ที่มา: aoc.gov

Posted: 21 Jul 2018 01:54 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sun, 2018-07-22 03:54

ในช่วงวันชาติสหรัฐฯ สื่อท้องถิ่นเล็กๆ ในเท็กซัสอย่าง 'ลิเบอร์ตี คันทรี วินดิเคเตอร์' โพสต์ส่วนหนึ่งของคำประกาศอิสรภาพสหรัฐอเมริกา (declaration of the independence) ลงในหน้าเฟสบุ๊ค เปิดให้ผู้อ่านแสดงความคิดเห็น ทว่าระบบของเฟสบุ๊คกลับตีความว่าคำประกาศอิสรภาพเป็นเฮทสปีช ซึ่งเป็นไปได้ว่าเพราะระบบอัตโนมัติตีความแบบไม่ได้ดูบริบทว่าเนื้อหาอยู่ในยุคสมัยใด หรือจัดเป็นการนำเสนอด้วยจุดประสงค์ใด หรือไม่เช่นนั้นเฟสบุ๊คก็อาจจะกังวลว่าสื่อดังกล่าวพยายามทำให้ด้านแย่ๆ ของประวัติศาสตร์กลายเป็นเรื่องดูดี

เดอร์การ์เดียนระบุว่า ระบบอัลกอริทึมอัตโนมัติของเฟสบุ๊คเกิดข้อผิดพลาดด้วยการกล่าวหาว่าเนื้อหาบางส่วนของ 'คำประกาศอิสรภาพสหรัฐอเมริกา' (declaration of the independence) เป็นเฮทสปีชและนำเนื้อหานั้นออกจากเพจ

เพจที่นำเสนอเนื้อหาดังกล่าวคือสื่อท้องถิ่นเท็กซัส 'ลิเบอร์ตี คันทรี วินดิเคเตอร์' ที่โพสต์ส่วนหนึ่งของคำประกาศอิสรภาพของสหรัฐฯ เพื่อต้องการท้าทายให้ผู้อ่านศึกษาบันทึกประวัติศาสตร์และอภิปรายถกเถียงกันในเรื่องนี้ โดยที่ทางวินดิเคเตอร์ยอมรับว่าข้อความในส่วนดังกล่าวชวนให้รู้สึกว่าเป็นข้อความยุยงให้เกิดความเกลียดชังต่อเชื้อชาติสีผิวจริง แต่เป็นในบริบทที่ผู้พูดคือโทมัส เจฟเฟอร์สัน ผู้เขียนคำประกาศอิสรภาพยังคงมีความคิดแบบไม่เป็นมิตรกับชนพื้นเมืองอเมริกัน

การแจ้งเตือนของเฟสบุ๊คระบุว่าหนึ่งในวลีที่เป็นปัญหา "ล่วงละเมิดมาตรฐานชุมชน" โซเชียลเน็ตเวิร์กของพวกเขา ตัววลีที่เป็นปัญหาที่ว่าคือ "พวกอินเดียแดงป่าเถื่อน" นำมาจากข้อเขียนส่วนหนึ่งของคำประกาศฯ ส่วนย่อหน้าที่ 27-31 ของคำประกาศฯ ซึ่งเนื้อหาส่วนนี้มักจะถูกนำมาวิพากษ์วิจารณ์อยู่แล้วว่าแสดงให้เห็นถึงทัศนคติแบบลดทอนความเป็นมนุษย์ของชนพื้นเมืองอเมริกัน เดอะการ์เดียนระบุว่าการที่เฟสบุ๊คนำส่วนนี้ออกเนื่องจากอาจจะกังวลว่าสื่อท้องถิ่นจากเท็กซัสพยายามทำให้ด้านแย่ๆ ของประวัติศาสตร์กลายเป็นสิ่งที่ดูดี

อย่างไรก็ตาม ต่อมาทางเฟสบุ๊คได้ขอโทษ 'ลิเบอร์ตี คันทรี วินดิเคเตอร์' โดยระบุว่ามีปัญหามาจากระบบการเซนเซอร์โดยอาศัยอัลกอริทึม ทำให้เป็นการเผลอไปเซนเซอร์วัตถุทางประวัติศาสตร์ไปด้วย ขณะที่สื่อวินดิเคเตอร์แถลงขอบคุณเฟสบุ๊คที่คืนโพสต์ให้ในเนื้อหาข่าวของตัวเอง

แต่การตีความเพื่อเซนเซอร์เช่นนี้ไม่ได้สร้างปัญหาแค่ในเฟสบุ๊คเท่านั้น ก่อนหน้านี้เมื่อต้นปีที่ผ่านมาก็เคยมีกรณีที่ผู้นำเสนอประวัติศาสตร์ของ LGBT ถูกเซ็นเซอร์จากอินสตาแกรม สิ่งที่ถูกเซนเซอร์คือบทกวีของนักกิจกรรม LGBT โซอี เลโอนาร์ด ชื่อบทกวีว่า "ฉันต้องการประธานาธิบดี" บทกวีดังกล่าวมีบทเริ่มต้นว่า "ฉันอยากได้ไดค์คนหนึ่งเป็นประธานาธิบดี" (ไดค์คือเลสเบียนที่แสดงออกเอียงไปในทางความเป็นชาย คำๆ นี้เคยเป็นคำในเชิงใช้เหยียดกลุ่มคนที่แสดงออกเช่นนี้มาก่อน แต่ในเวลาต่อมาก็ถูกเปลี่ยนความหมายของคำโดยชาวเลสเบียนเองให้กลายเป็นคำกลางๆ ไม่ใช่คำลบอีกต่อไป)

ซึ่งบทกวีนี้จงใจเขียนถึงไดค์ผู้หนึ่งชื่อเอลลีน ไมลส์ ที่ลงแข่งขันในการเลือกตั้งปี 2535 บทกวีฉบับนี้เคยได้รับการเผยแพร่ขนาดใหญ่ 20x30 ฟุตในที่สาธารณะของนิวยอร์กมาก่อน แต่กลับถูกอินสตาแกรมนำออกโดยอ้างว่าละเมิดมาตรฐานชุมชน ทว่าหลังจากกนั้นหลายวันทางอินสตาแกรมก็ขอโทษสำหรับความผิดพลาดแล้วก็นำโพสต์กลับคืนดังเดิม

อีกกรณีของเฟสบุ๊คที่เคยเป็นข่าวดังคือเมื่อปี 2559 พวกเขานำภาพสงครามเวียดนามที่มีเด็กวิ่งเปลือยเปล่าหนีระเบิดนาปาล์มออกพร้อมทั้งระงับบัญชีผู้ใช้ของชาวนอร์เวย์ที่โพสต์ภาพนี้คือ ทอม เอคลันด์ โดยอ้างว่าเป็นเพราะเขานำเสนอภาพที่ "เผยให้เห็นอวัยวะเพศ บั้นท้ายเปลือย หรือหน้าอกผู้หญิงเปลือย"

เรื่องความผิดพลาดในการเซ็นเซอร์นี้อาจจะดูเหมือนเล็กน้อย แต่มันก็เป็นปัญหาในยุคที่มีผู้ใช้โซเชียลมีเดียจำนวนมากวนเวียนอยู่ไม่กี่เว็บว่าพวกเขาจะสามารถนำเสนอผลงานที่ดูท้าทายหรือสะท้อนประวัติศาสตร์

เรียบเรียงจาก
Facebook labels declaration of independence as 'hate speech', The Guardian, 05-07-2018
Facebook’s program thinks Declaration of Independence is hate speech, The Vindicator, 05-07-2018

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.