ที่มา: สำนักข่าวสารประเทศลาว
Posted: 24 Jul 2018 06:12 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Tue, 2018-07-24 20:12
กรณีเขื่อนแตกที่แขวงอัตตะปือ ประเทศลาว โดยเป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าป้อนไทยซึ่งร่วมทุนโดยเกาหลีใต้-ไทย-รัฐวิสาหกิจลาวนั้น องค์กรแม่น้ำนานาชาติชี้ว่ามีบทเรียนที่สำคัญก็คือ "ยังมีความเสี่ยงที่สำคัญจากการออกแบบเขื่อน ซึ่งไม่สามารถรับมือกับสภาพอากาศที่เลวร้ายและอุบัติภัยได้" รวมทั้งข้อบกพร่องของระบบเตือนภัยที่ดูเหมือนจะล่าช้ามากและไม่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ประชาชนไม่ได้รับการแจ้งเตือนล่วงหน้ามากเพียงพอเพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อตนเองและครอบครัว
กรณีสันเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า "เซเปียน-เซน้ำน้อย" แตกคืนวันที่ 23 ก.ค. ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมที่เมืองสะหนามไซ แขวงอัตตะปือ ทางตอนใต้ของลาว โดยเขื่อนที่กำลังอยู่ระหว่างก่อสร้างดังกล่าวผู้ลงทุนคือ บริษัทไฟฟ้า เซเปียน-เซน้ำน้อย จำกัด (PNPC)
สำหรับบริษัท PNPC เป็นการร่วมทุนของบริษัทข้ามชาติ 4 แห่ง ประกอบด้วย บริษัท SK Engineering and Construction จำกัด ถือหุ้น 26% บริษัท Korea Western Power จำกัด ถือหุ้น 25% บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 25% และ Lao Holding State Enterprise ถือหุ้น 24% หากก่อสร้างเสร็จจะมีกำลังผลิต 410 เมกะวัตต์ โดยตามสัญญาจะขายไฟฟ้าให้ กฟผ. 370 เมกะวัตต์ เป็นเวลา 27 ปีขณะที่ราชบุรีโฮลดิ้งชี้แจงว่า 1 ใน 5 สันเขื่อนกั้นช่องเขา คือสันเขื่อนส่วน D แตกร้าว โดยอยู่ระหว่างประเมินความเสียหาย แต่เชื่อว่าจะไม่ส่งกระทบต่อการจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ในปีหน้านั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
ขณะเดียวกัน องค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) ในวันนี้ (24 ก.ค.) ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมกรณีเขื่อนแตกที่แขวงอัตตะปือ โดยตอนหนึ่งระบุว่า "เขื่อนแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเขื่อนขั้นบันไดเซเปียน-เซน้ำน้อย ซึ่งมีด้วยกันทั้งหมดห้าเขื่อน เป็นเขื่อนลักษณะที่เรียกว่า เขื่อนดินปิดช่องเขาต่ำ (saddle dam) หมายถึงเป็นเขื่อนเสริมพิเศษที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรวบรวมน้ำในอ่างเก็บน้ำที่เกิดจากเขื่อนหลัก เพื่อให้สามารถยกระดับน้ำให้สูงขึ้นและเก็บน้ำได้ โครงการนี้ตั้งอยู่บนลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง จุดที่แม่น้ำเซเปียนบรรจบกับแม่น้ำโขง ที่ปากเซ"
"จากข้อมูลที่มีอยู่ บริเวณเขื่อนดินปิดช่องเขาต่ำ D ของโครงการเซเปียน-เซน้ำน้อยได้แตกออกประมาณสองทุ่มเมื่อคืนที่ผ่านมา"
องค์กรแม่น้ำนานาชาติ ให้ข้อมูลด้วยว่า "เมื่อวานนี้ (23 กรกฎาคม) หัวหน้าโครงการจัดสรรที่อยู่ใหม่ให้ประชาชนของโครงการ ส่งจดหมายไปถึงหัวหน้าแผนกจัดสรรที่อยู่ใหม่ของโครงการที่แขวงจำปาสักและแขวงอัตตะปือ โดยระบุว่าสภาพการณ์อันตรายอย่างมาก เนื่องจากมีน้ำหลากจากแนวสันเขื่อน และเขื่อนดินปิดช่องเขาต่ำ D ใกล้จะแตกออก จดหมายระบุว่า หากเขื่อนแตก น้ำปริมาณ 5,000 ล้าน ลบ.ม. จะไหลไปด้านท้ายน้ำเข้าสู่แม่น้ำเซเปียน ในจดหมายระบุให้มีการเร่งเตือนฉุกเฉินแจ้งให้หมู่บ้านด้านท้ายน้ำอพยพและย้ายไปอยู่ในที่สูง ในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหลังมีการออกจดหมาย (ในค่ำของวันจันทร์) เขื่อนได้แตกออก ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมทะลักในปริมาณมหาศาลไปด้านท้ายน้ำ การแตกของเขื่อนเป็นผลมาจากฝนที่ตกหนักตามฤดูอย่างต่อเนื่อง และฝนที่ตกหนักโดยเฉพาะในพื้นที่นี้เมื่อวันจันทร์ ส่งผลให้กว่า 4,000 ครอบครัว (บางตัวเลขระบุว่ากว่า 6,600 ครอบครัว) ต้องสูญเสียบ้านเรือนและทรัพย์สินเนื่องจากถูกน้ำท่วม และมีผู้สูญหายกว่า 200 คน มีหมู่บ้านที่ถูกน้ำท่วมอย่างน้อยเจ็ดแห่งประกอบด้วย บ้านท่าบก หินลาด สมอใต้ ท่าแสงจัน ท่าหินใต้ ท่าบก ท่าม่วง เขต สนามชัย แขวงอัตตะปือ
"ชาวบ้านจำนวนมากเหล่านี้ได้ถูกอพยพมาที่อยู่ใหม่ก่อนหน้านี้ หรือที่ผ่านมาได้รับผลกระทบด้านการทำมาหากินเนื่องจากการก่อสร้างเขื่อน มาในคราวนี้ยังต้องได้รับผลกระทบอย่างใหญ่หลวง ต้องสูญเสียบ้านเรือน ทรัพย์สิน และสมาชิกในครอบครัวไป"
ลาวเขื่อนแตกอพยพใหญ่-พบมีสัญญาป้อนไฟฟ้าไทย 27 ปีหลังสร้างเสร็จ
องค์กรแม่น้ำนานาชาติ ชี้ว่าการแตกของเขื่อนเผยให้เห็นบทเรียนที่ชัดเจนหลายประการ ได้แก่ "มีความเสี่ยงที่สำคัญจากการออกแบบเขื่อน ซึ่งไม่สามารถรับมือกับสภาพอากาศที่เลวร้ายและอุบัติภัยได้ อย่างกรณีที่เกิดฝนตกหนักมากๆ ปัจจุบันความผันผวนด้านสภาพอากาศที่ยากต่อการพยากรณ์และรุนแรง เกิดขึ้นบ่อยครั้งมากในลาวและในภูมิภาคนี้ อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศ"
"ทั้งยังแสดงให้เห็นข้อบกพร่องของระบบเตือนภัยสำหรับการสร้างและการเดินเครื่องเขื่อน เนื่องจากมีการเตือนภัยที่ดูเหมือนจะล่าช้ามากและไม่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ประชาชนไม่ได้รับการแจ้งเตือนล่วงหน้ามากเพียงพอเพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อตนเองและครอบครัว"
"ทั้งสองประเด็นต่างทำให้เกิดคำถามสำคัญเกี่ยวกับมาตรฐานของเขื่อนและความปลอดภัยของเขื่อนในประเทศลาว รวมทั้งความเหมาะสมของโครงการเหล่านี้ในการรับมือกับสภาพภูมิอากาศและความเสี่ยงที่เกิดขึ้น ทั้งยังมีคำถามเกี่ยวกับบทบาทและความรับผิดชอบ การตรวจสอบได้และความสามารถในการบริหารจัดการและรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน ในโครงการที่เป็นของและดำเนินการโดยเอกชนร่วมกับหน่วยงานของรัฐบาล เนื่องจากในปัจจุบันมีการก่อสร้างหรือมีแผนที่จะก่อสร้างโครงการพลังงานไฟฟ้ากว่า 70 แห่งตลอดทั่วสปป.ลาว โดยส่วนใหญ่เป็นโครงการของและดำเนินการโดยบริษัทเอกชน (ในรูปแบบสัญญา BOT) เหตุการณ์ครั้งนี้จึงทำให้เกิดคำถามสำคัญเกี่ยวกับการวางแผนและการบริหารจัดการเขื่อน ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบโดยทันที" องค์กรแม่น้ำนานาชาติระบุ
แสดงความคิดเห็น