25 พ.ค. 2557 กรุงเทพฯ (แฟ้มภาพ)

Posted: 13 Sep 2018 03:36 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าวเว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Thu, 2018-09-13 17:36

ติดอันดับโลกอีกแล้วสำหรับไทย เมื่อรายงานของยูเอ็นประกาศรายชื่อ 38 ประเทศที่ทำพฤติกรรมน่าละอายต่อผู้ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและผู้เกี่ยวข้อง ยกกรณี ‘ไมตรี พี่ชัยภูมิ ป่าแส’ ‘ทนายจูน ศูนย์ทนายสิทธิฯ’ กอ.รมน. ภาค 4 ฟ้อง 3 นักปกป้องสิทธิฯ กรณีทำรายงานซ้อมทรมาน และเหยื่อซ้อมทรมานแฉผ่านไทยพีบีเอส เลขาฯยูเอ็น เรียกร้องรัฐยุติคุกคามผู้ทำงานด้านสิทธิฯ สืบสวนอย่างจริงจัง มีมาตรการเยียวยา-ป้องกันการเกิดซ้ำ

เมื่อ 12 ก.ย. ที่ผ่านมา องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เผยแพร่รายงานสำหรับการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของยูเอ็น โดยประกาศรายชื่อประเทศจำนวน 38 ประเทศที่มีพฤติกรรมอันน่าละอายต่อผู้ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นโดยทั้งน้ำมือของเจ้าหน้าที่รัฐและจากบุคคลหรือกลุ่มที่ไม่ใช่รัฐไม่ว่าจะด้วยวิธีการข่มขู่ คุกคาม สังหาร ทรมานและจับกุมตัวตามอำเภอใจ โดยประเทศไทยติดอยู่ใน 38 ประเทศดังกล่าวด้วย

รายงานดังกล่าวจัดทำโดย อันโตนิโอ กูเตร์เรซ เลขาธิการยูเอ็น ชี้แจงปัญหาของคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชนที่ร่วมมือ หรือเคยร่วมมือกับยูเอ็นในทางใดทางหนึ่ง ซึ่งมีขอบข่ายครอบคลุมไปถึงผู้ติดต่อสื่อสารกับกลไกด้านสิทธิมนุษยชนของยูเอ็น ผู้ให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายให้ติดต่อสื่อสารผ่านกลไกดังกล่าว และญาติของเหยื่อผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนและผู้ให้ความช่วยเหลือเหยื่อในด้านกฎหมาย เป็นข้อมูลที่เก็บมาตั้งแต่ 1 มฺ.ย. 2560 - 31 พ.ค. 2561
พี่ชายบุญธรรมของชัยภูมิ ป่าแส ถูกขู่ฆ่า


ภาพชายลึกลับมาถ่ายภาพบ้านไมตรี

กรณีของไทยที่ถูกกล่าวถึงในรายงานประกอบด้วย การขู่ฆ่าที่เกิดขึ้นกับไมตรี จำเริญสุขสกุล พี่ชายบุญธรรมของชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมชาวลาหู่ที่ถูกทหารยิงเสียชีวิตที่ด่านรินหลวง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เมื่อเดือนมี.ค. 2560 โดยทหารกล่าวหาว่าชัยภูมิมียาเสพติดในครอบครอง พยายามหลบหนีและต่อสู้ เมื่อไมตรีเข้าพบไมเคิล ฟรอสต์ ผู้รายงานพิเศษของยูเอ็นในด้านการปกป้องสิทธิมนุษยชนเมื่อเดือน พ.ค. 2560 และหลังการเข้าพบไมเคิลได้สองวัน ศาล จ.เชียงใหม่ได้ออกหมายค้นบ้านใน บ.กองผักปิ้งจำนวนเก้าหลัง หนึ่งในนั้นเป็นบ้านของไมตรีเพื่อค้นหายาเสพติด โดยน้าสาวของชัยภูมิ และน้องสะใภ้ของไมตรีถูกจับกุมและตั้งข้อหามียาเสพติดในครอบครอง ผู้ต้องหาทั้งสองทั้งสองไม่ได้รับสิทธิการเข้าถึงทนายความในขณะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวน ด้านไมตรีนั้น มีชายนิรนามขี่จักรยานยนต์มาดูบ้าน และเคยมีกระสุนปืนมาวางไว้หน้าบ้านของเขาด้วย


ทนายเผย เล็งขอสินไหมชดเชย 'นาหวะ จะอื่อ' หลังถูกคุมขังระหว่างดำเนินคดี 329 วัน
ศาลยกฟ้อง ’นาหว่ะ จะอือ' คดีเอี่ยวยาเสพติดเหตุวิสามัญ ‘ชัยภูมิ ป่าแส’
ความคืบหน้า? คดีชัยภูมิ ป่าแส จนท.บุกค้นหมู่บ้าน รวบตัวญาติ อ้างเป็นผู้นำยาบ้าไปส่ง
เปิดภาพแล้ว! ชายลึกลับถ่ายภาพบ้านผู้อุปถัมภ์ ของ 'ชัยภูมิ ป่าแส'
1 ปี การตาย ‘ชัยภูมิ ป่าแส’ บทเรียน และความคิดถึงที่ไปไม่ถึงความยุติธรรม
ทนายจูน ถูก ตร.ฟ้องข้อหาซ่อนเร้นพยานหลักฐาน


ศิริกาญจน์ เจริญศิริ หรือทนายจูน

อีกกรณีคือเรื่องราวของศิริกาญจน์ เจริญศิริ หรือทนายจูน ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่ถูกพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลชนะสงครามสั่งฟ้องฐานซ่อนเร้นพยานหลักฐานและทราบคำสั่งเจ้าพนักงานแล้วไม่ปฏิบัติตามคำสั่งตามมาตรา 142 และมาตรา 368 ประมวลกฎหมายอาญา จากการทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย ในการคัดค้านการฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 14 นักกิจกรรมกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) ต่อศาลทหาร และปฏิเสธไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจค้นรถยนต์เพื่อยึดเอาโทรศัพท์มือถือของลูกความ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่มีหมายค้นและปราศจากเหตุอันสมควรที่จะค้นรถ ในคืนวันที่ 26 ถึงเช้าวันที่ 27 มิ.ย. 2558


ยังพิจารณาอยู่ อัยการเลื่อน 'ทนายจูน' ฟังคำสั่งครั้งที่ 8 คดีซ่อนเร้นพยานหลักฐาน

โดนอีกคดี ตร.นัด 'ทนายจูน' รับทราบข้อหา 'แจ้งความเท็จ' กรณีค้นรถคดี 14 ประชาธิปไตยใหม่

โดนอีก ทนายความของศูนย์ทนายฯ ถูกออกหมายเรียกข้อหาชุมนุมตั้งแต่ 5 คน และ ม.116
3 นักปกป้องสิทธิฯ ถูก กอ.รมน.ฟ้องหลังแฉปมซ้อมทรมาน ชายแดนใต้


(จากซ้ายไปขวา) พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ, สมชาย หอมลออ และอัญชนา หีมมิหน๊ะ ผู้ทำรายงานเรื่องการซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้

รายงานกล่าวถึงกรณีที่ก่องทัพฟ้องอัญชนา หีมมิหน๊ะ จากกลุ่มด้วยใจ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติและสมชาย หอมลออ จากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กรณีที่ทั้งสามจัดทำและเผยแพร่รายงาน “รายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีฯ ในจังหวัดชายแดนใต้ ปี 2557 – 2558” ที่ได้รับทุนสนับสนุนบางส่วนจากกองทุนอาสาสหประชาชาติเพื่อเหยื่อของการถูกซ้อมทรมาน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้า ฟ้องทั้งสามคนด้วยข้อหาหมิ่นประมาทและให้ข้อมูลเท็จบนอินเทอร์เน็ต เมื่อ 1 ก.ค. 2560 มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบที่เชื่อว่าเป็นทหารไปพบอัญชนาและเตือนไม่ให้โพสท์เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนบนโซเชียลมีเดีย ในส่วนคดีความนั้น กอ.รมน. ภาค 4 ได้ถอนฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทไปเมื่อเดือน พ.ย. 2560 และข้อกล่าวหาอื่นๆ นั้นอัยการศาล จ.ปัตตานีไม่สั่งฟ้อง


ในประเด็นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังมีการปล่อยข้อมูลเพื่อใส่ร้ายป้ายสีผู้ทำงานด้านสิทธิฯ หลายคนรวมถึงพรเพ็ญ อัญชนา และอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) บนโลกออนไลน์ โดยกล่าวหาพวกเขาว่าสนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนและการก่อความไม่สงบ รายงานยังได้ระบุว่า บล็อกออนไลน์ที่ชื่อ “Conditions in South Thailand” เริ่มทำลายความน่าเชื่อถือการปฏิบัติหน้าที่ของพรเพ็ญและอัญชนามาตั้งแต่ปี 2559 พรเพ็ญยังตกเป็นเหยื่อของการถูกขู่ฆ่าบนโลกออนไลน์อีกด้วย
เหยื่อซ้อมทรมาน ถูก กอ.รมน.ฟ้อง หลังเล่าประสบการณ์ผ่านไทยพีบีเอส


ภาพจากคลิปรายการนโยบาย By ประชาชน ซึ่ง อิสมาแอ เต๊ะ กล่าวไว้ในนาทีที่ 14.58 เป็นต้นไป https://youtu.be/JaNsOqR6AbA?t=898

นอกจากนั้นยังมีการดำเนินคดีกับอิสมาแอ เต๊ะ ประธานองค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี เจ้าหน้าที่งานสืบสวนสอบสวนในพื้นที่จากการสนับสนุนของกองทุนอาสาเพื่อเหยื่อของการถูกซ้อมทรมานตั้งแต่ปี 2556 โดย กอ.รมน. ภาค 4 และ สภ.ปัตตานีฟ้องหมิ่นประมาทอิสมาแอ หลังสัมภาษณ์ผ่านโทรทัศน์ช่องไทยพีบีเอสเมื่อ 5 ก.พ. 2561 เกี่ยวกับประสบการณ์การถูกซ้อมทรมานเมื่อเขาอยู่ภายใต้การคุมขังโดยทหารที่ จ.ปัตตานีเมื่อปี 2549 ทั้งที่ศาลปกครองสูงสุดได้ตัดสินเมื่อเดือน ต.ค. 2559 ว่าอิสมาแอถูกทำร้ายร่างกายขณะอยู่ภายใต้การคุมขังของทหารจากบันทึกทางการแพทย์ และให้กองทัพไทยชดเชยเยียวยาอิสมาแอก็ตาม

เลขาฯยูเอ็น ร้องรัฐต้องหยุดคุกคามผู้ทำงานด้านสิทธิฯ - สืบสวนอย่างจริงจัง

อันโตนิโอให้ข้อเสนอแนะไว้ในรายงานว่ากรณีการข่มขู่และการตอบโต้ผู้ทำงานด้านสิทธิฯ ส่วนมากที่อยู่ในรายงานชุดนี้เกิดโดยน้ำมือของเจ้าหน้าที่รัฐ หรือไม่ก็เป็นการกระทำที่รัฐไม่เอาโทษ เลขาธิการยูเอ็นได้ย้ำว่าการข่มขู่ ตอบโต้บุคคล หรือกลุ่มที่จะร่วมมือ หรือได้ร่วมมือกับยูเอ็นในด้านสิทธิมนุษยชนนั้นเป็นเรื่องที่รับไม่ได้อย่างยิ่ง รัฐจะต้องหยุดยั้งการกระทำเหล่านั้นทั้งหมด การกระทำที่เกิดขึ้นจากฝ่ายที่ไม่ใช่รัฐนั้นจะต้องได้รับการจัดการอย่างจริงจัง ต้องสืบสวนกรณีการข่มขู่ ตอบโต้ที่มีทั้งหมด รวมถึงออกมาตรการชดเชย เยียวยาและการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำ ทั้งนี้ การลงโทษบุคคลที่ร่วมมือกับสหประชาชาติถือเป็นการกระทำที่น่าอับอายที่ทุกคนต้องช่วยกันยุติ

นอกจากไทยแล้ว ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ปรากฏอยู่ในรายงานได้แก่พม่าที่ถูกเพ่งเล็งกรณีกองทัพใช้ความรุนแรงต่อชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ และฟิลิปปินส์ ที่มีนักสิทธิฯ หลายคน รวมถึงตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ถูกตีตราว่าเป็นผู้ก่อการร้าย

รายนามของประเทศที่ถูกระบุในรายงานประกอบด้วยแอลจีเรีย บาห์เรน บุรุนดี แคเมอรูน จีน โคลอมเบีย คิวบา สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก จิบูติ อียิปต์ อินเดีย อิหร่าน อิรัก ญี่ปุ่น เม็กซิโก โมรอกโก พม่า ปากีสถาน รวันดา ซาอุดิอารเบีย ไทย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อุซเบกิสถาน เวเนซุเอลา กัวเตมาลา กีญานา ฮอนดูรัส ฮังการี อิสราเอล คีร์กิซสถาน มัลดีฟส์ มาลี ฟิลิปปินส์ สหพันธรัฐรัสเซีย ซูดานใต้ ตรินิแดดและโตเบโก ตุรกี และเติร์กเมนิสถาน

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.