Posted: 22 Jul 2018 12:24 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sun, 2018-07-22 14:24
ในเกาหลีใต้มีการรวมตัวประท้วงของนักเรียนประมาณ 50 คนจากโรงเรียนมัธยมศึกษาในเขตซงปาของกรุงโซล พวกเขารวมกลุ่มกันประท้วงด้วยเหตุผลเดียวคือเพื่อให้เพื่อนของพวกเขาซึ่งเป็นนักเรียนร่วมชั้นอายุ 15 ปี จากประเทศอิหร่านรับสถานะผู้ลี้ภัยเพื่อให้อยู่ในประเทศเกาหลีใต้ต่อไปได้ ที่มาภาพ: The Hankyoreh
นักเรียน 50 คนจากโรงเรียนแห่งหนึ่งในเขตซงปาของกรุงโซล รวมตัวกันประท้วงหน้าสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเกาหลีใต้เมื่อวันที่ 19 ก.ค. ที่ผ่านมา เรียกร้องให้ทางการให้สถานะผู้ลี้ภัยแก่เพื่อนร่วมชั้นอายุ 15 ปี ที่มาจากอิหร่าน
พวกเขาพากันถือป้ายประท้วงกลางแดดช่วงกลางวัน โดยมีป้ายแฟ่นหนึ่งเขียนไว้ว่า "ขอให้มองข้ามอคติไปให้เห็นความเป็นจริง" อีกแผ่นหนึ่งเขียนว่าให้รู้จักคำนึงถึงเพื่อนของพวกเขาบ้าง
เด็กนักเรียนผู้ลี้ภัยที่มีเพื่อนช่วยเรียกร้องให้เขาคนนี้มีนามสมมุติในข่าวว่า "เอ" เขาเป็นคนสัญชาติอิหร่านที่เดินทางเข้าเกาหลีใต้พร้อมกับพ่อของเขาในปี 2553 ซึ่งในตอนนั้นพ่อของเขาเข้ามาที่เกาหลีด้วยเหตุผลทางธุรกิจ ถึงแม้ว่าเดิมทีแล้วพวกเขาจะเป็นชาวมุสลิมแต่หลังจากที่พวกเขาตั้งใจจะตั้งรกรากในเกาหลีใต้พวกเขาก็เปลี่ยนศาสนาเป็นคริสต์ โดยเริ่มจากผู้เป็นลูกเปลี่ยนศาสนาไปในที่เรียนชั้น ป.2 แล้วเชื้อชวนให้พ่อเปลี่ยนตาม ซึ่งตามกฎหมายชะรีอะฮ์ในแบบของอิหร่านแล้วการเปลี่ยนศาสนาถือว่าเป็นการทรยศ
ในปี 2559 พ่อลูกชาวอิหร่านคู่นี้ได้ขอสถานะผู้ลี้ภัยจากรัฐบาลเกาหลีใต้ แต่ทางสำนักงานคนเข้าเมืองไม่ให้สถานะแก่พวกเขาโดยอ้างว่า "เอ" ซึ่งในตอนขอสถานะยังเป็นผู้น้อย (อายุ 14 ปี) อยู่ตามสถานะทางกฎหมายของเกาหลีใต้แสดงออกทางศาสนายังไม่ชัดเจน และอีกสาเหตุหนึ่งคืออ้างว่าทั้งสองคนมีโอกาสน้อยที่ถูกตัดสินลงโทษจากการที่พวกเขาเข้าโบสถ์คริสต์ในช่วงที่อาศัยอยู่ในเกาหลีใต้ ในเวลาต่อมาแม้ว่าศาลชั้นต้นจะตัดสินให้พ่อลูกคู่นี้ได้สถานะผู้ลี้ภัยแต่ศาลอุทธรณ์และศาลสูงสุดของเกาหลีใต้ก็กลับคำตัดสินนี้
หลังจากการตัดสินของศาลสูงสุดเกาหลีใต้เพื่อนๆ ของ "เอ" ก็เริ่มปฏิบัติการประท้วง เริ่มจากวันที่ 11 ก.ค. มีการนำคำร้องทุกข์ไปติดที่กระดานของทำเนียบประธานาธิบดี ระบุว่า "ช่วยเหลือเพื่อนของพวกเราได้รับการพิจารณาอย่างเป็นธรรมและได้รับสถานะผู้ลี้ภัยด้วย" ในใบคำร้องดังกล่าวมีการรวบรวมความคิดเห็นจากเพื่อนร่วมชั้นคนอื่นๆ ของ "เอ" หนึ่งในความเห็นเหล่านี้ระบุว่า "ถ้าเพื่อนของเราจากไปอย่างไร้เหตุผลจำเป็นเช่นนี้ มันจะสร้างแผลใจอย่างใหญ่หลวง" เมื่อเรื่องนี้มีคนพูดต่อออกไปทำให้ผู้กำกับการของสำนักงานศึกษาธิการเทศบาลกรุงโซลเข้าเยี่ยม "เอ" ในวันที่ 19 ก.ค.
เพื่อนๆ ของ "เอ" บอกว่า "เอ" เป็นคนร่าเริงและเป็นเพื่อนสนิทของเด็กอีกคนหนึ่งที่ชื่อฮันตลอด 7 ปีที่อยู่ในเกาหลี ฮันเล่าว่า "เอ" เป็นคนที่เริ่มคุยกับเขาก่อนในตอนที่เขาเพิ่งย้ายโรงเรียนมาใหม่และไม่คุ้นเคยกับใครอีกทั้ง "เอ" ยังเป็นคนที่เก่งกีฬา เข้ากับคนอื่นได้ดี และเคยเป็นหัวหน้าห้อง 2 ครั้ง สิ่งที่ฮันต้องการคืออยากให้ "เอ" ได้ไปโรงเรียนกับเพื่อนคนอื่นๆ อย่างปลอดภัยต่อไปและได้เล่นเกมเล่นฟุตบอลด้วยกันอีก
ในตอนที่ "เอ" เข้าไปยื่นเอกสารขอสถานะผู้ลี้ภัยในเกาหลีใต้อีกครั้ง ก็มีเพื่อนๆ ร้องเพลงประสานเสียงเพื่อแสดงการสนับสนุน สำหรับ "เอ" เองเขาบอกว่าถ้าหากเขาได้อยู่ในเกาหลีใต้เขาก็อยากเป็นนายแบบโดยมีบุคคลที่เป็นแบบอย่างคือ ฮันฮยุนมิน หรือ "โฮเวิร์ด ฮัน" ผู้ที่เป็นนายแบบลูกครึ่งชาวไนจีเรีย-เกาหลี
เรียบเรียงจาก
Middle schoolers petition for refugee status of Iranian classmate, Hankyoreh, 20-07-2018
http://english.hani.co.kr/arti/english_edition/e_international/854192.html
[full-post]
แสดงความคิดเห็น