Posted: 16 Jul 2018 01:17 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

สมัชชาคนจนเตรียมเข้ายื่นหนังสือที่ทำเนียบฯ พรุ่งนี้ ร้องแก้ปัญหานำเข้าสารเคมีอันตราย ราคาน้ำมันที่ถีบตัวสูงขึ้น กระทบค่าครองชีพ ปัญหาสวัสดิการรักษาพยาบาลจากระบบบัตรทอง และปัญหาด้านแรงงาน ที่คนงานที่ถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรมมากขึ้น

16 ก.ค.2561 เฟสบุ๊กแฟนเพจ 'สมัชชาคนจน' แจ้งว่า พรุ่งนี้ (17 ก.ค.61) เวลา 10.30 น. ตัวแทนสมัชชาคนจน จะเดินทางยื่นหนังสือเรียกร้องให้ภาครัฐเร่งรัดในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการบริหารงานของรัฐบาล คสช. ผ่านนโยบาย และออกประกาศคำสั่งต่างๆ ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ. เดิม) บริเวณข้างทำเนียบรัฐบาล เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

สำหรับปัญหาดังกล่าวประกอบด้วย 4 ประเด็นคือ

1. การนำเข้าสารเคมีอันตราย โดยเฉพาะ พาราควอต (ยาฆ่าหญ้า)เพื่อใช้ในภาคการเกษตร ที่ผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการวัตถุอันตราย ให้ยังสามารถใช้ได้ในประเทศไทย ทั้งที่เกิดผลกระทบขึ้นมากมายต่อชีวิตเกษตรกร และผู้บริโภคประชาชนทั่วไป ทั้งเสียชีวิต และสะสมปนเปื้อนตกค้าง ในสภาพแวดล้อม และอาหารที่ทุกคนบริโภค จึงขอให้พิจารณาการจำกัดหรือยกเลิกการใช้วัตถุอันตรายทั้ง 3 รายการ คือ พาราควอต คลอไพริฟอส และไกลโฟเซต

2. ราคาน้ำมันที่ถีบตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ค่าครองชีพของประชาชนแพงขึ้นทุกวัน ในขณะที่รายได้ของประชากร กลับไม่ได้มากตาม ทำให้คนไทยต้องจนลง จากเงินในกระเป๋าที่ต้องจ่ายไปเป็นค่าเชื้อเพลิงพลังงาน และจากปัญหาความไม่โปร่งใสในแวดวงธุรกิจพลังงาน

3. ปัญหาสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาล จากระบบบัตรทอง ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่มีความพยายามจะปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ. ดังกล่าว โดยผิดไปจากเจตนารมณ์เบื้องต้นที่ต้องการให้เกิดระบบสวัสดิการและความเสมอภาคเท่าเทียมกัน ในด้านการดูแลรักษาพยาบาล เพื่อให้เกิดเป็นระบบหลักประกันสุขภาพของคนไทยทุกคน โดยจะส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกคนที่ใช้ระบบบัตรทอง โดยเฉพาะกลุ่มประชาชนคนยากจน ที่จะถูกเลือกปฏิบัติสงเคราะห์อย่างไม่เป็นธรรม เกิดเป็นความเหลื่อมล้ำในด้านการดูแลสุขภาพและรักษาพยาบาล

4. ปัญหาด้านแรงงาน ที่ปัจจุบันมีจำนวนคนงานที่ถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรมมากขึ้น โดยที่หน่วยงานของรัฐไม่สามารถเข้าไปดูแลช่วยเหลือแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที กลับปล่อยให้บรรดาคนงานที่ถูกปิดงานเลิกจ้างไม่เป็นธรรมต้องเผชิญชะตากรรมโดยลำพัง โดยรัฐได้กำหนดนโยบายต่างๆ ที่ให้สิทธินักลงทุนมากขึ้นแทบทุกด้าน แต่สิทธิด้านแรงงานกลับไม่ได้รับการเหลียวแล แก้ไข

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.