Posted: 28 Jul 2018 01:54 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sat, 2018-07-28 15:54


นิตยสาร Foreign Policy นำเสนอรายงานตั้งข้อสังเกตเรื่องที่เหล่าผู้นำโลกอิสลามต่างก็เพิกเฉยต่อกรณีค่ายกักกันชาวมุสลิมอุยกูร์ในจีน ทั้งๆ ที่มันเป็นการพยายามกวาดล้างศาสนาที่มาจากพื้นฐานความคิดเกลียดกลัวอิสลามอย่างไม่มีเหตุผล ต่างจากกรณีอื่นๆ เช่นชาวปาเลสไตน์ถูกปราบจากรัฐบาลอิสราเอล เรื่องนี้มีการตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะเป็นเพราะประเทศที่มีผู้นำเป็นชาวมุสลิมกำลังมีผลประโยชน์ทางการค้าร่วมกับจีน

รายงานของผู้สื่อข่าวอิสระที่ติดตามประเด็นในเอเชีย นิธิน โคคา เปิดเผยว่าในจีนมีชาวอุยกูร์ถูกจับขังในค่ายกักกันนับล้านคน ซึ่งมีทั้งชาวบ้านที่ถูกกวาดต้นจนหลายเป็นย่านร้าง นักเรียน นักดนตรี นักกีฬา และนักวิชาการสันติภาพ ทางการจีนต่างก็ขังพวกเขาเหล่านี้ไว้ในค่ายที่มีเทคโนโลยีการสอดแนมไฮเทคที่คอยติดตามพวกเขาอยู่ทุกฝีก้าว

โคคาระบุว่านี่เป็นเรื่องของการที่ทางการจีนรุกปราบปรามชาวอูยกูร์ในซินเจียง ซึ่งเน้นการลบล้างศาสนาอิสลามในพื้นที่ด้วยจากการที่มัสยิดในเมืองใหญ่ๆ เริ่มว่างเปล่า นักโทษที่ถูกคุมขังถูกสั่งให้เลิกนับถือพระเจ้าและหันไปศรัทธาในพรรคคอมมิวนิสต์ มีการห้ามการละหมาด การศึกษาทางศาสนา หรือกระทั่งการถือศีลอด มีการถอดตัวอักษรอาหรับจากอาคารสาธารณะ อีกทั้งยังมีการส่งเสริมความเกลียดกลัวอิสลามอย่างไม่มีเหตุผลจากเจ้าหน้าที่พรรคคอมมิวนิสต์เองด้วย

แต่ในขณะที่ชะตากรรมของชาวปาเลสไตน์และการกวาดล้างชาวโรฮิงญาทำให้เกิดแรงต่อต้านและความโกรธเคืองจากผู้นำโลกอิสลาม แต่แทบจะไม่เห็นผู้นำโลกอาหรับออกมาประณามจีนกรณีอุยกูร์เลย "นักการเมืองและผู้นำศาสนาจำนวนมากที่อ้างว่าเป็นผู้ออกปากแทนทางศรัทธาความเชื่อกลับเงียบเฉยต่ออำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจของจีน"

ปีเตอร์ เออร์วิน ผู้จัดการโครงการเวิร์ลอุยกูร์คองเกรสกล่าวว่าสิ่งที่กลายเป็นกำแพงกั้นพวกเขาคือการที่กลุ่มประเทศผู้นำมุสลิมไม่ให้ความสนใจเรื่องนี้ โอเมอร์ คานัต ผู้อำนวยการโครงการสิทธิมนุษยชนชาวอุยกูร์กล่าวว่าสาเหตุที่เป็นแบบนี้ไม่ใช่เพราะว่ากลุ่มผู้นำมุสลิมไม่รู้เรื่องที่เกิดขึ้นเพราะกรณีของอุยกูร์มัการเก็บข้อมูลเป็นอย่างดีและมีการเผยแพร่ออกไป

ในทางตรงกันข้ามประเทศที่มีผู้นำเป็นชาวมุสลิมจำนวนมากเริ่มจะสานสัมพันธ์กับจีนหรือบ้างก็ถึงขั้นหันไปสนับสนุนจีน เช่น ในปีที่แล้วอียิปต์ส่งตัวชาวอุยกูร์กลับไปให้กับจีนที่เป็นไปได้ว่าพวกเขาอาจจะถูกจำคุกหรือเลวร้ายกว่านั้นคือถูกสังหาร ส่วนประเทศอย่างมาเลเซียและปากีสถานก็เคยทำแบบเดียวกันในปี 2554 โคคาระบุว่าสิ่งเหล่านี้ดูแล้วเป็นภาพที่ขัดแย้งกับการที่ผู้นำเหล่านี้ประณามชาติตะวันตกเช่นอิสราเอลในกรณีข่มเหงรังแกชาวปาเลสไตน์จนเชื่อแน่ว่าถ้าชาติเหล่านี้มีการส่งตัวชาวปาเลสไตน์ให้กับอิสราเอลคงมีการโต้ตอบด้วยความไม่พอใจอย่างหนัก

รายงานของโคคาวิเคราะห์ว่าเรื่องนี้น่าจะเป็นเพราะผลประโยชน์ทางการเงินจากจีน จีนกลายเป็นคู่ค้าสำคัญของประเทศที่มีผู้นำสายมุสลิมทุกประเทศ และโดยมากก็เป็นสมาชิกของธนาคารการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่มีจีนเป็นเจ้าของหรือไม่ก็เข้าร่วมโครงการ "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" ของจีน สำหรับประเทศเอเชียใต้เช่นปากีสถานเรื่องนี้หมายถึงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน สำหรับประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีนเป็นตลาดสำคัญสำหรับสินค้าอย่างน้ำมันปาล์มและถ่านหิน ขณะที่ในตะวันออกกลางก็ได้ประโยชน์จากการที่จีนเป็นผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ที่สุดและเริ่มมีการใช้ก๊าซธรรมชาติมากขึ้นเรื่อยๆ

ในสถานการณ์เช่นนี้เองทำให้รายงานของ Foreign Policy เรียกว่าเป็น "ภราดรภาพเหล็ก" ที่กลุ่มผู้นำประเทศมุสลิมต่างก็ชั่งตวงวัดอยู่บนเรื่องผลประโยชน์กับจีนมากกว่าจะมองเรื่องสิทธิมนุษยชน

แต่รายงานของโคคาก็ชี้ประเด็นเพิ่มเติมว่าอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อุยกูร์ถูกละเลยน่าจะเพราะเรื่องความสำคัญของตำแหน่งแห่งที่ในโลกมุสลิมเองด้วย ขณะที่ปาเลสไตน์ดูมึความสำคัญเนื่องจากเป็นประเด็นที่เชื่อมโยงกับดินแดนศักดิสิทธิ์ที่อิสราเอลเรียกว่าเยรูซาเลม แต่กรณีของจีนการแผ่อิทธิพลของจีนในตะวันออกกลางดูภายนอกเหมือนจะไม่ได้ครอบงำมากเท่าอิสราเอลหรือสหรัฐฯ นอกจากนี้จีนยังทำการตัดซินเจียงออกจากโลกภายนอกได้สำเร็จจากการเซนเซอร์รูปแบบต่างๆ ทำให้มีการพูดถึงกรณีค่ายกักกันปรบทัศนคติในซินเจียงไม่มากเท่ากรณีความเจ็บปวดของชาวปาเลสไตน์ที่มีภาพออกมายูทูปทุกวัน

นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องของการที่ประเด็นปาเลสไตน์มีการปักหลักปัญหามานานแล้วเมื่อเทียบกับกรณีซินเจียง สำหรับเหล่าผู้นำที่เป็นห่วงภาพลักษณ์มากกว่าเรื่องสิทธิมนุษยชน การพูดด่าพวกยิวไซออนนิสต์หรือการแสดงออกว่าอยู่ข้างชาวปาเลสไตน์คงได้คะแนนนิยมมากกว่าเมื่อเทียบกับการพูดถึงโรฮิงญาหรืออุยกูร์

ถ้าหากจะมีที่ๆ มีความหวังที่จะพูดเรื่องนี้น่าจะเป็นประเทศมุสลิมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่าง อินโดนีเซีย กับมาเลเซีย ในหลายๆ ปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยที่ 2 ประเทศนี้เป็นประชาธิปไตยทางการเมืองซึ่งหาได้ยากในกลุ่มประเทศผู้นำอิสลาม มีความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์กับจีนแต่ก็มีความรู้สึกต่อต้านจีนอยู่ในทั้งสองประเทศโดยเฉพาะอินโดนีเซีย ส่วนมาเลเซียก็เพิ่งจะผ่านการเลือกตั้งครั้งสำคัญไปทำให้รมต.การคลังคนใหม่บอกว่าจะพิจารณาข้อตกลงทางการค้ากับจีนใหม่อีกครั้งและอาจจะมีการระงับโครงการปัจจุบันหลายโครงการ

อาห์หมัด ฟารูค มุซา ผู้อำนวยการเอ็นจีโออิสลามมิคเรเนสซองฟรอนต์ในมาเลเซียกล่าวว่าทางการจีนมีอิทธิพลมากในการให้เงินกู้กับนาจิบ ราซัค อดีตนายกรัฐมนตรีผู้ที่ตอนนี้ถูกดำเนินคดีฉ้อโกงโครงการรัฐ เขาหวังว่ารัฐบาลใหม่จะเปลี่ยนนโยบายตัวเองให้เอื้อต่อสิทธิมนุษยชนมากขึ้น

อีกประเทศหนึ่งที่น่าจับตามองว่าจะมีท่าทีต่อจีนอย่างไรคือตุรกีซึ่งมีความเกี่ยวข้องเชิงวัฒนธรรมกับชาวอุยกูร์ที่พูดภาษาตุรกี ในตุรกีเองก็มีชุมชนชาวอุยกูร์พลัดถิ่นขนาดใหญ่ที่สุด ในช่วงที่มีจลาจลปี 2552 เรเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน ผู้นำตุรกีก็เป็นผู้นำคนเดียวที่ออกมาพูดถึงเรื่องนี้ และในตุรกีก็เป็นประเทศเดียวที่มีการประท้วงใหญ่จีนในเรื่องการปฏิบัติต่อชาวอุยกูร์เช่นการประท้วงในปี 2558

อย่างไรก็ตามมีความกังวลว่าตุรกีที่เริ่มมีรัฐบาลแบบอำนาจนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ อาจจะเริ่มมองว่าจีนเป็นพันธมิตรของพวกเขาในการต่อกรกับตะวันตก นับตั้งแต่ที่รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของตุรกี เมฟลุต คาวูโซกลู ไปเยือนจีนเมื่อปีที่แล้วก็มีการเปิดเผยว่าจะมีการขจัดการนำเสนอข่าวต่อต้านจีนทำให้มีความสนใจต่อกรณีของอุยกูร์น้อยลง แต่ชาวอุยกูร์ก็ยังฝากความหวังว่าตุรกีจะเป็นที่พึ่งพาได้ ถึงสภาพความเป็นจริงที่จีนใช้เงินแผ่อิทธฺพลไปยังประเทศมุสลิมต่างๆ จะทำให้ความหวังที่ชาติเหล่านี้จะพูดถึงพวกเขาดูริบหรี่ลงก็ตาม

เรียบเรียงจาก

Islamic Leaders Have Nothing to Say About China’s Internment Camps for Muslims, Nithin Coca, Foreign Policy, 24-07-2018
https://foreignpolicy.com/2018/07/24/islamic-leaders-have-nothing-to-say-about-chinas-internment-camps-for-muslims/#

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
รบ. จีนจับนักเตะดาวรุ่งอุยกูร์รุ่นยู-19 เข้าค่ายปรับทัศนคติ เหตุเดินทางไปต่างประเทศ

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.