Posted: 11 Jul 2018 09:22 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
โสภณ พรโชคชัย
พระย่อมต้องพร่ำสอนให้คนเป็นคนดี แต่บางทีตัวเองก็ทำไม่ได้แต่ที่พร่ำสอนเพราะเป็นอาชีพและแสวงหาลาภยศเราถึงต้องรู้ทันการหลวงโลกเรานี้บางครั้งจินตนาการอาจเลยเถิดความจริง จนกลายเป็นการหลวงโลกไปเลย
เพลงเขมรไทรโยค เป็นเพลงไทยเดิม พระนิพนธ์โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ นิพนธ์เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินประพาสน้ำตกไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อ 20 กันยายน 2431 สำหรับเพลงนี้ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงพระนิพนธ์โดยได้เค้ามาจากเพลง "เขมรกล่อมลูก" ซึ่งเป็นเพลง 2 ชั้น ดัดแปลงขึ้นใหม่เป็นเพลง 3 ชั้น กับได้ทรงพระนิพนธ์บทร้องประกอบบรรยายถึงความงดงามของธรรมชาติ แล้วประทานนามว่า "เขมรไทรโยค" (https://bit.ly/2MRJ0J3)
ท่านทราบหรือไม่กรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ทรงนิพนธ์เพลงอมตะนี้โดยไม่เคยไปเห็นสถานที่จริงมาก่อนเลย แต่พระองค์ท่านก็สามารถพระนิพนธ์ได้แบบ ‘สุดยอด’ นี่เป็นตัวอย่างชัดว่า ‘จินตนาการสำคัญกว่าความรู้’ (https://bit.ly/2KNa137) ซึ่งเป็นวลีอันอมตะที่อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ทิ้งเอาไว้ให้แก่โลก ความรู้ทำให้เราฉลาดขึ้น แต่มันจะเป็นสิ่งที่อยู่คงเดิมอย่างนั้น หากเราไม่นำความรู้นั้นไปใส่จินตนาการเพิ่มเติม เปรียบเทียบง่าย ๆ ความรู้ก็เหมือนกับปัจจุบัน ขณะที่จินตนาการเปรียบได้กับอนาคต แต่ในอีกแง่หนึ่ง บางคนก็มีจินตนาการโดยขาดความรู้จริง
อีกท่านหนึ่งที่มีพลังจินตนาการมหาศาลคือท่านชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ (28 กรกฎาคม พ.ศ. 2461 - 16 มิถุนายน พ.ศ. 2546) เป็นนักเขียนเรื่องสั้น และนวนิยายแนวการผจญภัยในป่าดงดิบ ท่านได้รับการเชิดชูเกียรติ รางวัลนราธิป จากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ประจำปี พ.ศ. 2544 ท่านเริ่มเขียนเรื่องเกี่ยวกับป่าดงดิบตั้งแต่ พ.ศ. 2493 โดยได้รับมอบหมายให้นำบันทึกเรื่องราวของนายอาณัติ บุนนาค มาเรียงเรียงใหม่เป็นสำนวนของตัวเอง ตีพิมพ์ใน "พิมพ์ไทยรายวัน" มีนายบุศย์ สิมะเสถียร เป็นบรรณาธิการ ชื่อเรื่อง "สิบห้าวันในป่ากะเหรี่ยง" (https://bit.ly/2u0knmz)
ท่านไม่เคยเข้าป่ามาก่อน และทำให้ต้องค้นคว้าเกี่ยวกับการเดินป่า ล่าสัตว์ และเขียนนวนิยายในแนวนี้ต่อมาอีกเป็นจำนวนมาก เรื่องที่มีชื่อเสียง เช่น ชุมนุมฟ้าผ่า ตีพิมพ์ใน ปิยมิตรรายสัปดาห์ โป่งผี ตีพิมพ์ใน สกุลไทยรายสัปดาห์ ไพรมหากาฬ ตีพิมพ์ใน เพลินจิตต์รายวัน นำไปออกอากาศละครวิทยุโดยนายเสนีย์ บุษปะเกศ เมื่อ พ.ศ. 2500 เรื่องสมิงไพร ไพรมัจจุราช ไพรพยัคฆ์ ตีพิมพ์ใน เพลินจิตต์สามรส รายวัน และไพรผาดำ ตีพิมพ์ใน นครไทยเบื้องหลังข่าว ท่านเคยบอกว่าท่านไปคุยกับพรานป่าในวงเหล้าบ้าง และหาคงวามรู้จากแหล่งอื่นๆ เป็นต้น
บางคนบอกว่าถ้าว่ายน้ำเองไม่เป็น ก็ไม่สามารถเขียนตำราเพื่อแนะนำสอนให้คนว่ายน้ำเป็นได้ สมมติฐานนี้คงไม่จริงเสียแล้ว เพราะความจริงอาจเขียนได้ดีกว่าคนอื่นโดยเฉพาะหากมีศิลปในการเขียนได้ดีกว่านักว่ายน้ำแชมป์โลกที่เขียนไม่ค่อยเก่งหรือเขียนโดยไม่มีวรรณศิลป์เพียงพอก็เป็นไปได้ อย่างไรก็ตามการแต่งตำรา การแต่งเพลง แต่งเรื่องนิยายประโลมโลก โดยไม่มีประสบการณ์ตรง ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ แม้แต่พ่อที่ติดเหล้า แม่ที่ติดการพนัน ก็ยังมีสิทธิสอนลูกด้วยความปรารถนาดีว่าไม่ควรทานเหล้าหรือเล่นการพนัน
แต่กับพระหนุ่มๆ เสียงไพเราะ หรือผู้ที่สวมเครื่องแบบพระให้ดูน่าเชื่อถือ แต่สอนเรื่องความสำเร็จในชีวิตครอบครัว การครองเรือน ก็คงเขียนได้ คล้ายกรณีต่างๆ ข้างต้น แต่ก็เป็นเครื่องชี้ว่าพระนี้ได้แต่จำๆ ขี้ปาก หรือลอกตำราเขามาดัดแปลงเขียน-พูดโดยอาศัยวาทศิลป์และวรรณศิลป์ มาพูดมาเขียนพ็อกเก็ตบุ๊คหากินแบบนักเขียนนิยาย แต่นี่ไม่ได้สอนจากประสบการณ์จริงเยี่ยงพระพุทธ ไม่ใช่ผู้นำทางจิตวิญญาณแต่เป็นพระเซเล็บมากกว่า พูดเรื่องดีๆ สอนเรื่องดีๆ ด้วยการประดิษฐ์ถ้อยคำหรูๆ ก็เพียงให้ตนเองดูดีเท่านั้น
พระเหล่านี้สอนให้คนเป็นคนดีจริงไม่ได้ ผู้แต่งตำราว่ายน้ำที่ดีที่สุดในโลก ก็ไม่อาจสอนให้คนว่ายน้ำเป็น ได้ อันที่จริง การจะบรรลุสิ่งใดได้ ต้องปฏิบัติ นักบวชที่ดีแท้ต้องนำพาให้ผู้คนหลุดพ้น ไม่ใช่พาไปนั่งสมาธิเท่ๆ พอออกจากการนั่งสมาธิ ก็เกิดอาการ ‘ลมปราณแตกซ่าน’ หงุดหงิดเหมือนเดิม ในสมัยก่อนพระติด ‘ลัทธิตำรา’ พอเทศน์ ก็อ่านใบลาน ชาวบ้านก็ไม่รู้เรื่อง พระยุคหลังเลยใช้ภาษาบ้านๆ แต่ผ่าเพี้ยนแต่งตำราเอง ทำให้ชาวบ้านนับถือสงฆ์มากกว่าพุทธ
นี่เป็นเรื่องอันตรายที่มักได้เห็นพระคอยแต่ประโลมโลกย์ด้วยคำสอนเท่ที่ตนเองก็ไม่สามารถพิสูจน์ตนเองว่าตนทำได้ พระสอนได้แต่เรื่องพื้นๆ โดยอ้างว่าเดี๋ยวพุทธบริษัทจะเข้าใจได้ยาก จนกลายเป็นการสอนแบบซ้ำๆ ซากๆ โดยสอนไปแล้วตนเองดูดีเท่านั้น ผมจึงขอยกสุภาษิตยูเครน (ที่ผมไปบรรยายอสังหาริมทรัพย์มา) ดังนี้
1. Black souls wear white shirts. (โปรดระวัง) คนใจดำมักใส่ชุดขาว (แสร้งเป็นคนดี)
2. The devil likes to hide behind a cross. ปีศาจมักอยู่หลังไม้กางเขน (ซึ่งเป็นตัวแทนของคนดี)
เพื่อให้แฟร์กับทุกฝ่าย ผมขออนุญาตยกตัวอย่างของผมเองบ้าง ผมสอนวิชาพัฒนาที่ดินและการเป็นนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ แต่ผมไม่พัฒนาที่ดินเองและไม่เป็นนายหน้า ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะผมอยากให้มีความเป็นกลาง ด้วยผมประกอบอาชีพผู้ประเมินค่าทรัพย์สินและสำรวจวิจัยอสังหาริมทรัพย์ จึงไม่ทำทุกอย่างที่ได้เงิน ผมสอนได้เพราะมีข้อมูลใหม่จากงานสำรวจวิจัยแทบทุกวันและได้วิเคราะห์โครงการที่ ‘เจ๊ง’ หรือประสบความสำเร็จอย่างสม่ำเสมอ ที่สำคัญผมคัดสรรคนที่ประสบความสำเร็จในการเป็นนักพัฒนาที่ดินหรือเป็นนายหน้าสลับหมุนเวียนกันมาสอน โดยถือผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ไม่ใช่ทำตัวเป็นอาจารย์ประเภทได้ทั้งเงินทั้งกล่อง
ผมจึงขอย้ำให้ตาสว่างว่า โปรดอย่าเชื่อคนดูดี เช่น นักบวชที่ทำตัวดี สอนดี สอนไพเราะ แต่ตัวเองได้แค่เล่าเรื่องแบบนิยาย เราพึงประเมินพวกนักบวชบางคนเสียใหม่ว่าพวกเขาก็เป็นแค่ผู้แสวงหาลาภยศสรรเสริญด้วยการสวมบทนักเล่าเรื่องไม่ได้บรรลุธรรมอะไร
แสดงความคิดเห็น