Posted: 14 Sep 2018 12:36 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าวเว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Fri, 2018-09-14 14:36
พ.ร.ป. ส.ว.-ส.ส. ประกาศใช้ ตามกฎหมายเลือกตั้งช้าสุดไม่เกิน 2 พ.ค. 62 ‘ไอลอว์’ ชี้ 'ม. 44' ไม้ตายที่รัฐบาล คสช. ยังใช้ได้เพื่อเลื่อนเลือกตั้ง ด้าน ‘ชวลิต วิชยสุทธิ์’ อดีต ส.ส. เพื่อไทย ระบุ ยกเลิก ม.44 เพื่อการเลือกตั้งที่เป็นธรรม แสดงสปิริตให้ประชาชนและชาวโลกเห็น
หลังกฎหมายสองฉบับสุดท้ายตามเงื่อนไขการเลือกตั้งคือ พ.ร.ป.ว่าด้ายการได้มาซึ่ง ส.ว. และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ถูกประกาศในราชกิจจานุเบกษา แม้ พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. จะมีผลบังคับใช้ในอีก 90 วันหลังประกาศ หรือวันที่ 11 ธ.ค. 61 แต่หลายฝ่ายก็จับตาถึงการเลือกตั้งที่ควรเกิดขึ้นในอนาคต โดยรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 มาตรา 268 ระบุว่า ให้ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน หลังจาก พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง , พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง , พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. มีผลบังคับใช้
นั้นหมายความว่าระยะเวลาในการเตรียมการจัดการเลือกตั้ง 150 วันจะมีผลเริ่มนับได้ตั้งแต่วันที่ 11 ธ.ค. 61 และการเลือกตั้งจะขึ้นได้อย่างช้าที่สุดไม่เกินวันที่ 9 พ.ค. 62 ตามกรอบ 150 วัน แต่อย่างไรก็ตามกฎหมายไม่ได้ระบุให้ใช้ระยะเวลาเต็มตามกรอบนี้
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 18 ส.ค. 61 อิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. ระบุว่า หลังจากที่กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้ คาดว่า จะมีการประกาศ พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ส.ส. วันที่ 4 ม.ค. 62 และเลือกตั้งในวันที่ 24 ก.พ. 62 หรือช้าสุดไม่เกินวันที่ 2 พ.ค. 62
แต่ทั้งนี้ยังไม่อาจชะล่าใจได้ ตราบใดที่ ม. 44 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังคงอยู่
ไอลอว์ ชี้ 'ม. 44' ไม้ตายที่ คสช. ยังใช้ได้เพื่อเลื่อนเลือกตั้ง
โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ระบุผ่าน เว็บไซต์ไอลอว์ ว่า ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 265 กำหนดให้หัวหน้า คสช. และ คสช. ยังคงมีหน้าที่และอำนาจตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวฯ ปี 2557 ซึ่งหมายความว่า หัวหน้า คสช. ยังคงสามารถออกคำสั่งใดๆ โดยใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวฯ ต่อไปได้
เมื่อพิจารณาว่าสี่ปีที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เคยใช้มาตรา 44 แก้กฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งมาแล้วหนึ่งครั้ง คือ
ผู้สื่อข่าวประชาไทรายงานเพิ่มเติว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 53/2560 มีเพื่อคลายล็อคทางการเมือง พรรคการเมืองทุกพรรคสามารถทำกิจกรรมการทางเมือง เช่น ให้มีการประชุมใหญ่พรรค ให้เลือกหัวหน้า-กรรมการบริหารพรรค จัดทำข้อบังคับพรรค ประกาศอุดมการณ์พรรค และเปิดรับสมาชิกพรรค รวมทั้งดำเนินการสรรหาผู้ลงรับสมัครเลือกตั้งในระบบแบ่งเขต และระบบบัญชีรายชื่อได้ แต่ยังคงห้ามให้มีการลงพื้นที่หากเสียงทางการเมือง
เว็บไซต์ไอลอว์ระบุเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ คสช. ยังเคยใช้มาตรา 44 แก้กฎหมายระดับรัฐธรรมนูญมาแล้วอีกสองครั้ง ครั้งแรกคือ ก่อนการออกเสียงประชามติ ที่ใช้มาตรา 44 แก้เรื่องเด็กต้องได้รับการศึกษาภาคบังคับอย่างน้อย 15 ปี หลังร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีการเรียนฟรีแค่ 12 ปี
จะเห็นได้ว่า หัวหน้า คสช. สามารถใช้มาตรา 44 เพื่อแก้ไขกฎหมายไม่ว่าจะเป็นในระดับชั้นพระราชบัญญัติหรือแม้กระทั่งรัฐธรรมนูญก็สามารถทำได้ ดังนั้น หาก คสช. อยากจะแก้กฎหมายการเลือกตั้งหรือแก้รัฐธรรมนูญอีกครั้งเพื่อจะยืดการเลือกตั้งออกไปอีกจึงอยู่ในวิสัยที่พอจะเป็นไปได้อยู่
อดีต สส. เพื่อไทย แนะ ยกเลิก ม.44 เพื่อเลือกตั้งเป็นธรรม
วอยซ์ทีวี รายงานว่า ชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีตรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ให้ความเห็นว่าในสถานการณ์ปัจจุบัน เริ่มเข้าโหมดการเลือกตั้งแล้ว ทำอย่างไรที่ทุกภาคส่วนจะร่วมมือกันทำให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างเสรีและเป็นธรรม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นประเทศ
ดังนั้น เพื่อร่วมกันสร้างความเชื่อมั่นประเทศดังกล่าว รัฐบาลควรแสดงสปิริตให้ประชาชนและชาวโลกเห็น หลังจากประเทศไทยเพิ่งถูกสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น ขึ้นบัญชีดำเป็น "ประเทศที่น่าละอาย" ด้วยเหตุมีการข่มขู่ คุกคาม ประชาชนที่ให้ความร่วมมือกับ UN ในการต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งประชาชนคนไทยทั้งประเทศก็ต้องแบกรับความน่าละอายดังกล่าวไว้ด้วย
จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลแสดงสปิริตเลิกอำนาจพิเศษตาม ม.44 และการรักษาการระหว่างเลือกตั้ง เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างเสรีและเป็นธรรม อย่าให้ประเทศไทยถูกดาบสองจาก UN และนานาชาติ ที่จะไม่ยอมรับการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งจะส่งผลเสียหายตามมาอีกมากมายทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะจะกระทบต่อเกียรติยศ ศักดิ์ศรีของประเทศซึ่งเป็นสิ่งสูงสุดของชาติ
สำหรับ ไอลอว์ มีกิจกรรมล่ารายชื่อเพื่อ 'ยกเลิกประกาศ/คำสั่ง คสช.' ด้วย ดังนี้
ไอลอว์ระดมคนละชื่อเสนอกฎหมาย 'ยกเลิกประกาศ/คำสั่ง คสช.'
เข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ ilaw.io หรือ www.ilaw.io
ย่างเข้าปีที่ 4 ของรัฐบาล คสช. มีการออกประกาศ/คำสั่งต่างๆ และการบังคับใช้มาอย่างต่อเนื่อง พบว่า มีประกาศ/คำสั่งอย่างน้อย 35 ฉบับ ในประเด็นเสรีภาพการแสดงออกของประชาชน เสรีภาพสื่อ สิทธิในกระบวนการยุติธรรม และสิทธิชุมชน ที่สมควรถูกยกเลิก เช่น
คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ที่ให้อำนาจทหารเรียกตัวประชาชนมารายงานตัวและควบคุมตัวในสถานที่ปิดลับโดยไม่ต้องตั้งข้อกล่าวหาเป็นเวลา 7 วัน พร้อมยกเว้นความรับผิดให้กับเจ้าหน้าที่ รวมทั้งห้ามประชาชนชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป หรือ ประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 ที่กำหนดให้คดีบางประเภทของพลเรือนต้องขึ้นศาลทหาร
นอกจากนี้ยังมีประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 และ 103/2557 ที่จำกัดแนวทางการนำเสนอเนื้อหาของสื่อมวลชน หรือการดำเนินนโยบาย "ทวงคืนผืนป่า"ตามคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 64/2557 และ 66/2557 ทำให้มีการจับกุมดำเนินคดีประชาชนไปแล้วหลายพันคน เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้ ภาคประชาชนกว่า 23 เครือข่าย จึงรวมตัวกันรณรงค์ให้ประชาชนใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 133 หรือสิทธิในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายยกเลิก 'ประกาศ-คำสั่ง-คำสั่งหัวหน้าคสช.' ที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและระบอบประชาธิปไตย เนื่องจาก รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 279 ยังรับรองให้ บรรดาประกาศ/คำสั่ง ของ คสช. ทั้งหมด รวมทั้งการใช้อำนาจใดๆ ภายใต้ประกาศ/คำสั่งเหล่านี้ มีสถานะชอบด้วยกฎหมาย และมีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าจะมีพระราชบัญญัติมายกเลิก
แสดงความคิดเห็น