Posted: 09 Jul 2018 01:00 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าวเว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

'ชัยวัฒน์ สถาอานันท์' ชวนสังคมไทยตั้งคำถามต่อโทษประหาร ลงโทษทำไม ทำไมการลงโทษจึงมีความเปลี่ยนแปลง และสังคมไทยต้องการอะไรจากโทษประหาร หรือโทษประหารกำลังสะท้อนความสิ้นหวังของเราเองต่อมนุษย์และสังคม

  • อาชญากรไม่ได้หล่นลงมาจากท้องฟ้า แต่ผุดขึ้นจากเนื้อนาดินของสังคมไทย
  • ทั้งผู้กระทำและผู้ถูกกระทำล้วนเป็นเหยื่อ
  • โทษประหารมีพลวัตและเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด
  • โทษประหารสะท้อนความสิ้นหวังของเราต่อสังคมไทยและมนุษย์

การประหารผู้ต้องขังครั้งล่าสุดหลังจากว่างเว้นไปเกือบ 10 ปี จุดกระแสการถกเถียงอันร้อนแรงในสังคมไทยว่า โทษประหารควรมีอยู่หรือไม่ มันนำไปสู่การโต้เถียงด่าทอกันระหว่างสองฟากความคิด

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยได้จัดงานเสวนาเรื่อง ‘ทางออกโทษประหารกับปัญหากระบวนการยุติธรรม’ เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยหนึ่งในวิทยากรคือ ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ นักวิชาการด้านปรัชญาการเมือง ศาสตราจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งชวนตั้งคำถามที่น่าสนใจหลายประการ

อาชญากรไม่ได้หล่นลงมาจากท้องฟ้า แต่ผุดขึ้นจากเนื้อนาดินของสังคมไทย

ผมอยากชวนตั้งคำถามสามสี่ข้อ


1.โทษประหารเป็นการลงโทษอย่างหนึ่ง คำถามที่อยากชวนคิดคือเวลาลงโทษ เราลงโทษทำไม

2.โทษประหารในสังคมไทยเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ถึงปัจจุบัน ผมอยากสรุปสั้นๆ ว่าทำไมมันเปลี่ยน

3.การเรียกร้องโทษประหารในสังคมไทย จริงๆ แล้วสังคมไทยต้องการอะไร

จากคำถามข้อแรก โทษประหารเป็นการลงโทษ แต่เวลาคิดเรื่องโทษประหาร เรื่องความยุติธรรม ทำไมเราคิดเรื่องการลงโทษแบบนี้ เอาชีวิตไปก็ต้องใช้ด้วยชีวิต ประวัติศาสตร์โบราณของเรื่องนี้คือประวัติศาสตร์ของการจัดบัญชีให้เท่ากัน เราเองก็เชื่อทำนองนั้นในความหมายที่ว่าทำอะไรก็เท่ากัน ความยุติธรรมแบบนี้เป็นความต้องการหนึ่ง ดังนั้น การลงโทษจึงเป็นไปเพื่อแก้แค้น

ประการที่ 2 การลงโทษเป็นไปเพื่อป้องกัน ในอดีตจึงประหารในที่สาธารณะ เชื่อว่าทำแบบนี้จะป้องกันไม่ให้เกิด วิธีประหารก็พิสดารหลากหลายมาก ผมเข้าใจว่าในยุโรป ในจีนก็ทำแบบเดียวกันคือฉีกสังขาร ให้ม้าสี่ตัวดึงร่างของนักโทษออกจากกัน โดยเชื่อว่าความแรงของการลงโทษจะทำให้คนเชื่อฟังกฎหมายและไม่ทำความผิด เชิงอรรถของผมก็คือไม่รู้มันทำงานแบบเดียวกับซองบุหรี่หรือเปล่า ซองบุหรี่มีภาพปอดทะลุ แต่ปรากฏว่าบุหรี่ก็ยังขายได้ดี

ประการที่ 3 เขาเชื่อว่าการลงโทษเป็นไปเพื่อแก้ไขผู้กระทำผิด การคิดเรื่องนี้ต้องคิดอย่างบูรณาการ การที่คนหนึ่งจะตัดสินใจเป็นอาชญากร ไม่ใช่อยู่ดีๆ เป็น แต่มีเหตุปัจจัยจำนวนมากที่ทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ การบอกว่าโทษประหารยกเลิกไม่ได้หรอก เพราะมีปัญหาอื่นเช่นความมเหลื่อมล้ำ มีความไม่ยุติธรรม มีความยากจน ความไม่รู้มากมายไปหมด ทั้งหมดนี้ผมเรียกว่าปัจจัยทางโครงสร้าง ปัจจัยเหล่านี้แหละครับที่มันให้กำเนิดฆาตกร ไอ้หื่น อาชญากรไม่ได้หล่นลงมาจากท้องฟ้า แต่ผุดขึ้นจากเนื้อนาดินของสังคมไทย ซึ่งมีคุณภาพแบบนี้ มันจึงออกมาในสภาพแบบนี้ คำถามคือทำไมคนอื่นไม่เป็น ก็เพราะเงื่อนไขไม่เอื้ออำนวย มันมีเงื่อนไขบางอย่างที่ทำให้เราเป็นอย่างที่เราเป็นในทางสังคม ถ้าคิดจากมุมสังคมศาสตร์เราจึงต้องโฟกัสที่เหตุปัจจัยทางสังคม ซึ่งมีความสำคัญไม่แตกต่างกันและมีความสัมพันธ์กัน

มีคำถามว่า มียีนที่ทำให้เกิดมาเป็นอาชญากรหรือไม่ ในทางกฎหมายมีคำอธิบายอย่างหนึ่ง แต่ในทางวิทยาศาสตร์พบว่าในเด็กจำนวนหนึ่งที่ส่วนบางส่วนในสมองถูกฉีกห่างออกจากกันและทำให้กลายเป็นคนก้าวร้าวรุนแรง ในทางการแพทย์ที่ซ่อมสมอง เขาก็ทำ ใส่ส่วนนี้กลับไป ความก้าวร้าวรุนแรงก็ลดลง ถ้าสนใจต้องเข้าไปในโลกของประสานวิทยา

แต่ทั้งหมดแปลว่าบางทีคนที่ก่ออาชญากรมันมีเหตุอย่างอื่น เวลาเราคิดถึงอาชญากรทั้งหลายและคิดถึงคนอีกคนหนึ่งที่ใช้ดาบเชือดคอ เอาปืนยิง เราชอบคิดว่าคนยิงเป็นคนทำความรุนแรงและอีกฝ่ายเป็นเหยื่อ เหยื่อถูกกระทำ เป็นไปได้หรือไม่ว่าในทุกฉากฆาตกรรมมีเหยื่อสองคน คนหนึ่งอยู่ที่ปลายกระบอก อีกคนอยู่ที่ไกปืน ถ้าเราคิดแบบนี้มันจะวิ่งไปยังประเด็นที่ว่าในประเทศนี้มีแต่ความเหลื่อมล้ำเต็มไปหมด การกำจัดคนไปคนหนึ่งจึงไม่แก้ปัญหา แล้วก็เกิดคนอื่นขึ้นมาอีก ถ้าเหตุปัจจัยเหล่านี้ไม่หมดไป และเหตุปัจจัยเหล่านี้บางทีมันเล็กน้อยมาก มันมีคดีฆาตกรรมพยาบาลคนหนึ่งในซอยที่ถูกฆ่าข่มขืน เหตุเกิดเพราะซอยนั้นมันเปลี่ยว ไม่มีไฟ

มนุษย์ทำอะไรบางอย่างบนเงื่อนไขบางอย่าง เราที่นั่งอยู่ตรงนี้อาจดูเหมือนเป็นคนดี เชื่อฟังกฎหมาย เชื่อฟังหลักศีลธรรม แต่พอไฟมืดหมด เราก็คิดเรื่องชั่วร้ายได้มากมายเหมือนกัน ในแง่นี้อาชญากรรมก็เป็นผลของเหตุปัจจัย ความน่าสนใจคือไม่ใช่ว่าตัวแปรทุกตัวเท่ากัน บางตัวเป็นเหตุปัจจัยที่ส่งผลทันที เพราะฉะนั้นถ้าเชื่อแบบนี้ คนกระทำผิดก็อาจแก้ไขได้ หลายประเทศจึงยกเลิกโทษประหาร เพราะการมีโทษประหารคือการบอกกับตัวเราเองว่าเราหมดหวังกับคนนี้แล้ว แก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว

ผมทราบครับว่าการแก้ไขต้องลงทุน อันนี้เป็นปัญหาของสังคมต้องคิดว่าเราอยากจะลงทุนหรือไม่ เราจะได้ย้อนกลับไปคิดว่าทำไมเขาจึงเดินมาถึงจุดนี้ ทำไมเขาจึงฆ่าคน อันนี้สังคมไทยต้องถาม

ส่วนคำถามที่ว่าเรื่องนี้เกี่ยวของกับความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์หรือไม่ ข้อต่างสำคัญ ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์โฟกัสที่ความสัมพันธ์ ไม่ใช่ที่เป้าหมาย เพราะฉะนั้นถ้าถามว่ามันซ่อมแซมอะไร มันซ่อมแซมความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำผิดกับเหยื่อ ไปถึงเรื่องการให้อภัยและอื่นๆ อีกมากมาย ถามว่าสังคมไทยเป็นเนื้อนาบุญของการให้อภัยหรือไม่ แน่นอน เราอยู่ในสังคมซึ่งอาบอยู่ด้วยรสพระธรรมของพุทธศาสนา มันก็มีพลังแบบนั้นอยู่ คำถามที่น่าสนใจคือทำไมพลังแบบนั้นจึงดูเหมือนถูกบดบังด้วยความโหดร้ายที่เกิดขึ้นในสังคม แต่มีคนลุกขึ้นมาให้อภัยหรือเปล่า มีนะครับ
พลวัตของโทษประหาร

ประเด็นต่อมา โทษประหารในสังคมไทยเปลี่ยนแปลงมาพอสมควร ก่อนหน้านั้นเรามีพระอัยการกบฏศึก มีการทรมานก่อนด้วย ทั้งหมดนี้มาเปลี่ยนใน ร.ศ.127 หยุดพระอัยการกบฏศึก หยุดการตัดหัว ทำไมถึงหยุด คำตอบคือสังคมไทยสมัยรัชกาลที่ 5 กำลังเปลี่ยนแปลงเป็นสมัยใหม่ สิ่งที่ท่านต้องทำคือต้องต่อรองกับอังกฤษและฝรั่งเศสที่มีอิทธิพลต่อประเทศไทยและไม่ยอมขึ้นต่อกฎหมายไทย รัชกาลที่ 5 จึงเปลี่ยนสิ่งเหล่านี้เพื่อหยุดสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ความจริงรัชกาลที่ 5 เองท่านก็เสด็จประพาสไปที่ต่างๆ ท่านก็เห็นว่าต้องเปลี่ยน แล้วมาเปลี่ยนอีกครั้งหนึ่งปี 2477 เปลี่ยนจากตัดหัวเป็นยิงเป้า ไม่ให้คนยิงเห็น ยิงเสร็จแล้วก็ไป พยายามทำให้การลงโทษไม่เป็นเรื่องส่วนบุคคล เปลี่ยนอีกทีปี 2539 เปลี่ยนจากการยิงเป้าเป็นเป็นฉีดยา แต่มาใช้จริงปี 2546

ประเด็นคือโทษประหารไม่ได้อยู่นิ่ง มีพลวัตและเปลี่ยนแปลงตามเหตุปัจจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอิทธิพลจากการที่สังคมไทยดำรงอยู่ในมิตินานาชาติ บางคนเรียกปรากฏการณ์นี้ว่ากระบวนการทำให้สังคมไทยเป็นอารยะ ก้าวต่อไปสู่การยกเลิกโทษประหารก็เป็นทำนองเดียวกัน เป็นเส้นทางพัฒนาการของสังคมไทย สังคมไทยเอาหรือไม่เอา ไม่ทราบ แต่พัฒนาการของสังคมในหลายประเทศเป็นเช่นนั้นและเดินทางไปสู่การไม่มีโทษประหาร
สิ่งที่สังคมไทยต้องการจากโทษประหาร

สังคมไทยต้องการอะไรเวลาใช้โทษประหาร ตอบอย่างรวดเร็วคือคนผิดต้องได้รับการลงโทษ แต่ความคิดนั้นอยู่บนฐานความเข้าใจที่สำคัญว่าเป็นความทุกข์ของญาติพี่น้องของคนตาย ที่บอกว่าความคิดนี้เป็นข้อเท็จจริงล้วนๆ ไม่มีทฤษฎี บังเอิญผมมาจากสำนักที่เชื่อว่าบนโลกนี้ไม่มีอะไรที่เป็นข้อเท็จจริงล้วนๆ มีแต่ทฤษฎี รวมทั้งความคิดที่เชื่อว่าชีวิตต้องแลกด้วยชีวิตก็เป็นทฤษฎีหนึ่ง

ยกตัวอย่างเช่นอาชญากรฆ่าข่มขืนคนไปประมาณ 80 คน เหยื่อคนหนึ่งถามทำไมทำแบบนี้ มันไม่ยุติธรรมที่เอาชีวิตคนไป ในบทสนทนาที่ถอดเทปไว้ฆาตกรบอกว่า คุณเรียกร้องความยุติธรรม ความยุติธรรมยังไงเหรอ ผมฆ่าคนมาแล้ว 80 คน แล้วคุณประหารผม คุณคิดว่ายุติธรรมเหรอ ชีวิตผมแทนคนที่ผมฆ่าคนไหนเหรอ หรือคุณกำลังจะบอกว่าชีวิตผมสำคัญเท่ากับคน 80 คน โจทย์นี้น่าสนใจมาก เพราะมันกลายเป็นคำถามว่าสิ่งที่เราเรียกว่าความยุติธรรมมันเป็นจริงหรือเปล่า ชีวิตมันเท่ากันจริงหรือเปล่า แล้วมันส่งผลต่อสังคมอย่างไร

คำถามสุดท้ายคือเวลาสังคมไทยคิดถึงโทษประหาร จริงๆ แล้วสังคมไทยต้องการอะไร ถ้าคำตอบคือต้องการแก้แค้น คำถามก็วิ่งไปว่าในที่สุดแล้วการแก้แค้นทำได้หรือไม่ ถ้าเขาฆ่าคนตายเยอะแยะ แล้วมันเป็นการแก้แค้นให้ใคร คนก็มีแค่ชีวิตเดียว ถ้าตอบว่าดีกว่าทำอย่างอื่น ถ้าตอบแบบนี้ คำถามก็คือว่าโทษประหารทุกครั้งที่เราทำ มันบ่งชี้อะไร ผมคิดว่ามันบ่งชี้ความรู้สึกหมดหวัง คล้ายๆ เราหมดหวังกับสังคม หมดหวังกับคนในสังคม คนนี้เอาไว้ไม่ได้แล้วต้องตัดหัวเขา

ในความหมายนี้จึงเป็นสัญญาว่า เรารู้สึกหมดหวังกับมนุษย์ หมดหวังกับสังคม หมดหวังกับอะไรหลายๆ อย่าง อาจมีเหตุผลที่ประเทศต่างๆ ในโลกพัฒนาไปสู่ความคิดที่ว่ามนุษย์ยังมีทางออก มันต้องเถียงกันเยอะเลยว่าตกลงมีสิ่งที่เรียกว่าสันดานดิบอยู่จริงๆ หรือไม่ เป็นคำถามที่เราต้องถามตัวเองว่า ในที่สุดแล้วสังคมอยากจะเดินไปทางไหน ซึ่งแต่ละทางมีผลต่อการตัดสินใจว่าเราเป็นอะไร สังคมคิดอย่างไรกับเรื่องแบบนี้ เป็นแบบทดสอบที่น่าสนใจ
เรารับผิดชอบแค่ไหนเมื่อฆาตกรปรากฏตัว

ประเด็นที่อยากตั้งข้อสังเกตคือการประหารชีวิตคือการฆ่า มันยุติทุกอย่างต่อชีวิต มันต้องตั้งคำถามว่าการลงโทษประหาร ฆ่าผิดตัวได้หรือเปล่า ในอเมริกาตอนนี้มีขบวนการของผู้บริสุทธ์ เขาเชื่อว่าคนที่รอโทษประหารจำนวนหนึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์ อาจมี 2-5 เปอร์เซ็นต์เป็นผู้บริสุทธิ์ ถามว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร คำตอบของการศึกษาระยะหลังคือตำรวจซึ่งเป็นต้นทางทำงานไม่ได้เรื่อง สอง-พยานที่บอกว่าเห็น จริงๆ ไม่ได้เห็น มันเป็นอีกอย่าง สาม-การทำผิดพลาดของอัยการเอง สี่-ทนายจำเลยอาจไม่พร้อม เช่น บางกรณีไม่ได้ประมวลพยานให้มากเพียงพอ สัมภาษณ์พยานบุคคลไม่ครบ อีกอย่างคือหลักฐานทางนิติเวชที่เก็บมาอาจทำได้ไม่ดีพอ ผลที่ตามมาคือในอเมริกาจึงมีขบวนการผู้บริสุทธิ์เพื่อกรองสิ่งเหล่านี้ ที่ต้องทำก็เพราะโทษประหารเป็นการลงโทษที่เป็นที่สุด มันเอาชีวิตคน พูดตามหลักศาสนา มันเป็นหน้าที่ของพระเจ้าว่าจะสิ้นสุดชีวิตมนุษย์เมื่อไหร่ แต่ตอนนี้รัฐกำลังทำหน้าที่นี้แทนพระเจ้า มันจึงต้องมีกระบวนการกรอง

ปัญหามีอยู่อันหนึ่งคือในสังคมไทยและสังคมโลกมีสิ่งที่นักวิชาการเรียกว่า Confirmation Bias คือเห็นโลกตามที่ถูกบอกให้คิดว่าคนนี้ผิดจริง คุณเชื่อแบบนี้ก็หาหลักฐานที่สนับสนุนมา แต่หลักฐานที่ไม่สนับสนุนไม่หา หลักฐานมันมีทั้งสองด้าน แต่คุณอาจให้ความสำคัญกับอีกด้านหนึ่งน้อยเกินไปหรือเปล่า นี่เป็นโจทย์ที่เราต้องคิด

ในที่สุดแล้ว สังคมไทยจะต้องหวนคิดเพราะการรอนสิทธิ์ชีวิตคน มันเป็นที่สุด ถึงมีระบบกรอง แต่ระบบเราดีจริงหรือไม่ก่อนที่เราจะตัดสินใครสักคน บางทีในอดีตที่มีโทษประหาร มันอยู่ในระบบคิดแบบหนึ่งว่าตายแล้วก็กลับมาเกิดใหม่ แต่ถ้าเราไม่เชื่อแบบนั้น เราเชื่อว่ามีชีวิตเดียวและสำคัญ มันก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง

เวลาเราใช้โทษประหารคือความหมดหวังต่อชีวิตคนนั้น ถามเลยไปอีกหน่อยว่าสังคมไทยมีบทบาทรับผิดชอบแค่ไหน เมื่อใครสักคนปรากฏตัวขึ้นในสังคมในฐานะฆาตกร เราเกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้อง เราเกี่ยวข้องแค่ไหน เราเกี่ยวข้องในฐานะคนซึ่งนั่งดูเฉยๆ เราเกี่ยวข้องในฐานะของคนที่สนับสนุน สื่อมวลชนซึ่งสื่อความรุนแรงที่ในที่สุดสร้างคนเหล่านี้ขึ้นมา และเราไม่เคยยกมือห้าม

ผมเห็นเคสที่ทำวิจัย บางทีแค่นิดเดียวเพราะถนนมันมืด แต่เราไม่เคยสนใจเลยว่าต้องติดไฟถนน ถ้าเราไม่สนใจ แล้วมันเกิดขึ้น เราชี้ว่าคนนี้ทำผิด ทุกครั้งที่เราชี้ไปคนอื่น มันมีสามนิ้วชี้มาหาเรา แล้วเราควรทำอะไรบ้างหรือไม่เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ ผมถึงอธิบายว่าเวลาเรายิงใครสักคน ไม่ได้มีเหยื่อคนเดียวที่อยู่ปลายปากกระบอกปืน มีเหยื่อที่ไกด้วย แต่เหยื่อที่อยู่ที่ไก เรามองไม่ค่อยเห็นเพราะมาจากเหตุปัจจัยทางสังคม และนั่นเป็นปัญหาของเราทุกคน เรื่องโทษประหารจึงเป็นโอกาสดีที่เราจะคิดว่า เราควรทำอะไรเพื่อยุติสิ่งเหล่านี้ หันมาสู่สังคมที่ยังมีความหวัง และให้โอกาสมนุษย์

บนโลกนี้มีวิธีที่ง่ายและมีวิธีที่ยาก คำถามที่น่าสนใจคือวิธีที่ง่ายและดูเหมือนทันใจเป็นวิธีที่ดีสำหรับการสร้างสังคมที่เราต้องการหรือเปล่า อันนี้ผมไม่ทราบ

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.