Posted: 18 Sep 2018 03:54 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Tue, 2018-09-18 17:54


นัชชา ตันติวิทยาพิทักษ์

คุยกับพุทธิพงษ์ อรุณเพ็งผู้กำกับ 'กระเบนราหู' หนังไทยเรื่องแรกคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในสาย Orizzonti ที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิส ครั้งที่ 75 โดยเขาบอกว่า "จริงๆ ในหนังตอนขึ้นต้นจะมีคำว่า แด่ โรฮิงญา ถ้าเราลบคำนี้ไปมันจะไม่มีอะไรที่สามารถบอกได้เลยว่าหนังเกี่ยวกับผู้อพยพ แต่ที่ตัดสินใจเอาคำนี้ขึ้นมาอยู่ในหน้าหนัง อย่างน้อยทำให้ชื่อนี้ไม่หายไป"

ต้นเดือนที่ผ่านมาเป็นข่าวดีของวงการภาพยนตร์ไทยอีกครั้ง หลังจาก 'กระเบนราหู' หรือ 'Manta Ray' กลายเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่คว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในสาย Orizzonti ที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิส ครั้งที่ 75

กระเบนราหู เล่าเรื่องราวมิตรภาพระหว่างชาวประมงผู้อาศัยอยู่ในหมู่บ้านริมชายฝั่ง ได้ให้ความช่วยเหลือชายแปลกหน้าผู้ถูกน้ำทะเลซัดขึ้นฝั่งมาและไม่เคยพูดแม้สักคำ ต่อมาเมื่อชาวประมงหายตัวไป คนแปลกหน้าก็เริ่มเข้ามาเป็นเจ้าของบ้าน ทำอาชีพประมง และรวมถึงอาศัยอยู่กับอดีตภรรยาของชาวประมง

พุทธิพงษ์ อรุณเพ็ง ผู้กำกับหนังกล่าวผ่านแถลงการณ์บนเว็บไซต์ว่า ตนขออุทิศโปรเจกต์นี้ให้แก่ผู้อพยพชาวโรฮิงญาผู้เป็นเหยื่อจากเหตุการณ์ที่เคยขึ้นในประเทศไทย โดยกล่าวถึง 2 เหตุการณ์ด้วยกัน คือเหตุการณ์ในปี 2552 เมื่อเจ้าหน้าที่ทหารของไทยลากเรือของผู้อพยพชาวโรฮิงญาจำนวนอย่างน้อย 6 ลำออกไปจากฝั่งและทิ้งไว้กลางทะเล ทำให้มีผู้เสียชีวิต 5 คน และมีอีกกว่า 300 คนสูญหาย อีกเหตุการณ์หนึ่งคือปี 2558 เมื่อทางการไทยค้นพบหลุมศพขนาดใหญ่พร้อมร่างของชาวโรฮิงญาหลายสิบศพบนเทือกเขาแก้ว จ. สงขลา ซึ่งถูกใช้เป็นค่ายสำหรับพักและกักขังเหยื่อก่อนส่งผ่านไปยังมาเลเซีย

"ผมสามารถเข้าใจได้ถึงความไม่พอใจ ที่ชาวประมงมีต่อคนแปลกหน้าคนนี้ที่เขาเคยหยิบยื่นมิตรภาพให้ และผมก็สามารถเข้าใจได้ว่าคนแปลกหน้าไม่ได้ต้องการจะยึดครองชีวิตและข้าวของของเพื่อนของเขา แต่ผมไม่มีทางเข้าใจได้ว่าทำไมโศกนาฏกรรมนี้จึงเกิดขึ้น"

"ผมไม่ต้องการให้ตัวละครใดก็ตามถูกประณามหรือไต่สวนในศาล ผมแค่หวังว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะสะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางและไม่สมบูรณ์แบบของมนุษย์ ท้ายที่สุด ผมแค่อยากจะทำหนังที่มีเจตนาที่ดีต่อมนุษย์ ซึ่งผมเดาว่านั่นเป็นเหตุผลหลักที่ผมอยากทำหนังเรื่องนี้ขึ้นมา" พุทธิพงษ์ ระบุในแถลงการณ์

ประชาไทสัมภาษณ์พุทธิพงษ์ อรุณเพ็ง ถึงความสนใจของเขาที่มีต่อประเด็นผู้อพยพ ที่เริ่มต้นมาจากความสนใจเรื่องอัตลักษณ์ สู่ประเด็นเรื่องโรฮิงญา ที่เขาเล่าว่า "นี่เป็นครั้งแรกที่เจอในชีวิตที่เพื่อนเราพร้อมที่จะทำร้ายคนโรฮิงญาได้โดยไม่เคยเจอหน้าพวกเขามาก่อน" สำหรับเขาเรื่องชาตินิยมอาจไม่ได้เป็นปัญหาเท่าทัศนคติที่เราพร้อมผลักคนที่ไม่ใช่แบบเดียวกับเราออกไป รวมถึงตอบคำถามที่มาว่าทำไมจะต้องตั้งชื่อหนังว่ากระเบนราหู

0000


พุทธิพงษ์ อรุณเพ็ง


คุณเริ่มสนใจประเด็นผู้อพยพลี้ภัยตั้งแต่เมื่อไหร่ และทำไมถึงต้องเป็นประเด็นนี้


โปรเจคนี้เริ่มตั้งแต่ปี 2009 (พ.ศ. 2552) เราอยากทำหนังยาวเรื่องหนึ่ง ซึ่งรู้ว่ามันต้องใช้ระยะเวลาแน่นอน ก่อนหน้านั้นเราทำวิดีโอทดลองชุดหนึ่งในโปรเจค ที่จัดแสดงในมิวเซียมที่ไอร์แลนด์ นอร์เวย์ กรุงเทพฯ แล้วในวิดีโอชุดนั้นจะเป็นคำถามเกี่ยวกับอัตลักษณ์ของศิลปิน ผลงานของศิลปินน่าจะเกิดจากเจตนาที่ดี แต่ถ้ามีลอกเลียนแบบผลงานนั้น ศิลปินจะรู้สึกไม่พอใจ และบอกว่าผลงานนั้นเป็นสมบัติทางปัญญาของศิลปิน เราเลยตั้งคำถามเพื่ออยากจะเรียนรู้จากมัน ว่าสุดท้ายแล้วสิ่งนั้นมันเป็นสิ่งที่ดี ทำไมความดีถึงโดนก็อปปี้ไปเรื่อยๆ ไม่ได้ ถ้าความดีโดนก็อปปี้มันก็ต้องดีสิ

หลังจากที่ตัดสินใจจะทำหนังยาวเรื่องแรก ซึ่งยังตั้งใจให้เกี่ยวกับเรื่องอัตลักษณ์ เราเลยอยากหาซับเจคที่เป็นมนุษย์มากกว่าเรื่องศิลปิน ตอนนั้นยังไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับผู้อพยพเลย รู้แค่ว่าหนังเราจะถ่ายตรงชายแดน เพราะมันเป็น Landscape (ภาพรวมของพื้นที่) ที่มีการแบ่งที่ชัดเจน เราเลือกจะไปสำรวจ ชายแดนที่มีธรรมชาติกั้นขวาง เช่น แม่น้ำสาละวิน เมย ซึ่งกั้นไทย-พม่า หรืออันดามัน ซึ่งก็กั้นไทย-พม่าเหมือนกัน

พอหลังจากรู้ว่าหนังจะเริ่มถ่ายตรงนั้นแน่ๆ ก็เริ่มหาเรื่อง พอดีมีเพื่อนที่เป็นนักวิจัยอยู่แถวชายแดน เขาให้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยหลายๆ กลุ่ม แล้วปี 2009 เรารู้เรื่องโศกนาฏกรรมอันหนึ่งซึ่งรู้สึกรุนแรงมาก เราไม่เคยเจอแบบนี้ คนไทยไม่ยอมให้เรือผู้อพยพโรฮิงญาเข้าฝั่ง แล้วผลักเรือออกไปทิ้งกลางทะเล จนสุดท้ายมีคนตาย 5 คน และอีก 300 คนหายสาบสูญ เราก็อินมากและพยายามจะทำหนังให้เป็นแบบนั้น

จนมีครั้งหนึ่งที่เริ่มรู้สึกไม่ใช่แล้ว เรากำลังหา identity เราไม่ได้จะกลายเป็นผู้อพยพ เราเลยถอยออกมา เราอยากจะยืนอยู่ตรงกลาง แล้วจะมองปัญหาทั้งสองฝั่งให้ได้ ซึ่งหนังของเราเป็นแบบนั้น ไม่ได้เน้นไปที่ชีวิตของผู้อพยพ เป็นแค่คนนอกที่มองเขา และตั้งคำถามกลับว่าเรามองเขายังไง

เรื่องโรฮิงญาที่เด่นชัดสำหรับเราคือมันหลายทัศนคติมาก ไทยมีผู้อพยพจากหลายที่มา เช่น ผู้อพยพจากซีเรีย ซึ่งคนไทยจะรู้สึกเห็นใจมาก ช่วงปี 2015 รูปที่ดังมากๆ คือรูปของอลัน เคอดี้ (alan kurdi) ซึ่งเป็นเด็กผู้อพยพชาวซีเรียที่จมน้ำ (เสียชีวิตพร้อมกับมารดาและพี่ชายในระหว่างการเดินทางซึ่งศพปรากฎบริเวณชายหาดของประเทศตุรกี) เราดูในบีบีซีไทย เห็นคอมเมนต์คนไทยส่วนใหญ่จะเห็นใจ ด้วยลักษณะรูปร่างที่ดูเป็นคนตะวันตก ด้วยความน่าสงสาร คนไทยก็สงสาร แต่กลับกันในช่วงเวลาเดียวกัน มีข่าวว่าพบศพโรฮิงญาหลายสิบศพที่อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ในบีบีซีไทยเหมือนกัน แต่คนไทยด่าโรฮิงญา เราก็สงสัยทำไมมันถึงเป็นแบบนั้น

โปรเจคมันถูกพัฒนามาจากการจะทำหนังที่เกี่ยวกับฝั่งผู้ลี้ภัย แต่พอปัญหาปี 2015 เราเริ่มรู้สึกว่าเราไม่ควรทำปัญหาของเขาแล้ว ปัญหามันเกิดกับเรานี่แหละ มันคือทัศนคติที่เรามองเขา ปัญหาจริงๆ ไม่ใช่ปัญหาเรื่องเชื้อชาติ ไม่ใช่เรื่องชาตินิยม

ตอนแรกเรามีทัศนคติลบต่อความเป็นชาตินิยมมาก แต่หลังจากทำหนังเรื่องนี้ เรียนรู้จากมันไป เรารู้สึกว่าความเป็นชาตินิยมมันไม่น่ากลัวหรอก ตอนนี้มันคือโลกาภิวัตน์ โลกพยายามจะรวมกัน แน่นอนทุกคนต้องพยายามสร้างเอกลักษณ์ของตัวเองให้เด่นชัด ไม่งั้นจะโดนกลืนไปกับโลกาภิวัฒน์มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ เมื่อเราเข้าใจกับตรงนั้นแล้วมันไม่ใช่ปัญหาการเป็นชาตินิยมเลย แต่ปัญหาคือเราไปผลักคนที่ไม่ใช่แบบเดียวกับเราออกไป

ถ้าหนังเรื่องนี้สามารถทำให้คนเริ่มตระหนักถึงเรื่องนี้ได้ ว่าเรากำลังพยายามสร้างภาพคนอื่นในด้านลบ เพื่อให้อัตลักษณ์ของเราเข้มข้นขึ้น ซึ่งอันนี้มันประหลาดแล้ว ถ้าหนังทำให้คนเริ่มมองคนอื่นและอยู่ร่วมกันได้ มันน่าจะเป็นอุดมคติ

เราชอบโควทของไอ้เหว่ยเหว่ยอันหนึ่งมาก ตอนที่เขาทำหนัง Human Flow เขาบอกว่า โลกนี้กำลังหดตัว เราต้องเรียนรู้ว่าเราจะอยู่ด้วยกันยังไง เราคิดว่าอันนี้แม่งโคตรสั้นเลย แล้วก็ชัดเจนดี เราก็อยากได้ Message (สาร) แบบนั้นเหมือนกัน แต่แค่เราทำคนละวิธีการ

ในหนัง เราจะตัดข้อมูลส่วนใหญ่ออก เพราะเรารู้สึกว่าจริงๆ ประวัติศาสตร์มันก็เป็นตัวหนังสือ เราไม่รู้เหมือนกันว่าจะเชื่อข้อมูลไหน แต่ข้อมูลหนึ่งที่เรารู้สึกว่ามันเกิดกับเราโดยตรงคือคนรอบตัวของเราเองมองปัญหานี้อย่างมีอคติมากๆ เพราะนี่เป็นครั้งแรกที่เจอในชีวิตที่เพื่อนเราพร้อมที่จะทำร้ายคนโรฮิงญาได้โดยไม่เคยเจอหน้าพวกเขามาก่อน



ภาพจากหนัง 'กระเบนราหู'


พอทำหนังเกี่ยวกับโรฮิงญาแบบนี้แล้วกังวลว่าจะมีเพื่อนไม่เห็นด้วยไหม

วันแรกที่ทำหนังเรื่องนี้แล้วได้ฉายที่เวนิสก็มีเพื่อนถามมาว่า มึงจะไปทำหนังให้โรฮิงญาทำไมวะ เราก็บอกว่า เดี๋ยวมาฉายเมืองไทยแล้วลองมาดูก่อนแล้วกัน จะได้รู้ว่าทำไมถึงทำให้โรฮิงญา คือเราก็ไม่รู้จะตอบอะไร ตัวเราไม่ได้เป็นคนทำงานด้านสิทธิ เราอาจจะไม่ถนัดดีเบตกันในวง แต่การทำภาพยนตร์ของเรานี่แหละอาจจะบอกอะไรได้ ก็ไม่รู้เหมือนกัน ก็อาจจะเคืองกันบ้างแหละ
แล้วที่บอกว่าไม่รู้จะเชื่อข้อมูลไหน สุดท้ายเชื่อข้อมูลอะไร


เราเชื่อในความรู้สึกเกี่ยวกับคนโรฮิงญาที่คนรอบตัวส่งมาให้เรามากกว่า แต่นอกนั้นเราไม่รู้จะเชื่อข้อมูลไหน ตอนเราสัมภาษณ์เราเจอคนโรฮิงญาเกือบ 30 คน เราไม่ได้บอกว่าเราไม่เชื่อเขา แต่เราก็ไม่อาจเอาความเชื่อไปจับเขาได้มากขนาดนั้น แต่รับฟังเขาทั้งหมด ส่วนใหญ่ก็ผ่านโศกนาฏกรรมอย่างที่รู้ คือโดนทหารเผาบ้าน โดนข่มขืน ต้องหนีข้ามฝั่ง โดนค้ามนุษย์ ต้องเอาเงินมาไถ่ตัวประกัน
สิ่งที่คุณสนใจคือเรื่องอัตลักษณ์ ผู้ลี้ภัย และชายแดน อยากให้ลองอธิบายความเชื่อมโยงของทั้งสามอย่างที่คุณพบในการทำหนังของคุณหน่อย


เรื่องนี้มันใหญ่มาก ตอนทำสำรวจวิจัยเราก็รู้ตัวว่าเราไม่ได้รู้ไปหมดทุกเรื่องขนาดนั้น เราแค่โฟกัสในส่วนที่มันจะกลายเป็นหนัง มีอันหนึ่งที่เป็นแรงบันดาลใจในการทำหนังตั้งแต่ตอนแรก ระหว่างที่ไปสำรวจที่แม่น้ำเมยคือระหว่างแม่สอดกับพม่า เราพยายามไปตรงที่ไม่มีคนเพื่อถ่าย Landscape (ภาพรวมของพื้นที่) จังหวะที่ไม่มีคน เราเอากล้องลงไปถ่าย ถ่ายๆไป เราเจอเด็กคนหนึ่งโผล่มาจากฝั่งพม่า เดินข้ามแม่น้ำมาเพราะตอนนั้นแม่น้ำตื้น แล้วก็มีเด็กจากฝั่งไทยสองคนเดินข้ามแม่น้ำไป แล้วก็ไปเล่นกันตรงกลางแม่น้ำ เราก็คิดว่าขนาดว่าเราลงไปถ่ายรูปในน้ำ ซึ่งเรารู้สึกว่ามันท้าทายความเป็นเขตแดน แต่สุดท้ายมันมีเด็กที่อยู่ตรงนั้น ที่ไม่ได้สนใจความเป็นชายแดนเลย ลงไปเล่นน้ำกัน แล้วเราก็แยกไม่ได้ด้วยว่าเด็กสามคนนั้นคือใคร ชาติอะไร

พม่าประกาศอิสรภาพปี 1948 พม่าเพิ่งเกิดเพิ่งรวมรัฐ หลังจากที่กฎหมายสัญชาติออกมา โรฮิงญาไม่ได้ถูกนับรวมไปด้วย ถูกจำกัดสิทธิต่างๆ แต่ปี 1962 ปฏิวัติทหาร หลังจากนั้นทุกอย่างเปลี่ยน พอปี 1982 พม่าก็ไม่นับโรฮิงญาอยู่ใน 135 กลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้รับการยอมรับตามกฎหมาย พวกเขาเลยต้องหนีออกมา เพราะเขาไม่ได้สิทธิพื้นฐานในการใช้ชีวิต อันนี้สำหรับเราก็เป็นปัญหาอัตลักษณ์





ที่เขียนใน Director's Statement (แถลงการณ์ของผู้กำกับ) ว่าอยากให้หนังสะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางและไม่สมบูรณ์แบบของมนุษย์ คุณคิดว่าสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้คนดูเข้าใจถึงประเด็นผู้อพยพมากขึ้นไหม


ฟังก์ชันของหนังเราคืออยากพาคนดูไปถึงชายแดน แล้วรู้ปัญหาแต่เพียงข้างหน้า ไม่ได้ขนาดกระโดดเข้าไปหาซับเจคนั้นแล้วเอากลับมาให้เขาดู เราเชื่อว่าภาพยนตร์เป็นสิ่งเลียนแบบ สิ่งจำลอง เราไม่สามารถให้คนตระหนักได้จริงๆ แต่เราสามารถนำคนไปอยู่ตรงหน้าปัญหาได้ โดยที่บางคนอาจจะกระโดดเข้าไปหาปัญหา หรือถึงเราพยายามนำปัญหาออกมา เราก็ไม่เชื่อว่าทุกคนจะเข้าไปได้ มันเหมือนมีบางอย่างกั้นความรับรู้ของคนดูอยู่ แต่อย่างน้อยก็นำพาคนให้รู้จักกับปัญหานี้ แต่ตอนนี้เห็นบีบีซีไทยลงข่าวหนังเรื่องนี้ก็มีคนมาด่าแล้ว (หัวเราะ)
แค่คำว่าโรฮิงญาก็มีคนด่าแล้ว


เราไม่เข้าใจเลย แต่ก็ไม่กล้าไปโต้ตอบกับเขาหรอกนะ แต่ก็มีคอมเมนต์ที่ทางลบมากๆ เช่น ไม่รู้จักคุมกำเนิด ทำไมแพร่พันธุ์เยอะจัง แต่ข้อเท็จจริงคือโรฮิงญามีคนอยู่ล้านกว่าคน เมื่อเทียบกับประชากรโลกคือน้อยมาก หรือคิดว่ามีคนเยอะจนล้นพื้นที่ อยู่ไม่ได้ ต้องอพยพ ทั้งที่จริงๆ คือเขาหนีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มา หรือเรื่องไม่ทำงาน ซึ่งจริงๆ แล้วเพราะเขาไม่มีโอกาสได้ทำ เพราะไม่มีอาชีพถูกกฎหมายอะไรมารองรับเขา เป็นสิ่งที่เจอทั้งในคอมเมนต์ และคนที่เรารู้จักด้วยก็พูดแบบนี้กับเรา เราอยากจะโต้แย้งแต่เราก็คิดว่าเราทำหนังดีกว่า

เราว่าอย่างแรกคือรูปลักษณ์และศาสนา ตอนนี้คนเมือง ขอเรียกว่าคนเมืองเพราะไม่รู้ว่าคนภาคอื่นเขาจะเกลียดโรฮิงญารึเปล่า แต่ถ้าเป็นคนเมือง คนเมืองกลัวปัตตานีทั้งที่ไม่เคยไป รู้แค่ว่าปัตตานีมีผู้ก่อการร้ายมุสลิม เป็นปัญหาทางศาสนา แล้วคราวนี้ยิ่งเป็นผู้อพยพมุสลิมจากพม่าบวกเข้าไปอีก บวกกับอองซาน ซูจีไม่เอาอีก ทำไมถึงไม่เอา จริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องการเมือง การเมืองสร้างภาพพวกนี้ขึ้นมาทั้งหมดเลย ทำให้คนรู้สึกเกลียดมนุษย์ด้วยกันเอง

เรารู้จักโรฮิงญาครั้งแรก 2009 ด้วยความที่ตามเรื่องนี้ตลอด ตั้งแต่ 2009-2015 ยังไม่ค่อยมีคนไทยที่ต่อว่าเรื่องนี้ นอกจากคนเฉพาะกลุ่ม เช่น คนที่อยู่ในพื้นที่ที่มีปัญหา คืออยู่ในพื้นที่ที่โรฮิงญาหนีออกมา แล้วเขาไม่สบายใจ อันนี้พอเข้าใจได้ เพราะคนในพื้นที่เขาเจอมากับตัว

เราไม่ได้ทำหนังแล้วยกย่องว่าโรฮิงญาเป็นชาติพันธุ์ที่ดี แต่พูดว่าถ้าเขาจะเกลียดบุคคล เขาเกลียดได้ ถ้าคนมันจะไม่รักกันมันทำได้ มันเป็นปกติของมนุษย์ แต่วันหนึ่งถ้าเราไม่เคยรู้จักคนนี้ซึ่งมีเชื้อสายโรฮิงญา แต่เราไปเหมาเขาว่าเขาไม่ดี แบบนี้มันคือการเหมาโรฮิงญาทั้งหมดว่าไม่ดี ซึ่งมันเป็นปัญหาสำหรับเรา

ตั้งใจให้คนไทยได้ดูหนังเรื่องนี้ไหม


จริงๆ ปัญหานี้มันกระจายไปทั่วโลก หนังพูดแค่ว่ามีคนๆหนึ่งช่วยคนแปลกหน้าคนหนึ่งมาอยู่ในครอบครัว แล้ววันหนึ่งคนที่ช่วยหายตัวไป คนแปลกหน้าก็เข้ามาแทนที่เจ้าของบ้านที่หายไป อย่างอลัน เคอร์ดี ฝั่งยุโรปเองก็วิจารณ์ว่าภาพเขาถูกสร้างมาเพื่อรับใช้มาช่วยผู้อพยพ คนประเทศอื่นบางคนก็ชาตินิยม ไม่อยากให้ผู้ลี้ภัยเข้ามาอยู่ในประเทศเขาเหมือนกัน ไม่ต่างจากเราเลย



ภาพจากหนัง 'กระเบนราหู'


พอฟังเรื่องย่อแล้วเหมือนทำให้ความกลัวของคนไทยที่ว่าคนโรฮิงญาจะมายึดบ้านเป็นเรื่องจริง


ในหนังจะมีดีเทลที่บอกว่าเขาไม่ได้ตั้งใจจะมายึดบ้าน เขาเป็นคนบาดเจ็บมาแล้วเราก็ช่วยเขา เพียงแต่พอเราไม่อยู่ เขาเลยมาใช้ชีวิตอยู่แทนเรา

ปัญหาเรื่องผู้ลี้ภัยโรฮิงญา เราพยายามผลักเขาออกเพราะเรารู้สึกว่าประเทศเราจน ไม่มีเงินซับพอร์ตเขา เป็นปัญหาก้ำกึ่ง สุดท้ายแล้วมนุษย์เรามันต้องเอาความคิดระดับมหภาคแบบนี้เพื่อมาเกลียดคนอีกคนหนึ่งเหรอ ส่วนตัวเราโอเคที่พวกเขาจะมาอยู่ แล้วก็หาทางช่วยกันไป ไม่ใช่เกลียดแล้วพูดว่าจะทำร้ายกัน

มีคนโรฮิงญาได้ดูหนังเรื่องนี้ยัง


ประเด็นคือคนโรฮิงญามักจะไม่เปิดเผยตัวว่าเป็นคนโรฮิงญา มีครั้งหนึ่งจะไปสัมภาษณ์คนโรฮิงญา เรารู้จักกับผู้นำเขาบอกว่าเดี๋ยววันนี้จะนัดคนโรฮิงญามาเยอะๆ เลย เพราะเขาจะมาร่วมพิธีทางศาสนา เขามากันเกือบ 20 คน พอเราหยิบกล้องขึ้นมา ทุกคนกลับบ้านกันหมดเลย เพราะเราบอกจะอัดแค่เสียง พอหยิบกล้อง เขาเลยไม่ยอม

ตอนนี้ชีวิตเขาก็ไม่ได้สบายนะ บางคนเป็นคนที่ทำงานตัดกระดาษให้ร้านขายโรตีอีกที แต่เขาคิดว่าอันนั้นเขาสบายแล้ว เขาไม่ได้มีบัตรด้วย คือผิดกฎหมาย แต่เขายังคิดว่าเขาสบายอยู่ คือยังไม่โดนเจ้าหน้าที่จับ แต่ถ้าจะให้เขามาแสดงตัว เขาไม่มีทางทำแน่นอน เขาไม่มีทางจะเสี่ยงชีวิตอะไรอีกแล้ว แค่นี้สำหรับเขาคือสบายแล้ว

แล้วสุดท้ายได้สัมภาษณ์คนโรฮิงญายังไง


สุดท้ายได้เจอคนคนโรฮิงญาที่กล้ามาเจอเรา ที่เราอยากหาเพราะเราอยากจะสัมภาษณ์และบันทึกเสียง เพราะเราจะเอาเสียงเขามาอยู่ในหนังเรา ซึ่งหนังเรื่องนี้จะมีเสียงโรฮิงญาอยู่ท้ายเรื่องเต็มไปหมดเลย แต่เสียงเป็นแค่เสียง อือ ไม่มีความหมายอะไร แต่ประสานกันเป็นเพลงตอนจบ
ทำไมต้องเป็นกระเบนราหู


โปรเจคนี้ชื่อ 'Departure Day วันที่ออกเดินทาง' มาตลอดเลย แต่ตอนที่จะถ่าย อยู่ดีๆ คิดถึงเรื่องหนึ่ง คือเราชอบดำน้ำ แล้วเราจำความรู้สึกครั้งแรกที่เจอกระเบนราหูตัวยาว 4 เมตรว่ายเข้ามาใกล้ แล้วก็บินข้ามหัวไปได้ ตอนนั้นเรากลัว ถึงมันจะไม่มีอันตราย แต่ตอนนั้นเราไม่เคยรู้จักมันมาก่อน หลังจากนั้นเราก็เรียนรู้ว่า อ๋อ กระเบนราหูมันเป็นแบบนี้นี่เอง แต่หลังจากนั้นไปดำน้ำไม่เคยเจออีกเลย

ชอบความเป็นกระเบนของมันที่อยู่ในอันดามัน แล้วมันว่ายไปทุกที่แบบไม่มีขอบเขต มันเป็นสัตว์ที่กินแพลงตอน ไม่เคยหยุดว่าย จะว่ายไปเรื่อยๆก็เลยคิดว่ามันก็เหมาะกับหนังเราเหมือนกัน ตัวดำ น่ากลัว ว่ายน้ำไปเรื่อยๆ กินอาหารไปเรื่อยๆ ไม่มีบ้าน

วางแผนจะฉายในไทยเมื่อไหร่


ที่วางแผนน่าจะหลัง มีนาปีหน้า อาจจะมีการจำกัดโรง ขอทุนจัดฉาย เพราะแค่นี้ก็ลงทุนไปเยอะแล้ว ไม่ได้กลับมาเลย (หัวเราะ)

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.