จากซ้ายไปขวา สุรชัย ตรงงาม, น้ำแท้ มีบุญสร้าง, พ.ต.อ.วิรุตน์ ศิริสวัสดิบุตร, จักรชัย โฉมทองดี
ต้องมีพหุกฎหมายเอื้อให้เกิดสิทธิชุมชน และเปิดช่องให้ตรวจสอบแสดงความเห็น


Posted: 12 Jul 2018 03:41 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

ทนาย EnLaw ชี้ ต้องมีพหุกฎหมายที่เอื้อให้เกิดสิทธิชุมชน กฎหมายต้องเปิดช่องให้ตรวจสอบแสดงความเห็น อดีตผู้กำกับ สภ. เผยยุติธรรมไทยวิบัติ ตำรวจจับคนบริสุทธิ์ต้องทำให้กลายเป็นคนผิด ไม่งั้นผิด ม. 157 ด้านอัยการชี้กฎหมายไทยวิปลาส ไม่ตามหลักสากล ใน ตปท. อัยการตัดสินว่าจะแจ้งข้อหาหรือไม่ ถ้าพิสูจน์ว่าไม่ผิดก็ปล่อยและไม่โดนมาตรา 157

11 ก.ค. 2561 WAY Dialogue ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย จัดเสวนา “ประเทศเหลื่อมล้ำความยุติธรรมชำรุด” ณ อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา ประกอบด้วย พ.ต.อ.วิรุตน์ ศิริสวัสดิบุตร อดีต ผกก.สภ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี คอลัมนิสต์ ผู้เขียนหนังสือวิกฤตตำรวจและงานสอบสวนจุดดับกระบวนการยุติธรรม, สุรชัย ตรงงาม ทนายความมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) และน้ำแท้ มีบุญสร้าง อัยการจังหวัด สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิ์และช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดี จังหวัดกาญจนบุรี ร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนกันในหัวข้อ “เราเห็นอะไรในกระบวนการยุติธรรม” โดยจักรชัย โฉมทองดี เป็นผู้ดำเนินการเสวนา

นอกจากคุกจะมีไว้ขังคนจนแล้วยังมีไว้ขังคนที่มีปากมีเสียงอีกด้วย

สุรชัย กล่าวว่า กลไกการผูกขาดใดๆ ไม่นำไปสู่การแก้ปัญหาที่เป็นธรรม ถ้าความยุติธรรมทางอาญาไม่มีการตรวจสอบของหลายๆ หน่วยงานก็กลายเป็นปัญหาได้ ถ้าถามในมุมมองของคนที่ทำเรื่องสิทธิชุมชน สิ่งแวดล้อมต่างๆ เช่น กรณีของชาวประมงที่ใช้เครื่องมือทำมาหากินที่ชื่อว่าโพงพางนั้น รัฐบอกว่าเครื่องมือนี้เป็นเครื่องมือที่ผิดกฎหมาย แต่ตอนนี้ประเทศไทยมักมองกฎหมายเป็นเนื้อเดียวกันหมดทุกพื้นที่ จริงๆแล้วชาวบ้านมีสิทธิจะพูดว่ากฎหมายที่บอกว่าผิดนั้นแต่ในพื้นที่ของชาวบ้านมันมีประโยชน์มากกว่าโทษ แต่ไม่มีช่องทางที่จะให้เขาไปแสดงความคิดเห็นหรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ได้เลย กลับบอกว่ากฎหมายก็คือกฎหมายแล้วเอามาวาง ในกรณีนี้มองว่าเราไม่เคยยอมรับกฎหมายที่เป็นพหุ ที่เป็นกฎเกณฑ์ของชุมชนหรือสิทธิชุมชนต่างๆ รวมถึงในกรณีของขยะปนเปื้อนซึ่งอยู่ดีๆ ขยะมาอยู่ในนาข้าวของชาวบ้านได้อย่างไร แปลว่าเมื่อมีของอันตรายขนาดนั้นอยู่ในชุมชนแล้ว ชาวบ้านก็ไม่มีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นว่าการพัฒนาในชุมชนเขานั้นเป็นอย่างไร อะไรที่เป็นผลกระทบ

ถ้าในกรณีนี้ถ้าชาวบ้านเกิดสงสัยแล้วสามารถไปตรวจสอบได้ที่ไหน จริงๆ เรามีหลักกฎหมายข้อมูลข่าวสาร มีคดีหนึ่งที่ไปฟ้องศาลแต่ก็ไม่ไปถึงไหน ไม่มีหลักประกันเลยว่ามีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรมเพราะกฎหมายไม่เปิดช่อง หรือเปิดโอกาสที่จะให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงตรงนั้น ต้องรอให้ประชาชนตื่นตัวขอให้สื่อลงไปทำ ไปขอให้สภาทนายความช่วยจึงจะนำไปสู่การฟ้องร้องคดี

กลไกแบบนี้ไม่สามารถทำให้เรามั่นใจได้เลยว่าจะมีหลักประกันในการดูแลทรัพยากร อย่างกรณีของชาวบ้านสกลนครไปร้องเรียนกับ อบต. ว่ามีการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาลที่ไปกระทบกับที่ดินสาธารณะประโยชน์ ทั้งๆ ที่แค่ไปร้องเรียนแต่กลับโดนฟ้องได้ เหมือนกับการฟ้องเพื่อปิดปากไม่ได้มีวัตถุประสงค์หลักให้ได้รับผลจากการดำเนินคดีโดยตรงแต่ว่าเพื่อให้ไม่เกิดการเป็นภาระและไม่ให้แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ กรณีแบบนี้แสดงให้เห็นว่ากลไกไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอให้คนไปใช้สิทธิ ซึ่งนอกจากคุกจะมีไว้ขังคนจนแล้วยังมีไว้ขังคนที่มีปากมีเสียงอีกด้วย
ยุติธรรมไทยวิบัติ ตำรวจจับคนบริสุทธิ์ต้องทำให้ผิด ไม่งั้นผิด ม. 157


เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับคนไปแล้ว ปรากฏว่าคนๆนั้นบริสุทธิ์เจ้าหน้าที่ไม่สามารถปล่อยกลับได้ก็ต้องหาความผิดให้ คือถ้าไม่ใช่คนผิดก็ต้องทำให้ผิด เพราะไม่อย่างนั้นก็จะโดนข้อหามาตรา 157


วิรุตน์ กล่าวว่า ตนไม่ได้มองว่าความยุติธรรมของไทยชำรุดแต่ตนมองว่าเข้าขั้นวิบัติและได้สร้างความเสียหายมายาวนานมาก บ่อยครั้งคนทำความผิดที่รวยๆ ไม่ได้รับโทษ แต่ผู้บริสุทธิ์หรือคนจนกลับถูกดำเนินคดี ศาลที่เป็นหลักประกันขั้นสุดท้ายว่าผู้บริสุทธิ์จะไม่ถูกลงโทษนั้นก็ยังไม่แน่นอน บางกรณีมีคนเป็นแพะตั้งแต่ศาลชั้นต้นจนตัดสินคดีก็ยังมีคนบอกว่าเป็นแพะอยู่ มีคนยื่นขอให้รื้อฟื้นคดีอาญายุติธรรมใหม่หลายรายแต่ก็ไม่เคยสำเร็จ นั่นสะท้อนว่ามีความจริง 50% แต่ที่เหลือคือเรื่องหลอกซึ่งนี่คือปรากฏการณ์ของปัญหา

ความเหลื่อมล้ำในความคิดของตนนั้นมีทุกมิติโดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ ประเทศไทยเป็นอันดับ 3 ของโลกเรื่องความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นปัญหาทางโครงสร้างสังคม แต่อย่างไรก็ตามในทางกฎหมายไม่ควรจะมีความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้น เพราะรัฐธรรมนูญเขียนว่าบุคคลย่อมเสมอภาคกันโดยกฎหมาย นี่คืออุดมคติหลังจากที่เรามีรัฐธรรมนูญ แต่สมัยก่อนที่ยังไม่มีรัฐธรรมนูญก็ต้องยอมรับความไม่เท่าเทียมในทางกฎหมาย จนมีคำพูดว่า “นิสัยไมตรีไม่ถึงประชา อาญาไม่ถึงคนชั้นสูง” แต่ในยุคหลังๆ จะได้ยินว่า “คุกมีไว้ขังคนจน” ปัญหาของประเทศเรามีขาราชการที่ทุจริตมากมายแต่ไม่เคยมีใครถูกดำเนินคดีจนติดคุกหรือมีแต่น้อยมาก แตกต่างจากประเทศจีนที่เขาตัดสินโทษประหารข้าราชการที่ทุจริต กระบวนการยุติธรรมของประเทศเราต่อให้เราปฏิบัติโดยชอบด้วยกฎหมายก็มีความเสียหายอยู่แล้ว ทุกคนมักจะบอกว่าทำหน้าที่โดยครบถ้วนสมบูรณ์แล้วแต่ทำไมถึงยังมีปัญหาเกิดขึ้นได้

ความแม่นตรงของกระบวนการยุติธรรมในไทยนั้นมีปัญหา ที่มีปัญหาที่สุดคือในชั้นสอบสวนของตำรวจ ตำรวจมีหน้าที่เพื่อป้องกันอาชญากรรม ตำรวจไม่ได้มีบทบาทของการสอบสวนโดยแท้ แต่ในไทยตำรวจมีหน้าที่สอบสวน เมื่อตำรวจจับใครมาคนนั้นต้องไม่รอด ผู้เสียหายคือหวังพึ่งอัยการให้ความเป็นธรรม แต่ในความเป็นจริงเป็นไปไม่ได้ เพราะอัยการตัดสินคดีความไปตามสำนวนคำสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้วไปว่ากันในศาล สรุปคือมีปัญหาตั้งแต่ชั้นจับกุม ในการจับกุมบางทีอาจจะมีความคลาดเคลื่อนในนั้น ซึ่งเราไม่หวังว่าการจับกุมจะถูกต้อง 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับคนไปแล้ว ปรากฏว่าคนๆนั้นบริสุทธิ์เจ้าหน้าที่ไม่สามารถปล่อยกลับได้ก็ต้องหาความผิดให้ คือถ้าไม่ใช่คนผิดก็ต้องทำให้ผิด เพราะไม่อย่างนั้นก็จะโดนข้อหามาตรา 157

ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 "ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาทหรือ ทั้งจำทั้งปรับ"

สำหรับบางคนที่คุยกันได้ก็จะเข้าสู่กระบวนการเยียวยา อย่างเช่นถ้าขึ้นศาลแล้วติดคุกก็ให้วันละ 300 คือถ้าติด 2 วันก็รับไป 600 บางคนมองว่าคดีที่สั่งยกฟ้องนั้นมีความยุติธรรม แต่จริงๆแล้วครึ่งหนึ่งคือความอยุติธรรม คดีที่อัยการสั่งไม่ฟ้องศาลยกฟ้องมันคือความอยุติธรรม นี่คือช่องว่างของความวิบัติ ตำรวจนั้นถือว่าหากคนนั้นมีคุณสมบัติน่าเชื่อว่าเป็นผู้กระทำความผิดสามารถจับกุมได้เลย ซึ่งในชั้นแจ้งข้อหาไม่มีการตรวจสอบตำรวจ ในไทยมีคนที่ถูกออกหมายจับโดยไม่รู้ตัว เพราะกระบวนการที่ไม่มีการกลั่นกรองของตำรวจ ซึ่งอัยการก็ยึดหลักฐานถ้าหลักฐานพอฟ้องก็คือฟ้อง แสดงว่าอัยการก็ไม่มั่นใจมันจึงกลายเป็นปัญหา
กฎหมายไทยวิปลาส ไม่ตามหลักสากล ใน ตปท. อัยการตัดสินจะแจ้งข้อหาหรือไม่ ถ้าไม่ผิดก็ปล่อยและไม่โดน ม. 157

กฎหมายที่ใช้ดำเนินคดีของไทยนั้นวิปลาส ตั้งแต่เรื่องปรัชญาที่บอกว่าปล่อยคนผิดไปสิบคนดีกว่าดำเนินคดีทำร้ายคนบริสุทธิ์เพียงคนเดียว
น้ำแท้ กล่าวว่า นักกฎหมายไทยเห็นความยุติธรรมแค่ในตัวบทกฎหมาย ส่วนในเรื่องของความเหลื่อมล้ำจะมีในเชิงนโยบายในการออกกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย แต่จะพูดแค่ในเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายทางอาญา เมื่อพูดถึงความเหลื่อมล้ำแปลว่าไม่เสมอภาค อีกอย่างหนึ่งในกระบวนการยุติธรรมทุกคนจะพูดว่าเราต้องเสมอภาคกันทางกฎหมาย หมายความว่าคุณจะจนหรือรวยก็จะถูกบังคับใช้กฎหมายอย่างเดียวกันต้องไม่ได้รับการยกเว้น พอเกิดความไม่เป็นธรรมในสังคมก็ต้องไปหาสื่อมวลชน มูลนิธิหรือไปขอให้ทนายช่วย แปลว่ากระบวนการยุติธรรมไม่สามารถให้ความเป็นธรรมได้ กระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรมได้ทุกคนต้องมีความเสมอภาคกันก่อน ดังนั้นเจ้าหน้าที่รัฐไม่จำเป็นต้องตั้งโต๊ะแถลงข่าวเลยว่าจะให้ความเป็นธรรมกับคนนั้นคนนี้

ระบบที่ดีต้องเป็นระบบที่ไม่สามารถบิดเบือนอะไรได้ คือต้องสร้างระบบที่กระบวนการยุติธรรมมีความตรงไปตรงมา กฎหมายที่ใช้ดำเนินคดีของไทยจะต่างกับของต่างประเทศ ถ้ามองถึงกฎหมายบ้านเราไม่ได้มองว่าชำรุดแต่มองว่ากฎหมายที่ใช้ดำเนินคดีของไทยนั้นวิปลาส ตั้งแต่เรื่องปรัชญาที่บอกว่าปล่อยคนผิดไปสิบคนดีกว่าดำเนินคดีทำร้ายคนบริสุทธิ์เพียงคนเดียว ตรงนี้เป็นหลักตั้งต้นซึ่งแปลว่าถ้าจะดำเนินคดีอะไรก็จะต้องทุ่มเทต้องหาทางพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้ได้ ถ้าด้วยกลักปรัชญาสากลคือว่าด้วยเรื่องของสิทธิมนุษยชน คือห้ามจับตามอำเภอใจ

ถ้าลองเปรียบเทียบกฎหมายที่ใช้ดำเนินคดีของไทยกับของต่างประเทศในประเทศอเมริกาการดำเนินคดีในชั้นฟ้องคดี จะต้องรวดเร็วและเปิดเผย อัยการจะต้องมีเวลาแค่ 72 ชั่วโมงเท่านั้นที่จะแจ้งข้อกล่าวหา ไม่ใช่ให้ตำรวจแจ้ง ถ้าอัยการไม่แจ้งก็คือปล่อยได้ ส่วนของไทยเมื่อจับผิดแล้วถ้าปล่อยก็จะกลัวมาตรา 157 ดังนั้นวิธีการจับของสากลคือผู้ที่สงสัยว่าจะกระทำความผิดสามารถจับได้แต่ต้องให้อัยการตัดสินว่าจะแจ้งข้อหาหรือไม่ ถ้าพิสูจน์ว่าไม่ผิดก็ต้องปล่อยและจะไม่โดนมาตรา 157 เพราะจับตามเหตุอันควรสงสัย แต่นักฎหมายไทยไม่รู้จักข้อนี้พอจับผิดตัวก็ยัดยาให้เพราะจะได้ไม่ย้อนมาเอาผิดตัวเองตามกฎหมาย 157 ซึ่งเกิดขึ้นมากมาย

เราจะเห็นว่าการดำเนินคดีของต่างประเทศนั้นยากและดำเนินไปตามปรัชญาตั้งต้น ซึ่งนักกฎหมายไทยจะต้องมาเปลี่ยนวิธีคิดปรัชญากันใหม่ ในประเทศอังกฤษถ้าจะดำเนินการจับใครจะต้องมั่นใจว่าจะได้คนที่กระทำความผิดจริงแต่ในบ้านเราสงสัยคือฟ้อง ต้องมาทำความเข้าใจในส่วนที่ว่าถ้ายกฟ้องแล้วฟ้องอีกไม่ได้ดังนั้นต้องเข้าใจว่าช้าแต่ชัวร์ดีกว่า

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.