Posted: 10 Jul 2018 06:15 AM PDT

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล : สัมภาษณ์/เรียบเรียง

คำว่า ‘ระบอบแห่งการรัฐประหาร’ ปรากฏขึ้นในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีหมายเลขแดงที่ 2247/2561 ‘ประชาไท’ จึงต้องกลับมาสนทนากับ ‘วรเจตน์ ภาคีรัตน์’ เกี่ยวกับคำคำนี้ ซึ่งเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องพูดถึงบทบาทของตุลาการในระบอบแห่งการรัฐประหาร วรเจตน์ชักชวนวิเคราะห์คดีที่เกิดขึ้น คำวินิจฉัยของศาล การดำรงอยู่ของระบอบแห่งการรัฐประหาร

อำนาจในทางข้อเท็จจริงของศาลน้อยกว่าอำนาจของคณะรัฐประหาร ศาลจึงไม่สามารถเอาผิดคณะรัฐประหารได้

ศาลควรใช้บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเพื่อตีความลดทอนความอัปลักษณ์อันเนื่องจากคำสั่ง คสช.
ระบอบแห่งการรัฐประหารสร้างกลไกแบ่งแยกอำนาจเทียมขึ้นและพยายามทำให้ความผิดปกติกลายเป็นสิ่งปกติ

รัฐประหารเป็นเพียงระบบหนึ่งภายใต้ระบอบที่ใหญ่กว่า

จุดตั้งต้นของบทสนทนาขนาดยาวชิ้นนี้มีที่มาจากคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขแดงที่ 2247/2561ระหว่างพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ฝ่ายโจทก์ กับจ่าสิบเอกอภิชาต พงษ์สวัสดิ์ ฝ่ายจำเลย ในความผิดต่อประการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 7/2557

ข้อต่อสู้ประการหนึ่งของฝ่ายจำเลยคือ

‘การเข้าควบคุมอำนาจการปกครองประเทศของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติมิใช่การได้มาซึ่งอำนาจการปกครองตามวิถีทางในระบอบประชาธิปไตยตามบทบัญญัติของกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พลเอกประยุทธ์จึงไม่อยู่ในฐานะรัฐาธิปัตย์ที่จะออกประกาศมาบังคับใช้โดยไม่ผ่านความยินยอมของประชาชนได้’

ประเด็นนี้ศาลอุทธรณ์โดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า

‘ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์ของประเทศก่อนที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติจะเข้าควบคุมอำนาจการปกครองประเทศนั้น เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปตามที่ปรากฏในคำปรารภของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ว่า ได้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองขึ้นในกรุงเทพมหานครและพื้นที่ใกล้เคียงต่อเนื่องเป็นเวลานาน จนลุกลามไปสู่แทบทุกภูมิภาคของประเทศ ประชาชนแตกแยกเป็นฝ่ายต่างๆ ขาดความสามัคคีและมีทัศนคติไม่เป็นมิตรต่อกัน บางครั้งเกิดความรุนแรง ใช้กำลังและอาวุธสงครามเข้าทำร้ายประหัตประหารกัน สวัสดิภาพและการดำรงชีพของประชาชนไม่เป็นปกติสุข การพัฒนาเศรษฐกิจและการเมืองการปกครองชะงักงัน กระทบต่อการใช้อำนาจในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร และในทางตุลาการ การบังคับใช้กฎหมายไม่เป็นผล นับเป็นวิกฤติการณ์ร้ายแรงที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

‘แม้รัฐจะแก้ไขปัญหาด้วยกลไกและมาตรการทางกฎหมาย เช่น นำกฎหมายเกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อยในภาวะต่างๆ มาใช้บังคับ ยุบสภาผู้แทนราษฎรและจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป และฝ่ายที่ไม่ได้เป็นคู่กรณี เช่น องค์กรธุรกิจภาคเอกชน องค์กรตามรัฐธรรมนูญ พรรคการเมือง กองทัพ และวุฒิสภาได้พยายามประสานให้มีการเจรจาปรองดองกัน แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ กลับจะเกิดข้อขัดแย้งใหม่ในทางกฎหมายและการเมือง เป็นวังวนแห่งปัญหาไม่รู้จักจบสิ้น คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงจำเป็นต้องเข้ายึดและควบคุมอำนาจการปกครองประเทศเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ดังกล่าว

‘และแม้การกระทำของคณะรักษาความสงบแห่งชาติในเบื้องต้นจะมีลักษณะเป็นการให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่บังคับใช้อยู่ในขณะนั้นดังที่จำเลยอุทธรณ์ก็ตาม แต่เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติออกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 1/2557 เรื่องการควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ... สถานการณ์บ้านเมืองของประเทศไทยในขณะนั้น ก็คลี่คลายเข้าสู่ความสงบเรียบร้อย ไม่มีการต่อต้านขัดขืนจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ตลอดจนหน่วยงานหรือองค์กรใดๆ ทั้งของภาครัฐและภาคเอกชน หรือแม้แต่คณะรัฐบาลที่รักษาการอยู่ในขณะนั้นก็ไม่อาจโต้แย้งขัดขวางการกระทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศและบริหารราชการแผ่นดินของคณะรักษาความสงบแห่งชาตินับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา อันถือเป็นการใช้กำลังยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงรัฐบาลตามนัยของระบอบแห่งการรัฐประหารได้เป็นผลสำเร็จแล้ว คณะรักษาความสงบแห่งชาติย่อมมีอำนาจที่จะออกประกาศหรือคำสั่งใดๆ อันถือเป็นกฎหมายตามระบอบแห่งการรัฐประหารมาใช้ในการบริหารประเทศ...’

ศาลอุทธรณ์ตัดสิน ‘อภิชาต’ ชุมนุมต้านรัฐประหารมีความผิด อ้าง ICCPR ไม่ได้
แอมเนสตี้ฯ เรียกร้องทางการไทยหยุดคุกคามผู้เห็นต่างและผู้ชุมนุมโดยสันติ
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ: เส้นทาง-รากฐาน ‘ระบอบรัฐประหาร’ ที่ไม่จีรังแต่วนลูป

ระบอบแห่งการรัฐประหารที่ปรากฏในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นคำสำคัญที่ทำให้ ‘ประชาไท’ ต้องมานั่งคุยกับ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ศาสตราจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยบทบาทของศาล-ตุลาการและระบอบแห่งการรัฐประหาร...อีกครั้ง
ศาลไม่มีอำนาจในทางความเป็นจริงที่จะเอาผิดคณะรัฐประหารได้

วรเจตน์แบ่งการอธิบายเป็น 2 กรณีเนื่องจากมีมิติและเนื้อหาสาระที่แตกต่างกัน กรณีที่ 1 คือกรณีที่ประชาชนฟ้องคณะรัฐประหารหรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งมีไม่กี่คดี ส่วนกรณีที่ 2 คือกรณีที่ คสช. ผ่านกลไกของตนฟ้องประชาชนซึ่งมีมากมายหลายคดี เขาขยายความว่าหากนำทั้งสองกรณีมาพิจารณารวมกันจะทำให้เห็นภาพไม่ชัด เรียกร้องต่อศาลได้ไม่ตรงเป้า และประเมินอำนาจของศาลสูงเกินความเป็นจริง

“ตัวอย่างล่าสุดที่ศาลอ่านคำพิพากษาไปเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน คดีที่กลุ่มพลเมืองโต้กลับฟ้องเอาผิดคณะรัฐประหาร 5 คน ซึ่งในอดีตก็เคยมีคนฟ้องแล้ว อย่างกรณีคุณอุทัย พิมพ์ใจชน ซึ่งศาลไม่รับฟ้อง หลังจากนั้นจอมพลถนอมออกคำสั่งให้ติดคุก หรือกรณีคุณฉลาด วรฉัตร คดีกลุ่มนี้เป็นการฟ้องให้ศาลเอาผิดคณะรัฐประหารที่ยึดครองอำนาจอยู่ คิดจากสภาวะธรรมดา มันคงยากที่จะให้ศาลตัดสินเอาผิดคณะรัฐประหารได้ อันนี้เรามองถึงอำนาจในแง่ความเป็นจริงก่อน”

ที่ผ่านมาเวลาศาลไม่รับฟ้องคดีทำนองนี้จะให้เหตุผล 2 ประการ ประการแรกคือผู้ฟ้องไม่ใช่ผู้เสียหายอย่างในกรณีของอุทัย พิมพ์ใจชน หรือประการที่ 2 ซึ่งเป็นเป็นเหตุผลที่ศาลใช้ในช่วงหลังๆ คือคณะรัฐประหารยึดอำนาจสำเร็จและนิรโทษกรรมให้ตนเองเรียบร้อยแล้ว การกระทำของคณะรัฐประหารจึงพ้นจากความผิดและการรับผิดโดยสิ้นเชิง ศาลจึงไม่สามารถรับฟ้องโจทก์เอาไว้พิจารณาได้ ชอบที่จะยกฟ้อง

แต่ วรเจตน์ ชวนตั้งคำถามว่า ถึงที่สุดแล้ว อะไรคือเหตุผลจริงๆ ที่ศาลไม่รับฟ้องคดี

“ผมคิดว่าไม่ใช่เพราะเหตุผลสองประการข้างต้น นี่เป็นเหตุผลที่ให้ในทางกฎหมาย แต่ในความเป็นจริงคืออำนาจศาลเป็นอำนาจที่น้อยกว่ารัฐประหาร อำนาจทางความเป็นจริงของคณะรัฐประหารใหญ่กว่า การฟ้องศาลให้เอาผิด มันยากมากที่จะเอาคณะรัฐประหารมาติดคุก เพราะคณะรัฐประหารบังคับกลไกในทางความเป็นจริง สมมติว่ามีการฟ้องหลังจากการทำรัฐประหารทันที แล้วศาลตัดสินว่าคณะรัฐประหารผิด สิ่งที่อาจเกิดขึ้นตามมาคือเขาอาจยึดอำนาจซ้ำทันทีและปลดผู้พิพากษาออก เราเรียกร้องผู้พิพากษามากไปหรือไม่ ในขณะที่เขาไม่สามารถสู้กับคณะรัฐประหารได้ เพราะคนที่สู้กับคณะรัฐประหารจริงๆ คือประชาชนนั้นแพ้แล้ว ศาลคืออะไรหลังยึดอำนาจเสร็จ เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าศาลก็จะกลายเป็นเพียงกลไกของระบอบหลังรัฐประหาร”

วรเจตน์ ยกเหตุผลของศาลในคดีที่พลเมืองโต้กลับว่า การยึดอำนาจไม่ใช่วิถีทางประชาธิปไตย แต่เมื่อยึดอำนาจได้จะมีความชอบธรรมในการได้มาซึ่งอำนาจหรือไม่ต้องไปว่ากล่าวในทางอื่น แต่ คสช. มีอำนาจในทางข้อเท็จจริงว่าเป็นบุคคลที่ใช้อำนาจในทางบริหารและนิติบัญญัติ แต่เมื่อคณะรัฐประหารคุมกลไกและอำนาจรัฐได้แล้ว ย่อมมีอำนาจในการออกกฎหมายและศาลจำยอมต้องผูกพันตามกฎหมายที่คณะรัฐประหารออกมา

ศาลฎีกายกฟ้อง ‘กลุ่มพลเมืองโต้กลับ’ ฟ้อง คสช.เป็นกบฏ
ย้อนรอย 5 คดีฟ้องคณะรัฐประหารไทยฐาน ‘กบฏ’ ก่อนรู้ผลคดีพลเมืองโต้กลับ vs.คสช.

เหตุผลที่ศาลให้ ผิดหรือไม่? วรเจตน์ คิดว่า คงกล่าวแบบนั้นไม่ได้เสียทีเดียว เพราะมันก็เป็นความจริงที่ว่าอำนาจศาลไม่อาจต่อสู้กับอำนาจคณะรัฐประหารได้ อีกทั้งเขายังมองว่ากรณีแบบนี้ไม่ใช่ประเด็นทางกฎหมาย แต่เป็นประเด็นทางการเมือง

“การฟ้องคดีแบบนี้มันเป็นเรื่องทางการเมือง สมมติว่ามีการฟ้องคดีในช่วงที่คณะรัฐประหารอ่อนอำนาจลง หมายความว่ามีความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำรงอยู่มาต่อเนื่อง และคณะรัฐประหารไม่สามารถกุมอำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จ ในแง่นี้ การฟ้องคดีต่อศาลโอกาสที่ศาลจะเป็นคนที่สู้กับคณะรัฐประหารอาจมีมากกว่า เป็นกลไกของประชาชนเพื่อสู้ให้คณะรัฐประหารล้มเหลวลงในที่สุด

ถ้าอย่างนั้น ศาลควรทำอย่างไร ประชาชนไม่ควรฟ้องดำเนินคดีคณะรัฐประหารต่อศาลอย่างนั้นหรือ? วรเจตน์ เห็นว่าวิธีที่น่าจะสง่างามที่สุดและไม่เป็นการเพิ่มความชอบธรรมให้แก่การรัฐประหารคือการยอมรับอย่างตรงไปตรงมา

“ถ้าเป็นผมก็คงเขียนคำพิพากษาออกมาตรงๆ ว่า เมื่อคณะรัฐประหารยึดอำนาจสำเร็จแล้ว บัดนี้อำนาจตุลาการได้อยู่ใต้อำนาจรัฐประหารไปแล้ว คณะรัฐประหารยึดอำนาจไปหมดแล้ว คุมศาลไปแล้ว แต่ผมไม่ได้หมายความว่าการฟ้องคดีของกลุ่มพลเมืองโต้กลับไม่มีประโยชน์ มันมีประโยชน์ในแง่ที่ชี้ให้เห็นว่าอำนาจในความเป็นจริงสุดท้ายคืออะไร

“เราไม่ควรพูดอีกต่อไปหรือเปล่าว่า ศาลสามารถช่วยประชาชนในการต่อสู้กับคณะรัฐประหารได้โดยการตัดสินว่าคณะรัฐประหารผิดในฐานเป็นกบฏและนำคณะรัฐประหารเข้าคุก คำพิพากษาทั้งหมดที่ออกมาเป็นการพยายามเอากฎหมายไปใช้ เหมือนกับเรากำลังรู้สึกว่ากฎหมายยังเป็นกฎหมาย สามารถฟ้องคณะรัฐประหารได้ แต่คณะรัฐประหารไม่ผิดเพราะมีการนิรโทษกรรม แต่ผมมองให้ลึกลงไปกว่านั้นว่าเหตุผลจริงๆ คือ อำนาจตุลาการไม่สามารถต่อกรกับอำนาจรัฐประหารได้”

ข้อสังเกตประการหนึ่งของวรเจตน์ต่อกรณีการฟ้องคดีเอาผิดคณะรัฐประหารคือ การทำเสมือนหนึ่งว่ายังคงมีระบบแบ่งแยกอำนาจ-นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ เขาตั้งคำถามว่ามันมีอยู่จริงหรือ? หรือเป็นการแบ่งแยกอำนาจแบบเทียมๆ เพราะทั้งคณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติล้วนไม่ได้มีที่มาจากประชาชน ขณะที่ศาลก็มีปัญหาเฉพาะอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เรื่อยมาถึงปัจจุบันว่าหลุดออกจากห่วงโซ่ของความชอบธรรมที่เชื่อมร้อยกลับมาหาประชาชน และเมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 ก็ควรต้องมีการแบ่งอำนาจจริงๆ แต่ก็ไม่เป็นเช่นนั้น เพราะมาตรา 44 ยังดำรงอยู่ ยังมี คสช. อยู่

“คณะรัฐประหารอาจได้ประโยชน์จากการทำให้ประชาชนทั่วไปรู้สึกว่าศาลยังเป็นอิสระอยู่ ไม่ถูกครอบงำ เท่ากับว่าศาลยังสามารถอำนวยความยุติธรรมตามปกติได้และมันช่วยทำให้การรัฐประหารอ่อนนุ่มลง ไม่แข็งกร้าว ทำให้สภาวะการต่อต้านมีไม่มาก การที่เรารู้สึกว่าศาลยังอิสระอยู่จริงๆ ในด้านหนึ่งมันกลับเป็นการสนับสนุนระบอบรัฐประหารด้วย

“แต่ผมไม่ได้บอกว่าศาลไม่มีอิสระอะไรเลย ผมคิดว่าหลายคดีที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง คณะรัฐประหารก็ไม่มายุ่ง ปล่อยให้ศาลดำเนินไปตามงานประจำปกติ แต่คดีที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ยิ่งถ้าเกี่ยวข้องกับการอยู่หรือไปของคณะรัฐประหาร ตอบได้เลยว่าศาลไม่สามารถต่อกรกับคณะรัฐประหารได้ตั้งแต่แรก เพราะคณะรัฐประหารยึดอำนาจสำเร็จแล้ว และเราไม่ควรแสร้งบอกอีกต่อไปว่าศาลสู้ได้ คุณูปการของพลเมืองโต้กลับคือชี้ให้เราเห็นจุดนี้”

วรเจตน์ กล่าวว่า หนทางเอาผิดคณะรัฐประหาร ถึงที่สุดแล้วต้องทำโดยการลบล้างผลพวงรัฐประหาร ต้องสร้างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่แล้วประกาศว่าการนิรโทษกรรมคณะรัฐประหารเป็นโมฆะ เท่ากับเสียเปล่าไม่เคยมีขึ้นในระบบกฎหมายมาก่อน ซึ่งเท่ากับว่าประชาชนประสบชัยชนะอย่างแท้จริงในทางการเมือง และนั่นจะเปิดทางให้ศาลใช้อำนาจพิจารณาลงโทษคณะรัฐประหารได้
ลดทอนความอัปลักษณ์

แม้ยังคงอำนาจตามมาตรา 44 ไว้ทำให้รัฐธรรมนูญปี 2560 กลายสภาพเป็นกฎหมายสูงสุดเพียงในนาม แต่ใช่ว่ารัฐธรรมนูญจะไม่มีประโยชน์ใดๆ เลย วรเจตน์ แสดงทัศนะว่า ในแง่กฎหมาย อย่างน้อยรัฐธรรมนูญปี 2560 ยังมีประโยชน์ในกรณีที่คณะรัฐประหารดำเนินคดีกับผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่ง

“กรณีที่คณะรัฐประหารฟ้องประชาชน ผมคิดว่ากรณีแบบนี้เราต้องเรียกร้องจากศาล ถ้าศาลบอกว่าสิ่งที่ คสช. ประกาศออกมาเป็นกฎหมาย ศาลมีหน้าที่ต้องบังคับใช้อย่างสิ้นเชิง ผมว่าอันนี้เป็นปัญหา เพราะกรณีนี้คือการที่คณะรัฐประหารเองผ่านกลไกของรัฐ ตำรวจ อัยการ ขออำนาจของศาลลงโทษคนที่ฝ่าฝืนคำสั่งหรือประกาศของตัวเอง ซึ่งส่งผลให้คนต้องรับโทษในทางอาญาที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลอย่างมาก ศาลจะบอกว่ายึดอำนาจสำเร็จ มีกฎหมายแล้วก็ต้องลงโทษ ศาลอาจใช้ดุลยพินิจในการลงโทษแบบเบาอาจจะปรับหรือจำคุกแล้วรอลงอาญา กรณีที่ศาลใช้ดุลยพินิจแบบนี้ศาลก็รู้สึกว่านี่คือการทำให้มันเบาลงแล้ว คือบังคับใช้กฎหมายของรัฐประหาร แต่ลงโทษไม่หนัก ผมถามว่าแบบนี้มันใช่ไหม

“เราอาจเรียกร้องศาลไม่ได้ว่าให้ศาลลงโทษรัฐประหาร แต่เราเรียกร้องศาลไม่ได้หรือในการวิเคราะห์ความเป็นกฎหมายของคณะรัฐประหาร ของบรรดาประกาศคำสั่ง เราเรียกร้องศาลไม่ได้หรือว่าในแง่กฎหมายศาลต้องดูวัตถุประสงค์ของการลงโทษว่าเป็นไปเพื่ออะไร ผมว่าสิ่งเหล่านี้สามารถเรียกร้องศาลได้ทั้งสิ้นและควรต้องเรียกร้องด้วย และด้วยเหตุนี้จึงมีคำพิพากษาของศาลจำนวนหนึ่งที่ต้องถูกวิจารณ์”

ศาลมักให้เหตุผลว่าเมื่อยึดอำนาจสำเร็จ คำสั่งของคณะรัฐประหารย่อมถือเป็นกฎหมาย ทั้งที่อำนาจในความเป็นจริง คณะรัฐประหารสามารถสั่งลงโทษประชาชนที่ขัดขืนคำสั่งได้ทันทีโดยไม่ต้องผ่านศาล เช่นที่เกิดขึ้นในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์และจอมพลถนอม กิตติขจร แต่ คสช. ไม่ใช้อำนาจแบบดิบๆ เช่นนั้น เพราะยังมีสายตาของประชาคมโลกมองอยู่ จึงใช้อำนาจที่ละมุนกว่าผ่านกระบวนการยุติธรรม เพื่อบอกว่าประชาชนมีสิทธิต่อสู้คดีในทางกฎหมาย ทั้งที่การใช้กฎหมายเข้าดำเนินการแบบนี้เป็นการคุกคามบุคคลที่มีทัศนะทางการเมืองไม่เหมือนกับคณะรัฐประหาร

“ถามว่าทำไมคณะรัฐประหารยุคหลังๆ ไม่ใช้อำนาจแบบนั้น เพราะมันอาจเกิดแรงต้านที่สูงมากทั้งจากภายในและภายนอก การลดแรงต้านลงคือการใช้กฎหมายแจ้งดำเนินคดี แล้วใช้กลไกที่มีอยู่ดำเนินการไป มีการสร้างกลไกบางอย่างขึ้นมา โดยยังรู้สึกว่ากลไกที่สร้างขึ้นมาเป็นอิสระอยู่ ยังเป็นอีกกระบวนการหนึ่งซึ่งหลุดจากรัฐประหาร คือการสร้างภาพให้การรัฐประหารดูเบาลง แต่ความเดือดร้อนยังตกอยู่กับคนถูกดำเนินคดี ผมว่าคณะรัฐประหารได้ประโยชน์มากจากกลไกแบบนี้

“การอ้างว่าเป็นไปตามกฎหมายคือเป็นไปตามกฎหมายในสองมิติ คือกฎหมายที่มีอยู่แล้วและกฎหมายที่คณะรัฐประหารออกเอง คำว่าเป็นไปตามกฎหมายคือเป็นไปตามกฎหมายที่คุณออกเอง คุณเป็นคนคุมกฎ มิติที่สองที่ว่าเป็นไปตามกฎหมายคือเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมในทางกฎหมาย แต่คณะรัฐประหารมั่นใจว่ากลไกในทางกฎหมายก็จะใช้กฎหมายของคณะรัฐประหารเอง”

จุดนี้นำมาสู่ประเด็นว่า เวลาที่ศาลใช้กฎหมายของคณะรัฐประหาร ศาลควรใช้อย่างไร

“ศาลก็รับว่าบรรดาประกาศคำสั่งต่างๆ มีสภาพเป็นกฎหมายแล้วศาลก็ใช้เต็มที่ คำว่าใช้เต็มที่หมายถึงว่าเป็นกฎหมายที่มีสภาพเหมือนกับพระราชบัญญัติที่สภาผู้แทนราษฎรซึ่งมาจากการเลือกตั้งออกมา คือศาลไม่มองในแง่แบบพิธีการออกกฎหมาย เนื้อหาของกฎหมาย ศาลดูแต่เพียงว่าพอยึดอำนาจเสร็จ กฎหมายนี้จะชื่อว่าคำสั่งรัฐประหาร คำสั่งหัวหน้า คสช. หรือประกาศอะไรก็แล้วแต่ มันมีสภาพเหมือนกันกับพระราชบัญญัติที่รัฐสภาในระบอบประชาธิปไตยออกมา แต่คำถามคือถูกไหม? นี่คือคำถามที่เราต้องถาม”

วรเจตน์ กล่าวอีกว่า รัฐธรรมนูญชั่วคราวจากการรัฐประหาร 2 ครั้งหลังมีบทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพถ่ายทอดลงไป ซึ่งเขาเห็นว่าถ้อยคำเหล่านี้คือเครื่องมือที่ศาลจะนำมาใช้ประกอบการตีความบรรดาคำสั่งต่างๆ

“แต่เท่าที่ผมเห็นตอนนี้ ศาลไม่เอามาใช้เลย เพราะแม้คณะรัฐประหารอยากจะหล่อ แต่ก็ยังมีมาตราหนึ่งที่รับรองความชอบโดยกฎหมายและให้ถือเป็นที่สุดของบรรดาคำสั่งต่างๆ ในรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะในอดีต ปัจจุบัน และในอนาคต ทีนี้เวลาศาลใช้ ถ้ามีบทบัญญัติที่ดูดีกับที่อัปลักษณ์เมื่อเทียบกับเกณฑ์ปกติ เราควรจะตีความลดทอนสิ่งที่มันอัปลักษณ์ลง

“ยกตัวอย่างการชุมนุม ที่มี พ.ร.บ.ชุมนุม มีรัฐธรรมนูญ แล้วยังมีประกาศ คสช. อีก ถ้ามีการแจ้งความตามคำสั่ง คสช. ถ้าสู้ว่าคำสั่ง คสช. ขัดรัฐธรรมนูญ ศาลก็จะไม่ตรวจสอบอะไรเลย ถ้าเอาด้านอัปลักษณ์มาใช้คือด้านที่รับรองความชอบด้วยกฎหมายมาใช้ ประเด็นคือเกณฑ์ที่ห้ามแบบนี้มันได้มาตรฐานความชัดเจนแน่นอนตามรัฐธรรมนูญ ตามพันธะกรณีที่เราเป็นสมาชิกหรือไม่ ถ้าไม่ได้ ศาลก็ต้องตีความว่าคำสั่งนี้ขัดรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าเอาด้านอัปลักษณ์มาใช้ก็เท่ากับบทบัญญัติที่รับรองสิทธิตามรัฐธรรมนูญไม่มีความหมาย แล้วจะเขียนไว้ทำไม

“ตอนนี้เข้าสู่ระบบที่มีรัฐธรรมนูญถาวรแล้ว คุณยังจะตีความแบบนี้ ถ้าอย่างนั้นอำนาจตุลาการก็ไม่มีความหมายอะไร คุณใช้กฎหมายอย่างอื่นไม่ได้ เพราะคนเขียนรัฐธรรมนูญบอกว่าต้องเป็นแบบนี้ กล่าวคือคนเขียนรัฐธรรมนูญช่วงชิงอำนาจการวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญไปไว้กับตัวเองแล้วผ่านการเขียนรัฐธรรมนูญ เท่ากับเข้ามาทำร้ายอำนาจตุลาการเสียแล้วในการวินิจฉัยเรื่องนี้ ทำให้ศาลต้องจำนน แล้วศาลควรจะยอมหรือไม่ กลายเป็นว่าบทบัญญัตินี้มาตราเดียวทำลายบทบัญญัติอื่นทั้งหมด รวมทั้งทำลายความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญด้วย ถ้าศาลยืนยันแต่เพียงว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มันก็คิดเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากศาลยอมตามกฎเกณฑ์รัฐประหารโดยไม่มีการตรวจสอบเลย”
ใครคือผู้ชี้ว่ารัฐประหารสำเร็จ?

วรเจตน์ ยกตัวอย่างคดี บก.ลายจุด หรือสมบัติ บุญงามอนงค์ ที่ถูกฟ้องข้อหาขัดขืนคำสั่ง คสช. เพื่อตั้งข้อสังเกตต่อบทบาทของศาลดังนี้

“คดีของ บก.ลายจุดหรือคุณสมบัติ บุญงามอนงค์ ยกข้อต่อสู้ว่า ณ เวลานั้นยังไม่รู้ว่าการยึดอำนาจสำเร็จหรือไม่ ที่ผ่านมาศาลมักบอกว่าเมื่อการยึดอำนาจไม่มีการต่อต้าน มันสำเร็จผลเรียบร้อยแบบกว้างๆ แล้วถือว่าการรัฐประหารสำเร็จตั้งแต่การประกาศยึดอำนาจ ประเด็นคือการยึดอำนาจสำเร็จตอนไหน หลังการรัฐประหารหนึ่งวัน สองวัน หรือสามวัน แล้วบอกว่าการรัฐประหารสำเร็จ จริงๆ แล้วใครเป็นคนบอกว่าสำเร็จ

“ผู้ที่บอกว่าการทำรัฐประหารสำเร็จก็คือศาลในภายหลัง กว่าคดีจะมาฟ้องศาลอาจผ่านไป 5-6 เดือน ซึ่งตอนนั้นรัฐประหารสำเร็จไปแล้ว แต่ศาลเอาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น 3-5 วันมาชี้ในอีก 5-6 เดือนต่อมาแล้วบอกว่าการรัฐประหารสำเร็จตั้งแต่วันแรก สำเร็จตั้งแต่วินาทีที่ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ ถ้าในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คือตอน 4 โมงครึ่ง ณ วินาทีนั้นเลย

“ผมถามจริงๆ ว่าวันที่ประกาศยึดอำนาจในวินาทีนั้น มีใครบอกได้ว่ายึดอำนาจสำเร็จ เวลาศาลวินิจฉัย ศาลต้องย้อนกลับไปตรงจุดนั้น ถามว่า ณ จุดที่มีการประกาศยึดอำนาจคุณรู้หรือว่ารัฐประหารสำเร็จ หรือคุณเอาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในภายหลังย้อนกลับไปชี้สิ่งที่เกิดขึ้นก่อนหน้าซึ่งยังไม่มีความแน่นอน ถ้าเป็นแบบนี้มันก็ไม่เป็นธรรมกับคนที่ถูกดำเนินคดี เพราะเวลาเราจะดำเนินคดี กฎหมายต้องมีความชัดเจนและแน่นอน ศาลจะบอกว่ายึดอำนาจสำเร็จหรือไม่ ต้องมีเกณฑ์ที่มีความแน่นอนถ้าจะลงโทษคน ประเด็นนี้เท่ากับศาลเป็นผู้ชี้ว่าการรัฐประหารสำเร็จ และผมเชื่อว่าในทางข้อเท็จจริงตอนนั้นไม่มีใครบอกได้หรอกว่าการรัฐประหารสำเร็จ

“มันเคยมีกรณีที่คณะทหารคณะหนึ่งเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ แล้วเรียกบุคคลไปรายงานตัว มีเจ้าหน้าที่รัฐระดับอธิบดีท่านหนึ่งไปรายงานตัวต่อคณะทหารเพราะเข้าใจว่ายึดอำนาจสำเร็จแล้ว สองสามวันหลังจากนั้นรัฐบาลพลเอกเปรมสามารถโต้กลับทำให้คณะทหารกลายเป็นกบฏ เจ้าหน้าที่รัฐท่านนี้ถูกฟ้องเพราะไปรายงานตัวกับกบฏและถูกศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษ แต่รอลงอาญา ซึ่งมันเป็นประเด็นที่คุณสมบัติยกขึ้นสู้ เท่ากับว่าให้คนที่ไปรายงานตัวต้องเสี่ยงเอาเองว่าจะไปหรือไม่ไป ประเมินเอาเองว่ายึดอำนาจสำเร็จหรือไม่อย่างนั้นหรือ

“ศาลควรมีเกณฑ์ที่แน่นอนเพื่อลงโทษคนทางกฎหมาย ถ้าศาลใช้เกณฑ์ประสิทธิภาพ มันอาจใช้ไม่ได้ชัดเจนว่ามันเกิดผลตั้งแต่วันที่ทำรัฐประหารเลยหรือไม่ เพราะมันอาจมีการต่อต้าน ประชาชนยังชุมนุมอยู่ แม้การต่อต้านจะไม่สำเร็จก็ตาม เพราะฉะนั้นตราบที่ยังมีการชุมนุมต่อต้านรัฐประหารโดยตรง แล้วสภาวะที่ยังไม่ห่างไกลจากวันรัฐประหาร อาจต้องถือว่าประสิทธิภาพของการรัฐประหารยังไม่เกิดขึ้นจริง จุดที่รัฐประหารสำเร็จคือตอนไหน มันคือจุดที่ต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริง เพราะถ้าข้อเท็จจริงยังไม่แน่นอน คุณจะใช้สิ่งที่ยังไม่แน่นอนในทางข้อเท็จจริงมาเป็นผลร้ายกับคนที่ต้องถูกลงโทษในคดีอาญาหรือ

“ถ้าศาลทำแบบนั้น เราพอจะบอกได้ว่าอันที่จริงศาลเป็นคนที่บอกว่าการยึดอำนาจนั้นสำเร็จในมิติของการลงโทษคน ในกรณีนี้เท่ากับศาลกลายเป็นกลไกหนึ่งด้วยของคณะรัฐประหารในภายหลัง อันนี้เป็นคำถาม เราสามารถตั้งคำถามได้ไหมว่าคนที่บอกว่าการยึดอำนาจสำเร็จนั้นก็คือศาลในอีก 5 เดือนต่อมาแล้วชี้ย้อนกลับไปว่าสำเร็จแล้ว พอ พล.อ.ประยุทธ์ อ่านประกาศยึดอำนาจยกเลิกรัฐธรรมนูญ สำเร็จเลยในทันที ทั้งที่ความเป็นจริงในตอนนั้นยังไม่รู้เลยว่าสำเร็จหรือไม่สำเร็จ”

ฎีกายืนคุก 2 เดือน แต่ให้รอลงอาญา 1 ปี 'บก.ลายจุด' ฝืนคำสั่งคสช.ไม่มารายงานตัว
อุทธรณ์สั่งคุก 2 ปี แต่ให้รอลงอาญา 1 ปี 'บก.ลายจุด' ฝืนคำสั่งคสช.ไม่มารายงานตัว
รัฐประหารสำเร็จเมื่อใด?

“ทีนี้มันอาจต้องหาเกณฑ์ว่าจะใช้เกณฑ์ไหน เกณฑ์หนึ่งที่น่าสนใจคือคุณสมบัติ บุญงามอนงค์ อ้างเกณฑ์ต้องดูว่ามีการต่อต้านจากประชาชนหรือไม่ หน่วยงานของรัฐยอมรับคำสั่งคณะรัฐประหารหรือไม่ มีรัฐธรรมนูญมายกเว้นความผิดของคณะรัฐประหารหรือไม่ และมีพระบรมราชโองการรับรองฐานะของคณะรัฐประหารหรือไม่

“คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2578/2560 ให้ความเห็นไว้ว่า การรัฐประหารสำเร็จคือไม่ปรากฏว่ามีการต่อต้านโดยประชาชนหรือองค์กรของรัฐต่อต้านการยึดอำนาจครั้งนี้จน คสช. ไม่อาจบริหารประเทศได้ แต่ส่วนที่อ้างว่าต้องมีรัฐธรรมนูญมายกเว้นความผิดของ คสช. หรือมีพระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์มารองรับฐานะของ คสช. นั้น เป็นเพียงความเข้าใจของจำเลยเอง หาได้มีกฎเกณฑ์ไว้ในที่ใดว่าจะต้องมีการดำเนินการดังกล่าวเสียก่อน จึงจะถือว่าการยึดอำนาจการปกครองประเทศเป็นผลสำเร็จดังที่จำเลยฎีกาไม่

“คุณสมบัติต่อสู้ว่าคณะรัฐประหารที่เรียกคุณสมบัติไปรายงานตัว 1 วันหลังการยึดอำนาจ ตอนนั้นรัฐประหารยังไม่สำเร็จ ประชาชนยังต่อต้าน ไม่มีรัฐธรรมนูญมายกเว้นความผิด แล้วก็ไม่มีพระบรมราชโองการรับรองฐานะด้วย ศาลก็ปฏิเสธว่าเป็นความเข้าใจของคุณสมบัติเอง แต่คนที่ถูกฟ้องต้องการบอกว่ามันต้องมีความชัดเจนแน่นอน เขาจะได้ประพฤติปฏิบัติตัวถูก และศาลซึ่งเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายจำเป็นต้องดูว่า มันต้องมีเกณฑ์ที่จะบอกคนได้แน่นอน

“ทีนี้ ศาลบอกว่าการมีพระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์มารองรับเป็นความเข้าใจของจำเลยเอง หาได้มีกฎเกณฑ์ไว้ว่าต้องมีการดำเนินการเสียก่อนการรัฐประหารจึงจะประสบความสำเร็จ แล้วมีกฎเกณฑ์บอกเหรอครับว่ามันมีประสิทธิภาพแบบที่ศาลกำหนดและถือว่าสำเร็จ กฎเกณฑ์เรื่องประสิทธิภาพศาลก็ยกขึ้นมาเองเหมือนกัน มันไม่มีในระบบกฎหมายเขียนว่า พอประกาศยึดอำนาจแล้วก็ถือว่ายึดอำนาจสำเร็จ คือมันมีความคลุมเครือไม่แน่นอนสูงมาก

“ถามว่าเกณฑ์ที่คุณสมบัติกล่าวอ้างมีความชัดเจนหรือไม่ ผมคิดว่าก็มีความชัดเจนในระดับหนึ่ง เพราะการมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งหัวหน้า คสช. มันมีการประกาศลงราชกิจจานุเบกษา เป็นเอกสารทางกฎหมายที่อาจเรียกได้ว่ารองรับสถานะความมีประสิทธิภาพของการรัฐประหารอย่างชัดเจนที่สุด อาจจะเป็นความเข้าใจของคุณสมบัติเอง แต่การที่ศาลบอกว่าไม่มีการต่อต้านก็เป็นความเข้าใจของศาลเองหรือเปล่า ตกลงว่าต่างก็เป็นความเข้าใจของแต่ละคน คุณสมบัติเข้าใจแบบนี้ ศาลเข้าใจแบบนี้ ก็แสดงว่าศาลเข้าใจต่างจากคุณสมบัติ แล้วจะลงโทษได้เหรอ หรือควรจะลงโทษคุณสมบัติในกรณีแบบนี้หรือเปล่า

“แน่นอนว่าในที่สุดการวินิจฉัยว่าการรัฐประหารสำเร็จหรือไม่ เป็นประเด็นปัญหาในทางการเมือง ไม่ใช่ปัญหาที่จะวินิจฉัยในทางกฎหมาย หรือถ้าใครจะบอกว่านี่เป็นเรื่องในทางกฎหมายก็เท่ากับว่าดุลพินิจในการชี้อยู่ที่ศาลเต็มร้อย สุดท้ายศาลเป็นคนบอก ศาลอาจจะบอกว่าการรัฐประหารสำเร็จ 22 พฤษภาคมก็ได้หรือ 26 พฤษภาคมก็ได้ ถ้าศาลแค่ใช้เกณฑ์ต่างกัน วันที่การรัฐประหารสำเร็จต่างกัน มันจะส่งผลต่อการลงโทษบุคคลไม่เหมือนกัน ส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อสิทธิเสรีภาพของคน และถ้าดูจากตัวอย่างที่ผมกล่าวถึง แบบนี้จะเป็นธรรมกับคนที่ถูกฟ้องหรือไม่ ถ้าเขาไปตามคำสั่งแล้วปรากฏว่ายึดอำนาจไม่สำเร็จ เขาก็ผิดอีก กลายเป็นว่าระบบกฎหมายผลักภาระการประเมินว่าคำสั่งของ คสช. ในเวลานั้นเป็นกฎหมายหรือไม่ไปให้คนแต่ละคนวินิจฉัยหรือเสี่ยงเอาเอง ก็เท่ากับเป็นการพนันขันต่อกับตัวเอง การผลักภาระการประเมินให้กับปัจเจกบุคคลที่ต้องถูกลงโทษ ผมว่ามีปัญหาเรื่องความยุติธรรม

“ที่สำคัญคือรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ถูกฉีกให้สิทธิ์ประชาชนในการต่อต้านโดยสันติวิธีต่อการได้มาซึ่งอำนาจที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ เขาก็ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ถึงแม้มันจะถูกฉีก แต่การรัฐประหารสำเร็จหรือไม่ ยังไม่รู้ในช่วงเวลานั้น ถ้าถือแบบนี้ก็เท่ากับว่าสิทธิตามรัฐธรรมนูญจะไม่มีทางถูกใช้ได้เลย อย่างนั้นก็อย่าเขียนไว้ เพราะประชาชนก็ใช้สิทธิของเขา เมื่อเขาใช้สิทธิแล้วมันไม่ได้ แต่ก็ถือว่าเขาใช้สิทธิ แล้วเราควรจะลงโทษหรือเปล่า

“อีกประเด็นหนึ่ง เวลาศาลตัดสินลงโทษคนต้องดูว่าลงโทษไปทำไม เพื่อให้บุคคลหลาบจำว่าต่อไปถ้ายึดอำนาจสำเร็จ เขาเรียกมา ต้องมานะ อย่างนั้นเหรอ ต่อให้เขาถูกจับปรับทัศนคติ มันก็จับไปแล้ว เป้าหมายคือเท่านี้ใช่หรือไม่ แล้วถ้ามันผ่านไปแล้ว จะใช้กฎเกณฑ์นี้ในการลงโทษเพื่ออะไร มันต่างกันมากกับการมีกฎหมายห้ามฆ่าคนตาย ถ้าทำแล้วต้องถูกลงโทษ ในการเรียนการสอนกฎหมายอาญา การลงโทษต้องมีวัตถุประสงค์ในการลงโทษ แล้วเราจะตอบคำถามนี้กันอย่างไร ศาลต้องพิจารณาเรื่องนี้ ศาลอาจจะคิดว่ามันเป็นกฎหมาย เมื่อฝ่าฝืนกฎหมายก็ต้องมีการลงโทษ แต่ผมคิดว่ามันต้องเยอะกว่านี้หรือไม่ในแง่การตัดสิน มิฉะนั้นศาลจะกลายเป็นกลไกหนึ่งของรัฐประหาร ซึ่งตรงนี้จะมาถึงคำว่าระบอบแห่งการรัฐประหาร”

กล่าวคือศาลไม่ควรบังคับใช้ประกาศของคณะรัฐประหารแบบไม่มีข้อจำกัด แต่ต้องตระหนักว่ามันเป็นกฎเกณฑ์ทางอาญาที่มีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคล ดังนั้น จะต้องมีความแน่นอน และศาลต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์ของการลงโทษ
ศาลไม่พึงสร้างความชอบธรรมให้การรัฐประหาร

“ผมคิดว่านี่เป็นประเด็นใหญ่ เพราะศาลก็มีหน้าที่ต้องรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญเช่นกัน ดังนั้น ถ้ามีการได้มาซึ่งอำนาจโดยไม่เป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตย ผมคิดว่าถึงที่สุดถ้าศาลจะต้องพิพากษาคดี ศาลจะต้องเป็นกลาง การให้เหตุผลต้องให้เหตุผลที่ไม่สร้างความชอบธรรมให้การรัฐประหาร

“ถามว่าแบบไหนที่เป็นการให้ความชอบธรรม สมมติถ้าศาลบอกว่ารัฐประหารดีแล้ว สมควรมี ถูกต้อง แบบนี้ถือว่าให้ความชอบธรรม ซึ่งในคำพิพากษาบางฉบับศาลละประเด็นนี้เอาไว้ เช่นอาจจะเขียนกลางๆ ว่าศาลรับไว้การได้มาซึ่งอำนาจไม่เป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตย แต่ชอบธรรมหรือไม่เป็นอีกประเด็นหนึ่ง อย่างเช่นศาลฎีกาในคดีพลเมืองโต้กลับ ศาลละไว้ ไม่ยุ่ง ก็โอเคอยู่ในความเห็นผม

“แต่ถ้าศาลเห็นด้วยกับการยึดอำนาจ แบบนี้ผมคิดว่าเป็นปัญหามากๆ แล้วเรื่องแบบนี้ถ้าเกิดการเปลี่ยนอำนาจทางการเมือง ผมคิดว่าอาจต้องดำเนินคดีกับผู้พิพากษาที่สร้างความชอบธรรมผ่านการให้เหตุผลในคำพิพากษาให้กับการรัฐประหาร เพราะการให้ความชอบธรรมการรัฐประหารเท่ากับการสนับสนุน ศาลต้องไม่ตัดสินประเด็นพวกนี้ มันเป็นปัญหาในทางการเมือง ศาลไม่พึงเขียนคำพิพากษาอะไรที่สะท้อนความชอบธรรมของการรัฐประหาร ทีนี้ ศาลสร้างความชอบธรรมหรือไม่ แต่ละคนอ่านคำพิพากษาเอง แล้วตัดสินเอง ไม่ต้องถามผม”
ระบอบแห่งการรัฐประหาร

ระบอบแห่งการรัฐประหารในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คืออะไร นี่คงไม่ใช่คำถามเชิงกฎหมายที่วรเจตน์จะตอบได้ชัดเจน เขาบอกว่าควรไปถามนักรัฐศาสตร์ แต่ถ้าให้ทดลองตอบ

“ผมเข้าใจว่าคำว่า ระบอบแห่งการรัฐประหาร น่าจะปรากฏเป็นครั้งแรกในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีของคุณอภิชาติและดูเหมือนว่าจะวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ของศาลอุทธรณ์ด้วย ซึ่งถ้าผมเข้าใจผิดก็ขออภัยด้วย จึงน่าสนใจว่าคำคำนี้มีความหมายว่าอะไร ศาลไม่ได้ขยายความว่าอะไรคือระบอบแห่งการรัฐประหาร ถ้าจะดูง่ายๆ ก็คือศาลคงหมายความว่าเมื่อยึดอำนาจสำเร็จ มันก็เกิดระบอบแห่งการรัฐประหารขึ้น โดยนัยแค่นี้แหละ

“ส่วนมันทำงานยังไง เมื่อคณะรัฐประหารยึดอำนาจแล้ว เขาก็สร้างระบบกลไกระบบขึ้นมารองรับการทำงาน เช่น สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เพื่อให้กลไกเหล่านี้สามารถดำเนินไปได้โดยทำเทียมหลักการแบ่งแยกอำนาจโดยปกติ ส่วนศาล คณะรัฐประหารก็ไม่ได้ยุ่งเท่าไหร่ เพราะศาลก็ไม่ยุ่งอะไรกับคณะรัฐประหารอยู่แล้ว มันเป็นระเบียบของการปกครองในช่วงที่ทหารมีอำนาจอยู่ แล้วมันก็มีฟังก์ชั่นอยู่

“ระบอบแห่งการรัฐประหารมีพัฒนาการอยู่ในระบบกฎหมายของเรา มันมีความเปลี่ยนแปลงในแง่เทคนิคทางกฎหมาย รวมทั้งการปกครอง สมัยจอมพลสฤษดิ์ก็เป็นอีกแบบ ปัจจุบันก็เป็นอีกแบบ สภาวะมันเปลี่ยน แต่สังเกตดูจะเห็นว่าระบอบนี้จะพยายามเลียนแบบระบบปกติ ทำสภาผู้แทนราษฎรเทียม ทำคณะรัฐมนตรีเทียม องค์กรตุลาการไม่ไปยุ่ง แต่องค์กรตุลาการก็เป็นปัญหาในตัวเอง เพราะว่าระบอบแห่งการรัฐประหารจะเป็นปัญหามากต่อศาลในระบบกฎหมายมหาชน ทั้งศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญจะกระทบมากที่สุดเพราะมีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ เมื่อยึดอำนาจสำเร็จ โดยสภาพศาลรัฐธรรมนูญจะดำรงอยู่ไม่ได้ แต่ระบอบรัฐประหารของบ้านเรามีความพิเศษคือศาลรัฐธรรมนูญยังดำรงอยู่ได้ ศาลปกครองก็เช่นกันยังสามารถตัดสินเรื่องความชอบด้วยกฎหมายต่อไปได้ แต่เป็นคดีที่ไม่เกี่ยวข้องกับคณะรัฐประหาร

“ระบอบแบบนี้เวลาทำงาน คณะรัฐประหารก็มีวิธีการใช้อำนาจได้หลายแบบ ผมถือว่าเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นมาได้อย่างน่าสนใจถ้ามองในมุมการเมือง คือสามารถสร้างกลไกทางกฎหมายในระบบปกติเข้าไปสอดแทรกและพยายามใช้ให้ดูเหมือนว่ามีความเป็นปกติอยู่ พูดง่ายๆ คือพยายามทำให้ความไม่ปกติกลายเป็นความปกติ และทำให้คนส่วนใหญ่รู้สึกว่ามันเป็นปกติ การพูดถึงระบอบแห่งการรัฐประหารยิ่งเหมือนสร้างความเป็นปกติให้แล้วอีกชั้นหนึ่งทั้งที่มันไม่ปกติ

“ถามว่าระบอบรัฐประหารซึ่งทำให้สิ่งไม่ปกติเป็นปกติมีความชัดเจนมากขนาดไหน คำตอบคือไม่ชัด เช่นถามว่าตอนนี้ยังอยู่ในระบอบนี้มั้ย ยังอยู่เหมือนตอนยึดอำนาจใหม่ๆ ถ้าถามว่าระบอบนี้เริ่มต้นเมื่อไหร่และจะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ ถ้าศาลใช้คำนี้ ตอนนี้จบหรือยัง มันน่าจะจบแล้วหรือเปล่า เพราะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่มุ่งหมายให้ถาวรแล้ว บางคนบอกว่ายังไม่จบเพราะมาตรา 44 ซึ่งเป็นผลพวงของรัฐประหารยังมีอยู่ต่อไป บางคนบอกว่าจบตอนมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเข้ารับหน้าที่ แล้วสิ่งที่คณะรัฐประหารฝังเอาไว้ในระบบล่ะ สรุปแล้วระบอบรัฐประหารมันจบเมื่อไหร่ มันมีวันจบมั้ย หรือไม่มี โดยสภาพมันก็มีความคลุมเครือในตัวเอง ผมไม่รู้ว่าทำไมต้องมีคำว่าระบอบรัฐประหารขึ้นมา”

สุดท้าย วรเจตน์ ชวนตั้งคำถามว่า มีระบอบแห่งการรัฐประหารหรือไม่ หรือถึงที่สุดแล้ว มันเป็นเพียงกลไกลหนึ่ง เป็นเพียงระบบหนึ่งของระบอบที่ใหญ่กว่า

“ระบอบแห่งการรัฐประหารที่มีการใช้คำนี้ในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ มันเป็นระบอบโดยตัวมันเองหรือจริงๆ มันเป็นแค่ระบบ สำหรับผมการรัฐประหารไม่ใช่ระบอบ เรียกว่าระบบรัฐประหารน่าจะถูกกว่า มันเป็นระบบแห่งการรัฐประหาร ซึ่งสังกัดกับระบอบที่ครอบระบบอีกที ส่วนระบอบที่ครอบรัฐประหารคืออะไร ก็สุดสติปัญญาผมที่จะอธิบายได้”
[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.