Posted: 09 Jul 2018 10:23 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าวเว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

ส.ส.พรรครัฐบาลของเกาหลีใต้เปิดโปงเอกสารที่เสนอโดย ผบ.หน่วยข่าวกรองเกาหลีใต้ในรัฐบาลชุดก่อน ที่จ้องปราบผู้ประท้วงต่อต้าน ปธน.ปักกึนเฮ หากผู้ชุมนุมไม่พอใจหากศาลรัฐธรรมนูญอุ้มปักกึนเฮ-ไม่ยอมถอดถอนตามมติรัฐสภา ให้เตรียมประกาศกฎอัยการศึกในกรุงโซล ส่งทหาร 4 กองพลน้อยควบคุมพื้นที่สำคัญรวมทั้งเกาะยออิโดที่ตั้งรัฐสภา อย่างไรก็ตามไม่มีการใช้แผนประกาศกฎอัยการศึกที่ว่าเนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินถอดถอนปักกึนเฮตามมติรัฐสภา


ภาพประกอบ (ซ้าย) ทหารเกาหลีใต้สวนสนามในกรุงโซลในโอกาสครบรอบ 65 ปีก่อตั้งกองทัพเมื่อเดือนตุลาคมปี 2556 (ขวา) ส่วนหนึ่งของเอกสาร "Wartime Martial Law and Joint Action Plan" และผู้เสนอคือ ชอฮุนชอน (Cho Hyun-chon) อดีตผู้บัญชาการกองบัญชาการรักษาความมั่นคง (DSC) ผู้เสนอแผนประกาศกฎอัยการศึก (ที่มา: MBC/hani.co.kr/Wikipedia)


เอกสาร "กฎอัยการศึกยามศึกสงครามและแผนปฏิบัติการร่วม" (Wartime Martial Law and Joint Action Plan) ของหน่วยข่าวกรองเกาหลีใต้ที่ ส.ส. พรรครัฐบาลเกาหลีนำมาเปิดเผย โดยในเอกสารระบุถึงมาตรการประกาศกฎอัยการศึกในกรุงโซล หากผู้ชุมนุมไม่ยอมรับผลตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ รวมทั้งวางแผนส่งทหารจำนวน 3 กองพลน้อยเข้าควบคุมจตุรัสกวางฮามุนและ 1 กองพลน้อยยึดเกาะยออิโดกลางแม่น้ำฮันซึ่งเป็นที่ตั้งของรัฐสภา (ที่มา: hani.co.kr)


ชอฮุนชอน (Cho Hyun-chon) อดีตผู้บัญชาการกองบัญชาการรักษาความมั่นคง (DSC) ผู้เสนอแผนประกาศกฎอัยการศึก (ที่มา: Wikipedia)

9 ก.ค. 2561 สำนักข่าว Hankyoreh จากเกาหลีใต้รายงานว่ามีการเปิดโปงเอกสารของกองบัญชาการรักษาความมั่นคง (DSC) หน่วยงานสืบราชการลับที่ขึ้นกับกองทัพเกาหลีใต้ ระบุว่าหน่วยงานนี้เคยพิจารณาจะประกาศกฎอัยการศึกและรัฐประหารตัวเองในช่วงวิกฤตการเมืองต้นปี 2560 ถ้าหากผู้ชุมนุมยังคงปักหลักชุมนุมต่อต้านประธานาธิบดีปักกึนเฉที่มีเรื่องอื้อฉาวในตอนนั้นต่อไปแม้ว่าศาลปฏิเสธจะถอดถอนปาร์กกึนฮเยออกจากตำแหน่ง

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นไปตามแผนของหน่วยข่าวกรองก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ถอดถอนปักกึนเฮตามมติรัฐสภา ส่งผลให้ไม่เกิดการทำรัฐประหารตามแผนไปด้วย

เอกสารดังกล่าวนี้มีชื่อว่า "กฎอัยการศึกยามศึกสงครามและแผนปฏิบัติการร่วม" (Wartime Martial Law and Joint Action Plan) ผู้ที่นำเอกสารออกมาเผยแพร่คือ อีช็อลฮุย ส.ส.พรรคประชาธิปไตยเกาหลี พรรครัฐบาลปัจจุบันที่ชนะเลือกตั้งหลังปักกึนเฮพ้นจากตำแหน่ง

เอกสารยังระบุถึงแผนการรายละเอียดในการแต่งตั้งโยกย้ายทหารผู้บัญชาการกลาโหมมาเป็นผู้บัญชาการกองรักษาการณ์และพิจารณาตัวเลือกว่าจะมี "คำสั่งรักษาการ" หรือไม่ถ้าหากผู้ประท้วงจำนวนมากพยายามบุกเข้าไปในตัวอาคารทำเนียบประธานาธิบดี

โดยผู้เสนอคือ ชอฮุนชอน (Cho Hyun-chon) ผู้บัญชาการกองบัญชาการรักษาความมั่นคง (DSC) ในสมัยนั้น โดยเสนอต่อ ฮันมินกู (Han Min-goo) รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมในยุคนั้น โดยเอกสารยังระบุถึงการเสนอให้ยกระดับกฎอัยการศึกเป็นระดับภาวะฉุกเฉินถ้าหากสถานการณ์ประท้วงหนักขึ้นและมอบหมายให้ทหารหลายกองพลน้อยประจำตามจุดประท้วงที่ต่างๆ

นอกจากนี้เอกสารยังประเมินสถานการณ์บนความเป็นไปได้ว่าถ้าหากศาลรัฐธรรมนูญไม่ยอมรับมติถอดถอนปักกึนเฮจากรัฐสภา ผู้ประท้วงจะก่อความวุ่นวายมากขึ้น ทำให้ ผบ.กองบัญชาการรักษาความมั่นคง (DSC) พยายามหาความเห็นชอบจากกระทรวงกลาโหมและเสนาธิการกองทัพในการเคลื่อนกำลังพล 3 กองพลน้อย ยึดจัตุรัสกวางฮามุน และอีก 1 กองพลน้อยยึดเกาะยออิโด ที่ตั้งอาคารรับสภา

ซึ่งตามกฎหมายเกาหลีใต้แล้วไม่สามารถสั่งการเคลื่อนกำลังพลจำนวนมากขนาดนี้ได้ถ้าหากไม่มีการรับรองจากกระทรวงกลาโหม และเสนาธิการกองทัพก็ไม่สามารถสั่งการเคลื่อนพลเองได้

มีการตั้งข้อสังเกตว่าข้อเสนอของ ผบ.กองบัญชาการรักษาความมั่นคง (DSC) ในเอกสารชุดที่ถูกเปิดโปงนี้มีกระบวนการคล้ายคลึงกับสมัย ผบ.กองบัญชาการรักษาความมั่นคงในอดีตคือ ช็อนดูฮวาน (Chun Doo-hwan) ที่ก่อการรัฐประหารโดยกลุ่มสมรู้ร่วมคิดของเหล่าทหารที่ชื่อ "ฮานาเฮว" ในวันที่ 12 ธ.ค. 2522

อีช็อลฮุย ส.ส.พรรครัฐบาลปัจจุบัน ผู้เปิดเผยเอกสารนี้ยังกล่าววิจารณ์กองทัพในยุคของปักกึนเฮว่าพวกเขาไม่เพียงแทรกแซงทางการเมืองอย่างผิดกฎหมายและสอดแนมประชาชนเท่านั้น ผบ.หน่วยงานความมั่นคงยังวางแผนก่อการรัฐประหารยึดอำนาจกลายเป็นรัฐบาลทหาร โดยเขาเสนอว่าจะต้องปฏิรูปกองบัญชาการรักษาความมั่นคงอย่างสิ้นเชิง

เรียบเรียงจาก

Military considered martial law if constitutional court rejected Park’s impeachment in 2017, Hankyoreh, 06-07-2018

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.