Posted: 20 Jul 2018 08:02 AM PDT
Submitted on Fri, 2018-07-20 22:02
เยี่ยมยุทธ สุทธิฉายา รายงาน
ชวนดูตัวอย่างของการศึกษาแบบใหม่เมื่อภาคประชาชน ประชาสังคม โรงเรียน ทำพื้นที่เรียนรู้อยู่ทั่วประเทศ กับความพยายามให้ความหมายการศึกษาในอีกมุมและการร้อยเรียงองค์ความรู้ที่กระจัดกระจายของพวกเขาเพื่อตะโกนว่าการศึกษาไทยต้องมีทางเลือก
เวลาถามว่าต้นขั้วของปัญหาต่างๆ ในสยามประเทศคืออะไร การชี้เป้าไปที่การศึกษาดูเป็นข้อเท็จจริงที่จะก่นด่าท่าไหนก็ถูกไปเสียหมด ที่ผ่านมามีความพยายามมากมายในการปฏิรูปการศึกษา หนึ่งในแนวคิดที่ถูกพูดถึงนานแล้วคือการพานักเรียนออกจากห้องเรียนสี่เหลี่ยมทั้งในทางพื้นที่และทางความรู้สึกนึกคิด
ทฤษฎีการเรียนการสอน แนวคิดทางสังคมแบบใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น อัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตสูงขึ้นได้ละลายความศักดิ์สิทธิ์ของห้องเรียนและโรงเรียนในแบบร่วมสมัยที่เห็นในหนังครูไหวใจร้ายที่แบ่งผู้ให้-ผู้รับความรู้ได้ง่ายดายและชัดเจนเหมือนแยกแยะนักฟุตบอลออกจากกรรมการ โลกของการเรียนรู้วันนี้กว้างขวางขึ้นพอที่ทุกคนสามารถออกแบบโลกของการเรียนรู้/ศึกษาตามบริบทของท้องที่และตัวบุคคล ช่วงเวลานี้จึงเหมือนเป็นช่วงที่สุกงอมในการพานักเรียนและการศึกษาออกจากห้องเรียน
ปัจจุบัน ภาคประชาชน ประชาสังคมในหลายท้องที่ทั่วไทยมีการขับเคลื่อนกระบวนการสร้างการศึกษา สร้างการเรียนรู้ที่แตกต่างกันไป ในวันนี้คนเหล่านี้ต่างพยายามค้นหาและสร้างนิยามการศึกษาแบบใหม่ที่สาธารณชนจัดการองค์ความรู้ที่แต่ละที่มีได้ด้วยตนเองภายใต้คำจำกัดความ ‘พื้นที่เรียนรู้สาธารณะ’
ภาพบรรยากาศงาน
สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) ร่วมกับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสและสมัชชาเครือข่ายปฏิรูปการศึกษาได้จัดเวทีร่วมสร้างและขัเคลื่อนเครือข่ายพื้นที่เรียนรู้สาธารณะ ครั้งที่หนึ่งในวันที่ 19-20 ก.ค. 2561 ที่โรงแรม M2 De Bangkok กรุงเทพฯ โดยมีภาคประชาชน และภาคประชาสังคมที่ทำพื้นที่การศึกษาในท้องถิ่นหลายพื้นที่ทั่วประเทศมาเข้าร่วมราว 30 กลุ่ม
หลากมิติ หลายความหมายบนพื้นที่การเรียนรู้แบบใหม่
แม้เวทีจะมุ่งสร้างเครือข่ายที่มีเป้าหมายและทิศทางร่วมกัน ขับเคลื่อนบนเป้าหมายเดียวกัน มียุทธศาสตร์สื่อสารร่วมกัน แต่ความเข้าใจ หรืออย่างน้อยภาพของนักการศึกษาสาธารณะมีความแตกต่างกัน มุมมองที่แตกต่างนั้นอยู่บนฐานความเข้าใจร่วมเรื่องเงื่อนไขด้านเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป และสภาพปัญหาของระบบการศึกษาในระบบ
เข้าถึงได้ง่าย มีเสรีภาพ การออกแบบร่วมกัน พื้นที่ทั้งในทางกายภาพและจินตภาพ หลากหลายเชื้อชาติ ต่อยอดได้ แชร์ความรู้ได้ ถ่ายทอดและสืบสาน
เหล่านี้เป็นหนึ่งในไม่กี่คำสำคัญที่ผู้เข้าร่วมพยายามนิยามพื้นที่เรียนรู้สาธารณะ แต่ภาพของพื้นที่ดังกล่าวอาจอธิบายได้ผ่านสิ่งที่แต่ละคนทำ ซึ่งผู้เข้าร่วมเวทีครั้งนี้ส่วนมากจัดทำพื้นที่การเรียนรู้หลายด้านไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมชุมชน สิ่งแวดล้อม การเรียนรู้เพื่อเข้าใจตนเอง เข้าใจธรรมชาติผ่านหลายวิธีการ
ชาล สร้อยสุวรรณ จากสำนักกิจกรรมกิ่งก้านใบ อุตรดิตถ์ติดยิ้ม หนึ่งในผู้เข้าร่วมเวทีพูดคุย เล่าให้ประชาไทฟังว่า อุตรดิตถ์ติดยิ้มเป็นพื้นที่การเรียนรู้ ทำโปรแกรมการเรียนรู้ สนับสนุนให้คนลุกมาจัดกิจกรรม การเรียนรู้ในเรื่องที่เขาเก่ง เริ่มจากทำกลุ่มกิ่งก้านใบกันเองก่อน จนถึงตอนนี้ก็นับเวลาได้ 18 ปีแล้ว ส่วนที่อุตรดิตถ์ก็ทำมา 10 ปีจากการชวนเพื่อนๆ มาทำร่วมกัน โดยแรกเริ่มทำจากความสนใจทำกระบวนการเรียนรู้ ค่อยๆ พัฒนา มีความชัดเจนว่าจะทำเรื่องอะไร วันนี้ชาลบอกว่าเครือข่ายเป็นสิ่งที่สำคัญในการผลักดันเส้นทางการศึกษาอีกกระแสที่มีมานานแล้วให้เป็นที่รู้จักและยอมรับ
“พอเราทำงานมาชัดเจนระดับหนึ่งเราก็เลือกช่องว่าจะทำเรื่องการเรียนรู้ เวลานี้เราชัดเจนแล้วว่าการลุกมาทำคนเดียวไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ชัดเจน ต้องให้พลังของคนที่ทำเรื่องเดียวกันมาช่วยกันส่งเสียงหรือลุกมาทำด้วยกัน ร่วมมือและหาทางที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยกัน”
“ตอนนี้กลุ่มมีความหลากหลาย แต่ละกลุ่มก็จะมีวิธีคิด วิธีทำงานไม่เหมือนกัน แต่จะเดินไปด้วยกันภายใต้การเห็นเป้าหมายร่วมอย่างไร ที่กลัวอีกเรื่องคือการไม่หลุดจากวิธีการเดิมๆ การทำต้นแบบ การจัดเวิร์คช็อป ประชุม เทศกาลแล้วก็จบแค่ตรงนั้น มันจะหารูปแบบ วิธีคิดใหม่ ทำใหม่ที่เข้าถึงคนยุคสมัยนี้ด้วย” ชาลกล่าว
พิจิตรา ศิลป์เลิศปรีชา และสืบสาย พูลมี หนุ่มสาวจากกลุ่มลักยิ้ม ที่ทำงานบนพื้นที่ชุมชนสามแพร่ง ย่านพระนคร กรุงเทพฯ เพื่อพัฒนาศักยภาพของเยาวชนจากโรงเรียนในท้องที่และจัดทำศิลปะชุมชนโดยร่วมกับกลุ่มศิลปิน โดยกลุ่มได้ทำงานมาแล้วเป็นเวลา 10 ปี
“สิ่งที่ทำอยู่ไม่ใช่แค่เรื่องศิลปะ ชุมชน แต่มันเป็นการเรียนรู้อีกทางที่เด็กปัจจุบันไม่เคยเห็นทางนี้ เคยเห็นแต่การเรียนในห้อง ที่ผ่านมาเด็กที่เข้ามาอยู่กับเราจะเห็นว่าส่วนหนึ่งของการพัฒนาต้องอาศัยการเรียนนอกห้องเรียน ไปเจอสิ่งต่างๆ นอกห้องบ้าง” พิจิตรากล่าว
พิจิตรายังเพิ่มเติมว่า จากเดิมที่มีภาพจำของความรู้ว่าเป็นโรงเรียน ตอนนี้เธอคิดว่าความรู้มีอยู่ทุกที่ และกิจกรรมที่ลักยิ้มทำก็เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเยาวชนที่เธอเองเห็นว่าควรต้องมีประสบการณ์นอกห้องเรียนบ้าง และการเรียนรู้เช่นนี้ไม่ควรถูกตีกรอบให้เป็นเพียงอาหารเสริมด้านการศึกษา เพราะฐานคิดเช่นนั้นสร้างภาพของความไม่จำเป็นให้กับการหาความรู้ในรูปแบบอื่น
“อย่างที่เราไปจะนะ (อ.จะนะ จ.สงขลา) เราพบว่ามีคนที่ฟังเสียงปลาได้ ลงไปในน้ำแล้วหาปลาจากการฟังเสียงของปลา ซึ่งมันเป็นหนึ่งวิชาเรียนเลยแต่ว่าอยู่กับชาวบ้าน ถ้าเขาคิดว่าเป็นกิจกรรมยามว่างก็จะไม่มีทางรู้อะไรแบบนี้”
ในขณะที่สืบสายกล่าวว่า ตลอดเวลาที่ทำงานกับลักยิ้มมา พบว่าเยาวชนที่เข้ามาส่วนมากไม่มีเป้าหมายในชีวิต เพียงแต่ใช้ชีวิตตามรูปแบบ และตนก็คาดหวังว่าการสร้างเครือข่ายจะเป็นกุญแจในการปลดพันธนาการที่เกิดจากการศึกษาได้ไม่สักทางใดก็ทางหนึ่ง
“ที่เราสนใจคือมันจะเปลี่ยนไปยังไงได้บ้าง แม้ลักยิ้มอยู่มาสิบปีแต่ก็ไม่ได้ลงมาทำเรื่องการศึกษาเป็นเรื่องเป็นราว แต่เนื่องจากเราต้องทำงานกับเด็ก ทุกสิ่งทุกอย่างมันก็เกี่ยวข้องกับเด็กไปหมด สิ่งที่เราเจอจากการทำงานกับเด็กคือเขาหาตัวเองไม่เจอ ไม่มีเป้าหมายในชีวิต ไม่รู้ว่าอยากเป็นใคร อยากไปไหน รู้แต่ว่าเรียน เรียนเสร็จก็ต้องเรียนพิเศษ ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ซึ่งมันก็เป็นผลจากการศึกษานั่นแหละ เราก็อยากจะรู้ว่าจะเปลี่ยนได้ไหม เปลี่ยนอย่างไรถ้าเราเป็นส่วนหนึ่งกับมันด้วย”
สืบสายคิดฝันถึงขั้นการให้มี ‘กระทรวงสาธารณะศึกษา’ ซึ่งเป็นหนึ่งในไอเดียที่ผุดขึ้นท่ามกลางการพูดคุยของเครือข่าย เขาเชื่อว่าการมีกระทรวงนี้ขึ้นมาก็เพื่อรองรับการศึกษาในแบบที่พวกเขาและเครือข่ายจัดกัน ไม่ใช่การลบใครออกไปแต่เป็นทางเลือกให้สังคมเมื่อต้องพูดถึงช่องทางของการศึกษา
“เราไม่ได้ปฏิเสธโรงเรียนที่สอนวิชาการ แต่มันต้องมีทางเลือกมากกว่าวิชาการไหม มันควรมีเรื่องชีวิตบ้างที่โรงเรียนปกติไม่มี มันถึงนำมาสู่กระทรวงที่ควรต้องรองรับเรื่องพวกนี้ด้วย”
“ล่าสุดไปเป็นอาสาสมัครในงานของโครงการสปาร์คยูชื่อ ‘จะนะน่าอยู่นะจ๊ะ’ ก็พาน้องนั่งรถไฟไปลงใต้ บางคนพอรู้ว่าจะลงใต้ก็กลัว ไม่เคยไป ไม่รู้จะเป็นยังไง พอได้ไปสัมผัสจริงๆ ไปช่วยงานในฐานะอาสาสมัคร ไปลงพื้นที่ที่รัฐเป็นพื้นที่สีแดงที่รัฐบอกว่ามีการต่อสู้เรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหิน เราก็พาเขาไปเจอชาวบ้านจริงๆ ได้ไปนั่งคุยกันจริงๆ ชาวบ้านเล่าเรื่องราวของตัวเอง พาไปดุพ้นที่ที่จะทำเป็นโรงไฟฟ้า ไปเดินบนหาดทราย เหยียบทะเล ไปเห็นความอุดมสมบูรณ์จริงๆ เห็นคน เห็นธรรมชาติ ชุมชน ทรัพยากร แม้กระทั่งไปกินปูกินกุ้งซึ่งบ้างคนไม่เคยรู้เรื่องเหล่านี้มาก่อน คนที่พอรู้ว่าจะไปภาคใต้ก็กลัว พอไปเห็นจริงก็ เฮ้ย ไม่ได้เป็นแบบนั้นนี่หว่า ทำไมข่าวถึงเสนอแบบนั้น แล้วทะเลคืออะไร หาดทรายคืออะไร สำคัญอย่างไร ทำไมต้องรักษาทะเล มันเปิดโลกเขามากมาย ที่เราแพ้อาหารทะเลไม่ใช่เพราะแพ้สัตว์ทะเล แต่แพ้สารเคมีที่สัตว์ทะเลไปกินจากโรงงานที่เขาปล่อยลงทะเลแล้วเราก็มาแพ้”
“ภาพที่เด็กมองชาวบ้าน มองการประท้วง การขึ้นมาอดข้าวก็เปลี่ยนไป จากที่คิดว่าพวกนี้วุ่นวาย รับเงิน แต่พอเห็นแววตา ใบหน้า เห็นชีวิตเขาจริงๆ ก็เปลี่ยนไป ซึ่งห้องเรียนสี่เหลี่ยมที่เราอยู่มันไม่มีทาง (จะทำได้)” สืบสายกล่าว
ทุกคนเรียนได้ vs จำกัดวง: คำตอบของการศึกษาคือความชอบ
วัชระ เกตุชู จากศูนย์การเรียนชุมชนวิถีไท อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช ให้ความเห็นของพื้นที่การเรียนรู้สาธารณะที่ค่อนข้างแตกต่างว่า ไม่ใช่ทุกคนจะมีสิทธิ์และต้องดูตามความเหมาะสม เนื่องจากศูนย์การเรียนของเขาคือวิถีชีวิต ดังนั้นเพียงแค่คนที่มีความสนใจนั้นไม่พอ แต่ต้องเป็นคนที่เข้าใจหรืออยากจะเข้าใจ จึงจะไปด้วยกันได้
เด็กกับงานศิลปะ (ที่มา: Facebook/ ศูนย์การเรียนชุมชนวิถีไท)
ศูนย์การเรียนวิถีชุมชนไทยทำหลายอย่าง ทั้งธุรกิจชุมชน วิสาหกิจชุมชน พยายามรวบรวมผลผลิตของชาวบ้านในชุมชนแล้วสร้างอำนาจต่อรองในการขาย ผลิตปุ๋ยหมักให้ชาวบ้าน เกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์ มีสวัสดิการชุมชน ให้ชาวบ้านมาออมวันละหนึ่งบาทแล้วก็ให้สวัสดิการ สร้างการเรียนรู้เกี่ยวกับภัยพิบัติให้ชุมชน ให้ความรู้เรื่องพลังงานทางเลือก โซลาร์เซลล์ ก๊าซชีวภาพ รวมถึงการดูแลสุขภาพในแบบการแพทย์ทางเลือก พื้นที่เรียนรู้นี้เป็นทั้งของชาวบ้าน คนทั่วไปและชาวต่างชาติด้วย
“ที่ของผมก็มีข้อจำกัดเรื่องความสนใจ แต่อาจจะไม่เข้าใจ คนที่ไม่เข้าใจก็อาจจะต้องไว้ทีหลัง เพราะเราต้องเอาคนทีสนใจและเข้าใจก่อน คือตัวพื้นที่เอง ช่วงหนึ่งก็มีข้อจำกัดเช่น ถ้าต้องใช้เวลาอธิบายหรือเรียนรู้กับคนที่ไม่เข้าใจก็เป็นเรื่องหนัก แต่คนที่เข้าใจมาบ้างแล้วอยากเข้าใจให้ลึกซึ้งไปอีกก็อาจจะได้”
“ที่ผ่านมาก็มีฝรั่งที่ต้องการมาเรียนรู้กับเรา เราเป็นมังสวิรัตที่กินตามยถากรรม หมายถึงกินในสิ่งที่เราปลูก ที่เรามีในบ้าน ในชุมชน แต่ฝรั่งบางคนที่มาส่วนใหญ่กลัวขาดโปรตีน บางคนต้องกลับก่อนเพราะว่าเขามีความรู้ที่เขารู้มาว่าต้องกินโปรตีนเท่านั้นเท่านี้ต่อวัน” วัชระกล่าว
ในมุมการศึกษา ศูนย์ฯ ได้เริ่มทำมาแล้วถึง 14 ปี ปัจจุบันเปิดสอนตั้งแต่ระดับประถมศึกษาถึงมัธยมปลายโดยไม่ได้คิดค่าเล่าเรียน แต่จัดเป็นกิจกรรมแล้วรับบริจาคตามแต่จะให้ ศูนย์ฯ สามารถออกเอกสารสำคัญทางการศึกษา (ปพ.) เนื่องจากได้รับการรับรองจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยม เขต 12 แล้ว
“ลงไปทำจริงๆ เช่น ทำสวนก็ไปทำสวน ทำไร่ก็ไปทำไร่ สอนเขาเรื่องกิจกรรม เรียนรู้ผ่านกิจกรรมเช่นทำค่ายสุขภาพ ร่วมค่ายครอบครัวนานาชาติ ร่วมกิจกรรมเดินสู่การเปลี่ยนแปลง เดินเพื่อการค้นหาตัวเอง ทำโครงการที่ตัวเองสนใจ และส่งไปอยู่กับคนที่ทำอาชีพนั้นเลย เช่น อยากเป็นศิลปินก็ให้ไปอยู่กับศิลปิน” วัชระเล่าวิธีการเรียนการสอนที่ทำกันในศูนย์ฯ เขาพบว่านักเรียนที่มาเรียนมีความชัดเจนมากขึ้นว่าต้องการอะไร อยากเป็นอะไร อยากทำอะไร
ห้าปีที่ผ่านมา วัชระตกผลึกได้ว่าความรู้มีหลากหลาย ไม่ได้ตายตัว ซึ่งก็ต้องทดลองเรียนรู้กันไปเพื่อหาความเหมาะสมกับตัวเอง แต่สุดท้ายสิ่งที่เหมาะกับศูนย์ฯ ก็คือการเรียนรู้กับวิถีชีวิตที่เป็นอยู่ และพยายามให้ผู้เรียนได้เรียนรู้เพื่อค้นหาตัวเอง ให้อยู่กับชุมชน เรียนรู้เพื่อให้รักชุมชนและบ้านเกิด
ผู้อบรมนำเสนอแผนการทำกิจกรรมร่วมกัน
แต่อดุลย์ ภู่ภัทรางค์ ผู้อำนวยการโรงเรียนหนองงูเหลือมพิทยาคม ควบตำแหน่งนายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) แห่งประเทศไทยเห็นต่างกับวัชระในเรื่องการเข้าถึงการศึกษา อาจด้วยบริบทที่แตกต่าง ที่ทำให้มีความคิดว่าโรงเรียนควรเป็นพื้นที่การเรียนรู้ให้กับทุกคนตามความชอบ และหวังว่าโรงเรียนในสังกัด อบจ. จะเป็นทั้งสถานศึกษาที่คำนึงถึงคุณภาพการเรียนการสอน ควบคู่ไปกับการเป็นพื้นที่ให้นักเรียน รวมถึงคนทั่วไปได้เรียนรู้ในสิ่งที่ได้ใช้ประโยชน์จริง
“ถ้าเด็ก เยาวชนอยากเรียนอะไรผมก็คิดว่าต้องมีให้เขา มันมีเครดิตที่ได้รับการยอมรับว่าโรงเรียนคือที่ศึกษาเล่าเรียน ดังนั้นไม่ต้องไปโฆษณาอะไรเลย เพราะทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในโรงเรียน ถ้าการศึกษาภาคประชาชนไปอยู่ในโรงเรียนด้วยแล้วใครจะไม่มาเรียน ผมยังคิดเลยว่าเด็กที่มีปัญหาการเรียนในบางเรื่อง อยากเรียนในสิ่งที่ชอบ การศึกษาทางเลือกจะสามารถเข้ามาช่วยได้ไหมเพราะผมไม่ถนัด มาทำในพื้นที่โรงเรียน หรือจะกำหนดพื้นที่ตรงไหนก็คุยกันได้ ถ้าเป็นแบบนี้ก็จะเป็นเวทีที่เปิดกว้างให้ผู้เรียนที่ไม่ต้องเป็นเด็กก็ได้ที่จบจากโรงเรียนท้องถิ่นที่เป็นที่ยอมรับ” อดุลย์กล่าว
“เราอาจจะฉีกแนวไปเลย อยากเรียนอะไรก็ไปเรียนรู้ ไม่อยากตื่นเช้าแต่ตื่นสายๆ หน่อยก็เรียนได้ น่าจะมีความหลากหลาย แต่สุดท้ายเด็กสามารถที่จะประกอบอาชีพได้ วุฒิการศึกษาถ้าคลายไปก็น่าจะดี จะเทียบโอนเลยได้ไหม ก็จะทำให้คนเลือกเรียนตามศักยภาพ ตามความแตกต่างของเขา เขาจะได้ไม่รู้สึกว่ามีปมด้อย เพราะเรายอมรับกันว่าการศึกษามันตลอดชีวิตและหลากหลาย แต่พอเอาเข้าจริงๆ ไม่เห็นมันหลากหลาย”
“ไม่ใช่ว่าคุณภาพหมายถึงสอบอะไรได้คะแนนเยอะๆ คุณภาพอาจหมายถึงการออกไปแล้วประกอบอาชีพได้ หาที่เรียนต่อได้ ไม่เป็นภาระสังคม หรือมีอาชีพทำเลย หลายแห่งก็มีงานทำขณะเรียน เช่นเป็นนักฟุตบอล เดี๋ยวนี้มีอคาเดมี มีนักร้อง อย่างที่เชียงรายก็มีโปรกอล์ฟ เขาก็มาเรียนเฉพาะวิชาสามัญ แต่วิชาทักษะเพิ่มเติมจะเป็นวิชากอล์ฟ”
อดุลย์หวังว่าการมาประชุมเครือข่ายรอบนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นในการประกาศให้สังคมรับรู้และตื่นตัวว่าการศึกษามีหลายแบบที่เป็นที่ยอมรับและสามารถทำได้สำเร็จ
นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนสังกัด อบจ. ระบุว่า ว่า ปัจจุบันมีโรงเรียนที่ถูกโอนถ่ายจากกระทรวงศึกษาธิการไปสังกัดกับ อบจ. ตามแนวคิดกระจายอำนาจการศึกษาในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติแล้วจำนวนกว่า 300 โรงเรียนจากราว 57 จังหวัด
ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ เลขาธิการสภาการศึกษาทางเลือก กล่าวว่า การเรียนรู้ที่ให้เด็กเรียนรู้อย่างมีความสุขและตอบโจทย์อนาคตเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่ง และระบบการศึกษาของรัฐไม่สามารถปรับตัวได้ทันอย่างแน่นอน โดยเห็นว่าการศึกษาเพื่ออนาคตต้องเริ่มจากการสร้างกระบวนการค้นพบตัวเองว่ารัก ชอบ มีความถนัดหรือความฝันอะไร การศึกษาที่ผลิตคนเข้าสู่ตลาดแรงงานเป็นเป้าหมายที่แคบไปแล้ว
ด้านยุทธชัย เฉลิมชัย รักษาการนายกสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทยกล่าวว่า ปัจจุบันวิทยาการความรู้เปลี่ยนเร็วมาก ความรู้ใหม่เกิดขึ้นตลอดเวลา และไม่มีใครสามารถผูกขาดความรู้ได้ และนั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ต้องเกิดการเรียนรู้ใหม่ให้ทันกับกาลสมัย การศึกษาในระบบก็ต้องเรียนไป แต่การศึกษาเพื่อค้นพบตัวเองนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำคู่ขนานไปด้วย หรือในท้ายที่สุดอาจจะก้าวข้ามสู่การเรียนรู้ในโลกที่เป็นจริงและวัฒนธรรมการเรียนรู้แบบใหม่ ก็คือการเชื่อมโยงกับชุมชนและทุกภาคส่วนในสังคมในลักษณะเครือข่ายพื้นที่การเรียนรู้สาธารณะและเครือข่ายสื่อ
เส้นทางการจัดตั้งขบวนพื้นที่สาธารณะศึกษายังไม่ถึงจุดหมายปลายทาง ตามตารางของโครงการจะต้องมีการอบรมสื่อ ขับเคลื่อนการสื่อสารสาธารณะผ่านแอพพลิเคชั่นและแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น เพจ อบรมหนุนเสริมขบวน ให้ความรู้ด้านเครื่องมือสนับสนุนและติดตามเช่น Google Management สรุปบทเรียน แล้วนำไปสู่เวทีสาธารณะเพื่อประกาศวาระ ซึ่งปักหมุดกำหนดการณ์ไว้ที่เดือน ธ.ค. 2561
พื้นที่เรียนรู้สาธารณะจะเติมเต็ม แข่งขัน หรือยื้อแย่งพื้นที่การศึกษาของไทยได้หรือไม่ อย่างไร เชิญชวนผู้อ่านติดตามเส้นทางใหม่ของการศึกษายาวๆ ส่วนอะไรจะสำคัญกว่ากันระหว่าง ‘จุดหมาย’ กับ ‘การเดินทาง’ สิ่งที่จะบอกได้คงมีเพียงเวลา
ข่าวชุดพิเศษ
สังคม
วัฒนธรรม
การศึกษา
ปฏิรูปการศึกษา
พื้นที่การเรียนรู้สาธารณะ
ยุทธชัย เฉลิมชัย
ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ
อดุลย์ ภู่ภัทรางค์
วัชระ เกตุชู
ศูนย์การเรียนชุมชนวิถีไท
พิจิตรา ศิลป์เลิศปรีชา
สืบสาย พูลมี
ลักยิ้ม
ชาล สร้อยสุวรรณ
สำนักกิจกรรมกิ่งก้านใบ
อุตรดิตถ์ติดยิ้ม
แสดงความคิดเห็น