Posted: 29 Jul 2018 09:08 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sun, 2018-07-29 23:08


สุชัจจ์ โสสุทธิ์

อำนาจ เป็นคำสั้นๆ ที่เต็มไปด้วยความหมายในตัวเองอันยิ่งใหญ่ ความหมายที่ไม่ว่าใครก็ตามต่างถวิลหาที่จะได้มันมาไว้ในครอบครอง เพื่อที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการอวดอ้างกรรมสิทธิ์ต่างๆ เหนือคนที่อยู่ภายใต้อำนาจตนเอง ซึ่งบางครั้งการที่จะได้มันมาก็ต้องแลกมาด้วยราคาที่ต้องจ่าย บ้างก็จ่ายเป็นเงิน บ้างก็จ่ายเป็นมิตรภาพ หรือบางครั้งก็ต้องจ่ายด้วยอุดมการณ์ของตนเอง แล้วทีนี้มันหอมหวานยังไงล่ะ ในฐานะนักศึกษารัฐศาสตร์คนหนึ่ง เราจะลองมาวิเคราะห์สิ่งเหล่านี้ผ่านองค์ความรู้ทางด้านรัฐศาสตร์ในเนื้อหาส่วนที่ได้ร่ำเรียนไปเมื่อภาคเรียนที่ 1 ที่ผ่านมา (ขณะนี้ผู้เขียนกำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 1 ภาคเรียนที่ 2 คณะรัฐศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

ตามทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเบื้องตนที่ว่าด้วยเรื่องของอำนาจนั้นสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ Authority และ Power ซึ่งที่มาของอำนาจทั้ง 2 ชนิดนี้ล้วนต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดย Authority นั้นจะเป็นอำนาจที่มีความชอบธรรมทั้งในเรื่องที่มาของอำนาจและขอบเขตการใช้อำนาจ ซึ่งแตกต่างจาก Power อย่างสิ้นเชิงที่อำนาจจะมาด้วยวิธีการอย่างไรก็ได้โดยไม่สนใจบริบทรอบด้านที่ไม่เอื้อ แต่ก็ยังดื้อดึงที่จะถวิลหาอำนาจ

แต่ไม่ว่าที่มาของอำนาจจะเป็นอย่างไร ธรรมชาติของมนุษย์ก็ถูกกำหนดให้มีความต้องการอย่างไม่มีที่สิ้นสุดภายใต้บริบทต่างๆ ที่จำกัดตามหลักเศรษฐศาสตร์เบื้องต้น ผู้คนต่างๆ จึงแสวงหาลู่ทางที่จะนำพาอำนาจเข้าสู่ตนเองให้เป็นที่ “เฉิดฉาย” ในกลุ่มสังคมที่ตนเองนั้นสังกัดอยู่ ทั้งในแบบ Authority หรือในแบบ Power เริ่มเห็นความหอมหวานของมันแล้วใช่มั้ยล่ะ

ความหอมหวานที่เห็นได้ชัดที่สุดและดูเป็นรูปธรรมที่สุดที่ผู้เขียนขอยกตัวอย่างก็คือ การได้อำนาจด้วยวิธี Power โดยเราสามารถเห็นอำนาจประเภทนี้ได้ทั่วๆ ไปในสังคมไทยทุกระดับ ทุกชนชั้น ทุกกลุ่มสังคม บ้างก็มาในรูปแบบ Hard Power หรือไม่ก็ Soft Power ซึ่งไม่ว่ารูปแบบใดก็เป็นหนทางสู่อำนาจอันหอมหวานอยู่ดี

Hard Power เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดและสมกับความเป็นนักศึกษารัฐศาสตร์ที่สุดก็คงไม่พ้นอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ใช้ Hard Power ทั้งในด้านกำลังทหารที่โค่นล้มรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง หรือในด้านการปิดกั้นสื่อต่างๆ รวมทั้งการกำจัดผู้เห็นต่างทางการเมือง ถ้ามองให้แคบลงมาใกล้ตัวในชีวิตประจำวันหน่อยก็คงเป็นกระบวนการในการเข้าห้องเชียร์ของนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ซึ่งส่วนใหญ่มีกระบวนการลิดรอนความเป็นมนุษย์ (Dehumanization) อยู่แทบจะทุกครั้งที่ได้ไปสัมผัสผ่านระบบโซตัส (SOTUS) ซึ่งถือได้ว่าเป็น Hard Power ในรั้วมหาวิทยาลัยชนิดหนึ่ง เพราะไม่ได้ผ่านสัญญาประชาคม (Social Contract) จากนักศึกษาชั้นปีที่ 1 แต่ระบบนี้ก็ได้กระทำเสมือนได้ผ่านสัญญาประชาคมนั้นจากนักศึกษาชั้นปีที่ 1 แล้ว ทั้งๆ ที่บางคนยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะต้องเจอกับอะไร จากทฤษฏีของนักปรัชญาการเมืองสำนักสัญญาประชาคมทั้งหลาย ซึ่งในกรณีนี้ดูเหมือนว่า หลักการของ Thomas Hobbes ดูจะเข้าข่ายกับระบบโซตัสมากที่สุด ในด้านการทำสัญญาประชาคมมอบอำนาจให้ระบบ แม้ในช่วงแรกจะไม่ได้มอบอำนาจให้ระบบ แต่เมื่ออยู่ในระบบนานวันเข้าไปก็จะกลายเป็นเรามอบอำนาจให้กับระบบโดยไม่รู้ตัว และกลายเป็นว่าเราทำสัญญาประชาคมให้กับระบบไปโดยสมบูรณ์ผ่านกระบวนการกล่อมเกลาทางการเมือง (Political Socialization) ภายในรั้วมหาวิทยาลัย

ส่วน Soft Power นั้น ถ้าเป็นการเมืองในระดับประเทศเราก็จะเห็นในรูปแบบโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งอาจจะชวนเชื่อทั้งอุดมการณ์ นโยบาย วัฒนธรรม วาทกรรม สิ่งยึดเหนี่ยวต่างๆ ที่รัฐเสนอให้ผ่านกระบวนการกล่อมเกลาทางการเมือง ซึ่งจะช่วยค่อยๆ นวดความคิด ความเชื่อ วิถีชีวิตต่างๆ ของประชาชนให้คล้อยตามรัฐ และให้กลืนเป็นเนื้อเดียวกับสิ่งที่รัฐอยากให้เป็นในที่สุด ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ถ้ามองให้แคบลงมาก็จะเห็นได้ผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ได้เข้าร่วม หรือเลือกที่จะเข้าร่วม ไม่ว่าจะเป็นในระดับคณะหรือระดับมหาวิทยาลัย ในช่วงแรกอาจจะไม่เชื่อ ไม่ชอบ ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เจอ หรืออาจจะต่อต้านในช่วงแรก แต่พออยู่ในสังคมคณะหรือมหาวิทยาลัยนานๆ เข้าไปผ่านกระบวนการต่างๆ วาทกรรมต่างๆ ที่ระบบป้อนให้เรา “สมยอม” และ “กลายเป็นเนื้อเดียวกับระบบ” โดยไม่รู้ตัว และโดนกลืนเป็นเนื้อเดียวกันในที่สุด

จะเห็นได้ว่าเราสามารถพบเห็น พบเจอ สัมผัสอำนาจอันหอมหวานผ่านสิ่งแวดล้อมหรือบริบทต่างๆ รอบๆ ตัว ในฐานะที่เราเป็นนักศึกษารัฐศาสตร์ เราจึงต้องมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะวิพากษ์สิ่งต่างๆ รอบตัวโดยใช้องค์ความรู้ทางด้านรัฐศาสตร์ที่ได้ร่ำเรียนไป และเลือกที่จะพัฒนาอย่างถูกวิธีด้วยพื้นฐานของหลักประชาธิปไตยและกระแสโลกาภิวัฒน์ (Globalization) โดยเฉพาะวิพากษ์ต่ออำนาจที่ไม่ชอบธรรมที่เป็นอำนาจอันหอมหวานของผู้มีอำนาจในสังคมในทุกระดับของสังคมไทย เพราะถ้าเราไม่วิพากษ์ เราก็ไม่ต่างอะไรกับคนที่มาเรียนเพื่อเอาใบปริญญาและ “คอนเนคชัน” ในการทำงานไปวันๆ ตลอดช่วงชีวิตมหาวิทยาลัย ก่อนที่จะมองไปถึงระดับประเทศ ลองสังเกตดูรอบตัวสิ อำนาจอันหอมหวานรอบตัวผู้อ่านนั้นมีอะไรบ้างล่ะ? ก่อนจะจากกันไปผู้เขียนขอฝากวิวาทะหนึ่งซึ่งผู้เขียนคิดว่ามันได้สะท้อนถึงแนวคิดของการใช้อำนาจชนิด Power แบบ Hard Power ในสังคมไทยปัจจุบันในทุกระดับได้ดีที่สุด


“พูดปากเปล่า ไร้กองทัพ ไม่มีใครฟัง อำนาจรัฐ ต้องมาจากปลายกระบอกปืน.”
- Mao Zedong

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.