Posted: 15 Jul 2018 06:07 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

ชาวบ้าน อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ร้องเรียนถูกอำเภอสั่ง "ปลูกป่าไผ่" ตามโครงการไทยนิยมยั่งยืน แต่หลายบ้านกลับ "ปลูกป่าไผ่" ทับไร่หมุนเวียนที่ชาวบ้านปลูกข้าวไร่ต้นกล้าสูงเป็นคืบ ทั้งนี้เริ่มต้นเป็นโครงการเสริมอาชีพของอำเภอ ใช้ "งบไทยนิยม" หมู่บ้านละ 2 แสนบาท ตั้งเป้าปลูกป่าไผ่ 3,000 ต้นต่อ 1 หมู่บ้าน ครอบคลุมทั้งอำเภอรวม 67 หมู่บ้าน แต่ปลูกแล้วลูกบ้าน-ผู้ใหญ่บ้านเกิดขัดแย้งกันหลายหมู่บ้านเพราะกลายเป็นการทวงคืนผืนป่า-ไล่ที่ทำกิน

15 ก.ค. 2561 กรณีราชการใช้งบจากโครงการไทยนิยมยั่งยืนปลูกป่าไผ่ ทับไร่หมุนเวียนชาวกะเหรี่ยง ถูกเปิดเผยโดยนายชาลี ตรีสุรผลกุล ตัวแทนสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ จ.ตาก (สกน.จังหวัดตาก) เปิดเผยว่า ช่วงสายวันที่ 9 กรกฎาคม 2561 ผู้ใหญ่บ้านแม่วะหลวง ต.แม่วะหลวง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก นำชาวบ้านจำนวนหนึ่ง เข้าไปปลูกป่าทับพื้นที่ไร่หมุนเวียน ที่มีต้นข้าวขึ้นสูงกว่าคืบหนึ่งแล้ว โดยบริเวณพื้นที่ดังกล่าวมีชาวบ้านทำกินอย่างน้อย 7 ครอบครัว และเป็นพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชนที่ผ่านการตรวจสอบแล้ว นอกจากนี้ยังทราบว่า ก่อนหน้านี้มีพื้นที่ไร่หมุนเวียนหลายหมู่บ้านในตำบลเดียวกัน ได้ถูกปลูกป่าทับที่ไปแล้วเช่นเดียวกัน


ภาพกล้าไผ่ "โครงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม" ที่ปลูกลงไปในที่ทำกินของชาวบ้านที่ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก จะเห็นว่าข้าวไร่ที่ชาวบ้านปลูกเริ่มโตแล้ว


ภาพกล้าไผ่ที่ปลูกทับลงไปในไร่ข้าวของชาวบ้านใน อ.ท่าสองยาง จ.ตาก

จากการสอบถามชาวบ้านบ้านแม่วะหลวงต่างบอกว่า “ผู้นำชุมชนแจ้งแก่ชาวบ้านเพียงว่าเป็นโครงการปลูกป่าของ อ.ท่าสองยาง จังหวัดตาก ซึ่งนายอำเภอได้มีคำสั่งให้ผู้ใหญ่บ้านต้องดำเนินการ แต่ไม่ทราบว่าปลูกเพื่ออะไร และพื้นที่ดังกล่าวจะถูกยึดไปด้วยหรือไม่ นอกจากนี้ก่อนดำเนินการปลูกยังไม่มีการสอบถามหรือขอความยินยอมแต่อย่างใด” สำหรับชาวบ้านเจ้าของพื้นที่ที่ถูกปลูกป่าทับนั้นกล่าวว่า “รู้สึกสับสนกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะพื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่ทำกินดั้งเดิมและล้วนอยู่ภายในเขตพื้นที่โฉนดชุมชน ที่ได้รับการคุ้มครองตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน (ฉบับแก้ไข) พ.ศ. 2555 นอกจากนี้เมื่อชาวบ้านทราบว่าเป็นโครงการที่สั่งการโดยนายอำเภอ ต่างก็เกิดความกลัวและไม่กล้าออกมาโต้แย้งคัดค้าน”

มีผู้นำชุมชนหลายคน ให้ข้อมูลว่าก่อนหน้านี้ช่วงปลายเดือนมิถุนายน นายประสงค์ หล้าอ่อน นายอำเภอท่าสองยาง ได้นำเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองไปปลูกป่าที่หมู่บ้านปอเคลอะเด หมู่ 5 ซึ่งอยู่ในเขต ต.แม่วะหลวงเช่นเดียวกัน เป็นพื้นที่ไร่หมุนเวียนเก่า ไม่ใช่พื้นที่บุกรุกใหม่ ที่ชาวบ้านปลูกข้าวจนขึ้นสูงกว่าคืบหนึ่งแล้ว ซึ่งนับแต่ปลูกเสร็จจนถึงขณะนี้ ในหมู่บ้านปอเคลอะเด เกิดความขัดแย้งกันอย่างมาก

ส่วนหมู่บ้านอื่นๆ ในตำบลแม่วะหลวงนั้น นายอำเภอได้สั่งให้ผู้ใหญ่บ้านไปดำเนินการปลูกกันเอง โดยกำหนดว่าต้องเป็นพื้นที่ทำกินปัจจุบันเท่านั้น และนายอำเภอจะลงพื้นที่ไปตรวจสอบในเร็วๆ นี้ ทำให้ผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้านต้องเร่งดำเนินการ


ตัวอย่างแปลงปลูกไผ่ "โครงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประจำปีงบประมาณ 2561" ระบุว่าปลูกเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2561 ใน "พื้นที่่ป่าเสื่อมโทรม" หมู่ที่ 5 ต.แม่วะหลวง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก โดย อบต.แม่วงหลวง โดยมีกล้าไผ่ที่ล้อมรั้ว และระบุชื่อผู้ปลูกคือ ประสงค์ หล้าอ่อน นายอำเภอท่าสองยาง




แปลงปลูกไผ่ "โครงการณรงค์การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม" พื้นที่หมู่ที่ 2 บ้านแม่สลิดหลวง ต.แม่สอง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ระบุว่าเป็นการปลูกโดย "ร่วมกับหน่วยงานราชการ ประชาชนและจิตอาสาตำบลแม่สอง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก"

นอกจากนี้ยังมีแหล่งข่าวที่ให้ข้อมูลเพิ่มว่า เรื่องที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะ ต.แม่วะหลวงเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่ครอบคลุมทั้งอำเภอ เป็นโครงการที่นายอำเภอต้องการทวงพื้นที่ แต่การปลูกในพื้นที่ที่เป็นพื้นที่โล่ง ในป่าเขาก็ไม่ปลูก ดังนั้นเราจะเห็นว่าเป็นการปลูกในพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน โดยให้แต่ละหมู่บ้านไปหาพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่อยู่ใกล้ถนน มองเห็นได้ชัด เขาเรียกว่า สวมรองเท้าให้ดอย สวมหมวกให้ภูเขา โดยใช้งบโครงการไทยนิยมยั่งยืน 200,000 บาทที่รัฐบาลให้มา”

จากการสอบถามผู้ใหญ่บ้านใน อ.ท่าสองยาง รายหนึ่ง ให้ข้อมูลว่า นายอำเภอได้ชี้แจงในที่ประชุมกำนันผู้ใหญ่บ้านว่า จะให้ทุกหมู่บ้านในพื้นที่ อ.ท่าสองยาง ปลูกต้นไม้ไผ่เพื่อเป็นการส่งเสริมอาชีพ โดยอำเภอได้จัดต้นกล้าให้หมู่บ้านละ 3,000 ต้น กำหนดพื้นที่ปลูกอย่างน้อยหมู่บ้านละ 50 ไร่ ขึ้นไป โดยให้เหตุผลว่า ในระยะยาวชาวบ้านจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งในวันดังกล่าวยังได้นำวิทยากรจากที่อื่นมาพูดถึงประโยชน์ของไม้ไผ่อีกด้วย แต่มีเงื่อนไขว่าพื้นที่ที่ปลูกไปแล้วนั้นให้เป็นของชุมชน โดยให้เจ้าของที่ดูแลรักษาไว้และสามารถตัดไปใช้ประโยชน์ได้ แต่ห้ามไม่ให้แผ้วถางทำประโยชน์อย่างอื่น พอตอนจะลงมือปลูกจริงๆ ชาวบ้านก็กล่าวหาว่าผู้ใหญ่บ้านไปยึดที่ทำกินของเขาไปให้อำเภอปลูกป่า ตอนนี้ปลูกเสร็จไปหลายหมู่บ้านแล้ว และเกิดความขัดแย้งในหมู่บ้านกันอย่างรุนแรง

ผู้ใหญ่บ้านอีกคนหนึ่ง บอกว่า จุดที่ปลูกนั้นนายอำเภอเป็นผู้ลงพื้นที่ไปชี้ให้ปลูก โดยได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ไปจับพิกัด GPS ไว้ ซึ่งก่อนหน้าที่จะลงมือปลูกนั้น ตนได้ทักท้วงนายอำเภอแล้ว ว่าพื้นที่นั้นเป็นพื้นที่ไร่หมุนเวียนที่ชาวบ้านได้ทำมาแต่เดิม หากปลูกชาวบ้านจะได้รับความเดือดร้อน พร้อมทั้งตนได้เสนอให้ไปปลูกในจุดอื่นที่ตนเองได้ขอเจ้าของที่ดินและเขาก็ยินยอมให้ปลูกแล้ว แต่นายอำเภอก็ยืนยันว่าให้ปลูกที่เดิม โดยบอกเพียงว่า "เพราะเป็นเขาหัวโล้น” นอกจากนี้ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่งยังได้บอกว่า “ตอนนี้รู้สึกกังวลมาก เนื่องจากเจ้าของที่ไม่ยินยอมให้ปลูก และเมื่อดูเงื่อนไขของทางอำเภอแล้วก็เหมือนเป็นการยึดที่ดินทำกินของเขาไปเลย”

เมื่อถามว่าเป็นโครงการอะไร ผู้ใหญ่บ้านหลายหมู่บ้านบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ใช้งบประมาณจาก “โครงการไทยนิยมยั่งยืน” ซึ่งรัฐบาลจัดสรรให้หมู่บ้านละ 200,000 บาท โดยในรายละเอียดอย่างอื่นนั้นผู้นำชุมชนไม่ทราบ เมื่อถึงเวลาทางอำเภอก็นำกล้าต้นไผ่และปุ๋ยมากระจายให้แต่ละหมู่ที่

โครงการนี้มีผลกระทบต่อชาวบ้านกระจายไปทั้งอำเภอ ซึ่งมีทั้งหมด 6 ตำบล 67 หมู่บ้าน ชาวบ้านในท้องที่ ต.แม่วะหลวง จึงได้เริ่มปรึกษาหารือกันแก้ไขปัญหาและขอความชัดเจนจากทางอำเภอ หากการปลูกป่าทับที่ครั้งนี้เป็นการยึดที่ดินทำกิน ก็จำเป็นต้องดำเนินการร้องเรียนไปยังรัฐบาลต่อไป เนื่องจากรัฐบาลนี้ได้ประกาศนโยบายแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินให้แก่ราษฎรไปแล้วเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน

สำหรับข้อมูลทางการปกครอง อ.ท่าสองยาง เป็นอำเภอตอนเหนือสุดของ จ.ตาก ประกอบดว้ย 6 ตำบล 67 หมู่บ้าน เดิมมีฐานะเป็นกิ่งอำเภออยู่ในเขตการปกครองของ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ต่อมาโอนมาขึ้นกับ อ.แม่สอด จ.ตาก เมื่อ พ.ศ. 2497 และยกฐานะเป็นอำเภอตั้งแต่ พ.ศ. 2501

ทั้งนี้ สกน.จังหวัดตาก ยังได้ทำหนังสือร้องเรียนลงวันที่ 11 ก.ค. 61 เรื่อง ขอให้ตรวจสอบโครงการปลูกป่าอำเภอท่าสองยาง โดยเรียนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ทำสำเนาถึง ผอ.กอ.รมน. จังหวัดตาก, สหพันธุ์เกษตรกรภาคเหนือ รวมทั้งร้องเรียนผ่านสำนักนายกรัฐมนตรีด้วย[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.