การเมือง
ความยากจน
ชนบท
ปลูกต้นไม้ใช้หนี้
พรรคการเมือง
พรรคประชาธิปไตยใหม่
พลังงานแสงอาทิตย์
รัฐธรรมนูญ 2560
สุรทิน พิจารณ์
หนี้ กยศ.
หนี้สิน
โรงพยาบาลรักษาหนี้[full-post]
แสดงความคิดเห็น