Posted: 09 Jul 2018 06:08 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
สุภชาติ เล็บนาค
ผมคิดว่าเหตุการณ์ที่เชียงรายตลอดวันสองวันที่สังคมรุมถล่มสื่อนั้นเป็นเรื่องที่น่าสนใจและน่ารับฟัง
หนึ่ง ตอนผมทำวิจัย สัมภาษณ์สื่อหลายๆคนก็กังวลว่า influencer เพจอย่าง drama addict แหม่มโพธิ์ดำ และอื่นๆ ได้กลายเป็น “สื่อ” แทนสื่อหลักจริงๆ แล้วในความรู้สึกของ “ชาวเน็ต” ทั่วไป
พอเขียนลงในงาน ฝรั่งก็งงเหมือนกัน เพราะในต่างประเทศเอง influencer (ฝรั่งให้คุณค่าในฐานะ Commentator มากกว่า) กับสื่อ นั้นแยกจากกันชัดเจน ไม่ได้มีความพยายามเอา influencer มาจัดเป็นสื่อเหมือนคนไทยเรา
เพราะคนพวกนี้ไม่ได้มีข้อมูลปฐมภูมิ ไม่ได้ทำหน้าที่ fact finding เหมือนสื่อหลัก
หากแชร์อะไรผิดๆ หรือรุมถล่มผิดคน 30 นาที ต่อมา เขาก็อาจจะลบโพสต์ออก ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น หรือฟลัดโพสต์เรื่องอื่นๆ กลบไป ไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่าการจับกระแสสังคม มาเรียกความสนใจจากแฟนเพจ
แต่ที่น่าสนใจกว่าคือสื่อหลักเราในออนไลน์ กลับไปเอาความเห็นของเพจพวกนี้มาลงข่าวเสียเอง เช่น แหม่มโพธิ์ดำแฉ... จ่าพิชิตสับ.... ซึ่งยิ่งทำให้คนพวกนี้คิดว่าตัวเองมีอิทธิพลเหนือสื่อไปแล้ว
แล้วพอ Influencer พวกนี้เปิดวอร์กับสื่อหลัก เราก็จะเห็นความเละแบบนี้แหละครับ...
ปัญหาก็คือ Influencer นั้นผิดได้ แต่สื่อพวกเรานั้นผิดไม่ได้ เพราะพวกเราแบกองค์กรและความน่าเชื่อถือ (ที่เคยมีเยอะกว่านี้) ของสังคมไว้ด้วย
จะด้วยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ผมคิดว่าความเปลี่ยนแปลงสำคัญของสื่อยุคหลังก็คือ พอเราเห็น Influencer ได้รับความนิยมสูงจากเรื่อง “ดราม่า” เราก็เปลี่ยนตัวเองไปทำเรื่อง “ดราม่า” มากขึ้นตามคนพวกนี้ไปด้วย
ผมเคยพูดไปแล้วว่า สื่อไทย ยุคหลัง disruption และการเกิดใหม่ของทีวีดิจิตอล นั้น Emotional เกินจริง และในสถานการณ์หนึ่งๆ พวกเรามักจะหาคนผิด หาฮีโร่ บิวท์กันจนถึงขั้นเอาภาพพวกนี้มาออกซ้ำๆ ทำเอ็มวี แต่งเพลง ฉายไปฉายมาเพื่อให้คนดูเกิดอารมณ์ร่วมมากที่สุด
เรื่องนี้ หากใครทันยุคสรยุทธบูมใหม่ๆ ก็คงจำได้ว่า นักนิเทศศาสตร์ นักวิชาการสื่อสารมวลชนทั้งหลาย ก็สวดสรยุทธเหมือนกัน แต่แน่นอน สรยุทธยังมีลิมิต เพราะอย่างน้อย แกก็อยู่ภาคสนามมาก่อน
วิธีแบบนี้ เรียกเรตติ้งได้มาก และทำให้ผู้รับสื่อก็ติดตามต่อเนื่อง
ถ้าเราดูเรตติ้งรายการข่าวก็จะพบว่า หากผู้ประกาศข่าวบิวท์ได้ดี แฟนก็จะมากตาม เพราะคนไทยเราชอบอะไรแบบนี้ สังเกตดูได้จากรายการข่าวที่มีคนอันดับต้นๆ ก็มาจากรายการที่มีผู้ประกาศในแนวนี้ทั้งนั้น
คงเป็นลักษณะพิเศษของการรายงานข่าวของไทย ที่ฝรั่งเองคงยากที่จะเข้าใจ
แต่ในสถานการณ์แบบนี้ เราเห็นได้ชัดเลยว่า การเร้าอารมณ์ประเภทนี้ ไม่ได้มีประโยชน์อะไร ซึ่งทำให้สื่อฝรั่งหลายสำนัก รายงานเหตุการณ์ได้ดีกว่าที่พวกเรากำลังทำ
นอกจากนี้ ความน่าเชื่อถือของตัวสื่อเองก็หายไปด้วย เพราะพวกเราหันไปสนใจแต่ว่าชม.นี้จะ “บิวท์” ยังไงดี แทนที่จะทำข่าวยังไงให้ดีขึ้น
สอง สื่อในฐานะ Check & Balance ผมคิดว่าหน้างาน พวกเรายังพยายามทำหน้าที่นี้ได้ดี โดยเฉพาะคนที่อยู่ภาคสนาม ที่เต็มไปด้วยข้อจำกัดมากมาย ทั้งการเข้าถึงข้อมูล เข้าถึงแหล่งข่าว การแข่งขันกับสำนักอื่น และการแข่งขันกับบรรดาข้อมูลจำพวก fake news ที่ขยันแต่งกันเหลือเกิน
บางคนที่แชร์ Fake News มาให้ผม ก็เป็นสื่อด้วยกันด้วยซ้ำ
แต่นั่นแหละครับ ในเมื่อพายุข่าวปลอมมันเยอะ และแพร่ไวขนาดนี้ หน้างานเลยวุ่น จนทำให้ผู้สื่อข่าวถูกมองว่า “เสือก” ในสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวาน แต่ในทางกลับกัน หากพวกเขาไม่ทำหน้าที่นี้ สังคมเราจะระบาดไปด้วยเรื่องอะไรก็ไม่รู้จริงๆ
แต่ข้อนี้จะดีเฟนด์สื่ออย่างเดียวก็คงไม่ถูก เราอาจต้องฟังฟีดแบ็คจากสังคมไทย (อันเปราะบาง) ให้มากขึ้น เพราะสื่อไม่อาจทำหน้าที่ได้หากไร้การสนับสนุนจากเหล่า audience ของเรา
สาม สถานการณ์ที่ดอยนางนอน ผมถือเป็นบทเรียนแรก สำหรับพวกเราที่อยู่ในธุรกิจสื่อแบบที่มีจำนวนนักข่าวมากขนาดนี้ (เห็นว่าลงทะเบียนสื่อกันเป็นพันคน) ไม่ใช่สื่อหลักอย่างเดียว แต่ยังมีสื่อท้องถิ่น ฟรีแลนซ์ สื่อต่างชาติ
สถานการณ์แบบนี้ฝรั่งเรียกว่าเป็น Media Circus ซึ่งเกิดขึ้นทุกครั้งเวลามีเหตุการณ์ใหญ่ๆ และสามารถเลี้ยงกระแสได้ต่อเนื่อง ไม่ใช่เกิดมาแล้วจบไป
ความผิดพลาดนั้นเกิดเป็นประจำ แต่ในยุคก่อน ความเสี่ยงน้อยกว่า เนื่องจากเราอยู่ในยุคที่ทีวีมีไม่กี่ช่อง งานที่นักข่าวได้รับมอบหมาย มีเพียงรายงานสดผ่านทีวี วิทยุ หรือพิมพ์ข่าวส่งตามที่โรงพิมพ์ต้องการเท่านั้น
แต่เมื่อเราสามารถไลฟ์ด้วยตัวเอง ความผิดพลาดก็เห็นชัดมากขึ้น ยิ่งเรามีพวก Influencer เป็น active audience ที่มี follower ในจำนวนใกล้เคียงกับสื่อจริงๆ สื่อยิ่งต้องระมัดระวังมากขึ้น
เช่น สมมติว่าวันที่ พล.อ.ประยุทธ์ แถลงรับตำแหน่งหัวหน้า คสช.นั้น แกหลุดปากด่าสื่อ แล้วผมเกิดนั่งส่ายหัว ในปัจจุบันอาจมีใครถ่ายไลฟ์สดอยู่พอดี ผมก็อาจโดน influencer เอาไปปั่นได้ว่า ผมรับเงินทักษิณมา แล้วโดนคนอีกร้อยคน inbox มาด่าผมได้ ทั้งที่เวลาเขียนข่าวผมก็เขียนข่าวปกติ
เรื่องอย่างนี้จะละเอียดอ่อนมากขึ้น และทำให้สื่อยุคใหม่ที่วางตัวยากอยู่แล้ว ทำงานหนักอยู่แล้ว และค่าตอบแทนต่ำมากอยู่แล้ว วางตัวยากขึ้นไปอีก
ทั้งหมดนี้ ยังต้องการให้กำลังใจสื่อดีๆ ทุกคน และยังยืนยันว่าหากจะสร้างสังคมประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ เรายังต้องการสื่อที่ทำหน้าที่ check balance และเป็นปากเป็นเสียงให้กับประชาชน
มากกว่าสื่อที่ทำหน้าที่ “ถูกใจ” ใครบางคนเพียงเท่านั้นอยู่ดี
เผยแพร่ครั้งแรกใน: facebook Supachat Lebnak
แสดงความคิดเห็น