Posted: 18 Jul 2018 07:50 AM PDT
Submitted on Wed, 2018-07-18 21:50

ณรรธราวุธ เมืองสุข

นับเป็นเรื่องน่าอึดอัดใจของผมอย่างยิ่งต่อองค์กรวิชาชีพสื่อ โดยเฉพาะสื่อวิทยุโทรทัศน์ ที่ผู้ควบคุมดูแลจริยธรรมมุ่งแต่สั่งสอนผู้อื่นโดยละเลยที่จะตรวจสอบข้อเท็จจริง และรับผิดชอบต่อผลกระทบ ผมยกกรณีของ ข่าวเวิร์คพ้อยท์ ที่โดนโจมตีเรื่องการ "ดักฟังวิทยุของราชการ"

สืบเนื่องจากผู้สื่อข่าวภาคสนามของทีวีสาธารณะคนหนึ่ง ถ่ายภาพตอนเวิร์คพ้อยท์นำเสนอข่าวเด็กติดถ้ำที่มีการปล่อยเสียงจากวิทยุสื่อสารออกมาอากาศนำมาโพสต์และเขียนข้อความระบุว่า "ดักฟังวิทยุสื่อสารของเจ้าหน้าที่ ยังนำมาปล่อยเสียง และเป็นแหล่งข่าว...มาเปิดเผยสาธารณะ อ้าววว เขาทำข่าวแบบนี้กันแล้วเหรอ" และโพสต์ดังกล่าวถูกแชร์ส่งต่อไปจำนวนหลายพันคน เพจต่างๆ นำไปขยายความต่อ ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในสังคม

ต่อมานายบรรยงค์ สุวรรณผ่อง ประธานกรรมการจริยธรรมวิชาชีพสื่อ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกมาเขียนสเตตัส สื่อดักฟังวิทยุราชการทำได้หรือไม่ เผยแพร่ในเพจจริยธรรมสื่อวิทยุโทรทัศน์

ซึ่งทำให้นายฤทธิชัย ชูวงษ์ บรรณาธิการข่าวภูมิภาคของเวิร์คพ้อยท์เขียนชี้แจง และทางเพจจริยธรรมสื่อวิทยุโทรทัศน์นำไปเผยแพร่ต่อ (https://bit.ly/2LnLSgG) ระบุความผิดพลาดในบทความของนายบรรยงค์ที่ไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนว่า การนำเสนอคลิปข่าวดังกล่าวไม่ได้มาจากการดักฟังวิทยุสื่อสารของทางราชการ

ขณะเดียวกัน ทางศูนย์พญาอินทรี เครือข่ายวิทยุภาคประชาชนเจ้าของได้เขียนชี้แจงว่า


"ข่าวเวิร์คพ้อยท์น่าจะรับฟังผ่านเครื่องมือสื่อสารความถี่ภาคประชาชน (Citizen Band) เครื่องแดง ช่อง 49 ซึ่งเรารายงานสถานการณ์จากถ้ำหลวงตั้งแต่วันแรกจนถึงปัจจุบัน..."

และ


"ส่วนการรับฟังข่าวสารจากศูนย์พญาอินทรี ประชาชนคนไทยสามารถรับฟังได้โดยเสรี....หากมีวิทยุสื่อสารเครื่องแดงในมือ"

ซึ่งข้อมูลนี้ ตรงกับคำชี้แจงของทางนายฤทธิชัย ชูวงษ์ บรรณาธิการข่าวภูมิภาคของเวิร์คพ้อยท์ที่ระบุว่า "ทางฝ่ายข่าวเวิร์คพอยท์ไม่ได้ดักฟังวิทยุสื่อสารของทางราชการแต่อย่างใด ฝ่ายข่าวได้คลิปเสียงส่งต่อมาทางไลน์ในกลุ่มสื่อทั่วไป ทั้งนี้ หลังจากเผยแพร่คลิปเสียงดังกล่าวแล้ว ทางฝ่ายข่าวก็ได้มีการติดต่อสัมภาษณ์อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายทางโทรศัพท์ เพื่อให้ท่านชี้แจงว่าข้อมูลในคลิปนั้น ถูกต้องหรือไม่ (ข่าวเช้าวันที่ 9 ก.ค. 61)

และคลิปที่ถูกกล่าวหาก็เป็นเสียงของการรายงานข่าวของนายพลสิงห์ แสนสุข ประธานอำนวยการศูนย์สู้ภัยพิบัติแห่งชาติพญาอินทรีย์ ซึ่งไม่ใช่เสียงของเจ้าหน้าที่หรือเสียงจากเครื่องมือของหน่วยงานราชการแต่อย่างใด"

ประโยคข้างต้นนี้ ขัดแย้งกับสิ่งที่ประธานกรรมการจริยธรรมวิชาชีพ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยระบุ คือคำว่า "ดักฟัง" ซึ่งหากกิริยาดังกล่าวเป็นอย่างข้อกล่าวหาจะผิดกฏหมายของ กสทช. มาตรา 32 แต่นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการในคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แสดงความเห็นกับสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ต่อกรณีการนำเสนอเสียงจากสัญญาณวิทยุสื่อสาร ในระหว่างภารกิจช่วยเหลือครั้งนี้ ว่า วิทยุสื่อสารสีแดง (ว.แดง) เป็นวิทยุคลื่นสาธารณะ ไม่ใช่คลื่นเฉพาะ ทุกคนจึงฟังได้ ดังนั้น จึงไม่มีความผิดฐานลักลอบดักฟัง อย่างไรก็ตาม กรณีที่เกิดขึ้นประเด็นอยู่ที่ความเหมาะสมมากกว่า ในการนำเนื้อหาที่คนอื่นพูดไปเผยแพร่ต่อ

จากการไล่เรียงประเด็นนี้ทั้งหมด ทำให้เกิดคำถามและคำตอบบางส่วนคือ

1.เรื่องนี้ คือการดักฟังวิทยุราชการหรือไม่? คำตอบคือไม่ใช่ แล้วเหตุใดผู้ใหญ่ในองค์กรวิชาชีพสื่ออย่างนายบรรยงค์ สุวรรณผ่อง จึงใช้คำนี้เขียนเป็นหัวเรื่องในสเตตัสของตนเองอย่างจงใจว่า "สื่อดักฟังวิทยุราชการทำได้หรือไม่" ทำให้ชุดคำ "ดักฟังวิทยุของราชการ" ถูกผลิตซ้ำต่อไปทั้งที่มันขัดกับข้อเท็จจริง (และเมื่อ กสทช. ออกมาชี้ชัดแล้วก็ยังไม่มีการแก้ไขใดๆ แต่กลับแก้ไขเนื้อหาในข้อเขียนเพียงบางส่วนเท่านั้น)

2.สเตตัสต้นทางของผู้สื่อข่าวทีวีสาธารณะที่จุดประเด็นนี้ ถูกเจ้าตัวลบทิ้งไปแล้วอย่างไร้ความรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น เหตุใดนายบรรยงค์จึงไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริง และเรียกร้องจริยธรรมสื่อกรณีการกล่าวหากันอย่างไม่เป็นธรรมหรือไม่ อย่างไร

3.ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับนายฤทธิชัย ชูวงษ์ ที่มีการถูกพักงานอย่างไม่มีกำหนด กระทบครอบครัว กระทบชีวิตส่วนตัว และถูกล่าแม่มดไปใส่ร้ายป้ายสีสร้างความเกลียดชังในเพจต่างๆ เกี่ยวกับพฤติกรรมที่เจ้าตัวไม่ได้รู้เรื่องด้วย เหตุอันมาจากข้อชี้แจงที่เขาโต้แย้งข้อเขียนของนายบรรยงค์และถูกนำไปขยายความต่อ ทั้งที่การกระทำ (กรณีที่ถูกกล่าวหาว่ามีการดักฟัง) ไม่มีความชัดเจนว่าจะผิดจริยธรรมสื่อข้อใด (ซึ่งไม่ผ่านกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงใดๆ จากองค์กรวิชาชีพสื่อ) เป็นความผิดเกินกว่าเหตุหรือไม่

4.การหยิบกระแสสังคมออกมาสอนจริยธรรมสื่อโดยไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง (จริงๆ มีกรรมการอยู่แล้ว) เป็นความเหมาะสมหรือไม่สำหรับคนที่ดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการจริยธรรมวิชาชีพ

5.นายบรรยงค์คิดเห็นอย่างไรกับชุดคำที่ขัดแย้งกันในข้อกล่าวหาและข้อชี้แจง

"ดักฟัง" และ "ไม่ได้ดักฟัง"

"ราชการ" และ "สาธารณะ

"ผิดจริยธรรม" และ "ไม่เหมาะสม"

"ผิดกฏหมาย" และ "ไม่ผิดกฏหมาย"


หากนำชุดคำดังกล่าวมาพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ผมไม่แน่ใจว่านายบรรยงค์จะรู้สึกรับผิดชอบขึ้นหรือไม่ว่า การออกมาสั่งสอนจริยธรรมสื่อท่ามกลางข้อเท็จจริงที่พร่ามัวโดยใช้กระแสสังคมนำ ไม่ต่างกับการชี้ว่าผิดจริยธรรม เพราะเท่ากับหนุนนำกระแสโดยไม่มีใครสนใจข้อเท็จจริง ใช้แต่ความรู้สึกนำ และต่างคนต่างมุ่งจะแสดงความเห็น และหากไม่อคติเกินไปนักก็จะรับฟังได้ว่า การกล่าวหาว่าทางเวิร์คพ้อยท์ดักฟังวิทยุราชการ คือการบิดเบือนข้อเท็จจริง ซึ่งโดยจริยธรรมและจรรยาบรรณของสื่อข้อหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง คือการตรวจสอบข้อเท็จจริง ก่อนจะกล่าวหาใคร ยิ่งเป็นองค์กรวิชาชีพก็ควรระมัดระวังก่อนจะลงแส้ใส่ผู้ใดมิใช่หรือ

ผลกระทบต่อนายฤทธิชัย ชูวงษ์ในวันนี้ เกินกว่าเหตุ เกินความเหมาะสม เกินกว่าความผิดที่เขากระทำหรือไม่ (ซึ่งก็ยังมองไม่เห็นความผิดใดๆ เพราะความเหมาะสมเป็นเรื่องของวิจารณญาณ) ก็ยังไม่มีใครออกมายอมรับความผิดพลาด ไม่มีใครรับผิดชอบ และดูเหมือนการตีตราและทำร้ายตัวบุคคลครั้งนี้จะประสบความสำเร็จด้วยดี เพราะมีผู้ร้าย มีการลงโทษที่รุนแรง และ ผู้กล่าวหาดูจะมีจริยธรรมสูงส่งขึ้นหรือไม่ คิดว่าในใจของเจ้าตัวน่าจะรู้ดี

ซึ่งก็น่าเศร้ากับสมาคมวิทยุและโทรทัศน์ ที่หากยังใช้วิธีการเช่นนี้อยู่ (สั่งสอนจริยธรรมตามกระแสโดยละเลยข้อเท็จจริง) ใช้พละกำลังถีบสื่อออกไปแทนการพูดคุย เสนอแนะ ซึ่งอาจนำพาความร่วมมือหรือป้องกันปัญหาได้ในอนาคต

น่าเสียดายจริงๆ ที่ต่อไปคงไม่มีใครสนใจว่าคุณบรรยงค์จะพูดอะไร.


บทความ
คุณภาพชีวิต
สิทธิมนุษยชน
สังคม
กรรมการจริยธรรมวิชาชีพสื่อ
ณรรธราวุธ เมืองสุข
บรรยงค์ สุวรรณผ่อง
พลสิงห์ แสนสุข
ฤทธิชัย ชูวงษ์
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
สื่อมวลชน
องค์กรวิชาชีพสื่อ

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.