Posted: 22 Jul 2018 12:08 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sun, 2018-07-22 14:08


กสร. พอใจซ้อมหนีไฟศาลากลางทั่วประเทศใกล้ครบ 100%

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยผลการดำเนินงานตามโครงการสร้างความปลอดภัยขั้นพื้นฐานในองค์กรภาครัฐที่ได้กำหนดเป้าหมายให้มีการฝึกซ้อมดับเพลิงและอพยพหนีไฟ ณ ศาลากลางจังหวัดทั่วประเทศ ว่า ผลการดำเนินการเป็นไปตามเป้าหมาย โดยสามารถดำเนินการฝึกซ้อมดับเพลิงและอพยพหนีไฟเรียบร้อยแล้ว 74 จังหวัด คิดเป็นร้อยละ 97 ทั้งนี้ยังคงเหลืออีก 2 จังหวัด คือ จังหวัดสระแก้ว ได้กำหนดจะฝึกซ้อมให้แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2561 และจังหวัดพังงา จะสามารถดำเนินการได้ภายในเดือนสิงหาคม 2561 เนื่องจากมีการก่อสร้างศาลากลางหลังใหม่ จากผลการฝึกซ้อมดังกล่าวถือว่าประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจที่หน่วยงานราชการทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่นตระหนักถึงความสำคัญของความปลอดภัยและมีส่วนร่วมในการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย ในการทำงานให้เกิดขึ้น ตลอดจนจัดให้มีมาตรฐานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ซึ่งเป็นไปตามกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารจัดการ และการดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับการป้องกันและระงับอัคคีภัย พ.ศ. 2555

นายอนันต์ชัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับกระทรวงแรงงาน ได้กำหนดการฝึกซ้อมดับเพลิงและอพยพหนีไฟ ประจำปี 2561 ในวันพุธที่ 1 สิงหาคม 2561 นี้ ณ กระทรวงแรงงาน ดินแดง กรุงเทพมหานคร โดยจะมี การจำลองสถานการณ์จริงเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดับเพลิง การช่วยเหลือผู้ประสบภัยและการฝึกซ้อมอพยพหนีไฟให้แก่บุคลากรของกระทรวงแรงงานเพื่อเตรียมความพร้อมหากเกิดเหตุเพลิงไหม้ อีกทั้งจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่องค์กรเอกชน รัฐวิสาหกิจและหน่วยราชการอื่น ๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการดำเนินการดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพตามนโยบาย Safety Thailand

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 22/7/2561

รมว.แรงงานลุยติวประกันสังคม 10 จังหวัดอีสาน

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาฯสำนักงานประกันสังคม เดินทางมาร่วมงานเสวนาโครงการเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ งานประกันสังคมที่ห้องประชุมโรงแรมบลู เขตเทศบาลเมืองนครพนม จ.นครพนม เพื่อประสานความสัมพันธ์ ระหว่าง นายจ้าง ลูกจ้าง ผู้แทนสถานพยาบาล และสื่อมวลชนท้องถิ่น จำนวน 10 จังหวัด ได้แก่ เลย สกลนคร ขอนแก่น หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู กาฬสินธุ์ มุกดาหาร อุดรธานี และนครพนม เพื่อถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจสิทธิประกันสังคม ให้กับผู้ประกันตนได้อย่างถูกต้องครบถ้วน

สำหรับกิจกรรมดังกล่าว มีการเสวนา ในหัวข้อ "ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพเพื่อพัฒนาประกันตนสู่โอกาส และสร้างอาชีพใหม่" พร้อมจำลองบทบาทสมมุติว่าเป็นลูกจ้างผู้สูญเสียอวัยวะ เพื่อเพิ่มความตระหนักรู้ ข้อจำกัดจากสภาพพิการ มีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ เฉพาะด้านประกันสังคม ด้านการแพทย์ และกรรมการประกันสังคม ให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมประชุม นอกจากนี้ รมว.แรงงาน ได้มอบแนวทางของโครงการเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์งานประกันสังคม และ หลักเกณฑ์ต่างๆ เกี่ยวกับประกันสังคม นำความรู้ที่ได้รับไปเผยแพร่อย่างถูกต้อง

พล.ต.อ.อดุลย์เปิดเผยว่า ทางกระทรวงแรงงานได้เปิดโอกาสให้อดีตลูกจ้างสถานประกอบการที่ขาดส่งเงินประกันสังคมมานานหลายปี กลับเข้ามาใช้สิทธิ์ขอประกันตนได้ในมาตรา 39 และยังเปิดช่องทางให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงหลักประกันสังคมในมาตรา 40 อีกด้วย ซึ่งมีสิทธิประโยชน์ เช่น กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ก็จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้วันละ 300 บาท เป็นต้น

ที่มา: แนวหน้า, 21/7/2561

ยธ.รุกให้ความคุ้มครองคนไทยในเกาหลีใต้กรณีตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม เน้นเฉพาะ 5 หมื่นรายที่เข้าเมืองถูกกฎหมาย

น.ส.ปิติกาญจน์ สิทธิเดช อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เปิดเผยความคืบหน้าในการทำบันทึกข้อตกลงการให้ความคุ้มครองสิทธิประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อในคดีอาญากับกรมสิทธิมนุษยชน กระทรวงยุติธรรม สาธารณรัฐเกาหลีใต้ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบเนื้อหารายละเอียดข้อกฎหมายของทั้ง 2 ประเทศ ว่ามีประเด็นและเนื้อหาที่สอดคล้องกันอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะขั้นตอนการช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ตกเป็นเหยื่อในคดีอาญา การให้ความช่วยเหลือตามกระบวนการยุติธรรม เบื้องต้นมีข้อมูลว่า คนไทยที่เข้าไปใช้แรงงานและพำนักอยู่ในประเทศเกาหลีใต้ที่เข้าเมืองโดยถูกต้องตามกฎหมายกว่า 50,000 คนและอีกกว่า 100,000 คนเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมา ไทยกับเกาหลีใต้ยังไม่เคยมีข้อตกลงการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ตกเป็นเหยื่อในคดีอาญาแต่อย่างใด ยกเว้นในกรณีที่มีชาวต่างชาติ ตกเป็นเหยื่อในคดีอาญา ซึ่งจะได้รับความช่วยเหลือตามพ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และพ.ร.บ. ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนฯแก่จำเลยในคดีอาญาตามกฎหมายของไทย

น.ส.ปิติกาญจน์. กล่าวอีกว่า ภายในเดือนก.ค.นี้จะเสนอ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้พิจารณาเพื่อลงนามความตกลงระดับกระทรวงต่อไป โดยกรมฯจะพยายามผลักดันให้มีการทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 1 ต.ค.นี้ เนื่องจากครบรอบ 60 ปีความสัมพันธ์ไทย-เกาหลีใต้ หากทำเอ็มโอยูเสร็จเร็ว คนไทยที่อยู่ในประเทศเกาหลีก็จะได้รับความคุ้มครองเพิ่มมากขึ้น และคนเกาหลีใต้ก็จะได้รับการดูแลตามกฎหมายไทยเช่นกัน เนื่องจากเป็นกฎหมายในลักษณะต่างตอบแทนของทั้ง 2 ประเทศ

อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิฯ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมากรมฯได้มีการทำบันทึกข้อตกลงฯกับมหาวิทยาลัย 20 แห่งที่มีการเปิดสอนสาขานิติศาสตร์ในประเทศมาเลเซียและได้มีการส่งนักศึกษาในสาขาวิชาดังกล่าวมาแลกเปลี่ยนความรู้อย่างต่อเนื่อง มีการบูรณาการความช่วยเหลือประชาชนทางด้านกฎหมายผ่านสภาเนติบัญฑิต ด้วยการจัดหาทนายความให้ความช่วยหากต้องมีการขึ้นศาล นอกจากนี้ยังมีการหารือเรื่องดังกล่าวกับประทศอื่นๆในกลุ่มอาเซียนเพื่อขยายความคุ้มครองประชาชนไทยในกลุ่มประเทศเหล่านี้ให้ได้รับความช่วยเหลือตามกฎหมาย กรณีที่ตกเป็นเหยื่อในคดีอาญา และการทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าวจะประโยชน์ต่อคนไทยและคนต่างชาติในกรณีที่ประสบปัญหาถูกทำร้ายหรือถูกฆาตกรรมในประเทศนั้นๆ

ที่มา: คมชัดลึก, 20/7/2561

ประกันสังคมไฟเขียวแรงงานต่างด้าวใช้บัตรคนไม่มีสัญชาติไทยยื่นรักษาได้

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ดำเนินการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข่าวสาร สาระความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการประกันสังคมและสิทธิประโยชน์ที่นายจ้าง ลูกจ้าง และผู้ประกันตน พึงมีสิทธิได้รับจาก 2 กองทุน คือกองทุนประกันสังคม และกองทุนเงินทดแทน ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพิ่งร่าง พ.ร.บ.เงินทดแทนไปวันที่ 19 ก.ค. 2561 ที่ผ่านมา

สำหรับการประชาสัมพันธ์นั้น สปส.ดำเนินการทางสื่อสารมวลชนและการประชาสัมพันธ์ในลักษณะต่าง ๆ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สปส.ได้มีการพัฒนาระบบการให้บริการและปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์กองทุนเงินทดแทน กองทุนประกันสังคมอย่างต่อเนื่อง เพื่อมุ่งหวังให้นายจ้าง ลูกจ้าง และผู้ประกันตน ได้รับความรู้ สร้างความเข้าใจ และมีทัศนคติที่ดี รวมถึงได้รับประโยชน์สูงสุดจากการประกันสังคม โดยทำการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข่าวความเคลื่อนไหวของ สปส.ผ่านสื่อประเภทต่าง ๆ แต่เนื่องจากกลุ่มนายจ้าง ลูกจ้าง และผู้ประกันตน มีระดับความรู้ที่แตกต่างกันและมีจำนวนเพิ่มขึ้น ทำให้การประชาสัมพันธ์ยังไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้

ด้านนายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการ สปส. กล่าวว่า คณะกรรมการประกันสังคมและที่ปรึกษา (ชุดที่ 13) มีมติเห็นชอบให้แก้ไขระเบียบ สปส. ว่าด้วยการกำหนดสิทธิในการรับบริการทางการแพทย์ ให้แรงงานต่างด้าว สามารถใช้บัตรประจำตัว คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย และบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน ที่ออกโดยทางราชการ (กรมการปกครอง) เป็นหลักฐานในการขอรับบริการทางการแพทย์ ที่สถานพยาบาลที่ สปส.กำหนดแทนการใช้บัตรประกันสังคม เพื่ออำนวยความสะดวกและให้ความคุ้มครองในระบบประกันสังคมแก่แรงงานต่างด้าว ที่ ครม.มีมติผ่อนผันให้ทำงานในประเทศไทยและขึ้นทะเบียนทำประวัติทางศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ

เลขาธิการ สปส. กล่าวอีกว่า แรงงานต่างด้าว ที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนจำนวนกว่า 7 แสนคน ที่ได้รับแจ้งจาก สปส. สามารถใช้บัตรประจำตัวคน ซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ยื่นขอเข้ารับการรักษาพยาบาลหรือขอรับประโยชน์ตามสิทธิในระบบประกันสังคมได้ทันที และในส่วนแรงงานต่างด้าวทุกสัญชาติที่เข้ามาทำงานโดยถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งมีหลักฐานการขึ้นทะเบียนโดยใช้หนังสือเดินทางและใบอนุญาตทำงานนั้น ยังสามารถใช้บัตรประกันสังคม เป็นหลักฐานในการแสดงตนในการขอรับบริการทางการแพทย์ ที่สถานพยาบาลที่กำหนดได้เช่นเดิม

ที่มา: MGR Online, 20/7/2561

LINE JOBS เปิดตัวไม่ทันครบปี คนติดตามเกินล้าน มีงานมากกว่าแสนอัตราให้เลือกสมัคร

LINE JOBS แพลตฟอร์มหางานจากทาง LINE โชว์สถิติล่าสุดหลังจากเปิดทดลองให้ใช้งานมา 8 เดือน พบว่ายอดผู้ติดตามทะลุล้านเป็นที่เรียบร้อย เล็งขึ้นชิงเป็นแพลตฟอร์มหางานอันดับ 1 ในประเทศไทย โดยก่อนหน้านี้จับมือกับทางกระทรวงแรงงานทำให้มีงานในระบบเพิ่มขึ้นไปสูงถึง 140,000 อัตรา ดึงดูดให้มีคนเริ่มหันไปหางานจากบริการนี้กันมากขึ้นเรื่อยๆ โดยปัจจุบันมีนักเรียน นักศึกษาหางานจากบริการนี้กว่า 500,000 รายเข้าไปแล้ว

LINE JOBS เป็นแพลตฟอร์มช่วยหางานที่จะเชื่อมคนหางานและคนว่าจ้างให้มาเจอกันตามเงื่อนไขต่างๆ เช่น ตำแหน่งที่ตั้ง, ประสบการณ์, ทักษะ เป็นต้น โดยเปิดให้บริการเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ในช่วงแรกจะเน้นหมวดงานด้านบริการ (งานโรงแรม, ร้านอาหาร เป็นต้น) เพราะงานด้านบริการจะมีอัตราเข้าออกเปลี่ยนงานค่อนข้างสูง ล่าสุดมียอดคนติดตามใน Official Account ของ LINE JOBS ทะลุล้านแล้ว พร้อมตำแหน่งงานบริการที่เปิดรับมากกว่า 140,000 อัตราจากกว่า 400 แบรนด์ชั้นนำทั่วประเทศไทย

เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาได้มีการประกาศลงนามความร่วมมือ “ประชารัฐรวมใจ เพื่อคนไทยมีงานทำ”กับกระทรวงแรงงาน เพื่อช่วยคนไทยให้หางานผ่าน LINE JOBS และเพื่อเพิ่มฐานผู้ว่าจ้างสู่ตลาด SME

โดยสถิติผู้ใช้งาน LINE JOBS แบบ ที่น่าสนใจมีดังนี้ มีตำแหน่งงานมากกว่า 140,000 อัตรา, งานที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือ งานบริการด้านอาหารและเครื่องดื่ม, รายได้ Part-time เฉลี่ย 350 บาท/วัน, รายได้ Full-time เฉลี่ย 13,500 บาท/เดือน, อาชีพที่เงินเดือนสูงที่สุดคอ หัวหน้าเชฟ 50,000 บาท/เดือน, เงินเดือนเฉลี่ยของงานใน LINE JOB 14,500 บาท/เดือน, ผู้ใช้งานเป็นผู้หญิงอยู่ที่ 69% และผู้ชาย 31%, มีนักศึกษาใช้งาน LINE JOB ถึง 500,000 คน และใช้งานมากที่สุดในภาคกลาง

ที่มา: Droidsans.com, 19/7/2561

ไฟไหม้โรงงานตุ๊กตา พนักงานกว่า 200 วิ่งหนีตาย

เมื่อเวลา 08.30 น.วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ต.ท.ชินวัชร์ ธิศาลา สารวัตรเวร สภ.เมืองชลบุรี ได้รับแจ้งเหตุว่ามีเพลิงลุกไหม้ในบริษัท PARKS TOY จำกัด ตั้งอยู่ที่ 3/3 หมู่ 3 ต.หนองรี อ.เมือง จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นโรงงานผลิตตุ๊กตาของชาวเกาหลี เนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ มีพนักงานทำงานกว่า 200 คน จึงรุดไปที่เกิดเหตุพบรถดับเพลิงจากองค์การบริหารส่วนตำบลหนองรี กำลังดับเพลิงที่กำลังลุกไหม้ที่บริเวณเพดานห้องเก็บสินค้า ใช้เวลาดับเพลิงนานประมาณ 30 นาที จึงสามารถควบคุมเพลิงไว้ได้ โดยมีพนักงานของบริษัทฯ ช่วยกันขนย้ายตุ๊กตาออกจากบริเวณที่เกิดเหตุ เพราะเกรงว่าอาจถูกสะเก็ดไฟ ทำให้ลุกลามต่อไปอีกนอกจากนี้ยังพบว่ามีพนักงานสำลักควันไฟ จึงได้ปฐมพยาบาลเบื้องต้น ก่อนที่จะนำส่งโรงพยาบาลเพื่อรักษาตัวต่อไป

จากการสอบถามนายไกรสร บุญธรรม อายุ 36 ปี เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของบริษัทฯกล่าวว่า เพลิงลุกไหม้บริเวณเพดานคลังเก็บสินค้า หลังจากนั้นพนักงานได้วิ่งหนีออกมาจำนวนมาก จึงได้ใช้ถังดับเพลิงช่วยกันดับเพลิงเบื้องต้น ก่อนที่รถดับเพลิงจะมาดับเพลิงได้ทันท่วงทีก่อนที่จะลุกลามไปยังส่วนอื่นๆของโรงงานส่วนสาเหตุการเกิดเพลิงไหม้ในครั้งนี้ตำรวจจะได้ตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง

ที่มา: เนชั่นทีวี, 19/7/2561

ผู้ประกันตนเจ็บป่วยโรคมะเร็ง มีสิทธิได้รับการรักษากรณีปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต หรือการปลูกถ่ายไขกระดูก

นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงสิทธิผู้ประกันตนที่เจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็ง ต้องได้รับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต หรือการปลูกถ่ายไขกระดูก ว่า สำนักงานประกันสังคมได้ให้ความคุ้มครองกรณีผู้ประกันตนเจ็บป่วยเป็นโรคมะเร็งและโรคอื่นๆ โดยผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับการรักษาและทานยาตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา การรักษามะเร็งแต่ละชนิดมีแนวทางการรักษาแตกต่างกัน สำหรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของผู้ประกันตนที่เจ็บป่วยเป็นโรคมะเร็ง และมีสิทธิได้รับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดนั้น ผู้ประกันตนจะต้องเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวมัยอีลอยด์ชนิดเรื้อรัง/มะเร็งเม็ดเลือดขาว มัลอีลอยด์ชนิดเฉียบพลัน/มะเร็งเม็ดเลือดขาวลิมโฟบลาสชนิดเฉียบพลัน/มะเร็งต่อมน้ำเหลือง/ไขกระดูกฝ่อชนิดรุนแรง/ ไขกระดูกผิดปกติ ระยะก่อนเป็นมะเร็ง/ มะเร็งไขกระดูกชนิดมัยอีโลม่า และไขกระดูกผิดปกติชนิดเป็นพังผืด ซึ่งในการขอรับสิทธิผู้ประกันตนสามารถยื่นเรื่องได้ที่ สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง สำนักงานประกันสังคมจังหวัด/สาขา/ที่ท่านสะดวก ในกรณีได้รับการอนุมัติแล้ว สำนักงานประกันสังคมจะส่งผู้ประกันตนปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโลหิตวิทยา ของสำนักงานประกันสังคมเพื่อพิจารณาการรักษากรณีปลูกถ่ายไขกระดูก หากระยะของโรคเป็นไป ตามหลักเกณฑ์การอนุมัติสิทธิ ปลูกถ่ายไขกระดูกของสำนักงานประกันสังคม โดยผู้ประกันตนไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น โดยเมื่อปี 2560 มีผู้ประกันตนที่ได้รับการอนุมัติสิทธิกรณีการปลูกถ่ายไขกระดูกแล้วจำนวน 131 ราย ล่าสุดเดือนมกราคม – มิถุนายน 2561 มีผู้ประกันตนได้รับการอนุมัติสิทธิเพิ่มอีก 74 ราย สำนักงานประกันสังคม ได้จัดสถานพยาบาลในบันทึกข้อตกลงเพื่อทำการรักษาผู้ประกันตนปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต หรือการปลูกถ่ายไขกระดูก จำนวน 10 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ขอนแก่น โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ และโรงพยาบาลหาดใหญ่ ทั้งนี้ โรงพยาบาลที่ให้การรักษาปลูกถ่ายไขกระดูกจะได้รับค่าบริการทางการแพทย์จากสำนักงานประกันสังคมโดยตรง ถ้าเป็นเนื้อเยื่อของตนเองจ่ายให้ในอัตรา 750,000 บาทต่อรายแต่ถ้าเป็นเนื้อเยื่อของคนอื่นจ่ายให้ในอัตรา 1,300,000 บาทต่อราย

นายสุรเดช กล่าวในตอนท้ายว่า สำนักงานประกันสังคม ยังคงมุ่งมั่นในการสร้างหลักประกันความมั่นคงในชีวิต และเดินหน้าพัฒนาสิทธิประโยชน์ รวมถึงการพัฒนาการให้บริการแก่ผู้ประกันตนอย่าง ไม่หยุดนิ่ง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้ประกันตนให้ได้รับประโยชน์สูงสุดต่อไป สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง สำนักงานประกันสังคมจังหวัด/สาขา/ที่ท่านสะดวก หรือโทร.1506 ตลอด 24 ชั่วโมง

ที่มา: โลกวันนี้, 18/7/2561

เตือนครูเบี้ยวหนี้ ช.พ.ค. เจอ 3 เด้ง 'ล้มละลาย-ขาดคุณสมบัติ ขรก.-ให้ออก'

นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม และโฆษกกระทรวงยุติธรรม ระบุถึงกรณีกลุ่มวิชาชีพครู รวมตัวกว่า 100 คน ประกาศปฏิญญามหาสารคาม เรียกร้องให้รัฐบาลและธนาคารออมสิน พักหนี้ โครงการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือ ช.พ.ค. ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม เป็นต้นไป พร้อมชักชวนลูกหนี้ ช.พ.ค. ทั่วประเทศ 450,000 คน ร่วมกันยุติการชำระหนี้กับธนาคารออมสิน ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.นี้ ว่า จงรับสภาพการเป็นบุคคลล้มละลายหากกรณีเป็นบุคคลธรรมดาที่มีหนี้สินเกิน 1 ล้านบาท และที่สำคัญมันจะโยงพาบุคคลที่มาค้ำประกันเราเป็นบุคคลล้มละลายไปด้วย เนื่องจากหนี้เกิดโดยนิติกรรมสัญญา เมื่อมีการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้น ก็ย่อมเกิดความเป็นเจ้าหนี้ ลูกหนี้ขึ้น โดยปกติเมื่อเกิดหนี้ ลูกหนี้จะหลุดพ้นจากเคราะห์แห่งหนี้ได้ด้วยการชำระหนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์ มาตรา 5 ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี ในการชำระหนี้ก็ดี บุคคลทุกคนต้อง กระทำโดยสุจริต

"การที่เรามีหนี้สินมากและไม่สามารถชำระคืนกับเจ้าหนี้ได้ จึงถูกเจ้าหนี้ฟ้องล้มละลาย ผลที่ตามมาคือ กรณีของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาหากถูกพิพากษาให้ล้มละลาย จะขาดคุณสมบัติในการเป็นข้าราชการตามมาตรา 30 ของ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 และเมื่อคุณสมบัติไม่ถูกต้องแล้ว มาตรา 110 ก็กำหนดให้ผู้มีอำนาจสั่งให้ผู้นั้น ออกจากราชการ ไม่สามารถทำนิติกรรมสัญญา ใดๆ ทั้งสิ้นได้ รวมถึงธุรกรรมการเงินต่างๆ ไม่สามารถเดินทางไปต่างประเทศได้ หากมีความจำเป็นต้องเดินทางไปจริงๆ ก็ต้องขออนุญาตจากพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กรมบังคับคดีก่อน หากได้รับอนุญาตให้ออกนอกประเทศจะต้องทำบัญชีรายรับรายจ่าย ส่งต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า ทุกๆ 6 เดือน พร้อมทั้งส่งรายได้ตามที่เจ้าพนักงานจะอายัดเข้ากองทรัพย์สินด้วย" รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ระบุ

นายธวัชชัย กล่าวด้วยว่าการถูกสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลายจะมีระยะเวลา 3 ปี เมื่อครบกำหนดก็จะถูกปลดจากการเป็นบุคคลล้มละลาย ยกเว้นกรณีที่ไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหนี้ ก็อาจจะมีการขยายเวลาเป็น 5 หรือ 10 ปีก็ได้โดยเมื่อครบกำหนดระยะเวลา 3 ปี ก็ให้บุคคลล้มละลายติดต่อกับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์สินเพื่อขอปลดจากการเป็นบุคคลล้มละลาย เมื่อได้ปลดจากการเป็นบุคคลล้มลายแล้ว ก็จะสามารถทำงานและทำธุรกรรมต่างๆ ได้ตามปกติ

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 17/7/2561

ประกันสังคมเร่งเช็กบิล “นายจ้างไม่ส่งเงินสมทบ" เผยปี 2560 อายัดทรัพย์ไปแล้ว 413 ราย

นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวถึงการดำเนินงานติดตามกรณีนายจ้างติดค้างชำระเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ว่า ส่วนใหญ่เหตุเกิดจากนายจ้างหักเงินสมทบในส่วนของ ลูกจ้าง ผู้ประกันตน แต่ไม่ยอมนำส่งสำนักงานประกันสังคม เมื่อลูกจ้าง ผู้ประกันตน ไปขอรับประโยชน์ทดแทนจากสำนักงานประกันสังคม กลับไม่สามารถใช้สิทธิประโยชน์ที่พึงมีพึงได้ อย่างไรก็ตาม สำนักงานประกันสังคม ได้มีแนวทางมาตรการดำเนินการกับนายจ้างที่ติดค้างชำระหนี้ ตามขั้นตอน คือ แจ้งเตือนและเชิญพบกรณีนายจ้างมาพบจะได้รับหนังสือรับสภาพหนี้โดยมีหลักทรัพย์หรือบุคคลค้ำประกัน หากผิดนัดไม่ชำระจะดำเนินการกับบุคคลหรือหลักทรัพย์ทันที

นพ.สุรเดช กล่าวว่า หากในกรณีนายจ้างไม่มาพบตามหนังสือเชิญ สำนักงานประกันสังคมจะดำเนินคดีฐานขัดคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้ จะจัดส่งรายชื่อนายจ้างชำระหนี้และประวัติไม่ดีให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อเฝ้าระวังและแลกเปลี่ยนข้อมูลด้วยกัน ในกรณีที่นายจ้างต้องการความช่วยเหลือทางด้านที่ปรึกษาทางการเงินและการลงทุน ทางสำนักงานประกันสังคมจะจัดส่งคณะทำงานเข้าช่วยเหลือ สำหรับนายจ้างที่มีเจตนาไม่ชำระเงิน หรือไม่ใส่ใจในข้อกฎหมายใดๆ เลยจะใช้มาตรการดำเนินการยึด อายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สิน และหากมีมูลหนี้สูงจะทำการฟ้องล้มละลาย สำหรับนายจ้างที่ปิดกิจการไปแล้ว สำนักงานประกันสังคมก็มีมาตรการเร่งติดตามนายจ้างเพื่อจะดำเนินการเช่นเดียวกับสถานประกอบการสถานะยังดำเนินกิจการอยู่เช่นกัน

นพ.สุรเดช กล่าวว่า ในปี 2560 (ตั้งแต่เดือนมกราคม-ธันวาคม) สำนักงานประกันสังคมได้ดำเนินการยึดอายัดทรัพย์สินของสถานประกอบการที่ค้างชำระกองทุนประกันสังคม และกองทุนเงินทดแทน โดยอายัดทรัพย์สินจำนวน 413 ราย ถอนยึดอายัดทรัพย์ 113 ราย ยื่นคำขอรับชำระหนี้ 125 ราย แบ่งเป็น กรณีพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด 122 ราย กรณีฟื้นฟูกิจการ 3 ราย มีจำนวนหนี้ที่สำนักงานประกันสังคมติดตามมาได้ทั้ง 2 กองทุน คือ กองทุนประกันสังคม และกองทุนเงินทดแทน รวมเป็นจำนวนเงิน 45,316,280.04 ล้านบาท จึงขอฝากนายจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคม อย่าปิดบังซ่อนเร้น ไม่ยอมจ่ายเงินสมทบให้ลูกจ้าง หากสำนักงานประกันสังคมตรวจพบ นายจ้างจะต้องจ่ายทั้งเงินสมทบพร้อมเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือนของเงินสมทบที่ยังไม่นำส่ง หรือส่วนที่ขาดอยู่จนครบ และถูกดำเนินคดีทางกฎหมายยังส่งผลกระทบต่อ ลูกจ้าง ผู้ประกันตน เพราะอาจขอรับสิทธิประโยชน์ตามเงื่อนไขในการเกิดสิทธิประโยชน์ ในแต่ละกรณีล่าช้า อย่างไรก็ตาม ขอความร่วมมือไปยัง ลูกจ้าง/ผู้ประกันตน หรือผู้ที่พบเห็นการกระทำดังกล่าว แจ้งข้อมูลเบาะแส ได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง/จังหวัด/สาขา/ที่ท่านสะดวก

ที่มา: MGR Online, 16/7/2561

ชง ครม.ต่ออายุแรงงานกว่าแสนคนแก้ปัญหาขาดแคลน ประสานประเทศต้นทางนำเข้าแรงงานอีก 4 หมื่นคน

ที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5 โดยมี พล.อ.ประวิตรวงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมเรื่องของการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุมขณะนี้มีความคืบหน้าไปมาก

เรากำลังแก้กฎหมายให้คุ้มครอง ดูแลการประกอบกิจการประมง ให้สอดรับกับกฎหมายระหว่างประเทศ ที่ไทยได้ลงนามในพันธะสัญญาไว้เช่น ประเทศที่เราจะเริ่มดำเนินการ ในขณะนี้ก็คือเรื่องของเรือประมงหรือเรือขนถ่ายสัตว์น้ำตั้งแต่ 30 ตันกรอสขึ้นไป ต่อไปนี้ต้องมีการติด VMS หรือเครื่องหาพิกัด และแจ้งการเข้าออก ในศูนย์ปีโป้หรือศูนย์แจ้งการเข้าออกของเรือประมงจากท่าเรืออย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้มีการปรับหลักเกณฑ์วิธีการกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรือประมง เช่น เรื่องของการเปลี่ยนแปลงประเภทเรือซึ่งต้องแจ้งการขอดัดแปลงเรือหรือการขอโอนกรรมสิทธิ์หรือการแยกชิ้นส่วนหรือทำลายเรือก็ต้องแจ้งให้กับเจ้าหน้าที่รับทราบ ในเรื่องของการบริหารจัดการเรือทั้งหมด ขณะนี้ ณ วันที่ 21 มิถุนายน 2561 มีเรือจดทะเบียนทั้งหมดเป็นเรือประมงทั้งหมด 17,221 ลำ

โดยจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลของเรือทั้งหมด จากกรมเจ้าท่าและศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังและจะติดตามเรื่องการควบคุมการเฝ้าระวังการเข้าออกการติดตามเรือตำแหน่งเรือตรวจการใช้แรงงานที่ถูกต้อง แรงงานจะต้องไม่ถูกกดขี่ และมีการประเมินความเสี่ยงด้วยโดยเฉพาะเรือที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง มีการบังคับใช้กฎหมายโดยจะเร่งใช้บังคับกฎหมาย ขณะนี้ได้เร่งผลคดีอาญาผู้กระทำผิดแล้วคดีถึงที่สุดแล้ว 4,000 กว่าคดีคิดเป็น 90 เปอร์เซ็นต์แล้ว ก็จะเร่งรัดมาตรการทางการปกครองควบคู่กันไป ซึ่งเราหวังว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่

พล.ท.คงชีพ กล่าวว่า พล.อ.ประวิตรได้ย้ำให้เจ้าหน้าที่ทุกส่วนราชการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกรมประมงและกรมเจ้าท่าต้องขับเคลื่อนการทำงานอย่างหนักในการแก้ปัญหาวิกฤตของประเทศในเรื่องของการประมงให้ได้ โดยสหภาพยุโรป (อียู)จะเข้ามาตรวจสอบอีกครั้งในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ คาดว่าสิ่งที่ไทยกำลังพยายามทำอยู่ในขณะนี้และร่วมมือกันขณะนี้จะช่วยยกระดับการประมงของไทยให้ถูกต้องได้มาตรฐานสากลและช่วยรักษาทรัพยากรทางทะเลให้มีความยั่งยืนรวมทั้งสร้างความเชื่อมั่น

ในผลผลิตการประมงและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในทางเศรษฐกิจในเรื่องของผลกระทบอุตสาหกรรมการประมง ทั้งระบบ เรื่องที่3 ความคืบหน้าในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์หลังจากที่เราปรับpenta 2 Watch List มาเป็นเมีย 2 แล้วเราก็ไม่หยุดเรายังคงแก้ปัญหาในเรื่องของการค้ามนุษย์ต่อไปและเรื่องของการแรงงานผิดกฎหมาย

ส่วนการขาดแคลนแรงงานประมง ประมาณ 40,000 กว่าคน ขณะนี้กำลังเสนอครม.ในการแก้ไขปัญหาระยะสั้นเห็นชอบต่ออายุทำงานให้กับคนต่างด้าว ตามมาตรา 83 แห่ง พระราชกำหนดประมง กับผู้ที่ผ่านสัญชาติแล้ว ประมาณ 1.1 แสน ในวันที่ 1 มิ.ย.2562 ส่วนในระยะยาวอยู่ในระหว่างแร่งรัดพิจารณาประเทศต้นทาง เพื่อนำเข้าแรงงานต่างด้าวอีก 4 หมื่นกว่าคน ที่ยังขาดแคลน อย่างไรก็ตาม ผลการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว ที่ศูนย์ วันสตอป เซอร์วิช และการพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าวแล้ว จำนวน 1,187,803 คน

"คาดว่าผลที่เราได้ดำเนินการจะสามารถควบคุมแรงงานต่างด้าวนอกระบบได้ พร้อมดูแลสวัสดิการให้เป็นสากล ไม่ถูกเอาเปรียบและผลักดันแรงงานที่ไม่ถูกต้องกลับประเทศต้นทาง ถือเป็นการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมที่เกิดในประเทศด้วย" พล.ท.คงชีพ ระบุ

ที่มา: คมชัดลึก, 16/7/2561

เล็งเพิ่มประสิทธิภาพกองทุนผู้ใช้แรงงาน

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า กองทุนเพื่อผู้ใช้แรงงานเป็นกองทุนภายใต้การกำกับดูแลของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน มีภารกิจในการให้บริการเงินกู้แก่ผู้ใช้แรงงานโดยผ่านสหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบกิจการและรัฐวิสาหกิจ เพื่อนำไปให้ลูกจ้าง พนักงานกู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยต่ำเมื่อมีความจำเป็น หรือเดือดร้อนทางการเงิน เพื่อให้การดำเนินงานของกองทุนเพื่อผู้ใช้แรงงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น กสร. ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อทบทวนแผนยุทธศาสตร์ และแผนพัฒนาประสิทธิภาพกองทุนเพื่อผู้ใช้แรงงาน เมื่อวันที่ 13-14 ก.ค. 2561 ที่ผ่านมา โดยเชิญคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อผู้ใช้แรงงาน คณะอนุกรรมการที่แต่งตั้งโดยคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อผู้ใช้แรงงาน สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดที่มีสหกรณ์ออมทรัพย์ผู้ใช้บริการเงินกู้กองทุนฯ ผู้แทนสหกรณ์ออมทรัพย์/สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนผู้ใช้บริการเงินกู้กองทุนฯ และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง มาร่วมกันพิจารณาทบทวน วิเคราะห์ผลการดำเนินงานและความต้องการผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และกำหนดเชิงยุทธศาสตร์การดำเนินงาน ทั้งนี้เพื่อให้ผู้รับบริการสามารถได้รับประโยชน์จากการให้บริการของกองทุนฯได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

อธิบดีกสร. กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบกิจการ เป็นสวัสดิการนอกเหนือกฎหมาย ช่วยส่งเสริมวินัยการออม และช่วยแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจของลูกจ้างกรณีมีความจำเป็นโดยไม่ต้องพึ่งพาแหล่งเงินกู้นอกระบบ จึงขอเชิญชวนสถานประกอบกิจการและรัฐวิสาหกิจที่สนใจจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบการ และหากมีทุนหมุนเวียนไม่เพียงพอในการดำเนินงานก็สามารถใช้บริการเงินกู้จากกองทุนเพื่อผู้ใช้แรงงานได้ ซึ่งขณะนี้มีวงเงินจำนวน 390 ล้านบาท ให้บริการแก่สหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบกิจการและรัฐวิสาหกิจกู้ยืมเพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในอัตราดอกเบี้ยต่ำ สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มได้ที่กองสวัสดิการแรงงาน โทรศัพท์ 0 2245 6774 หรือ 0 2246 0383 หรือที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทั่วประเทศ

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.