จำเลย ทีมทนายความและชาญวิทย์ เกษตรศิริ ที่หน้าศาลแขวงเชียงใหม่ (ที่มา: Facebook/ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน)
Posted: 24 Sep 2018 02:01 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Mon, 2018-09-24 16:01
คืบหน้าคดีกรณีป้าย "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร" ในเวทีไทยวิชาการไทยศึกษา ศาลแขวงเชียงใหม่นัดตรวจพยานหลักฐาน นัดสืบพยานโจทก์ 6-7 ธ.ค. สืบจำเลย 12-14 ธ.ค. 2561 ชาญวิทย์ เกษตรศิรินำดอกบัวมาให้กำลังใจจำเลย ขอให้พ้นภัยมาร ชี้ เป็นคดีการเมืองทำเรื่องเล็กให้กลายเป็นเรื่องใหญ่ หวังว่าศาลจะไม่บ้าจี้เล่นตาม
24 ก.ค. 2561 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานความคืบหน้าคดีป้าย “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” ในงานประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษาที่จัดขึ้นเมื่อเดือน ก.ค. ปีที่แล้ว โดยวันนี้ที่ศาลแขวงเชียงใหม่ได้นัดตรวจพยานหลักฐานจำเลยทั้งห้า ได้แก่ ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคศึกษาด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปลและนักเขียนอิสระ นลธวัช มะชัย นักศึกษาปริญญาตรีคณะการสื่อสารมวลชน มช. ชัยพงษ์ สำเนียง นักศึกษาปริญญาเอกคณะสังคมศาสตร์ มช. และธีรมล บัวงาม นักศึกษาปริญญาโทคณะการสื่อสารมวลชน มช. และบรรณาธิการสำนักข่าวประชาธรรม
ความผิดตามฟ้องคือการฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องการร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปโดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. หรือผู้ได้รับมอบหมาย โดยนัดคดีวันนี้มีนักวิชาการ ผู้สังเกตการณ์คดี เดินทางมาที่ศาลราว 10 คน รวมถึง ศ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นำดอกบัวมามอบเป็นกำลังใจให้กับจำเลย และยังมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบสังเกตการณ์และบันทึกภาพอยู่นอกศาลด้วย
การตรวจพยานในวันนี้เกิดขึ้นหลังคู่ความนำพยานหลักฐานแต่ละฝ่ายเข้ามาในสำนวน ระหว่างการตรวจพยาน ชยันต์ ผู้เป็นจำเลยที่หนึ่ง แถลงต่อศาลว่าการดูเอกสารของฝ่ายโจทก์ที่ใช้ในการกล่าวหาตนเองแล้ว ตนมีบทบาทแตกต่างไปจากจำเลยคนอื่นๆ คือมีฐานะเป็นประธานฝ่ายวิชาการของงานประชุมนานาชาติไทยศึกษาครั้งดังกล่าวซึ่งไม่ได้ถูกระบุเอาไว้ในเอกสารของฝ่ายโจทก์ ตนถูกเรียกให้ไปดูป้าย “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการติดป้ายแต่อย่างใด
เมื่อชยันต์แถลงเสร็จ ศาลเจ้าของสำนวนระบุว่า ที่จำเลยที่หนึ่งกล่าวมาเป็นข้อเท็จจริงที่ฝ่ายจำเลยต้องนำสืบเข้ามา แต่เบื้องต้นได้มีการสืบสวน ทำความเห็น กล่าวหาและสั่งฟ้องเข้ามา ทางจำเลยสามารถนำเสนอพยานหลักฐานเพื่อหักล้างและแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลได้อยู่แล้ว ข้อเท็จจริงส่วนนี้ศาลยังไม่สามารถนำเข้ามาในสำนวนได้ ส่วนที่จำเลยถูกกล่าวหาดำเนินคดีนั้น ศาลก็เข้าใจว่าก่อให้เกิดความยุ่งยากและเสียเวลา แต่ก็ต้องเข้าใจว่าเป็นเรื่องปกติของระบบงานยุติธรรม ของทั้งเมืองไทยและต่างประเทศ ในส่วนข้อเท็จจริงของจำเลยก็สามารถนำเข้ามาให้ครบถ้วนในขั้นตอนการสืบพยานได้ต่อไป
คู่ความทั้งสองฝ่ายได้ตกลงวันนัดสืบพยานที่ศูนย์นัดความของศาล โดยวันนัดสืบพยานโจทก์คือวันที่ 6-7 ธ.ค. 2561 และนัดสืบพยานจำเลยในวันที่ 12-14 ธ.ค. 2561 ในเวลา 9.00 น. ของแต่ละวันเป็นต้นไป
ชาญวิทย์กล่าวกับประชาไทว่าที่เอาดอกบัวมาให้จำเลยนั้นเพื่อให้เกิดสิริมงคล ส่วนตัวรู้จักชยันต์และเคยทำงานวิชาการร่วมกันมาหลายสิบปี เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเวทีวิชาการไทยศึกษาที่นำมาสู่การฟ้องร้องนี้นั้นตนก็เห็น และในวันงานก็มีทหารในเครื่องแบบมาเดินในงานสัมมนาเป็นที่เห็นกัน และการฟ้องร้องดำเนินคดีนี้ถือเป็นคดีการเมืองซึ่งหวังว่าจะศาลจะไม่บ้าจี้ตามการเมือง
“โดยมากเวลาเราใช้ดอกบัวก็เป็นสิริมงคลนะผมว่า เหมือนเราก็อยากให้เขารอดพ้นจากบ่วงมาร ผจญกับมารก็ขอให้พ้นจากความโชคร้าย เคราะห์ร้ายทั้งหลายทั้งปวง” ชาญวิทย์กล่าว
“ฝ่ายทหารส่งคนเข้ามาในลักษณะที่ไม่เป็นการเข้าร่วมสัมมนาตามปกติ มันมีลักษณะที่ไม่น่าดู... ไม่ได้มาในลักษณะสนใจวิชาการหรือสุภาพชนนะ”
“คดีนี้ขึ้นศาลแขวง ไม่ได้ขึ้นศาลทหาร มันมีลักษณะของคดีมโนสาเร่ คือคดีเล็กๆ น้อยๆ มันก็เป็นเรื่องที่ผมว่าคนที่เป็นจำเลยคงรำคาญใจ เสียเวลา เห็นเขาบอกว่าต้องกลับไปกลับมาจากศาลเป็นเวลานาน ความผิดก็ไม่ได้ร้ายแรง ไม่ใช่เป็นความผิดใหญ่โตแบบทำลายความมั่นคงของชาติ มันเป็นคดีที่เล็กและไม่สมควรจะเกิด”
“คดีนี้เป็นคดีการเมืองใช่ไหมครับ มันเป็นความพยายามของฝ่ายรัฐประหารที่จะปิดปากนักวิชาการ ฉะนั้น มันจะออกอย่างไร จะตัดสินยังไงมันก็ขึ้นอยู่กับการเมือง แต่ผมก็ยังหวังว่าศาลไม่น่าจะบ้าจี้ไปตามการเมือง” อดีตอธิการบดี มธ. ยังกล่าวว่าเสรีภาพทางวิชาการถูกคุกคามตั้งแต่มีการตั้งข้อหาแล้ว ยิ่งมีการดำเนินคดีก็ยิ่งทำให้เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่
ส่วนกรณีที่ชาญวิทย์ถูกดำเนินคดีในข้อหานำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งมีข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จฯ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2560 มาตรา 14 (2) และ (5) ซึ่งมีโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือจำคุกไม่เกินห้าปี จากการแชร์และวิจารณ์กระเป๋าถือของนราพร จันทร์โอชา ภริยาของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนายกรัฐมนตรี ซึ่ง พ.ต.อ.โอฬาร สุขเกษม ผู้กำกับการ 3 ปอท. เป็นผู้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษแก่ชาญวิทย์นั้น เจ้าตัวระบุว่ายังไม่มีความคืบหน้า ยังไม่มีการฟ้องร้อง ที่ผ่านมามีการสอบสวนไปแล้วหนึ่งครั้ง
ชาญวิทย์เข้าพบ ปอท. ยันสิทธิในการแสดงความเห็น หวั่นฟ้องปิดปากคนวิจารณ์
“ทีแรกก็กังวลนะ แต่พอผ่านไปก็มีความรู้สึกว่านี่เป็นเรื่องของการเมือง มันไม่ใช่เรื่องอาชญากรรมอะไร มันเป็นเรื่องการเมืองมันก็ขึ้นอยู่กับการเมือง” ชาญวิทย์ทิ้งท้าย
ย้อนไทม์ไลน์เวทีไทยศึกษา เมื่อเขียนป้ายและชูสามนิ้วเป็นคดี (อีกแล้ว)
มูลเหตุของคดีในวันนี้ ต้องย้อนกลับไปราวหนึ่งปีกว่าๆ เมื่อช่วงวันที่ 15-18 ก.ค. 2560 ที่มีการจัดการประชุมวิชาการไทยศึกษา ซึ่งเป็นเวทีวิชาการนานาชาติที่มีนักวิชาการทั้งไทยและต่างประเทศมาร่วมนำเสนอและรับฟังการเสนอผลงานทางวิชาการด้านไทยศึกษา งานจัดขึ้นที่ศูนย์ประชุมและแสดงนิทรรศการนานาชาติ จ.เชียงใหม่
18 ก.ค. 2560 มีนักกิจกรรมและนักศึกษานำป้ายที่มีข้อความ “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” มาติดบริเวณหน้าห้องสัมมนาวิชาการ เนื่องจากเห็นว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐนอกเครื่องแบบเข้ามาบันทึกกิจกรรมต่างๆ ในงานโดยไม่มีการลงทะเบียนเข้าร่วมงานและไม่ได้ขออนุญาตผู้จัดงาน โดยที่ระหว่างที่ป้ายดังกล่าวติดอยู่และมีผู้ร่วมถ่ายรูปกับป้ายดังกล่าวเป็นจำนวนมากด้วย โดยจำเลยทั้งห้าก็ได้ถ่ายภาพในท่าชูสามนิ้ว ซึ่งทั้งการติดป้ายและการชูสามนิ้วกลายเป็นเหตุที่นำไปสู่การตั้งข้อกล่าวหาในอนาคต
ศาลเชียงใหม่รับฟ้องคดี ‘เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร’ นัดต่อไป 14 ส.ค.นี้
176 นักวิชาการไทย-ต่างประเทศเรียกร้อง คสช. คืนเสรีภาพทางวิชาการ-คืนอำนาจอธิปไตย
ทหารจ่อเรียกนักวิชาการเข้าพบ หลังชูป้าย ‘เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร’
นักวิชาการโต้แถลงการณ์ กกล.รส.เชียงใหม่ ไม่พูดถึงบทบาททหารสอดแนม-แทรกแซงประชุมไทยศึกษา
ต่อมา ร.ท.เอกภณ แก้วศิริ อัยการผู้ช่วยศาลมณฑลทหารบกที่ 33 จังหวัดเชียงใหม่ รับมอบอำนาจจาก พ.อ.สืบสกุล บัวระวงศ์ รองผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดเชียงใหม่ ให้มาแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีต่อนักวิชาการ นักศึกษา และนักแปลทั้งห้าคน ในข้อหาร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใด ๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช.
เมื่อ 15 ส.ค. 2560 เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ช้างเผือก ได้ออกหมายเรียกนักวิชาการและนักศึกษา 5 คน ที่ปัจจุบันกลายสภาพเป็นจำเลยไปแล้ว ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า (คสช.) ที่ 3/2558 เรื่องการมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคสช. หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย จากกรณีเกี่ยวข้องกับกิจกรรมในการประชุมวิชาการไทยศึกษา
เมื่อ 21 ส.ค. 2560 พ.ต.ท.อินทร แก้วนันท์ และคณะพนักงานสอบสวน สภ.ช้างเผือก แจ้งข้อหาต่อนักวิชาการ นักศึกษา และนักแปลทั้งห้าคน ทั้งยังแจ้งว่าหากผู้ต้องหาทั้งห้าสมัครใจเข้ารับการอบรมจากเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน และเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเห็นสมควรปล่อยตัวโดยอาจจะมีเงื่อนไขหรือไม่มีเงื่อนไขก็ได้ ให้ถือว่าคดีเลิกกัน แต่ผู้ต้องหาทั้งห้าให้การปฏิเสธข้อหา และยื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรต่อพนักงานสอบสวนในวันที่ 1 ก.ย. ปีเดียวกัน
11 ก.ย. 2560 สืบเนื่องจากมติที่ประชุมของจังหวัดเชียงใหม่ (8 ก.ย.) กรณีกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดเชียงใหม่แจ้งความผู้ต้องหาทั้งห้า และได้นัดหมายให้ผู้ต้องหาไปที่สำนักงานอัยการคดีศาลแขวงเชียงใหม่ ซึ่งผู้ต้องหาก็ไปตามนัด จากนั้นอัยการศาลแขวงเชียงใหม่ก็เลื่อนฟังคำสั่งคดีจนต่อมาศาลรับฟ้องในวันที่ 4 ก.ค. ที่ผ่านมา
คำฟ้องระบุว่า จำเลยทั้งห้าได้ร่วมกันมีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ร่วมกันมั่วสุมและชุมนุมการเมืองโดยแสดงแผ่นป้ายข้อความว่า “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” และปิดแผ่นป้ายนั้นไว้บริเวณห้องประชุมสัมมนาในงานประชุมไทยศึกษาครั้งที่ 13 ที่ จ.เชียงใหม่เมื่อเดือน ก.ค. 2560 พร้อมกับการชูนิ้วสามนิ้ว (นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง) อันเป็นการแสดงสัญลักษณ์ในทางการเมืองต่อต้านรัฐบาลที่บริหารประเทศอยู่ในขณะนั้น และถ่ายภาพกับป้ายข้อความซึ่งปิดไว้ที่บริเวณหน้าห้องประชุมสัมมนา เพื่อให้ประชาชนที่พบเห็นเข้าใจว่ารัฐบาล และทหารจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งก่อให้เกิดภาพลักษณ์ในเชิงลบกับรัฐบาล เป็นการยุยงปลุกปั่น สร้างความแตกแยกระหว่างประชาชนที่เห็นต่างกับรัฐบาล
ที่ผ่านมา คดีนี้เป็นที่จับตามองจากองค์กรระหว่างประเทศ ประชาสังคมและนักวิชาการจำนวนมาก มีแถลงการณ์หลายฉบับที่ออกมาเพื่อเรียกร้องให้ถอนการแจ้งข้อกล่าวหาต่อทั้งห้าคน
กป.อพช.ภาคเหนือ ร้องถอนฟ้อง 5 นักวิชาการ คดีฝืนคำสั่ง คสช. ปมกิจกรรมในงานไทยศึกษา
28 ประชาสังคม ร้องถอนฟ้อง 5 นักวิชาการ คดีฝืนคำสั่ง คสช. ปมกิจกรรมในงานไทยศึกษา
3 องค์กรสิทธิร้องยุติคดี 5 นักวิชาการเชียงใหม่ ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/58
คณะสังคมศาสตร์ มช. ร้องอธิการฯ เสนอข้อเท็จจริง จนท.ยุติคดี 'เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร'
ฮิวแมนไรท์วอทช์ ร้องถอนฟ้อง 5 นักวิชาการ คดีฝืนคำสั่ง คสช. ปมกิจกรรมในงานไทยศึกษา
แสดงความคิดเห็น