Posted: 09 Jul 2018 05:28 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

สุรพศ ทวีศักดิ์

แม้เราจะเห็นปัญหาว่า การอ้างศีลธรรมในทางการเมืองโจมตีฝ่ายตรงข้าม และอ้างสนับสนุนความเป็นคนดีของฝ่ายตนให้มี “อภิสิทธิ์” แก้ปัญหาด้วยวิธีการนอกระบบ มีส่วนสำคัญที่ทำให้วิกฤตการเมืองดำเนินมาถึงวันนี้ และยังดำเนินต่อไป แต่เราก็ยังมองไม่เห็นทางออกว่า ทำอย่างไรการอ้างศีลธรรมทางการเมืองแบบนี้จะหมดไป หรือถึงจะมีการอ้างก็ไม่ได้ผลอีกต่อไป

คำถามคือ เราควรจะหันหลังให้กับการอ้างศีลธรรมทางการเมืองแบบที่เคยเป็นมา ทำเป็นไม่รับรู้ ไม่สนใจ แล้วมันก็จะหายไปเอง หรืออ้างไม่ได้ผลไปเอง หรือว่าเราควรจะหันหน้าไปเผชิญกับมัน ตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์มันอย่างถึงราก

ดูเหมือนประวัติศาสตร์ของตะวันตกจะใช้วิธีแบบหลัง เพราะการปฏิวัติทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไม่ใช่เรื่องของการเปลี่ยนระบบหรือโครงสร้างเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการปฏิวัติทางความคิด, ภูมิปัญญาหรืออุดมการณ์ควบคู่กันไปด้วย และการปฏิวัติที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ “การแยกศีลธรรมออกจากศาสนา” ที่ส่งผลให้เกิดโลกทัศน์ทางศีลธรรมแบบใหม่ อันเป็นรากฐานของวัฒนธรรมประชาธิปไตยสมัยใหม่

จากเดิมที่คนส่วนใหญ่เชื่อว่าศีลธรรมเป็นเรื่องของศาสนาเท่านั้น และศีลธรรมศาสนาย่อมเป็น “ศีลธรรมที่มีอำนาจบังคับคน” คือมีลักษณะเป็นคำสั่ง กฎ หรือบัญญัติของผี วิญญาณบรรพบุรุษ เทพเจ้า พระเจ้า ธรรมชาติ ที่มีผู้รู้คำสั่ง กฎ หรือบัญญัติเหล่านั้นคือพวกหมอผี พระศาสดา นักบวช ผู้นำศาสนาต่างๆ และบรรดาผู้รู้เหล่านี้ก็ยกให้หัวหน้าเผ่า กษัตริย์ จักรพรรดิมี หรือรัฐอำนาจคุมควบคุมให้เกิดการปฏิบัติตามคำสั่ง กฎหรือบัญญัติทางศีลธรรมเหล่านั้น พร้อมกับสถาปนาอำนาจของพวกตัวเองคู่ขนานกันไป คืออำนาจของนักบวช กลุ่มผู้นำศาสนา ศาสนจักร

ศีลธรรมศาสนาที่เป็นศีลธรรมที่มีอำนาจบังคับคนดังกล่าว คือ “ศีลธรรมผู้บงการ” กับ “ศีลธรรมผู้ใต้บงการ” โดยมีผู้บงการเหนือธรรมชาติ เช่นผี วิญญาณบรรพบุรุษ เทพเจ้า พระเจ้า ที่เป็นผู้กำหนดคำสั่ง กฎหรือบัญญัติทางศีลธรรมผ่านมาทาง “ปาก” ของหมอผี พระศาสดา นักบวช ผู้นำศาสนา ศาสนจักร

แต่เพื่อให้แน่ใจว่าศีลธรรมต้องมีสภาพบังคับได้จริงในทางปฏิบัติ ผู้บงการเหนือธรรมชาติจึงได้มอบอำนาจให้หัวหน้าเผ่า กษัตริย์ จักรพรรดิ นักบวช กลุ่มผู้นำศาสนา ศาสนจักรใช้อำนาจในนามสิ่งเหนือธรรมชาติออกคำสั่ง, กฎหมาย และใช้กองกำลังอื่นๆ ในการควบคุมบังคับให้เป็นไปตามคำสั่ง กฎหรือบัญญัติทางศีลธรรมที่สิ่งเหนือธรรมชาติให้มา

ศาสนาไม่มีพระเจ้าที่เชื่อเรื่อง “กฎธรรมชาติ” ก็เชื่อเช่นกันว่า มีกฎธรรมชาติควบคุมการกระทำและการให้ผลของการกระทำ เรียกว่า “กฎแห่งกรรม” และศาสนาเช่นนี้ก็สถาปนาผู้ปกครองให้เป็นธรรมราชาที่ใช้ธรรมเป็นอำนาจในการปกครอง พร้อมๆ กับอุปถัมภ์ศาสนา และใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือกล่อมเกลาผู้ใต้ปกครองให้เป็นคนดี มีศีลธรรม สามัคคี สงบสุขภายใต้อำนาจเผด็จการโดยธรรมของผู้ปกครอง และมีสำนึกเชื่อฟัง จงรักภักดีต่อผู้ปกครองที่ทรงธรรม

ดังนั้น ศีลธรรมผู้บงการจึงหมายถึงศีลธรรมในรูปคำสั่ง กฎหรือบัญญัติที่มาจากสิ่งเหนือธรรมชาติและมาจากกฎธรรมชาติ (ซึ่งมีมิติเร้นลับเหนือการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์) และผู้บงการเหนือธรรมชาติ,กฎธรรมชาติได้มอบอำนาจหรือความชอบธรรมให้ผู้ปกครองฝ่ายบ้านเมืองและศาสนจักรมีหน้าที่บังคับควบคุมและอบรมสั่งสอนผู้ใต้ปกครองให้ปฏิบัติตามคำสั่ง กฎศีลธรรมเหล่านั้น ผู้ปกครองจึงเป็นผู้ครอบครองศีลธรรมผู้บงการ ขณะที่ผู้ใต้ปกครองเป็นผู้ครอบครองหรือถูกปลูกฝังให้มีศีลธรรมผู้ใต้บงการ

ศาสนาในมิติที่เน้นความหลุดพ้น หรือ “เสรีภาพด้านใน” เสนอศีลธรรมแบบปฏิเสธสถานะผู้ใต้บงการของบุคคลหรือไม่? ดูเผินๆ เหมือนจะเป็นเช่นนั้น แต่เมื่อดูในรายละเอียดจะพบว่า เป็นเพียงการเสนอให้ปฏิเสธสถานะผู้ใต้บงการของ “กิเลส” ในใจของแต่ละคนเท่านั้น ส่วนในทางสังคมและการเมือง พระศาสดา สาวก และศาสนจักรต่างมีบทบาทสำคัญในการเสนอความคิดและสถาปนา “ธรรมราชา” ขึ้นมา ซึ่งเป็นการสร้างศีลธรรมผู้บงการ และการเสนอศีลธรรมของบุคคลตามสถานภาพทางสังคม ก็ย่อมมีลักษณะเป็นศีลธรรมของผู้ใต้บงการ มากกว่าที่จะเป็นศีลธรรมเพื่ออิสรภาพจากการตกเป็นผู้ใต้บงการ

ศีลธรรมเพื่ออิสรภาพจากการตกเป็นผู้ใต้บงการ คือศีลธรรมที่ปฏิเสธสถานะผู้ใต้บงการของตัวเอง ซึ่งเป็นการปฏิเสธอำนาจทางศีลธรรมเหนือหัวที่คอยบงการเราไปด้วย นี่เป็นสิ่งที่นักปรัชญาตะวันตกพยายามคิดกันมายาวนานมาก

ในที่สุดก็พบคำตอบว่าต้อง “แยกศีลธรรมออกจากศาสนา” ด้วยการวิพากษ์ให้เห็นว่า ศีลธรรมแบบศาสนาที่มีธรรมชาติเป็นศีลธรรมผู้บงการและศีลธรรมผู้ใต้บงการนั้น มักจะนำไปสู่การครอบงำกดขี่หลากมิติ ตั้งแต่ที่เห็นได้ทางกายภาพ เช่นการสร้างระบบชนชั้น ให้ความชอบธรรมกับระบบทาส ความไม่เท่าเทียมทางเพศ เป็นฐานอำนาจของทรราชที่เป็นบุคคล กลุ่มบุคคล หรือทรราชเสียงส่วนใหญ่ที่ใช้อำนาจทางสังคมกดขี่เสรีภาพของปัจเจกบุคคลผ่านจารีตประเพณีตามความเชื่อทางศาสนาต่างๆ

และครอบงำลึกสุดถึงระดับ “จิตวิญญาณ” ของบุคคล ด้วยการกล่อมเกลาให้จงรักภักดีและเกรงกลัวอำนาจเหนือธรรมชาติ กฎแห่งกรรม และอำนาจของผู้ปกครองในนามของพระเจ้าหรือในนามของธรรม

การวิพากษ์ทำนองนี้ เริ่มมาตั้งแต่โสเครตีส เพลโต อาริสโตเติล แล้วจึงเสนอศีลธรรมทางโลก (secular morality) คือ ศีลธรรมที่ไม่เกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนา เราไม่สามารถมีศีลธรรมได้จากการถูกอบรมสั่งสอนให้เชื่อและทำตาม แต่การมีศีลธรรมเกิดจากการใช้เหตุผลหรือปัญญาตัวเราเอง ซึ่งอาริสโตเติลเรียกว่า “practical wisdom –ปัญญาเชิงปฏิบัติ” อันเป็นปัญญาที่ไม่ได้เกิดจากการถูกสอน เราสอน “theoretical wisdom-ปัญญาเชิงทฤษฎี” ได้ แต่ปัญญาเชิงปฏิบัติเกิดจากการฝึกฝนและประสบการณ์ในการใช้ชีวิตของแต่ละบุคคลที่จะสามารถรู้ได้เองว่า อะไรคือความฉลาด ความกล้าหาญ ความพอประมาณ ความยุติธรรม และควรจะใช้มันในสถานการณ์เช่นไร

พอมาถึงยุคสว่างทางปัญญาและยุคสมัยใหม่ การแยกศีลธรรมออกจากศาสนาของนักปรัชญาอย่างอิมมานูเอล คานท์, จอห์น สจ๊วต มิลล์, จอห์น รอลส์, ฌอง ปอล ซาตร์ และคนอื่นๆ ได้นำมาสู่การเสนอศีลธรรมในความหมายของ “หลักการทั่วไป” ที่อธิบายได้ว่าฟรีและแฟร์กับทุกคน และเป็นหลักการที่อยู่บนพื้นฐานของการยืนยันเสรีภาพ ความเสมอภาค อิสรภาพ และศักดิ์ศรีของมนุษย์

ตามหลักการทั่วไปทางศีลธรรมดังกล่าว อำนาจรัฐและศาสนจักรจะเข้ามาแทรกแซงเรื่องศีลธรรมของปัจเจกบุคคลไม่ได้ เช่นรัฐจะเอาเนื้อหาศีลธรรมแบบศาสนาในรูปคำสั่ง กฎ หรือบัญญัติของพระเจ้าและอื่นๆ เช่นบัญญัติ 10 ประการ ศีล 5 และ ฯลฯ มาบังคับสอนประชาชนไม่ได้ ถ้าใครสนใจจะนำเนื้อหาศีลธรรมเหล่านั้นมาใช้กับชีวิตตัวเอง ก็ให้เป็นเสรีภาพที่เขาจะเลือกเอง

ส่วนแนวคิดศีลธรรมในทางปรัชญาก็ไม่ได้ให้ “เนื้อหา” ศีลธรรมเป็นข้อๆ เป็นชุดๆ มาให้คนปฏิบัติตามแบบศีลธรรมศาสนา แต่ให้เพียงหลักการทั่วไปว่า ปัจเจกแต่ละคนคือผู้ที่จะบอกตนเองว่าการใช้ชีวิตแบบไหนดีสำหรับตนเอง นั่นคือ คุณเป็นผู้กำหนดเนื้อหาของศีลธรรมสำหรับตัวคุณเอง ภายใต้เงื่อนไขว่าคุณต้องเคารพเสรีภาพ ความเสมอภาค อิสรภาพ และศักดิศรีของมนุษย์ของตนเองและผู้อื่นเสมอกัน

ส่วนอำนาจรัฐก็ไม่ใช่อำนาจของผู้บงการ (แบบอำนาจรัฐที่อิงหลักศาสนา) แต่เป็นอำนาจในการบัญญัติกฎหมายและบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งบริหารนโยบายต่างๆ บนพื้นฐานของการเคารพเสรีภาพ ความเสมอภาค อิสรภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชน พูดในเชิงรูปธรรมก็คือรัฐต้องใช้อำนาจบนหลักสิทธิมนุษยชน รัฐจึงเป็นทรราชไม่ได้

แต่ปัญหาของบ้านเราคือ เมื่อมีการอ้างศีลธรรมทางการเมือง เรามักอ้างศีลธรรมตามกรอบคิดพุทธศาสนา ซึ่งยังคงมีความหมายสำคัญเป็น “ศีลธรรมผู้บงการ” กับ “ศีลธรรมผู้ใต้บงการ” อันเกิดจากการปลูกฝังอบรมผ่านสถาบันศาสนาและสถาบันการศึกษาของรัฐ ภายใต้ระบบการกล่อมเกลาดังกล่าวนี้ พลเมืองถูกปลูกฝังให้เชื่อในศีลธรรมผู้บงการหรือผู้ปกครองที่ตั้งคำถามและตรวจสอบไม่ได้ และให้ปฏิบัติตามศีลธรรมผู้ใต้บงการ คือศีลธรรมของผู้ใต้ปกครองที่ต้องเชื่อฟังจงรักภักดีต่อผู้ปกครอง

เมื่อว่าโดยกรอบคิดและเนื้อหา ศีลธรรมผู้บงการกับศีลธรรมผู้ใต้บงการดังกล่าว ไม่ใช่ “ศีลธรรมเชิงหลักการทั่วไป” แต่ถูกนำมาอ้างอิงใช้เสมือนเป็นหลักการทั่วไปว่า ถ้าผู้ปกครองเป็นผู้มีคุณธรรมหรือเป็นคนดีแล้วเขาจะปกครองและตัดสินใจในเรื่องต่างๆ โดยยึดประโยชน์ของประเทศชาติบ้านเมืองเป็นหลักเสมอ และสำหรับพลเมืองที่เป็นคนดีมีศีลธรรม ก็ต้องนึกถึงชาติบ้านเมืองสำคัญสูงสุดเช่นกัน แต่ชาติบ้านเมืองในความหมายของผู้ปกครองและพลเมืองย่อมไม่จำเป็นต้องยึดโยงกับหลักการทั่วไปที่รับรองเสรีภาพ ความเสมอภาค อิสรภาพ ศักดิ์ศรีของมนุษย์ และจึงไม่ต้องยึดโยงกับประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนอย่างจำเป็นด้วย

ดังนั้น เมื่อสังคมไทยตกอยู่ภายใต้โลกทัศน์ทางศีลธรรมแบบผู้บงการกับผู้ใต้บงการดังกล่าว การสร้างประชาธิปไตยในเชิงความคิดและอุดมการณ์จึงเกิดขึ้นได้ยากยิ่ง

ผมรู้สึกประหลาดใจมากที่เห็นผู้นิยามตนเองว่า “ทำงานเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางความคิด” เขียนอะไรในทำนองว่าเขาไม่อยากใช้ “คำใหญ่คำโต” เช่นคำว่าสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค แต่เขากลับใช้คำว่าธรรมะ คนดีที่สังคมนี้นิยมใช้กันดาษดื่น ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วคำใหญ่คำโตจริงๆ ในสังคมนี้คือคำว่า “ธรรมะ, ความดี, คนดี, ความรู้รักสามัคคี, สงบสุข” เมื่อคำเหล่านี้ถูกอ้างในทางการเมือง คำว่าสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค อิสรภาพ ศักดิ์ศรีของมนุษย์ต้องหลีกทางให้เสมอ

หลายๆ ครั้ง คำว่าสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค อิสรภาพ ศักดิ์ศรีของมนุษย์ก็มักถูกทำให้ “แปลกแยก” และเป็นคำที่สร้าง “ความแตกแยก” ทำลายความสามัคคี และความสงบสุขของสังคมไปเลย

มันจึงไม่ใช่เรื่องที่เราควรหันหลังให้ หรือเดินหนีการเมืองเชิงศีลธรรม หรือการเมืองวัฒนธรรม ที่อ้างศีลธรรมผู้บงการกับศีลธรรมผู้ใต้บงการ แต่จำเป็นที่เราต้องตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ ถอดรื้อให้เห็นมายาคติและเล่ห์กลอันซับซ้อนของมัน เพื่อที่เราจะมีอิสรภาพจากการตกเป็นผู้ใต้บงการของคนกลุ่มน้อยที่มีอำนาจครอบงำทางศีลธรรม และครองอำนาจนำทางการเมืองอย่างปราศจากความชอบธรรมตามหลักประชาธิปไตย

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.